ในเส้นทาง: ความเคารพในตนและผู้อื่น

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 10 กุมภาพันธ์ 2013

บ่ายของวันหนึ่งขณะผู้เขียนรอรถประจำทาง

ฝรั่งชายอายุราว ๕๐-๖๐ ปีมาถามหาเส้นทางรถเมล์ที่แล่นผ่าน ผู้เขียนตอบคำถามไป  แต่ด้วยอาการครุ่นคิดผู้เขียนจึงแสดงน้ำใจถามไถ่ว่าอีกฝ่ายต้องการไปที่ไหน ผู้เขียนจึงแนะนำสายรถเมล์ที่แล่นผ่าน ฝรั่งท่านนั้นตอบกลับมาว่าตนรอนานมากแล้ว  สักพักผู้เขียนจึงนึกได้ว่า รถเมล์ที่จอดรอก็สามารถไปยังจุดหมายที่ฝรั่งคนนี้ต้องการจึงแจ้งไป  โชคร้ายที่รถเมล์คันนั้นแล่นจากไปเสียแล้ว ปฏิกิริยาที่ได้จากฝรั่งคนนี้คือ “ทำไมคุณเพิ่งมาบอกผม มันสายไปแล้ว”

น้ำเสียงที่ขึ้นสูง ท่าทางดูหงุดหงิด ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ผู้เขียนตีความว่าอีกฝ่ายโยนความผิดพลาดมาที่ผู้เขียน  สิ่งที่พบคือ ความโกรธที่ผุดขึ้นกลางอก  กระนั้นสติปัญญาของผู้เขียนก็ยังไม่มากพอที่จะเท่าทันความโกรธ ผู้เขียนจึงตอบโต้ด้วยอารมณ์ เราสองคนตอบโต้ด้วยวาจา  ความหงุดหงิดฉุนโกรธ รวมกับเหตุผลสนับสนุนความชอบธรรมในการกระทำของตน  ผลที่เกิดในตัวผู้เขียนคือ ความโกรธที่ครอบงำจิตใจ ปั่นป่วนในความรู้สึก อีกฝ่ายก็มีสีหน้าที่แดงเข้ม และหยิบยกเหตุผลพาดพิงเรื่องอื่นๆ จนเรื่องราวเลยเถิด จากนั้นผู้เขียนก็เลือกเดินหนีห่าง

อีกครั้งในที่นั่งบนเครื่องบิน

ตำแหน่งที่นั่งของผู้เขียนอยู่กึ่งกลางระหว่างผู้โดยสารฝรั่งชายอายุราว ๒๐-๓๐ ปี  ฝรั่ง ๒ คนสนทนาเสียงดังผ่านหน้าผู้เขียนไปมา  เวลาผ่านไปชั่วครู่พอที่ความขุ่นเคืองในใจเริ่มทำงาน ผู้เขียนจึงหันไปหาฝรั่งที่ดูเสียงดังกว่าเพื่อน ถามอีกฝ่ายว่าต้องการเปลี่ยนที่นั่งเพื่อคุยสะดวกกับเพื่อนมั้ย  อีกฝ่ายปกิเสธว่าไม่ ผู้เขียนจึงแจ้งว่าเสียงของคุณดังมากและกำลังพูดคุยผ่านหน้าผมไปมาแบบนี้ ฝรั่งคนนี้ดูเหมือนไม่เข้าใจความขุ่นเคืองของผู้เขียนนัก แต่คำตอบที่ยุติเรื่องราวคือ อีกสักครู่เขาก็จะหลับแล้ว เรื่องราวจึงเป็นอันยุติ

เวลาผ่านไป ความรู้สึกขุ่นเคืองค่อยๆ จางคลายมากพอที่จะทำให้ผู้เขียนพอเข้าใจได้ว่า ฝรั่ง ๒ คนนี้อายุประสบการณ์ยังไม่มากนัก ความตระหนักรู้ในเรื่องความเกรงใจ ความเคารพในผู้อื่นคงมีไม่มากนัก  น่าสนใจว่าพอความขุ่นเคืองใจจางคลาย เหตุผลกับความเข้าใจก็ตามมา จากนั้นการไม่ถือสาหาความก็เป็นสิ่งไม่ยากเกิน

ความโกรธเป็นสัญญาณเตือนที่บอกให้เรารู้ว่า เรามีความต้องการอะไรบางอย่างที่กำลังถูกกระทบ หรือความต้องการหนึ่งๆ ไม่ได้รับการตอบสนอง  สิ่งที่ผู้เขียนพบด้วยก็คือ เรามีทางเลือกมากมายในการรับมือกับความโกรธ เช่น ๑) การเพิกเฉย ละเลย หรือหลงลืมความโกรธนั้น เช่น ลืมๆ ไปเถอะ ไม่เป็นไร  ๒) ปล่อยตัว ปล่อยใจไปตามความโกรธ ตามแต่ความโกรธจะพาไป  ๓) ค้นหาให้ลึกต่อไปว่าเรากำลังโกรธอะไร เราต้องการอะไรกันแน่จากเหตุการณ์นี้  ๔) บอกกับตนเองว่าท่าทีที่เกิดขึ้น คือเรื่องของเขาไม่ใช่ของเรา

ข้อค้นพบอีกประการคือ การระลึกและจดจำว่าเราถูกกระทำไม่ดีอย่างไร ดูง่ายดายกว่าการจดจำตนเองในฐานะผู้กระทำ ซึ่งโอกาสก็มีสูง เพียงแต่เราละเลยไม่ใส่ใจ หรืออาจยังไม่ได้รับผลสะท้อนกลับ  ดังนั้นสิ่งที่พึงระวังคือ การยึดถือแต่มุมมองเฉพาะของตนเองในการรับรู้ตนเอง จนปราศจากการรับฟังจากคนอื่น  ข้อค้นพบที่สำคัญอีกข้อคือ เราต่างต้องการการได้รับความเคารพพอสมควรกับบทบาทฐานะของตน  ความเคารพในตนและผู้อื่นจึงเป็นฐานสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างกัน

ในท่ามกลางความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อน ปัจจัยตัวแปรหนึ่งก่อเกิดผลกระทบอื่นๆ ที่ตามมาอย่างคาดไม่ถึง  และถ้าหากปัจจัยนั้นเกี่ยวข้องกับมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วยแล้ว ผลกระทบก็ยิ่งก่อเกิดและมีผลรุนแรง  อัตตาหรือความยึดถือในตัวตน ทำให้บางคนอาจเคารพในความเป็นตนเองมากไปจนเคารพในความเป็นผู้อื่นน้อยเกินไป  หรือบางคนอาจเคารพในความเป็นตนเองน้อยไป จนเคารพในความเป็นผู้อื่นมากเกินไป  หรือบางคนอาจไม่เคารพในความเป็นมนุษย์ทั้งของตนเองและผู้อื่นก็ได้ จนกระทำสิ่งที่เบียดเบียน ทำร้ายชีวิต

ในแง่ธรรม อัสมิมานะ : ความถือตัวว่าเป็นเรา ความถือเขาถือเราว่า เราเหนือกว่า ด้อยกว่า หรือเท่าเทียมกับผู้อื่น  การยึดถือเช่นนี้ทำให้การละเมิดเบียดเบียนเป็นสิ่งที่ยากหลีกพ้น  การละเมิดสิทธิมนุษยชน การจี้ปล้น ทำร้าย คอร์รัปชั่น การข่มขืน การค้ามนุษย์ การทำลายธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม คือตัวอย่างของการขาดความเคารพในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น รวมถึงต่อธรรมชาติรอบตัว  กรณีเหตุการณ์หญิงสาวชาวอินเดียถูกรุมข่มขืนบนรถเมล์ ถูกทำร้ายสาหัสจนเสียชีวิต ก่อเกิดผลสะเทือนใหญ่โต เนื่องมาจากคนร้ายและโครงสร้างสังคมขาดความเคารพในเพื่อนมนุษย์ ปฏิบัติต่อเพศหญิงอย่างเอารัดเอาเปรียบ

จิตใจที่รู้เคารพในตนเองและผู้อื่นรวมถึงธรรมชาติรอบตัว จึงเป็นคุณภาพจิตใจที่มีความสำคัญมากในการอยุ่ร่วมกันเป็นสังคม  เราทุกคนต่างต้องการคุณภาพสังคมที่มีน้ำใจไมตรี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พอๆ กับความต้องการในคุณภาพสังคมที่มีความเคารพในระเบียบวินัย หลักการ กฎกติกาของสังคม รวมถึงเคารพในสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของปัจเจกชนด้วย

สิ่งที่ยากคือ จิตใจที่รู้เคารพนี้เป็นคุณภาพจิตใจที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยการคิดนึกคาดเดา การคิดคำนวณท่องจำ และไม่ใช่ด้วยคำขวัญหรือการโฆษณาบอกกล่าว  แต่โดยตัวอย่างที่พบเห็นได้ สัมผัสได้ และโดยการมองเห็นสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างกันว่า เราทุกคนต่างเป็นเพื่อนมนุษย์ เพื่อนร่วมโลก เพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย และเราต่างเป็นผู้รักสุข เกลียดทุกข์  เพราะการมองเห็นและเข้าใจในสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงนี้เท่านั้น จึงนำเราไปสู่ความเห็นอกเห็นใจและเอื้ออาทรระหว่างกัน  สังคมที่มีความเจริญ ก้าวหน้า ร่ำรวยด้วยวัตถุเงินทอง แต่เต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบ การข่มเหงรังแก ขาดความยุติธรรมทางสังคม ก็คือสังคมที่ขาดความเคารพในตนเองและคนอื่น ก็คือสังคมที่ขาดความเคารพในมนุษย์

ความเคารพในตนเองและผู้อื่น เป็นฐานสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างกัน

ท่านทะไลลามะเป็นบุคคลสำคัญระดับโลก เป็นผู้นำระดับโลกทั้งในทางจิตวิญญาณและรวมถึงการเมือง แต่ทุกครั้งเมื่อท่านพบปะพระภิกษุในสายเถรวาท พระองค์ท่านก็จะก้มลงกราบทำความเคารพพระภิกษุด้วยความนอบน้อมในฐานะที่พุทธศาสนาเถรวาทเป็นสายอาวุโสโดยมิได้ถือยศศักดิ์ฐานะ  นี่คือตัวอย่างหนึ่งของบุคคลที่มีจิตใจรู้เคารพ การกระทำของท่านจึงเป็นตัวอย่างที่ผู้มีโอกาสพบเห็น ได้พบความชื่นชมและความเคารพนับถือผ่านการกระทำและท่าทีการแสดงออก  การมีจิตใจที่รู้เคารพ ก่อเกิดความอ่อนน้อมถ่อมตน  และความอ่อนน้อมถ่อมตนอันมาจากการให้ความเคารพในผู้อื่น กลับยิ่งเสริมสร้างความน่าเคารพยกย่องที่ผู้คนทั่วไปมีต่อท่านให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น

แม้เราแต่ละคนจะเป็นคนธรรมดา  การมีจิตใจที่รู้เคารพจะโดยการฝึกฝนหรือสร้างความตระหนักรู้ก็ตาม ก็คือเสน่ห์ประจำตัวที่ก่อเกิดสายสัมพันธ์อันดีงามและน่าชื่นใจในสังคมที่อยู่ด้วยกัน

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน