ในเส้นทาง: กฎครอบครัว

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 25 พฤศจิกายน 2012

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เจ้าชายน้อยเติบโตอย่างมีความสุขพร้อมด้วยเจ้าหญิงพี่สาว และพระราชา พระราชินี  พระองค์เจริญวัยจนกระทั่งวันหนึ่งพระองค์ทรงล้มป่วยด้วยโรคร้าย เป็นโรคประหลาดที่ร่างกายของพระองค์จะค่อยๆ ทรุดโทรมแก่ชราก่อนวัยอันควร และชราภาพตายไปในที่สุด  ความเป็นเด็กน่ารักและหากลูกน้อยจะต้องตายจากไป ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องที่ทั้งพระราชาและพระราชินียอมรับไม่ได้  แม้ว่าบรรดาแพทย์จากทั่วสารทิศต่างยืนยันในโรคภัยนี้ว่าไม่สามารถรักษาได้

พระราชินียอมขายราชสมบัติที่มีอยู่เพื่อรักษาเจ้าชายน้อยอย่างเต็มที่ คาดหวังว่าปาฏิหารย์จะเกิดขึ้น  ฐานะของพระองค์ค่อยๆ ร่อยหรอจนพระองค์กลายฐานะเป็นชนชั้นธรรมดา  ส่วนพระราชาแม้จะทรงรักลูกมากเพียงใด แต่พระองค์ก็ค่อยๆ ยอมรับความจริง กระนั้นพระองค์ก็ยอมที่จะกระทำตามประสงค์ของพระราชินี  แต่ในที่สุดความอดทนของพระองค์ก็ทนรับไม่ไหว พระราชาเลือกที่จะทรงงานหนัก ทุ่มเททำงานเพื่อหารายได้มาหล่อเลี้ยงครอบครัว  เจ้าหญิงพี่สาวก็ต้องปรับเปลี่ยนสภาพชีวิตมาเป็นสามัญชน ทำงาน เรียนหนังสือเพื่อแบ่งเบาภาระของพระราชินี

โรคภัยไข้เจ็บทำให้เจ้าชายน้อยห่างเหินจากเพื่อนฝูง  เจ้าชายน้อยรับรู้เต็มหัวใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวของตน  ความรัก ความเครียด ความกดดันโถมทับครอบครัวของเจ้าชายน้อยเป็นอย่างมาก  ความเครียดทำให้เจ้าชายมักอารมณ์เสีย หงุดหงิดและซึมเศร้า  ขณะที่พระราชินีก็ยังทรงดิ้นรน ต่อสู้ และกระตุ้นเร้าให้เจ้าชายน้อยต่อสู้กับโรคภัย  พระราชินีต้องทรงอดทนและบอกกับตนเองว่าต้องไม่ยอมแพ้  ขณะที่พระราชาก็ห่างเหินจากครอบครัวมากขึ้น ทำงานหนักมากขึ้น  เจ้าชายน้อยก็สุขภาพกายและใจเสื่อมทรุดลงเรื่อยๆ

สิ่งที่ครอบครัวนี้เผชิญจึงมิใช่โรคภัยที่เกิดขึ้นกับเจ้าชายน้อย แต่ทุกคนในครอบครัวต่างเผชิญโรคร้ายนี้ด้วยเช่นกัน โรคร้ายทั้งจากโรภภัยไข้เจ็บ จากฐานะทางเศรษฐกิจที่เสี่อมทรุดลง  ในที่สุดเรื่องราวของครอบครัวนี้ก็มาสู่การรับรู้ของนักปราชญ์ท่านหนึ่งที่มีความสามารถเยี่ยมยอดในการเยียวยาความทุกข์ ความขัดแย้งระหว่างกัน

และนักปราชญ์ท่านนี้ก็คือ เราทุกท่านที่เส้นทางชีวิตอาจต้องมาประสบพบพานกับเรื่องราวนี้ทั้งในฐานะใดก็ตาม  ท่านจะช่วยเหลือครอบครัวนี้อย่างไร โดยครอบครัวนี้พร้อมรับความช่วยเหลือจากท่านแล้ว

หลักธรรมสำคัญในพุทธศาสนา อริยสัจ ๔ เริ่มต้นหลักธรรมว่าด้วย ทุกข์  ทุกข์กาย ทุกข์ใจ  นักปราชญ์หลายท่านก็มักกล่าวถึงประเด็นทุกข์ต่างแง่มุม แต่โดยรวมแง่มุมสำคัญคือ ทุกข์จากภาวะความไม่มี และความมี  การมีโรคภัยกลายเป็นความทุกข์สาหัสของครอบครัว ขณะที่ผู้คนมากมายก็มีความทุกข์จากความยากจน ความขาดแคลน  ออสการ์ ไวลด์ กวีชาวอังกฤษให้คำข้อความที่น่าสนใจคือ “ชีวิตมีโศกนาฎกรรมอยู่เพียงสองสิ่ง คือ เราไม่ได้สิ่งที่เราต้องการ และอีกเรื่องคือ เราได้มาซึ่งสิ่งนั้น”  เรากำลังประสบโศกนาฎกรรม คือ การได้มาซึ่งสิ่งที่เราไม่ต้องการ เราจะรับมือกับความทุกข์เหล่านี้อย่างไรดี

ตัวอย่างข้างต้นมีเค้าโครงจากเรื่องจริง และเค้าโครงนี้ก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับหลายครอบครัว แตกต่างกันว่าบางครอบครัวมีโอกาสที่จะสร้างทางเลือกให้กับชีวิต ให้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น  ขณะที่หลายครอบครัวก็ไม่สามารถคิดหาทางเลือก ต้องเผชิญกับสถานการณ์และตอบโต้ไปตามสติปัญญา สามัญสำนึก และสัญชาตญาณที่มีอยู่  เช่นเดียวกับผู้เขียน สัมผัสแรกที่เกิดขึ้นทันทีคือ การช่วยเหลือ จำเป็นที่เราจะต้องช่วยเหลือให้พระราชินียอมรับความจริง ใส่ใจความรู้สึกและความต้องการของเจ้าชายน้อยและสมาชิกในครอบครัวให้มากกว่านี้  มากกว่าการเลือกต่อสู้ดิ้นรนจนความเครียด ความกดดัน และความเหน็ดเหนื่อยรุมเร้า  น่าเสียดายที่พระราชินีไม่ยอมรับ พระราชินียังคงเดินหน้าต่อสู้กับโรคร้ายของเจ้าชายน้อยต่อไป

ความเป็นสังคมสมัยใหม่ ทำให้ความทุกข์ยากของผู้คนส่วนหนึ่งยังคงเป็นความทุกข์ยากจากความยากจน ความขาดแคลน  แต่กระนั้น ความทุกข์ยากที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ความทุกข์ยากทางจิตใจ จากความเครียด ความกดดันของสภาพเศรษฐกิจ สังคม  หลายครอบครัวแตกร้าวในความสัมพันธ์ ความแปลกแยกของผู้คนในสังคม อาการป่วยทางจิต โรคประสาท ซึมเศร้า กลายเป็นภัยเงียบคุกคามสังคม  แวดวงนักจิตวิทยาได้พัฒนากระบวนการ ทฤษฎี เพื่อรับมือกับโรคภัยทางจิตใจ  หลากหลายทฤษฎีเลือกที่จะทำงานกับความเชื่อ มุมมอง และทัศนคติบางอย่างภายในตัวเรา  เช่นเดียวกับจิต และใจในพุทธศาสนา ซึ่งถือเป็นประธานแห่งการกระทำ  มุมมองสำคัญที่ทำงานกับความคิด ความเชื่อนี้คือ “ตัวปัญหาไม่ใช่ปัญหา แต่วิธีรับมือกับปัญหานี่แหละ คือตัวปัญหาเอง” บ่อยครั้งเมื่อเราเผชิญปัญหา เราก็มักตอบโต้ไปตามสามัญสำนึก สติปัญญาที่มี แต่มีหลายสิ่งที่เรามองข้ามและหลงลืม

ออสการ์ ไวลด์

“ชีวิตมีโศกนาฎกรรมอยู่เพียงสองสิ่งคือ เราไม่ได้สิ่งที่ต้องการ และอีกเรื่องคือ เราได้มาซึ่งสิ่งนั้น” — ออสการ์ ไวลด์

ผู้เขียนมีโอกาสได้เรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่ได้พบก็ทำให้บทเรียนชีวิตกว้างไกลและลึกซึ้งยิ่งขึ้น  สิ่งแรกที่เราทุกคน หลายครอบครัวหลงลืม คือ การพูดความจริง โดยเฉพาะความจริงจากความรู้สึกที่เกิดขึ้น เช่น ความรู้สึกเหนื่อย เศร้า เบื่อ ไม่ชอบ  หลายคนมีความเชื่อว่าความรู้สึกเชิงลบเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง

ครอบครัวก็เหมือนสังคมประเทศที่มีกฎหมาย เพียงแต่กฎหมายของครอบครัวไม่มีลายลักษณ์อักษร แต่ทุกคนถือไว้เป็นกฎหมายประจำตัว ประจำครอบครัว นั่นคือ กฎครอบครัว  หลายครอบครัวมีกฏครอบครัวที่คาดไม่ถึงแต่มีอยู่ เช่น ห้ามพูดความรู้สึก ห้ามโกรธ ระบบอาวุโส ฯลฯ  หลากหลายหน้าตาของกฎครอบครัว แง่หนึ่งสิ่งนี้มีประโยชน์ที่ช่วยโอบอุ้มรักษาครอบครัว แต่บ่อยครั้งสิ่งนี้ก็ทำร้ายเรา ทำร้ายครอบครัว  การทำความรู้จักกฎครอบครัวและการเรียนรู้ที่จะสร้างกฏครอบครัวใหม่ที่สอดคล้องกับสภาพครอบครัว จึงเป็นงานสำคัญในการทำงานกับครอบครัว กับตนเองในฐานะสมาชิกครอบครัว

และสิ่งสำคัญคือ การยอมรับความรู้สึกในฐานะความจริงที่เกิดกับตัวเรา และการอยู่คู่กันของสิ่งที่ดูคล้ายความขัดแย้ง เช่น “ฉันมีความสุขและเศร้า เหนื่อยได้” “ฉันเป็นที่รักและฉันก็ทำผิดได้”  ความเชื่อผิดๆ ที่ซ่อนในตัวเราคือ ความปรารถนาความสมบูรณ์แบบ ความมั่นคง ถูกต้อง ฯลฯ  สิ่งพึงระลึกคือ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ที่ภายนอกแต่อยู่ที่ภายใน และทั้งหมดก็มีอยู่เท่าที่มีอยู่ ไม่ใช่มีเพราะความคาดหวัง

การทำงานกับความคิด ด่านแรกที่เราต้องดูแลจึงเป็นการเรียนรู้ ยอมรับ และเข้าใจความรู้สึก ความต้องการ เพื่อนำไปสู่ประตูชีวิตขั้นตอนต่อไป


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน