เสียงก้องของความดื้อ

สุวีโร ภิกขุ 28 เมษายน 2008

เสียงอึกทึกของเครื่องจักรอุตสาหกรรมในโรงงานทอผ้า ดังอื้ออึงอย่างต่อเนื่องซะจนแทบจะไม่ได้ยินเสียงอื่นใดข้างนอกเลย เวลาหญิงสาวสองคนพูดกันขณะทำงาน ถ้าจะให้ฟังได้ยินและรู้เรื่องก็ต้องตะโกนใส่กันแข่งกับเครื่องทอผ้าที่มีเสียงดังกระหน่ำหูอย่างสม่ำเสมอไม่มีตก  ดังนั้นสาวโรงงานคนใดมีอายุการทำงานนานกว่าเพื่อนสักหน่อย ก็จะมีความเคยชินเฉพาะตัวบางอย่างเวลาพูดคุยโทรศัพท์ เมื่อไหร่ที่ได้ยินเสียงค่อยๆ เบาๆ ตอบกลับมาในสาย เธอก็จะเปล่งเสียงตัวเองให้ดังขึ้นเพื่อให้คนที่อยู่ปลายสายได้ยินดังชัดเจน  และมันจะเป็นเช่นนี้อยู่ทุกเมื่อ จนกว่าจะมีใครสักคนบอกมาในสายว่า “พูดเบาๆ ก็ได้ ไม่ต้องตะคอก!”

การพูดเสียงดังดูเหมือนจะเป็นพฤติกรรมเคยชินที่ยังแก้ไม่หายสำหรับบางคน แต่ในคนอีกจำพวกหนึ่งอาจต้องมีเหตุปัจจัยบางอย่างมากระทบถึงจะปรับระดับเสียงให้ดังขึ้นหรือเบาลงบ้าง ทว่าก็มีเหมือนกันที่อุปนิสัยประจำตัวเป็นคนพูดเสียงดังอยู่แล้ว และนั่นจะพูดให้เบาอย่างไรระดับเดซิเบลของเสียงก็ยังมากโขอยู่ดี  ผู้คนของศตวรรษนี้อยู่ในยุคของเสียงอึกทึก เครื่องจักรกล เทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งเป็นต้นเหตุที่มาของเสียงอันดังปรากฏอยู่ในทุกที่แวดล้อมตัวเรา รวมทั้งจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของตัวมนุษย์เอง อาทิเช่น เสียงลมในท้อง เสียงปากพูดและเสียงพากย์ภายในใจ เป็นต้น  ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แห่งหนตำบลใด ล้วนมีเสียงให้เรารับฟังและได้ยินอยู่เสมอ มันเป็นเรื่องยากยิ่งนักที่จะหลีกเลี่ยงการรับฟัง ถ้าเรายังมีอวัยวะสำหรับการได้ยินเสียงและอวัยวะที่ส่งเสียงอยู่กับตัว ทั้งนี้ยังมีเสียงของความคิดคำนึงกับเสียงเตือนใจข้างในตัวเราอีกด้วย  หากเราไม่รู้จักวางใจให้ดี เสียงธรรมดาๆ อาจกลายเป็นเสียงดังก้องระคายหูรบกวนใจเราได้

เพราะฉะนั้นวิธีง่ายๆ เพื่อให้ได้ยินเสียงเบาลงกว่าเดิม ทำได้โดยเริ่มจากการไปปรับลด volume ของเจ้าสิ่งที่ให้กำเนิดเสียงดังๆ ตัวนั้น หรือถอดปลั๊กสายไฟออกจากเบ้าเสียบหากไม่ต้องการใช้แล้ว หรือบอกตนเองและผู้คนแวดล้อมในทุกๆ ครั้งที่มีโอกาส ว่า “ขอได้โปรดส่งเสียงเบาๆ หน่อยนะครับ/นะคะ” หรือไม่ก็ติดป้ายประกาศ “กรุณางดใช้เสียงดังบริเวณนี้!” หากยังมีผู้ไม่รู้กาลเทศะ ทำเสียงดังแสบแก้วหูขึ้นมาอีก จงเอานิ้วชี้ตนเองอุดรูหูเราทั้งสองข้างนี้ให้แน่นๆ ถ้าเราต้องการได้ยินเสียงที่เบาลง  ทว่าหากทำทุกอย่างแล้ว ความดังของเสียงยังหลุดรอดเข้ามาให้เราได้ยินอยู่ดี ไม่ว่าเราจะพยายามมากแค่ไหนก็ตาม ถ้าอย่างงั้นจงแอบหลบเข้าไปในห้องอัดเสียงชั้นเยี่ยมเพราะว่าในนั้นมันจะกันเสียงจากภายนอกมิให้เข้ามาทำร้ายจิตใจเราได้ (จริงหรือ?) แต่ภายในห้องอัดนั้นเล่า เราอาจจะต้องฟังภาษาเสียงของนักร้องขณะขับขานให้เป็นธรรมชาติ และนั่นก็คงไม่เหมือนเสียงนกร้องดังก้อง “ก็…แล้ว ก็…แล้ว ก็…แล้ว” แต่เรา จะเห็นว่านั่น…เป็นเสียงดังหรือเป็นเสียงธรรมชาติอย่างไร อยู่ที่ใจเรา ในตอนนั้นอาจมีคำพูดท้าทายผุดขึ้นมาในใจว่า “ก็…แล้ว ก็แล้วทำไม เราจะยอมฟังไม่ได้เล่า”

หากไม่รู้จักวางใจให้ดี เสียงธรรมดาๆ อาจกลายเป็นเสียงดังก้องระคายหูรบกวนใจเราได้

มีเสียงมากมายปรากฏอยู่ในทุกสิ่งตามธรรมชาติ และมีเหตุปัจจัยมากมายรวมกับต้นกำเนิดเสียงทำให้มันแสดงอาการขึ้นมาให้เราฟังหรือพูดบอกออกมา อาศัยอวัยวะรับฟังที่เรียกกันว่า “หู” เป็นช่องทางสำหรับการรับรู้คลื่นเสียงต่างๆ และมีอวัยวะอย่างเช่น กล่องเสียง กะบังลม และปากของเราเอง เป็นต้น สำหรับส่งเสียงที่ทั้งมีความหมายหรือไม่มี เปล่งเสียงที่เป็นภาษาหรือว่าไม่เป็น และแสดงอาการเป็นไปตามสุขภาพของกายกับใจ  เราทุกคนจึงมิใช่แค่ต้องหัดฟังให้เป็นเท่านั้น แต่ยังต้องหัดส่งเสียงอย่างรู้จังหวะจะโคนด้วยท่าทีกับสำเนียงที่เหมาะสมแก่ผู้ฟังในเวลาและโอกาสจะอำนวยอีกด้วย เพื่อให้เราท่านรู้เท่าทันปรากฏการณ์ทั้งหลายและเข้าใจความเป็นจริงเมื่อมีการสื่อสารด้วยสรรพสำเนียงมากมายภายใต้การส่งเสียงที่ธรรมชาติให้เรามา

กล่าวกันว่าการฟังนั้นเป็นเรื่องของการรับสัญญาณคลื่นความถี่ของเสียงที่มากระทบโสตประสาทการได้ยิน ที่ซึ่งภายในช่องหูประกอบไปด้วยชิ้นส่วนอวัยวะขนาดเล็กๆ ได้แก่ แก้วหูและเซลล์ขนภายในหูชั้นในรูปหอยโข่งเป็นตัวรับการสั่นสะเทือนของแรงดันอากาศที่มากระทบ  และจากการกระเพื่อมไหวนี่เองที่ทำให้เราได้ยินคลื่นเสียงสูงต่ำ โทนเสียงทุ้มแหลม ไกลหรือใกล้ตามระดับความยาวคลื่นเสียง ความถี่และแอมปลิจูดที่บ่งบอกลักษณะนานาประการ แล้วจึงมีการแปลสัญญาณเสียงให้ออกมาเป็นภาษาสมมติที่เรานิยามหมายรู้ให้ตรงกัน  ถึงแม้ว่าภาษาจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางสื่อสารเพื่อให้เราฟังและพูดในภาษาเดียวกัน แต่บางครั้งการพยายามตั้งใจฟังเกินไปทำให้เราจับใจความอะไรไม่ได้เลย

ในความเป็นจริงนั้นเราฟังแล้วจึงค่อยคิดตามให้เข้าใจความหมาย มิได้ฟังเพียงอย่างเดียวหรือว่าฟังอยู่ข้างเดียว  เมื่อใดใจเราไปให้ค่าต่อเสียงที่ได้ยิน เมื่อนั้นจิตใจจะรู้สึกเป็นบวกเป็นลบหรือเฉยๆ ตามการให้ค่าต่อสิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้นเอง มันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังจากคลื่นเสียงแห่งการให้ค่า หรือว่ามันมีความหมายบางอย่างกระทบถูกใจเรา ประดุจดังคลื่นลมกระทบฝั่งถ่ายเทเม็ดดินหินทรายอยู่บนชายหาด หรือประหนึ่งว่าลงไปในทะเลแล้วถูกกระแทกให้ม้วนตัวบ้าง ดึงดูดให้จมลงบ้างในเวลาที่คลื่นน้ำถาโถมและไหลคืนกลับลงสู่มหาสมุทร  ด้วยอารมณ์คลื่นทะเลเช่นนี้ ความเป็นเราจึงผันแปรไปตามแรงกระแทกกับแรงดึงดูดของทะเลแห่งคลื่นเสียงระลอกแล้วระลอกเล่าในทุกๆ ขณะเวลาที่ใจเรากระโจนลงไปเล่นเต็มตัว

เมื่อเสียงจากภายนอกกระทบใจ ความรู้สึกอันธรรมดาสามัญจะบังเกิดขึ้นมาตามความเคยชิน สิ่งที่ได้ยินเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่ผ่านประตูของการรับฟังเข้ามาสู่ภายในจิตใจ  สิ่งที่พูดหรือเสียงที่ส่งออกไปแล้วคืออาการแสดงออกของจิตใจภายในนั้น มันดังขึ้นและจบลงเมื่อสิ้นสุดกระแสเสียง  แต่สิ่งที่จะยังคงสะท้อนคลื่นกับโต้ลมต่อไป คือจิตใจคนเรานี่เอง ที่ทำให้มันมิใช่เป็นเสียงธรรมดาๆ  เป็นใจเรา (ทั้งผู้พูดและผู้ฟัง) เองนั่นแหละที่ทำให้มันกึกก้องอยู่ข้างใน เรื่องเล็กจ้อยจึงสามารถขยายตัวตนให้ใหญ่ยักษ์จากภายในแล้วผลักดันออกมาเป็นการกระทำทางกายกับวาจาสู่ภายนอกได้

เราจึงถูกเสียงสะท้อนก้องไม่รู้จบกระหน่ำตี เพราะเราฟูมฟักถะนุถนอมเลี้ยงมันให้เติบใหญ่และประคบประหงมเอาอกเอาใจมันอยู่เป็นประจำ กระทั่งมันดื้อรั้นเสียจนเรามิอาจยอมรับใจตนเองได้ง่ายๆ เลย  ยิ่งไม่อยากให้มันเจ็บปวดทนทุกข์เท่าไหร่ กลับยิ่งทำให้มันร่ำร้องดีดดิ้นมากขึ้นเท่านั้น เหมือนเด็กที่กำลังบีบน้ำตาร้องไห้นอนเต้นกระแด่วๆ บนพื้นในห้างสรรพสินค้า หรือไม่ก็เป็นเด็กที่กำลังกระทืบเท้าน้ำตานองหน้าเวลาพ่อแม่กระชากตัวให้เดินหนีออกห่างจากของเล่นถูกใจ  ใจเราจึงเหมือนเด็กเคยตัว (ทำกริยาซ้ำเดิม) และเคยใจ (ติดอารมณ์เก่าๆ) กับเสียงก้องดังมากกว่าเสียงเงียบสงัด

เช่นนี้เอง เสียงเครื่องจักรกลทอผ้าจึงยังคงดังอยู่สม่ำเสมอต่อไป  แม้ว่าโรงงานจะหยุดทุกวันอาทิตย์ แต่สาวโรงงานยังคงทำงานภายในใจตนเองเช่นเดิมตามความเคยชินตลอด ๖ วันในโรงงานทอผ้า  พวกเธออาจจะได้พักกายเพิ่มขึ้นมาในวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันตรุษวันสาร์ทและวันหยุดชดเชย แต่ใจนี้เล่ากลับมิได้พักตามไปด้วย  หากเธอเลือกที่จะพักใจราวกับได้อยู่ในห้องอัดเสียงกับนักร้องอาชีพ ใจนี้คงตื่นเต้นอยู่บ่อยๆ เป็นแน่  แต่การมีคนพูดกรอกหูตามสาย เตือนๆ มาบ้าง คงจะช่วยเพลาๆ เสียงดังกึกก้องในใจ หรือไม่ก็ทำให้เครื่องเดินสะดุดติดๆ ขัดๆ ได้ไม่มากก็น้อย


ภาพประกอบ