“โลก” กับ “ธรรม” แยกจากกันไม่ได้

พระไพศาล วิสาโล 8 กันยายน 2001

พุทธศาสนาแต่ดั้งเดิมนั้น ไม่ว่าจะโดยหลักธรรมหรือโดยประเพณี ไม่ได้แยกสิ่งที่เรียกว่า “โลก” กับ “ธรรม” ออกจากกันอย่างชัดเจน  หลักธรรมในพุทธศาสนาไม่ได้มีแต่เรื่องทำจิตให้พ้นทุกข์อย่างเดียว หากยังครอบคลุมถึงเรื่องทางโลก อาทิ การประกอบอาชีพ (เช่นสัมมาอาชีวะ) การใช้จ่ายทรัพย์ (เช่น โภควิภาค ๔) ไปจนถึงการปกครองเพื่อให้เกิดสังคมที่สงบสุข (เช่นจักรวรรดิวัตร)  การปฏิบัติธรรมในขั้นฝึกจิตหรือทำสมาธิภาวนานั้น ต้องอาศัยปัจจัยทางโลก เช่น อาหาร ที่อยู่อันสงบวิเวก ฉันใด  การทำมาหากินไปจนถึงการปกครองซึ่งถือว่าเป็นเรื่องทางโลก ก็จำเป็นต้องมีธรรมเข้าไปกำกับเพื่อให้เกิดความสงบสุขในชีวิตและสังคม ฉันนั้น  โดยที่ในจุดหมายในขั้นสุดท้ายของกิจกรรมทางโลกนั้นก็ต้องเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของธรรมด้วย

ด้วยเหตุนี้เองเมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงจัดให้มีการปลูกสวน ปลูกป่า ขุดแหล่งน้ำ ทำถนนหนทาง และสร้างศาลาพักคนเดินทางทั่วราชอาณาจักร  กิจกรรมทางโลกเหล่านี้พระองค์ไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนเท่านั้น หากยังทรงมุ่งหวังยิ่งกว่านั้น คือ “เพื่อให้ประชาชนทั้งหลายประพฤติปฏิบัติตามธรรม” ดังปรากฏเป็นหลักฐานในศิลาจารึกของพระองค์

ในทางประเพณี สังคมไทยก็ไม่ได้แยกโลกออกจากธรรมอย่างชัดเจน  ถือกันว่าหน้าที่ของผู้ปกครองโดยเฉพาะพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่มีแค่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขเท่านั้น หากยังจะต้องอุปถัมภ์ศาสนาและผดุงศีลธรรมของราษฎร โดยรวมถึงการเป็นแบบอย่างด้านการประพฤติธรรมด้วย และสามารถสั่งสอนธรรมแก่ราษฎรได้ด้วย  เมื่อพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นครองราชย์ จึงไม่เพียงแต่จะทรงกวดขันใส่ใจในการชักชวนให้สมณพราหมณ์และราษฎรตั้งอยู่ในกุศลจริตเท่านั้น หากยังทรงมีพระประสงค์ให้ราษฎรได้เข้าถึง “สวรรคสมบัตินิพพานสมบัติ” เลยทีเดียว

ส่วนพระสงฆ์โดยประเพณีก็ไม่ได้สอนธรรมอย่างเดียว หากยังมีบทบาทในทางโลก เช่น สอนวิชาช่างสมุนไพร สร้างสรรค์ศิลปะวรรณคดี เป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชน ขุดบ่อน้ำ ทำทาง สร้างสะพาน และเป็นผู้ไกล่เกลี่ยระงับความขัดแย้งในหมู่บ้าน เป็นต้น  วัดจึงมิใช่สถานอบรมสั่งสอนศีลธรรมจรรยาและประกอบพิธีกรรมเท่านั้น หากยังเป็นสถาบันทางสังคมแบบอเนกประสงค์  กล่าวอีกนัยหนึ่งขณะที่พระมหากษัตริย์ในอุดมคติ (ธรรมราชา) มีฐานะเป็นผู้นำในทางธรรมด้วยนั้น พระสงฆ์ที่ชาวบ้านเคารพสักการะก็มีบทบาทเป็นผู้นำในทางโลกอีกโสดหนึ่ง

หลักธรรมในพุทธศาสนาไม่ได้มีแต่เรื่องทำจิตให้พ้นทุกข์อย่างเดียว หากยังครอบคลุมถึงเรื่องทางโลก อาทิ การประกอบอาชีพ การใช้จ่ายทรัพย์ ไปจนถึงการปกครองเพื่อให้เกิดสังคมที่สงบสุข

