5 วิธีง่ายๆ ในการฝึกสติกับการทำงาน

จักรกริช พวงแก้ว 27 สิงหาคม 2020

การฝึกสติไม่ใช่การนั่งสมาธินิ่งๆ อยู่บนเบาะหรือบนเก้าอี้เท่านั้นแต่เป็นการฝึกในชีวิตประจำวันของเรา เป็นเรื่องของการเรียนรู้ที่จะ “ตื่น” ในช่วงขณะต่างๆ  ดังนั้นการฝึกสติในชีวิตประจำวันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องทำ

สิ่งที่ดีก็คือเราสามารถฝึกได้ในทุกช่วงเวลาในแต่ละวันโดยที่ไม่ต้องเพิ่มเติมอะไรมากไปจากกิจวัตรประจำวันของเรา  ซึ่งจะเรียกช่วงเวลานี้ว่า “การหยุดชั่วขณะอย่างมีความหมาย”  ที่ไม่ใช่การหยุดนิ่งเฉย แต่เป็นการหยุดเพื่อที่จะ “สังเกต” และอยู่กับความตั้งใจในปัจจุบันของเราโดยที่ไม่หลงไปกับอดีตหรือลอยไปอนาคต

การฝึกสติแบบนี้จะเป็นประสบการณ์เดียวกันกับขณะของความรู้สึกตัวตอนที่เราฝึกสมาธิบนเบาะหรือบนเก้าอี้  เราฝึก “การหยุดชั่วขณะอย่างมีความหมาย” จะทำให้เราได้ก้าวออกมาจากการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ และในบางคราวอาจทำให้เราได้พบกับช่วงเวลาพิเศษของวันนั้นด้วยการตระหนักรู้

ในแต่ละ “การหยุดชั่วขณะอย่างมีความหมาย” ต่อไปนี้  ให้ฝึกสังเกตว่าความคิดของเราได้หลุดออกไปจากสิ่งที่ใส่ใจอยู่หรือเปล่า ให้รับรู้และกลับมาอยู่กับปัจจุบัน  5 วิธีต่อไปนี้ช่วยให้เราได้ฝึกสติให้พร้อมกับการทำงาน

1. เริ่มต้นวันใหม่ด้วยสิ่งที่เราเลือกแทนที่จะให้สิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเป็นตัวกำหนด ด้วยการสังเกตอารมณ์ความรู้สึกในขณะที่หายใจสักสองสามลมหายใจก่อนที่จะลุกออกจากเตียง

2. เดินทางอย่างมีสติ เลือกบางวันที่เราไม่เปิดฟังวิทยุหรือใช้โทรศัพท์ในขณะที่เราขับรถทั้งไปและกลับจากที่ทำงาน  เมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้วลองนั่งสังเกตลมหายใจของตัวเองอยู่ภายในรถสักครู่

3. เติมความชุ่มชื่นให้กับตัวเองด้วยการกินอาหารกลางวันอย่างมีสติ ลองสังเกต สี รสชาติ และกลิ่นของอาหาร

4. เดินไปประชุมและพบปะผู้คนแทนการส่งอีเมล์หรือข้อความให้ใครๆ ลองรับรู้ความรู้สึกจากที่ฝ่าเท้าเราสัมผัสพื้น จากอากาศที่พัดผ่านผิวกาย และจากการกล่าวทักทายเพื่อนร่วมงานที่พบแทนการส่งข้อความ

5. สังเกตรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับร่างกายเราในขณะที่นั่งอยู่ที่โต๊ะเวลาทำงานตอนที่คอมพิวเตอร์ยังเปิดอยู่

ลองทำกิจกรรมเหล่านี้ทุกวันและสังเกตว่าพบเห็นอะไร  อะไรคือ ”การหยุดพักอย่างมีความหมาย” ที่เราได้ค้นพบ


บทความ : Simple Daily tips for mindfulness at work

จาก https://www.huffpost.com/entry/simple-daily-tips-for-min_b_2686524?utm_hp_ref=email_share

Photo Credit : www.freepik.com

จักรกริช พวงแก้ว

ผู้เขียน: จักรกริช พวงแก้ว

ฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา