มากกว่าพอร์ตโฟลิโอ คือจิตอาสา

นุดา 12 พฤษภาคม 2023

“ตอนแรกที่สมัครมาเป็นอาสาหนึ่งในเป้าหมายของหนูคือเก็บพอร์ต (Portfolio) แต่พอได้มาทำจริงๆ หนูไม่ได้คิดถึงพอร์ตเลย ตอนทำอาสาครบ 4 ครั้งเดือนมีนาคม เดือนเมษาหนูยังพอมีเวลาอีก เลยคิดว่า ไหนๆ ก็มีเวลาว่าง เราทำอีกสักเดือนจะเป็นอะไรไป หนูก็เลยขอมาเป็นอาสาต่อ ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วย ไม่งั้นหนูก็อยู่แต่บ้าน”


น้องเพียร ปุญญิสา มีแก้ว  ใช้เวลาช่วงปิดเทอมก่อนขึ้นชั้น ม.5 เป็นอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล ที่โรงพยาบาลราชวิถี เธอเป็นอีกคนหนึ่งที่อยากเรียนต่อทางด้านการแพทย์  จึงตั้งใจมาทำกิจกรรมและหาประสบการณ์จากงานอาสาสมัครในโรงพยาบาล เพื่อดูว่าตัวเองชอบงานด้านนี้จริงๆ หรือเปล่า  และยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อีกด้วย

“ตอนไปปฐมนิเทศก็ตื่นเต้นนะคะ เพราะไม่รู้ว่าต้องเจออะไร  แต่พอได้ฟังพี่ๆ มาพูดว่าถ้าปฏิบัติหน้าที่ชั้นนี้ต้องทำอะไรบ้าง หนูรู้สึกสนใจและตื่นเต้นกว่าเดิม เพราะสิ่งที่เราจะไปทำมันมากกว่าแค่บอกทางอย่างเดียว เราได้ช่วยเหลือเรื่องอื่นด้วย เช่น ช่วยวัดความดัน เราก็ได้ความรู้กลับมา พอถึงวันไปทำจริงๆ รู้สึกภูมิใจ คนไข้หลายๆ คนก็ใจดีกับเรา เราเข้าใจมุมของพี่ๆ พยาบาลมากขึ้น เข้าใจได้ว่า เขาต้องเจอคนไข้หลายรูปแบบในแต่ละวัน  เข้าใจมุมของคนไข้ด้วยว่าเวลาไปโรงพยาบาลรู้สึกยังไง”

เพราะมาทำงานอาสาฯ เกือบ 10 ครั้ง น้องเพียรจึงได้ปฏิบัติหน้าที่ในหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นคัดกรอง เวชระเบียน  จุดวัดความดัน ห้องเจาะเลือด รับยา แต่เมื่อถามว่าชอบการทำงานในจุดไหนมากที่สุด เธอบอกชอบทำงานที่ชั้น 1 จุดคัดกรอง เวชระเบียน ซึ่งอาสาทำหน้าที่ให้ข้อมูลจุดบริการต่างๆ ภายในโรงพยาบาล ช่วยตรวจทานใบนัดว่าต้องยื่นที่ชั้นไหน ต้องทำตามขั้นตอนต่างๆ อย่างไร ช่วยตรวจสอบสิทธิ์การรักษา รวมถึงช่วยเหลือในการนำส่งตามจุดต่างๆ ตามความเหมาะสม

ปฏิบัติหน้าที่อาสาที่่ชั้น 1 โรงพยาบาลราชวิถี

“อาสาที่ชั้น 1 พูดง่ายๆ เหมือนเป็นแผนกต้อนรับค่ะ อาจเป็นเพราะหนูเป็นคนชอบพูด พูดมากอยู่แล้ว  เลยรู้สึกว่าทำได้เต็มที่กับจุดนี้ คนไข้ที่มาโรงพยาบาลหลายๆ คนมาครั้งแรก หรือแม้บางคนมาครั้งที่ 2 เขาอาจยังไม่รู้ว่าต้องไปตรงไหน เข้าไปหาคุณหมอได้เลยหรือเปล่า ด้วยความที่ราชวิถีเป็นโรงพยาบาลใหญ่ ระบบอาจเยอะกว่าโรงพยาบาลบางที่ เราก็เป็นคนช่วยคัดกรองผู้ป่วย และบอกผู้ป่วยว่าควรไปจุดไหนก่อน คนไข้บางคนมีอายุแล้วอาจลำบากในการขึ้นลง ลิฟท์ก็คนเยอะ เราก็ช่วยอำนวยความสะดวกบอกว่าต้องไปตรงนี้ก่อน เขาจะได้ไม่เสียเวลา และอาจช่วยดูแลผู้ป่วยที่มาคนเดียว ไม่มีคนดูแล เขาเดินไม่สะดวก เราก็หาวิธีช่วยเขา อาจไม่ได้ไปช่วยตรงๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่พยายามหาวิธีให้เขาได้รับความสะดวกมากขึ้น”

จากการมาทำงานอาสาสมัคร น้องเพียรพบว่าเธอได้นำอุปนิสัยความชอบและความถนัดส่วนตัวมาก่อเกิดประโยชน์ได้ อย่างเธอเป็นคนกล้าพูด ช่างสนทนา กล้าแสดงออก ก็ใช้ทักษะเรื่องการพูดมาช่วยแบ่งเบาภาระงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้

“ถ้าในชีวิตทั่วไป ความช่างพูดของเราอาจไม่มีประโยชน์เท่าไหร่ แค่เอาไปคุยกับเพื่อน ประโยชน์มากสุดน่าจะเป็นแค่นำเสนอในห้องเรียนแล้วได้คะแนนดี หรือว่า เป็นงานพิธีกร งานแข่งขัน  มันก็เป็นประโยชน์ต่อเรา ประโยชน์ต่อเพื่อน แต่พอมาทำในจุดนี้ หนูรู้สึกว่า ไม่ได้เป็นประโยชน์แค่คนใดคนหนึ่งแล้ว แต่เป็นประโยชน์ส่วนรวม ผู้ป่วยก็ได้รับความสะดวกกลับไป และยังเป็นประโยชน์กับพี่พยาบาลกับคุณหมอ เราสามารถไปแบ่งเบาภาระเขา เช่น จากที่เดิมพี่พยาบาลต้องพูดสิ่งเดิมเป็นสิบรอบกับสิบคน บางครั้งผู้ป่วยถามเรื่องคิว ไม่ใช่มีแค่คนเดียวเข้ามาถาม มีหลายๆ คนเข้ามาถาม พี่พยาบาลเขาก็ต้องดูแลทุกคน ซึ่งเป็นงานหนักมาก แต่ถ้าเราเข้าไปช่วย พี่เขาก็สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น สามารถไปทำอย่างอื่นได้มากขึ้น คิวการเข้ารับการรักษาก็เร็วขึ้น”

ช่วยแนะนำการกรอกข้อมูลให้ผู้ป่วย

“เราเข้าใจมุมของพี่ๆ พยาบาลมากขึ้น ว่าเขาต้องเจอคนไข้หลายรูปแบบในแต่ละวัน  เข้าใจมุมของคนไข้ด้วยว่าเวลาไปโรงพยาบาลรู้สึกยังไง”

นอกจากนี้เธอยังพบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายใน เมื่อได้มาเป็นอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล นั่นคือความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่มีมากขึ้น ไม่นิ่งดูดายเมื่อเห็นผู้อื่นต้องการความช่วยเหลือ

“หลังจากเป็นอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล สิ่งที่หนูรู้สึกว่าตัวเองได้มากที่สุด คือด้านจิตใจ หนูรู้สึกว่า เข้าใจเรื่องสังคม และเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากยิ่งขึ้น  แต่ก่อนเห็นคนต้องการความช่วยเหลือ หนูก็ไม่แน่ใจว่าจะเข้าไปช่วยเขายังไง บางครั้งเห็นแล้วก็เฉยๆ ไม่ได้เข้าไปช่วย แต่พอมาทำที่นี่ เหมือนหนูเข้าใจว่าคนนี้ต้องการความช่วยเหลือยังไง ยิ่งที่โรงพยาบาลนะคะ พอเห็นคนต้องการความช่วยเหลือ หรือกำลังหาที่โน่นนี่ หนูก็เข้าไปสอบถามเลยว่า ให้ช่วยอะไรไหม

ส่วนที่บ้านคุณแม่ก็บอกว่าหนูช่วยเหลือ ดูแลคนอื่นมากขึ้น  อย่างที่บ้านหนูคุณยายเป็นคนทำอาหารให้พวกเราทั้งครอบครัว ช่วงเปิดเทอมกลับมาจากโรงเรียน หนูไม่ได้ช่วยคุณยายทำอาหาร เพราะรู้สึกว่าบางครั้งกลับมาจากกิจกรรมที่โรงเรียนก็เหนื่อยแล้ว หรือบางครั้งก็กลับมาไม่เย็น ไม่ทันมื้อเย็น แต่พอปิดเทอมมีเวลา ช่วงแรกๆ หนูก็ไม่ค่อยช่วยคุณยาย เพราะอยู่แต่บนบ้าน แต่คุณแม่พูดว่า หลังจากทำงานอาสา หนูก็ไปช่วยคุณยายทำกับข้าว ช่วยคนโน้นคนนี้มากขึ้น เห็นคนในครอบครัวต้องการความช่วยเหลืออะไร ก็เข้าไปช่วย ไม่ได้อิดออดแบบเมื่อก่อน”

มากกว่าพอร์ตโฟลิโอ มากกว่าประสบการณ์ที่ได้รับ สำหรับน้องเพียรก็คือ จิตอาสานั่นเอง


 

นุดา

ผู้เขียน: นุดา

เกิดและเติบโตที่จังหวัดนครปฐม ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ตอบตัวเองได้ว่า อยากทำงานเกี่ยวกับการเขียนตอนเรียนมัธยม จึงเลือกเดินในเส้นทางสายนี้ และยึดเป็นอาชีพหลักกว่า 20 ปี แม้รูปแบบของสื่อจะไปเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่เชื่อว่าการเขียนยังเป็นพลังสำคัญในการสื่อสาร