แต่ “โลก” และ “ธรรม” ถูกแยกขาดจากกันอย่างชัดเจนในสังคมสมัยใหม่  การที่รัฐดึงเอาการศึกษาสำหรับประชาชนออกไปอยู่นอกกำแพงวัดในสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นจุดเริ่มต้นของการดึงบทบาททาง “โลก” แทบทั้งหมดออกจากมือของพระ  จนในที่สุดพระถูกตีกรอบหรือหดบทบาทให้เหลือเพียงเรื่องทาง “ธรรม” ล้วนๆ ได้แก่การศึกษาปฏิบัติ และสอนธรรมะ กับประกอบศาสนพิธีเท่านั้น  วิชาที่เรียนในวัดเหลือแต่เรื่องปริยัติธรรมล้วนๆ ส่วนวิชาการสมัยใหม่นั้น เนื่องจากถูกมองว่าเป็น “วิชาทางโลก” ซึ่งมีนัยส่อไปทาง “ติรัจฉานวิชา” จึงถูกห้ามไม่ให้สอนในวัดอยู่เป็นเวลานาน  ทั้งๆ ที่แต่ก่อนการเรียนวิชาทางโลกเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพระ และเป็นความรู้ที่ใช้สอนแนะนำญาติโยมด้วย เป็นแต่วิชาเหล่านั้นเป็นวิชาการสมัยเก่าที่ไม่ได้มาจากตะวันตก เช่น โหราศาสตร์ แพทยศาสตร์ จักรวาลวิทยา

ในขณะที่พระจำกัดตัวเองอยู่ในฝ่าย “ธรรม”  ฆราวาสก็มองว่าตนเองอยู่ฝ่าย “โลก” คือเห็นว่าตนเองมีหน้าที่เพียงแค่ทำมาหากิน การศึกษาปฏิบัติธรรมะถือว่าเป็นเรื่องของพระ  ผลก็คือธรรมะถูกแยกขาดจากชีวิตประจำวันของผู้คน การประกอบอาชีพและการทำมาหากินนั้นไม่จำต้องคำนึงถึงธรรมะก็ได้ จะเอาเปรียบลูกค้าหรือโกหกฉ้อโกงก็ย่อมได้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องธุรกิจ ต่อเมื่อเข้าวัดถึงค่อยทำบุญ  ธรรมะถูกกันให้มาซุกอยู่ในบางซอกบางมุมของชีวิต เช่นเวลาเข้าวัด เวลาอยู่ในห้องพระ หรือในความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเท่านั้น

ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่ง ผู้ที่ใฝ่ธรรมก็มีแนวโน้มที่จะไม่สนใจช่วยเหลือสังคม เพราะถือว่าเป็นเรื่องทางโลก  ทัศนคติดังกล่าวแพร่หลายในหมู่นักปฏิบัติธรรมไม่เฉพาะพระ หากรวมถึงฆราวาส (ซึ่งเริ่มสนใจสมาธิภาวนามากขึ้นในระยะหลัง) แม้กระทั่งการสอนธรรมก็เน้นแต่ระดับบุคคล  กล่าวคือ เวลาพูดถึงการทำความดี ก็สอนแต่ในแง่ที่เป็นการทำความดีเฉพาะตัว เช่น รักษากายวาจาใจให้เรียบร้อยเป็นปกติ  แต่มักมองข้ามการทำความดีต่อส่วนรวม เช่นการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ และการรักษาสมบัติของส่วนรวม  ในทำนองเดียวกันเมื่อพูดถึงผลเสียของการละเมิดศีล ก็มักเน้นเฉพาะส่วนที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งแก่ผู้กระทำและผู้ถกกระทำเท่านั้น  แต่ไม่ได้พูดถึงผลกระทบต่อส่วนรวมหรือสังคม  ทั้งๆ ที่ธรรมในพุทธศาสนานั้นล้วนมีมิติทางสังคมหรือเกี่ยวข้องกับส่วนรวมทั้งสิ้น  แม้แต่การบำเพ็ญบารมีเพื่อบรรลุโพธิญาณของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายก็ล้วนมุ่งประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ มิใช่เพื่อพ้นทุกข์เฉพาะตนเท่านั้น

ความเข้าใจธรรมอย่างไม่ครบถ้วนเช่นนี้ ในที่สุดทำให้ส่วนตัวกับส่วนรวมกลายเป็นเรื่องที่แยกจากกัน  “ธรรม” กลายเป็นเรื่องส่วนตัว  และเรื่องส่วนรวมกลายเป็นเรื่องของ “โลก” ไป  ทั้งๆ ที่ในทางพุทธศาสนานั้น ส่วนตัวกับส่วนรวมไม่อาจแยกจากกันได้  ดังมีพุทธพจน์ว่า “เมื่อรักษาตนก็คือรักษาผู้อื่น เมื่อรักษาผู้อื่นก็คือรักษาตน”


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา