ความเชื่อ

นาม ไร้นาม 2 เมษายน 2017

คล้ายได้ยินใครสักคนบอกว่า ชีวิตของเรา มีความจริง ความเห็น และความเชื่อ ประกอบอยู่ในความคิดความรู้สึกของเรา  การกระทำ การตัดสินใจใดใดของเรา ล้วนขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งในสามสิ่งนี้  เราสงสัยอยู่ไม่วายว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า อันไหนเป็นความจริง อันไหนเป็นเพียงความเห็น หรืออันไหนเป็นความเชื่อของเราเท่านั้น  ดูเหมือนมันไม่ง่ายเลย ยิ่งถ้าหากเราเชื่อว่าบางสิ่งที่เราทำนั้นจริง หรือเราเชื่อว่าความเห็นของเรานั้นจริง

ยังไม่ต้องพูดถึงธรรม ที่ว่า ความเชื่อต้องประกอบไปด้วยปัญญา เพราะแม้แต่บางครั้งมนุษย์ยังมั่นใจอย่างล้นเหลือว่าความเห็นของตนนั้นพร้อมด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง  ติช นัท ฮันห์ พูดไว้เสมอในหนังสือของท่านว่า ความเห็นของเราเป็นเพียงสมมติฐานหนึ่งเท่านั้น หาใช่ความจริงอันสมบูรณ์ไม่

บุรุษหนึ่งเล่าเรื่องอาจารย์ของเขาว่า เมื่ออยู่ในสำนักอาจารย์ เขาเชื่อมั่นศรัทธาและพากเพียรปฏิบัติสิ่งที่อาจารย์สอน อย่างไม่บิดพลิ้วหรือเกียจคร้าน ทุกวันเขาปฏิบัติกิจวัตรไม่ขาด พร้อมปรารถนาความก้าวหน้าอย่างที่อาจารย์บอก  บางครั้งอาจารย์ก็บอกว่าเขาก้าวหน้า และเขาก็เชื่อตามนั้น  บางเสี้ยวของความคิดเท่านั้นที่มีคำถามผุดขึ้นมาว่า เขาก้าวหน้าอย่างที่อาจารย์ว่าจริงหรือ…..

วันหนึ่ง เขาเริ่มรู้สึกว่า อาจารย์ไม่เหมือนอย่างคำของท่านเลย บางครั้งท่านไม่ได้ลึกซึ้งอย่างที่ท่านสอน นั่นจึงเป็นต้นทางของการสั่นคลอนความเชื่อ มันเหมือนกับความผิดหวัง  แน่นอนว่าความเชื่อทำให้เขายึดมั่นในตัวอาจารย์ ความเชื่อทำให้เขาวางอาจารย์ไว้ในฐานะของคนผู้สมบูรณ์แบบ ที่จะเป็นแบบอย่างกับก้าวย่างของเขา แต่เมื่อความบกพร่องนั้นปรากฏขึ้น มันจึงกลายเป็นการสั่นสะเทือนความเชื่อนั้น

ความโชคดีของเขาก็คือ แม้ความเชื่อในตัวอาจารย์จะไม่มั่นคง แต่ความเชื่อในคำสอนนั้นมั่นคง เขายังพากเพียรฝึกฝนต่อเนื่อง สม่ำเสมอ  วันหนึ่งเขาพบว่า อาจารย์ของเขาไม่สมบูรณ์แบบหรอก มนุษย์มีสิ่งที่ขาดตกบกพร่องอยู่เสมอ มันไม่สำคัญเลยว่าอาจารย์จะมีสิ่งที่ขาดพร่องนั้น แต่หนทางที่อาจารย์นำพาเขานั้นมีความหมาย  หนทางแห่งการเรียนรู้ก็คือ ไม่เพียงคำสอน วิถีการปฏิบัติ หรือความงดงามของอาจารย์เท่านั้นที่เขาต้องเรียนรู้ แม้ความบกพร่องของอาจารย์ นั่นก็มีความหมายในการเรียนรู้เช่นเดียวกัน  นับแต่นั้นมา เขาจึงไม่สูญเสียความเคารพที่มีต่ออาจารย์อีกต่อไป

เขาว่า นี่อาจจะเป็นการค้นพบที่สำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตของเขา นี่เป็นการเข้าถึงความเข้าใจต่อ “ความเชื่อ” อย่างแท้จริง  นั่นทำให้ได้หันกลับมามองตัวเองอย่างจริงจังว่า ตัวเขาเองก็มีความบกพร่องมากมาย ความไม่เข้าใจในความบกพร่องเหล่านี้เองที่ทำให้เขาต้องไปเรียกร้องความสมบูรณ์แบบจากอาจารย์ นี่ออกจะเป็นการเอาเปรียบ และเห็นแก่ตัวมากไปแล้ว ที่จะต้องผลักภาระไปให้ผู้อื่น ว่าก็โดยเฉพาะครูบาอาจารย์

ความเห็นของเราเป็นเพียงสมมติฐานหนึ่งเท่านั้น หาใช่ความจริงอันสมบูรณ์ไม่

เป็นอย่างนี้ได้ไหมว่า เมื่อเราเริ่มจากความเชื่อ เราจะเริ่มเข้าหาการปฏิบัติ และการปฏิบัตินั่นเองที่จะนำพาเราไปสู่ความจริง นั่นย่อมอยู่เหนือความเห็น  จากนั้นสิ่งที่ย่อยลงมาอีกว่า แล้วสิ่งที่เราเชื่อนั้นคืออะไร คำตอบง่ายๆ ตามหลักธรรมก็ว่า ความเชื่อที่ผิด มันก็คือความงมงาย ว่าอย่างนั้นก็คงได้  แต่อย่างไรเสีย ความเชื่อนั้นก็นำเราไปสู่หนทางแห่งการปฏิบัติ แต่ผลของการปฏิบัตินั้นมันนำเราไปไหน  ภาวะนี้หลายครั้งที่เราพบว่า ผลนั้นนำเรากลับไปสู่ความเชื่อ เราเชื่อว่านั่นคือความถูกต้องดีงาม นั่นคือความจริง ภาวะแบบนี้นี่เองที่ทำให้เห็นว่า ความเชื่อได้ปิดกั้นเราออกเสียจากความจริงอย่างสิ้นเชิง เราเชื่อโดยปราศจากความคลางแคลงว่าความเชื่อเราจริง

หากความเชื่อคือจุดเริ่มต้น การปฏิบัติคือหนทาง ปลายทางจะเป็นอะไร สำหรับเรา คำตอบคือการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ว่าง่ายๆ สิ่งเหล่านั้นก็คือ ความอ่อนน้อมถ่อนตน อ่อนโยน เข้าใจตัวเอง เข้าใจคนอื่น

มนุษย์อ่อนแอ ว่ากันอย่างนั้น ไม่มีเขี้ยว ไม่มีเล็บ ไม่มีผิวหรือขนที่ป้องกันภัยได้ แต่มนุษย์กลับมีสมองส่วนที่สัตว์อื่นไม่มี และความอ่อนแอนี้หรือไม่ที่เป็นเหตุให้เราต้องแสวงหาความเชื่อ  เคยได้ยินมาว่า เวลาที่ลัทธิต่างๆ ต้องการเผยแพร่ลัทธิของตน เขาจะต้องไปหาคนที่กำลังอยู่ในสภาวะที่อ่อนแอมากๆ แล้วดึงเข้าสู่ลัทธิ เพื่อผลอันใดก็ว่ากันไป  แน่นอนว่าความเชื่อทำให้เราเข้มแข็งขึ้น  ความเชื่อทำให้เรากล้า ในสนามรบโบราณ แม่ทัพจึงสร้างความเชื่อให้กับทหาร นี่เป็นหลักพื้นฐานของความเชื่อที่มนุษย์รับรู้

และนี่ก็เป็นเพียงสมมติฐานหนึ่งเท่านั้น หาใช่ความจริงอันสมบูรณ์ไม่


ภาพประกอบ