โทษประหารกับสิ่งที่หลงลืม

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 8 กรกฎาคม 2018

ช่วงเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ ประเทศไทยมีการใช้โทษประหารเป็นครั้งแรก ภายหลังการว่างเว้นมาร่วม ๙ ปี ก่อเกิดกระแสการถกเถียงถึงประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับความเหมาะควร ความจำเป็นของการมีโทษประหาร  ประเด็นข้อถกเถียงมีทั้งในส่วนเนื้อหาว่า โทษประหารสามารถลดทอนหรือป้องปรามอาชญากรรมได้จริงหรือไม่ ให้คุณหรือให้โทษกับสังคมโดยรวมมากกว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีแนวทางอย่างไรกับการมีหรือไม่มีโทษประหาร  และข้อถกเถียงในเชิงบุคคลที่เห็นต่างในเรื่องการมีโทษประหารคือ เป็นบุคคลประเภทโลกสวย ไม่เข้าใจความจริง ไม่เข้าใจ ไม่เห็นใจเหยื่อ เป็นพวกปกป้องคนทำผิด

เสียงเรียกร้องโทษประหารยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น หากว่ากรณีอาชญากรรมนั้นเป็นการทำร้ายทางเพศ ข่มขืน ผู้ถูกกระทำเป็นเด็ก เยาวชนหรือผู้อ่อนแอ  และหากใครเห็นค้านการใช้โทษประหารกับผู้ก่อเหตุร้าย ความโกรธ ความแค้นเคืองก็พร้อมพวยพุ่งและสาดใส่ผู้เห็นต่างทันที จนหลงลืมว่าอะไรคือประเด็นปัญหาแท้จริง ใครหรืออะไรที่สังคมควรใส่ใจ และด้วยท่าทีอย่างไร

สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่งคือ พลังงานของอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ ต่อผู้ก่อเหตุ ต่อผู้ถูกทำร้าย คือ พลังงานของความรู้สึกโกรธแค้น เจ็บปวด เสียใจ ทุกข์ทรมาน ฯลฯ  พร้อมกับชุดความคิดมากมายที่เป็นแกนหลักของความรู้สึกต่อการกระทำในเหตุการณ์ทำนองนี้ว่า ไม่ยุติธรรม ชีวิตต้องแลกด้วยชีวิต คนทำชั่วต้องถูกลงโทษ โทษหนักทำให้เกิดการป้องปรามการทำผิดได้ ความสงบสุขจะกลับมาได้ ต้องทำลายคนทำชั่ว

ทั้งความคิด ความรู้สึกข้างต้น เป็นเชื้อกองเพลิงที่อยู่ภายในจิตใจของผู้ถูกทำร้าย ญาติพี่น้อง รวมถึงคนทั่วไปได้รับรู้  พลังงานความรู้สึกเหล่านี้เป็นเหมือนกองเพลิงที่ลุกลาม สร้างความรู้สึก อารมณ์ร่วม  หากเปรียบเทียบจิตใจที่เต็มไปด้วยพลังงานความรู้สึกเหล่านี้ ก็คือ ผืนดินที่แห้งผาก แตกระแหง  สิ่งที่ผืนดินนี้ต้องการคือ การกลับคืนสู่ความชุ่มชื่น สุขสงบอย่างที่เคยเป็นมา  จิตใจที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน เจ็บแค้น เจ็บปวด ก็ต้องการความสุขสงบกลับคืน  ดังนั้นการเยียวยาโอบอุ้ม ใส่ใจกับจิตใจและร่างกายที่ทุกข์ทรมานของผู้ถูกกระทำ คือสิ่งสำคัญ

ในภาวะนี้ การให้ออกซิเจน ให้น้ำทิพย์เพื่อเยียวยาผืนดินและจิตใจที่แห้งผาก คืองานสำคัญ  การให้ความเข้าใจ การรับรู้ในความทุกข์ทรมาน คือสิ่งที่ผู้ถูกทำร้ายต้องการ  ขณะที่การลงโทษผู้กระทำผิด อาจช่วยให้ผู้ถูกกระทำรับรู้ถึงความยุติธรรม แต่ความเจ็บปวดนั้นยังคงอยู่  โจทย์สำคัญคือ การแยกแยะระหว่างเป้าหมายกับวิธีการ  การลงโทษผู้กระทำผิดด้วยโทษประหาร จึงอาจไม่ได้ให้ประโยชน์กับผู้ถูกทำร้าย หรือสังคมโดยรวมอย่างที่คาดหวัง  การใช้โทษประหารเป็นเพียงวิธีการที่คาดหวังว่าจะสร้างผลบวกต่อผู้ถูกทำร้าย ต่อสังคม ซึ่งอาจไม่นำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ  เพราะการมุ่งใส่ใจเป้าหมายคือ การเยียวยาช่วยเหลือผู้ถูกทำร้ายและการสร้างสังคมที่ปลอดภัย ซึ่งต้องการแนวทางต่างๆ มากมาย มากกว่าการใช้โทษประหารเป็นเครื่องมือที่ยึดถือ

ความเข้าอกเข้าใจ  (Empathy) คือ การมีความสามารถในการเข้าถึง รับรู้ มองเห็น และสื่อสารได้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของอีกฝ่าย  ตัวอย่างรูปธรรม คือ การได้ใส่รองเท้าของคนอื่นเพื่อรับรู้ เข้าถึง และเข้าใจในประสบการณ์ของอีกฝ่าย  ความสามารถนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะช่วยให้เราสื่อสารจากความเข้าใจในอีกฝ่าย ไม่ใช่จากมุมมองหรือความต้องการของเรา ซึ่งมีแนวโน้มที่จะตัดสินและตีความจากมุมมองของเราฝ่ายเดียว  ในฝ่ายผู้กระทำผิดเองก็มีความเป็นมา องค์ประกอบ และเหตุปัจจัยที่หล่อหลอมให้พวกเขามากระทำในเหตุดังกล่าว  การลงโทษประหารชีวิตหรือมุ่งจัดการที่ตัวคน จึงไม่ได้ช่วยให้เกิดผลงอกเงยสร้างสรรค์อะไร เพราะเหตุปัจจัยและองค์ประกอบที่สร้างอาชญากร หรืออาชญากรรมนั้นยังคงอยู่

วิธีคิดที่มุ่งมองในเชิงเส้นตรง หรือมุมมองในลักษณะสุดโต่ง เช่น ชีวิตแลกชีวิต ตาต่อตาฟันต่อฟัน ฯลฯ จึงมีอันตรายในตัว เพราะละเลยถึงความเป็นมาและองค์ประกอบแวดล้อม ทำให้เกิดการกระทำที่มุ่งตอบสนองอารมณ์ความโกรธแค้น หรือการระบายความเจ็บปวด แต่ไม่ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสร้างสรรค์  ขณะเดียวกัน การไม่มีโทษประหาร ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการลงโทษในการกระทำผิดนั้น การลงโทษผู้กระทำผิดเป็นหลักความยุติธรรมสำคัญที่ต้องดำรงรักษา

การเยียวยาช่วยเหลือผู้ถูกทำร้ายและการสร้างสังคมที่ปลอดภัย ต้องการแนวทางต่างๆ มากไปกว่าการใช้โทษประหารเป็นเครื่องมือ

สังคมต้องการความยุติธรรมในการอยู่ร่วมกัน แนวคิดสำคัญในความยุติธรรมคือ เมื่อเกิดการกระทำที่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน จะต้องได้รับการป้องกันและปราบปราม ทั้งหมดคือกระบวนการยุติธรรม  สิ่งสำคัญคือ ความยุติธรรมนั้นมีความมุ่งหมายเพื่อหลักสำคัญ ๒ ประการคือ ยุติธรรมเพื่อฟื้นฟู และยุติธรรมเพื่อลงโทษ  การลงโทษมีความจำเป็น และการฟื้นฟูเยียวยาก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

โทษประหาร หรือโทษจำคุก อาจเป็นความยุติธรรมเพื่อลงโทษ ก่อเกิดประโยชน์ที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว ไม่กล้ากระทำผิด ช่วยปกป้องสังคม  แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความกลัวจางหาย การกระทำผิดก็ยังเกิดขึ้นได้เนื่องด้วยเหตุปัจจัยยังเอื้ออำนวย  ขณะที่ความยุติรรมเพื่อฟื้นฟู ช่วยเพิ่มโอกาสในความปลอดภัย และก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในผู้กระทำผิดให้เป็นบุคคลที่มีคุณค่า มีความหมายในสังคมได้อีกครั้ง

สิ่งที่หลงลืมไปในโทษประหาร คือ การทำงานในส่วนของการเยียวยา การให้ความเข้าใจ ใส่ใจกับบาดแผล ความเสียหายในทางจิตใจ พร้อมกับการลงทุนเพื่อสร้างสรรค์ความยุติรรมเพื่อฟื้นฟู แทนการมุ่งเน้นความยุติธรรมเพื่อลงโทษ  ข้อถกเถียงในเรื่องว่าสังคมไทยพึงมีหรือไม่มีโทษประหาร จึงต้องการการตรึกตรองที่ใหญ่กว่าคำถามดังกล่าวคือ เราต้องการอยู่ในสังคมแบบไหน กระบวนการยุติธรรมควรเป็นไปอย่างไร เพื่อเอื้อและนำไปสู่สังคมที่สงบสุขและยั่งยืน


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน