ไม่เห็นโลก ไม่เห็นความจริงของชีวิต .. แล้วยังไง

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 6 พฤษภาคม 2018

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยให้เราเอาชนะโลกทางด้านวัตถุได้ เรามีเครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยี สิ่งก่อสร้างมากมายที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับชีวิต  ความรู้ทางการแพทย์ช่วยเราเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บ  ขณะที่ความรู้ทางสังคมศาสตร์ ช่วยเราเอาชนะผู้อื่น ช่วยเรามีความรู้ว่าเราควรสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างไร ระบบการเมือง การปกครอง ควรเป็นไปอย่างไร มีพัฒนาการมาอย่างไรเพื่อให้เราสามารถสร้างสังคมที่ดีได้

พร้อมกับความรู้ด้านศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ก็ช่วยเราเอาชนะตนเอง ช่วยให้เราเข้าถึงความดี ความงาม ความจริง ทำให้เราเข้าใจวิธีคิดและมุมมองที่ช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจในตนเอง มองเห็นความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่เชิงวัตถุแบบวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เชิงสัมพันธภาพแบบสังคมศาสตร์ แต่ช่วยให้เรามีความรู้ถึงตนเอง ถึงปรัชญาวิธีคิดของมนุษย์แบบเราๆ

ท่านอาจารย์พุทธทาส มักมีบทบรรยายหลายครั้งว่า คนเรามักหลงลืมสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว ยิ่งใกล้ตัวมากเท่าไร เรามักมองข้ามไม่เห็นคุณค่า ไม่ใส่ใจ เรากลับมองหาสิ่งที่อยู่ไกลออกไป และเมื่อเราวิ่งไปแสวงหาสิ่งภายนอก เราก็ยิ่งหลงทาง  คำเปรียบเปรยที่เรามักได้ยินบ่อยๆ คือ “นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ หนอนไม่เห็นขี้ และคนไม่เห็นโลก”

ทำไมและเพราะอะไร การไม่เห็นโลกจึงเป็นเรื่องร้ายแรง เป็นปัญหาที่เราต้องใส่ใจ เหตุผลสำคัญ คือ

๑) การไม่เห็นโลก ทำให้เราถูกโลกควบคุม

โลกอันหมายถึงสภาพความเป็นไปรอบตัว นับแต่ผู้คน สภาพแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ฯลฯ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร การเปลี่ยนแปลงนั้นล้วนสร้างผลกระทบต่อชีวิตของเราให้แกว่งไกวไปตามสภาพเงื่อนไข เปรียบเหมือนเรือที่ลอยล่องไปตามกระแสน้ำ ปราศจากหางเสือควบคุมทิศทางเรือ สุข-ทุกข์เป็นไปตามสิ่งที่เข้ามา

๒) การไม่เห็นโลก ทำให้เราไม่สามารถตื่นรู้ 

ตราบที่เรามองไม่เห็นในความเป็นไปของโลก เราย่อมไม่อาจสัมผัสว่าสิ่งที่อยู่เหนือพ้นโลกนั้นคืออะไร เปรียบเหมือนเราถูกกักขังอยู่ในคุกโดยไม่รู้ตัวว่าติดคุก เราย่อมไม่อาจรู้ได้ว่าเสรีภาพนอกคุกมันเป็นอย่างไร การตื่นรู้จากการมองเห็นโลกจึงเป็นสภาพที่ไม่อาจมีขึ้นได้ ตราบเรามองไม่เห็นโลก

๓) การไม่เห็นโลก ทำให้ชีวิตไม่พบความสุขที่แท้จริง 

เมื่อเรามองไม่เห็นโลก ความสุขของเราก็ต้องพิ่งพิงโลก ถูกชักพาไปตามกระแสโลกจะนำพาไป ความสุขที่ต้องอาศัยสิ่งกระตุ้นจากโลกภายนอกนี้ก็คือ อามิสสุข  แตกต่างจากความสุขที่ไม่ต้องพิ่งพิงอาศัยโลก เพราะเราได้มองเห็น ได้เท่าทันความเป็นไปของโลกว่า โลกไม่อาจให้ความสุขที่แท้จริง ขณะที่ความสุขที่ก่อเกิดจากภายใน จากการพบความสุขสงบในตนเอง เป็น นิรามิสสุข

ความสุข สงบ ภายในตนเอง ไม่ต้องพิ่งพิงสิ่งภายนอก ทั้งเรายังสามารถสัมพันธ์ข้องแวะต่อโลกภายนอกได้ โดยไม่ยึดติด ไม่ทุกข์ร้อนต่อความเป็นไปของโลก นั่นเป็นเพราะความตื่นรู้ ความปล่อยวางต่อโลกได้

เมื่อเรามองไม่เห็นโลก ความสุขของเราก็ต้องพิ่งพิงโลก ถูกพัดพาไปตามกระแสโลกจะชักนำ

ดังนั้น การมีครูบาอาจารย์ในฐานะกัลยาณมิตรจึงมีความหมายความสำคัญ ในฐานะผู้ที่ช่วยให้เรามองโลก มองเห็นความจริงของชีวิตได้

หลายท่านคงเคยเคยมีประสบการณ์เฉพาะที่ได้กราบไหว้ พบปะ พูดคุย ใกล้ชิด หรืออาจได้ร่วมกิจกรรม การงานกับบุคคลที่เป็นครูบาอาจารย์ พวกเขาอาจเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในคุณงามความดี  และได้รับรู้ถึงความรู้สึกปลื้มปิติ รวมถึงสัมผัสถึงพลังชีวิตของท่าน พลังที่ขับเคลื่อนชีวิตและการทำงานเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น และเพื่อความสงบเย็นของตนเอง  และเราก็พบว่าเราก็ได้รับอิทธิพลจากบุคคลเหล่านี้ไม่มากก็น้อย สิ่งสำคัญคือการเปิดใจ

ชีวิตคือ การเรียนรู้ และส่วนหนึ่งของบทเรียน คือ การเรียนรู้จากชีวิตของบุคคลสำคัญที่มีความหมายกับเรา

ข้อสังเกตคือ การได้เรียนรู้เช่นนี้ เอื้อประโยชน์กับชีวิตของผู้เรียน แต่มิได้ก่อโทษหรือทำให้ครูบาอาจารย์เหล่านี้สูญเสียประโยชน์ หรือก่อโทษภัยแต่อย่างใดกับท่าน  และยิ่งสำหรับครูบาอาจารย์ที่แท้ การสรรเสริญ การเพิกเฉย การดูแคลน ฯลฯ ยิ่งมิได้ก่อผลเสียหายอย่างใดต่อท่าน นอกจากผลกระทบต่อผู้กระทำเอง

สำหรับการเรียนรู้ ถือเป็นหน้าที่ของผู้เรียนในการหยิบฉวย เลือกสรร และคัดกรองสิ่งที่มีคุณค่าเพื่อประโยชน์แก่ตัวเรา  การยกอ้างทั้งทางบวกว่าครูอาจารย์ของเราดีเยี่ยม น่านับถือมากที่สุด หรือในทางลบว่าท่านสอนไม่ดี อารมณ์ร้าย มีข้อบกพร่อง แต่เรากลับมิได้ทำหน้าที่ของผู้เรียน ก็คือการใกล้เกลือกินด่าง อยู่กับสิ่งมีคุณค่าแต่หารู้ค่าไม่

การที่เรามีครูบาอาจารย์เพื่อช่วยเรามองโลก มองความจริงของชีวิตได้ ทั้งหมดก็เพื่อประโยชน์สำคัญ คือ ๑) เพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง ๒) เพื่อเข้าถึงสิ่งสูงสุดของชีวิต ๓) เพื่อความอ่อนน้อมถ่อมตน ๔) เพื่อเรียนรู้แบบอย่างชีวิตที่เป็นประโยชน์และสงบเย็น ๕) เพื่อสันติสุขของสังคม

ชีวิตมักเล่นตลกกับเราเสมอ สุข-ทุกข์ สมหวัง-ผิดหวัง ดีใจ-เสียใจ  มันคือความจริงของโลกที่ต้องการให้เรามองเห็น และเราก็ต้องถูกเล่นตลกตลอดจนกว่าเราจะมองเห็นโลก มองเห็นความจริงของโลก ของชีวิต จนกว่าชีวิตจะหาไม่

หากว่าวันนี้เรายังไม่เริ่มต้นฝึกหัดตนเองเพื่อมองเห็นโลกอย่างแท้จริง เราก็ต้องจ่ายค่าเสียหายเป็นความทุกข์ ความเจ็บปวดในจิตใจ และเพื่อป้องกันเรื่องนี้ เราต้องการครูบาอาจารย์ ซึ่งเราก็พึงสรรหา

ชีวิตอาจดูซับซ้อน วุ่นวาย ทั้งหมดก็เพื่อเราได้เรียนรู้ และเรามีทางเลือกได้อยู่เสมอ


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน