ในเส้นทาง: เผชิญหน้าความยากลำบาก

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 22 ธันวาคม 2013

ช่วงชีวิตของเราทุกคนต่างล้วนเคยเผชิญหน้ากับความยากลำบาก ลำพังเพียงความยากลำบากทางกาย พวกเราสามารถผ่านพ้นได้เมื่อได้รับการพักผ่อน การบำรุงรักษา  แต่สำหรับความยากลำบากทางจิตใจ น้ำหนักภาระของความเหนื่อย ความหนัก สาหัสกว่ามาก ยิ่งหากเป็นการท้าทายที่ยิ่งใหญ่ คือ การเสียสละ ซึ่งหมายถึงการสูญเสียบางอย่าง

ผู้นำที่แท้หลายคนต่างล้วนเผชิญหน้ากับโชคชะตาทางเลือกที่ยากลำบาก ระหว่างทางเลือกที่จะอยู่อย่างสุขสบายภายใต้หน้ากากที่ตนเองรู้ว่าตนเองไม่ซื่อสัตย์กับแรงปราถนาภายในใจ กับทางเลือกที่จะซื่อสัตย์ต่อคุณธรรม ความปรารถนาที่แท้ภายในจิตใจ  และการเลือกประการที่สองก็มักหมายถึงการเสี่ยงต่อการสูญเสียสถานภาพชีวิต ความมั่นคงปลอดภัย  และด้วยการเลือกเช่นนี้ ก็คือส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่ในชีวิตคนธรรมดาที่กลายเป็นคนยิ่งใหญ่ด้วยการเอาชนะบททดสอบความยากลำบากนี้

เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ โลกได้สูญเสียบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ที่ลาจากโลกนี้ไป คือ อดีตประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา  ความยิ่งใหญ่ของท่านคือ การเป็นแบบอย่างของบุคคลธรรมดาที่เผชิญหน้ากับบททดสอบแห่งความยากลำบาก ในฐานะผู้นำประเทศแอฟริกาใต้ ประเทศที่เคยเต็มไปด้วยความเกลียดชัง อคติความเชื่อของการแบ่งแยกสีผิว รวมถึงความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจ

บททดสอบอันสำคัญคือ ทำอย่างไรที่จะนำพาสังคมประเทศก้าวผ่านอคติความเกลียดชัง ความแตกแยก ไปสู่การปรองดองสมานฉันท์ระหว่างคนผิวสีกับคนขาวที่ต่างเป็นพลเมืองของประเทศ นี่คือทางเลือกแรก  กับทางเลือกที่พร้อมถูกเลือกมากกว่า คือ ทางเลือกที่จะยอมตามกระแสความเกลียดชัง อคติการแบ่งแยก โดยมีประวัติศาสตร์ของการกดขี่ ข่มเหง การตอบโต้แก้แค้น ความเกลียดชังของคนในประเทศคอยสนับสนุน  แต่นั่นหมายถึงความแตกร้าว และการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อโดยไม่จบสิ้น  และอย่างที่ทุกท่านได้ทราบ เนลสัน แมนดาลา เลือกที่จะเอาชนะก้าวข้ามสัญชาตญาณของความโกรธ เกลียด และกลัว  เลือกที่จะไม่เชื่อกระแสเสียงของคนส่วนใหญ่

เนลสัน แมนเดลา

การเลือกในเส้นทางสันติภาพ ความปรองดองนี้ ย่อมหมายถึงการเรียกร้องในเชิงสติปัญญา การมีวิสัยทัศน์ และหัวใจที่เปิดกว้าง ชีวประวัติของผู้นำท่านนี้ได้สะท้อนถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต การสั่งสมประสบการณ์ในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกคุก  วาทะสำคัญที่สะท้อนภูมิปัญญาดังกล่าวได้กลายเป็นมรดกความคิดแก่คนรุ่นหลัง ดังเช่น

“ไม่มีใครเกลียดคนอื่นเพราะสีผิว พื้นเพ และศาสนาที่แตกต่างมาตั้งแต่เกิด  คนทุกคนจะต้องเรียนรู้ที่จะเกลียดผู้อื่น และเมื่อคนเราสามารถเรียนรู้ที่จะเกลียดได้แล้ว ก็สามารถเรียนรู้ที่จะรักได้เหมือนกัน เพราะโดยธรรมชาติแล้วความรักเกิดขึ้นในหัวใจของคนเราได้ง่ายกว่าความเกลียดเสียอีก”

“ถ้าเราอยากจะสร้างสันติกับศัตรู เราจะต้องจับมือกับศัตรู แล้วศัตรูก็จะกลายเป็นหุ้นส่วนของเรา”

และหนทางของของการที่ต้องมาคืนดีกับศัตรูเพื่อสร้างความสมานฉันท์ ย่อมหมายถึงการต้องฝึกฝนตนเองที่จะต้องให้อภัย และสร้างความเมตตาที่ให้กับตนเองและผู้อื่นได้  ความเมตตาต่อตนเองด้วยการไม่ให้ตนเองต้องทุกข์ทรมานกับยาพิษในใจ คือ โกรธ กลัว เกลียด ในจิตใจ  ความเมตตากับคนอื่นด้วยการมองเห็นและยอมรับฝ่ายตรงข้ามในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้ หนทางนี้ต้องอาศัยการฝึกฝน

ท่านทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวธิเบตได้อธิบายถึงแง่มุมความเมตตาว่ามี ๒ ระดับ  ระดับแรกคือ ความเมตตาที่เนื่องด้วยปัจจัยทางชีวภาพ ความสัมพันธ์ทางสายเลือด หรือทางสังคม เป็นความเมตตาที่ไม่ต้องอาศัยการฝึกฝน เช่น ความเมตตาที่พ่อแม่มีต่อลูก หรือความเมตตาจากความสนิทสนม ความรักใคร่ชอบพอที่มีกันฉันเพื่อน คนรู้จักคุ้นเคย  ส่วนความเมตตาระดับ ๒ คือ ความเมตตาที่แท้ มีพื้นฐานที่มาจากการฝึกฝนทางปัญญา ความเข้าใจ และความเคารพนับถือ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการมองเห็นและเข้าใจในความจริงถึงความเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมกัน การไม่แบ่งเขาแบ่งเรา ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝน เช่น เมตตาภาวนา

เมื่อคนเราสามารถเรียนรู้ที่จะเกลียดได้ ก็ย่อมสามารถเรียนรู้ที่จะรักได้เช่นกัน

หลายคนอาจคิดว่าตนเองมีความเมตตา มุมมองของท่านทะไลลามะอาจทำให้เราพบว่า ความเมตตาของเราอาจอยู่ที่ระดับที่ ๑ เท่านั้น  ประสบการณ์วัยเด็กของพระองค์ที่ทำให้ท่านได้ตระหนักรู้อคติความเมตตาที่มีในตนเองคือ ทุกครั้งที่พระองค์พบสุนัข ๒ ตัวกัดกัน ท่านจะเอาใจช่วยตัวที่ตกเป็นรอง และต้องพยายามห้ามใจที่จะไม่เตะหรือทำร้ายเจ้าตัวที่ใหญ่กว่า แข็งแรงกว่า พฤติกรรมเช่นนี้คงเกิดขึ้นในหลายๆ คนตามความเข้าใจว่านั่นคือ ความถูกต้อง  อย่างไรก็ดี นั่นคือความถูกต้องตามความเข้าใจของเราเอง เพราะการเลือกข้างเช่นนี้แท้จริงคือ ความลำเอียง เป็นการเลือกปฏิบัติตามความรักใคร่ชอบพอ ถือข้างของเรา  ความเมตตาระดับที่ ๒ เป็นความเมตตาที่ถือหลักความเคารพว่าสิ่งมีชีวิตต่างมีค่าควรแก่ความความรัก ความเมตตาไม่แตกต่างกัน

เหตุการณ์การเมืองในช่วงเดือนที่ผ่านมา (กรณี กปปส. และ นปช.) นำพาให้สังคมไทยเผชิญหน้าความท้าทาย ความท้าทายของการเผชิญหน้าความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์  เป็นการต่อสู้ทางการเมืองยากที่จะสิ้นสุด เนื่องเพราะเราทุกคนต่างล้วนติดจมอยู่กับความเมตตาระดับที่ ๑ ซึ่งนั่นหมายถึงการเลือกถือข้างที่เป็นพวกพ้องเดียวกับพวกเรา และความเมตตาเช่นนี้ก็พร้อมแปรเปลี่ยนเป็นความเกลียดชังเมื่อมีความผิดหวังเกิดขึ้น  ในการยุติสงครามการเมืองไปสู่ความปรองดองที่แท้จึงต้องการความเมตตาระดับที่ ๒ เป็นอย่างยิ่ง และสังคมไทยต้องการความเมตตาเช่นนี้เพื่อเอาชนะความโกรธ เกลียด และกลัวที่อยู่ในใจของพวกเรา


เครดิตภาพ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน