Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3062 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/boonvolunteer/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_many_to_one_helper has a deprecated constructor in require_once() (line 113 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/boonvolunteer/sites/all/modules/ctools/ctools.module).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2375 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/boonvolunteer/includes/menu.inc).

บันทึกความทรงจำ 10 ปี ฉลาดทำบุญ

ปี 2558 ถือเป็นช่วงเวลาครบ 10 ปี ของโครงการ “ฉลาดทำบุญ” 
เวลา 10 ปี หากเปรียบเป็นชีวิตคน ก็คงมีเรื่องเล่ามากมาย
เราจึงขอนำเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น มา
บันทึกไว้ในความทรงจำ

--

ปี 2542

กำเนิดเครือข่ายพุทธิกา และการทำงานประยุกต์ธรรม


จากวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในแวดวงพุทธศาสนา ทั้งปัญหาพระประพฤติผิดบิดเบือนพระธรรมวินัย สถาบันการปกครองคณะสงฆ์ที่อ่อนแอ การเผยแพร่แนวคิดเชิงพุทธพาณิชย์เพื่อประโยชน์ส่วนตน รวมถึงมุมมองด้านหลักธรรมที่คลาดเคลื่อนของผู้คน ทำให้กลุ่มองค์กรและเครือข่ายภาคประชาชนส่วนหนึ่งเกิดการรวมตัวกัน เพื่อรณรงค์เคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ช่วงเวลาเดียวกัน “เครือข่ายพุทธิกา” ก็ได้ถือกำเนิด โดยมีภารกิจหลักคือ ส่งเสริมการนำธรรมะมาประยุกต์ใช้ในชีวิตอย่างเหมาะสมกับยุคสมัย และฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับมามีคุณค่าต่อชีวิตและสังคม โดยมี พระไพศาล วิสาโล เป็นประธาน ร่วมด้วยคณะทำงานจากภาคสังคมกลุ่มหนึ่ง

งานช่วงแรก คือการจัดเวทีเสวนาร่วมกับองค์กรต่างๆ โดยมีจุดเน้นเรื่องการนำหลักธรรมมาเชื่อมโยงให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้คน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

เนื้อหาบางส่วนจากงานเสวนา ได้รับการนำเสนอผ่านสื่อมวลชน รวมถึงได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือ เช่น "ความตายในทัศนะของพุทธทาสภิกขุ" และ “แก้เงื่อน ถอดปม ความรุนแรงในสังคมไทย”

นอกจากงานด้านเสวนา คณะทำงานยังมีแนวคิดที่จะสื่อสารรณรงค์เรื่องหลักธรรมคำสอนที่ถูกต้องทางพุทธศาสนา ในบางประเด็นเป็นการเฉพาะ หนึ่งในนั้นคือเรื่อง “การทำบุญ”


ปี 2544

เริ่มสื่อสารผ่านตัวหนังสือ


หลังจากจัดเวทีเสวนามาพักใหญ่ “เครือข่ายพุทธิกา” ก็ก้าวเดินต่อไป ผ่านงานรณรงค์เรื่องการทำบุญที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา ด้วยการจัดพิมพ์หนังสือชื่อ “ฉลาดทำบุญ” 

หนังสือเล่มนี้ ได้รับการตอบรับที่ดีจากคนในสังคม หลายคนอ่านแล้วชอบก็ซื้อไปแจกต่อเป็นธรรมทาน ส่งผลให้ “ฉลาดทำบุญ” ยังคงได้รับการจัดพิมพ์มาจนปัจจุบัน ล่าสุดพิมพ์ไปแล้วเกือบ 100 ครั้ง มียอดรวมกว่า 350,000 เล่ม

“ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวว่า ‘คนไทยชอบทำบุญ แต่ไม่ชอบทำกุศล’ กุศลในที่นี้ท่านหมายถึงความฉลาด คนเราต้องเรียนรู้ทุกวันจากทุกเรื่องให้ฉลาดขึ้น ฉลาดคือเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร และเห็นแก่ตัวน้อยลง

“ทุกวันนี้มนุษย์เป็นโรคพร่องทางจิตวิญญาณ (spiritual deficiency) ทำให้ขาดความสุขที่แท้ … การเติมจิตวิญญาณให้เกิดความสมบูรณ์ในตัวเองจึงมีความสำคัญยิ่ง” 

ข้างต้นคือคำนำจากหนังสือ “ฉลาดทำบุญ” 

หนังสือที่เปรียบเสมือนก้าวย่างครั้งสำคัญของเครือข่ายพุทธิกา ในการเดินทางขับเคลื่อนแนวคิดฉลาดทำบุญ


ปี 2545

ทำบุญอย่างมี "ศิลปะ" 


ศิลปะ นอกจากเป็นสิ่งสะท้อนความงามตามธรรมชาติแล้ว ยังเชื่อมโยงกับความงดงามในใจคน การทำบุญกับงานศิลปะ จึงถือเป็นความกลมกลืนของสุนทรียภาพ กับเมล็ดพันธุ์อันดีงามภายในใจ

ต่อเนื่องจากการสื่อสารผ่านหนังสือ ที่ได้การตอบรับอย่างดีในปี 2544

เครือข่ายพุทธิกา ก็พัฒนาเนื้องานเพิ่มเติม ด้วยการจัดกิจกรรม “ฉลาดทำบุญ เข้าพรรษา...มาหากุศล” เพื่อเผยแพร่วิธีการทำบุญที่เป็นประโยชน์และใช้ได้จริง โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายไปยังเด็กและเยาวชน 

เพราะคนกลุ่มนี้ ถือเป็นความหวังของสังคม ที่ควรได้รับภูมิคุ้มกันทางความคิด ให้สามารถแยกแยะได้ว่า การทำบุญที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนานั้น ควรเป็นไปอย่างไร

กิจกรรมครั้งนั้น ประกอบด้วย การประกวดภาพศิลปะหัวข้อ “ฉลาดทำบุญ” และประกวดการจัดสังฆทานหัวข้อ “สังฆทานยุคใหม่ ใส่ใจชีวิต เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม” ก่อนจะนำผลงานเหล่านั้นมาจัดแสดงนิทรรศการ

มีโรงเรียนส่งผลงานศิลปะเข้าร่วมประกวดกว่า 70 โรงเรียน ด้วยจำนวนผลงานกว่า 700 ชิ้น

นับเป็นอีกก้าวของการรณรงค์แนวคิด “ฉลาดทำบุญ” ที่เปิดโอกาสให้คนในสังคมได้มีส่วนร่วมแสดงมุมมอง โดยใช้งานศิลปะเป็นสื่อ เพื่อสะท้อนความงดงามในใจพวกเขาเหล่านั้น


ปี 2546

บุญรอบตัวเรา ทำได้ไม่ยากเลย 

หลังจากประสบความสำเร็จ กับกิจกรรมสื่อสารแนวคิดไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชน ในช่วงที่ผ่านมาแล้ว

เครือข่ายพุทธิกาก็เดินหน้าต่อ ด้วยการจัดพิมพ์หนังสือ “30 วิธีทำบุญ เพื่อสุขภาพใจและสุขภาพสังคม” เพื่อนำเสนอวิธีการทำบุญอย่างง่าย ที่หลายคนอาจมองข้าม พร้อมให้ข้อมูลแนะนำหน่วยงานซึ่งรองรับผู้ต้องการทำบุญ ทั้งในแง่การบริจาคเงิน และการเป็นอาสาสมัคร 

“ปู่ย่าตายายของเราในอดีต ได้ริเริ่มวิธีการทำบุญแบบต่างๆ อย่างเหมาะสมกับยุคสมัยของท่าน มาถึงปัจจุบันเราควรดำเนินตามรอยท่าน ด้วยการทำบุญให้เหมาะกับยุคสมัยของเรา โดยรักษาความหมายที่แท้ของบุญเอาไว้ ไม่ให้เสื่อมคลาย”

ข้างต้นคือเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ “30 วิธีทำบุญ”

หนังสือเล่มนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดพิมพ์ครั้งแรกจำนวน 300,000 เล่ม และมีการจัดพิมพ์ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน 

โดยครั้งนั้นเป็นการพิมพ์แจก ผ่านช่องทางสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ และการจัดส่งให้ทางไปรษณีย์

หนังสือเล่มนี้ เมื่ออ่านจบจะพบว่า "บุญรอบตัวเรา ทำได้ไม่ยากเลย" แม้เพียง 30 วิธี ยังถือว่าน้อยไป


ปี 2547


ก่อนพบประสบการณ์จริง


ต่อเนื่องจากการจัดพิมพ์หนังสือ “30 วิธีทำบุญ” ในปีก่อนหน้า

มาปีนี้ เครือข่ายพุทธิกาได้ขยับไปอีกก้าว ด้วยการจัดพิมพ์หนังสือ “สอนลูกทำบุญ” เพื่อเป็นแนวทางและแรงบันดาลใจสำหรับผู้ปกครองและบุตรหลาน ในการทำบุญที่สอดคล้องกับยุคสมัย 

พร้อมเรื่องเล่าตัวอย่างการทำความดีที่น่าสนใจของบุคคลในสังคม อาทิ “ดาบวิชัย” จิตอาสาผู้ปลูกต้นไม้นับล้านๆ ต้น

“พ่อแม่ทุกคนย่อมปรารถนาให้ลูกมีชีวิตที่ดี จึงควรช่วยให้ลูกเจริญงอกงามตามวิถีแห่งบุญ ด้วยการแนะนำให้ลูกใฝ่ในการทำบุญอย่างถูกต้อง” 

ข้างต้นคือคำนำจากหนังสือ “สอนลูกทำบุญ”

โดยครั้งนั้นเป็นการพิมพ์แจก ผ่านช่องทางสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ และการจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ เช่นเดียวกับเมื่อปีก่อนหน้

หากหนังสือ "สอนลูกทำบุญ" เป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้คนได้ทำความเข้าใจผ่านการอ่าน ซึ่งถือเป็นขั้นต้นของการเรียนรู้แล้วละก็

ปีเดียวกันนั้น ยังมีเหตุการณ์สำคัญ ที่คนในสังคมจะได้เรียนรู้ร่วมกัน ผ่านประสบการณ์ตรงในเรื่องการทำบุญ


คลื่นยักษ์นำพาให้เกิดปรากฏ
การณ์


หลังจากที่เครือข่ายพุทธิกาได้จัดพิมพ์หนังสือ สำหรับใช้เป็นแนวทาง ในการสื่อสารแนะนำเรื่องการทำบุญกับลูกหลานแล้ว

มาถึงปลายปี 2547 ได้เกิดปรากฏการณ์ที่ถือเป็นตัวอย่างจริงของการทำบุญ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถนำไปสอนลูกหลานได้อย่างตรงประเด็นที่สุด

นั่นคือเหตุการณ์ “สึนามิ” ในพื้นที่ภาคใต้ ที่สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงแก่ผู้คนจำนวนมาก ซึ่งก็ตามมาด้วยปรากฏการณ์ “อาสาสมัคร” ที่ถือเป็นกระแสแห่งน้ำใจที่หลั่งไหลไม่ขาดสายลงสู่พื้นที่ดังกล่าวเช่นกัน

บุคคลที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ครั้งนั้น มีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน

แต่หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญ ก็คือ เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครจาก “มูลนิธิกระจกเงา” ซึ่งได้เดินทางลงพื้นที่ จ.พังงา โดยเริ่มแรกตั้งใจจะลงไปเป็นอาสาสมัครระยะสั้นประมาณ 1 สัปดาห์ แต่เมื่อพบว่าสถานการณ์ในพื้นที่รุนแรงกว่าที่คิด จึงได้จัดตั้งศูนย์อาสาสมัครสึนามิ เพื่อทำการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในระยะยาว 

นอกจากนี้ ยังมีการรวมตัวของกลุ่มคนทำงานภาคสังคม ภายใต้ชื่อ “เครือข่ายจิตอาสา” ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของงานอาสาสมัคร และต้องการสืบสานพลังน้ำใจของผู้คน โดยมีความเห็นร่วมกันที่จะสร้างระบบการจัดการอาสาสมัครในเมืองไทย ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ทั้ง “มูลนิธิกระจกเงา” และ “เครือข่ายจิตอาสา” ต่างเป็นองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับ “โครงการฉลาดทำบุญ” มาตั้งแต่ต้น


ปี 2548

“จิตอาสา” ลืมตาดูโลก


หลังจากเหตุการณ์สึนามิ และปรากฏการณ์อาสาสมัครได้เกิดขึ้น สังคมไทยก็ได้รู้จักคำศัพท์ใหม่ ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของอาสาสมัคร แต่ยังไม่เคยมีมาก่อนในพจนานุกรม 

นั่นคือคำว่า “จิตอาสา” ซึ่งเป็นคำที่มาจากการระดมความคิด ของคณะทำงานภาคสังคมกลุ่มหนึ่ง 

คนกลุ่มนี้ ต่อมาได้กลายเป็นองค์กรแนวร่วมสำคัญ ที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของโครงการฉลาดทำบุญมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากคำว่า “จิตอาสา” จะได้ลืมตาขึ้นมาดูโลกแล้ว “คณะทำงานด้านจิตอาสา” ก็ยังเติบโตและมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

โดย “จิตอาสา” ตามนิยามของผู้คิดค้นคำนี้ขึ้นมา หมายถึง อาสาสมัคร และคุณค่าที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานอาสาสมัคร อันมุ่งเน้นที่การ ยกระดับจิตสำนึก และพัฒนาจิตวิญญาณของทุกคน ทั้งอาสาสมัคร และองค์กรที่สร้างงาน หรือประสานงานอาสาสมัครด้วย 


ฉลาดทำบุญด้วย "จิตอาสา"


หลังจากสังคมได้รู้จักคำว่า “จิตอาสา” ทางด้านเครือข่ายพุทธิกาก็มีการพูดคุยในประเด็นนี้อยู่เป็นระยะ

ในที่ประชุมคณะทำงานเครือข่ายพุทธิกา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2548 มีการหารือเรื่องการประยุกต์แนวคิดจากหนังสือ “ฉลาดทำบุญ” ให้มีผลในทางปฏิบัติ โดยใช้วาระสำคัญทางศาสนา คือช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน 

แนวคิดเบื้องต้นคือ ให้เป็นการจัดกิจกรรมแบบย่อมๆ โดยเชิญองค์กรที่คุ้นเคยสัก 3-4 องค์กร มาร่วมพูดคุย และเสนอแนวคิดการจัดกิจกรรมจิตอาสาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันประชุมจริง มีองค์กรมาเข้าร่วมพูดคุยมากขึ้น เนื่องจากแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ได้ประสานงานไปยัง “เครือข่ายจิตอาสา” (Volunteer Spirit Network) ให้มาร่วมประชุมด้วย 

เครือข่ายจิตอาสานั้น มีภาคีที่ทำงานด้านอาสาสมัครอยู่แล้ว จึงเกิดแนวร่วมที่หลากหลายมากขึ้น รวมแล้วเกือบ 20 องค์กร

จะเรียกว่าเป็นการมาประชุมกันโดยไม่ได้นัดหมาย ก็คงไม่ใช่ เพราะนี่เป็นการประชุมโดยนัดหมาย

แต่เป็นการนัดหมาย ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่า จะมีแนวร่วมมากขนาดนี้ 

แนวคิด “ฉลาดทำบุญ” กำลังจะถูกสื่อสารผ่านงาน “จิตอาสา” ในอีกไม่นานนับจากวันนั้น


ปฏิบัติการ “ฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา”


หลังจากนัดหมายองค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านจิตอาสา เพื่อระดมความเห็นเรื่องการขับเคลื่อนงาน “ฉลาดทำบุญ” แล้ว

ในที่ประชุมครั้งนั้น พระไพศาล วิสาโล ประธานเครือข่ายพุทธิกา ได้เสนอแนวคิดสำคัญ ให้ผู้เข้าร่วมได้พิจารณา 

นั่นคือ การประยุกต์หลักธรรมเรื่องการทำบุญ ด้วยการเชิญชวนให้คนไทย มาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือส่วนรวม พร้อมกับการได้เรียนรู้และฝึกฝนตนเอง ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา

ที่ประชุมต่างเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว พร้อมทั้งยินดีที่จะร่วมกันขับเคลื่อนงาน เพื่อสื่อสารแนวคิด “ฉลาดทำบุญ” ไปสู่สังคม

และนี่ก็คือจุดกำเนิดของ “โครงการฉลาดทำบุญ” โดยครั้งนั้นใช้ชื่อว่า “ฉลาดทำบุญ : จิตอาสา ปันศรัทธา และอาทร”

กิจกรรมจิตอาสาที่เกิดขึ้นในปีแรก เช่น สร้างบ้านดิน, สร้างโรงเรียน, ปลูกป่ากับนายดาบวิชัย, นวดเด็ก, ดูแลสุนัขและแมว, ฟื้นฟูพื้นที่ และเยียวยาผู้สูญเสียจากกรณีคลื่นยักษ์สึนามิ ฯลฯ 

ที่น่าสนใจคือ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกินครึ่ง ต่างไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานอาสาสมัครมาก่อนเลย 

สะท้อนถึงการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ของการทำบุญ และขยายแนวคิดเรื่องจิตอาสาได้เป็นอย่างดี

ความสำเร็จส่วนหนึ่ง คงเป็นเพราะเหตุและปัจจัยที่เหมาะสมได้มาบรรจบกัน ทั้งความสนใจของสังคมที่มีต่องานจิตอาสา และกิจกรรมที่ทางโครงการได้เปิดขึ้น เพื่อรองรับความสนใจที่มากมายเหล่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีการจัดพิมพ์หนังสือ “เมื่อดอกไม้บานสะพรั่งทั้งแผ่นดิน” โดยเป็นเรื่องราวที่มาจากปรากฏการณ์อาสาสมัครในช่วงเหตุการณ์สึนามิ และเรื่องราวการทำจิตอาสาของผู้คนในแง่มุมต่างๆ



ปี 2549 

การทำงาน คือ การปฏิบัติธรรม


หลังจากกิจกรรมจิตอาสาได้ถือกำเนิดขึ้น พร้อมกับโครงการฉลาดทำบุญเมื่อปี 2548 

มาในปี 2549 เรื่องราวอาสาสมัคร ก็ยังอยู่ในความสนใจของสังค

มีการดำเนินโครงการ “ฉลาดทำบุญ : จิตอาสา ปันศรัทธา และอาทร” เป็นปีที่สอง ภายใต้ชุดโครงการอาสาเพื่อในหลวง อันเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง เครือข่ายพุทธิกา, เครือข่ายจิตอาสา และ Thai Rural Net 

กิจกรรมเด่นในปีนี้คือ “อาสาพบธรรมที่สวนโมกข์” (จ.สุราษฎร์ธานี) โดยเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเนื่องในวาระ 100 ปีชาตกาลพุทธทาสภิกขุ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการทำงานจิตอาสา และการปฏิบัติธรรมเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้สอดคล้องกับคำกล่าวของท่านพุทธทาสที่ว่า “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” 

งานที่อาสาสมัครได้ร่วมกันทำครั้งนั้น เช่น ซ่อมแซมกุฏิ, จัดทำทะเบียนภาพหินสลัก, จัดเก็บเอกสารและจดหมายลายมือท่านพุทธทาส, ทำความสะอาดและขนย้ายเอกสาร, ถอดเทปคำบรรยาย, ตรวจปรู๊ฟหนังสือ และ การเป็นเด็กวัด ทั้งเก็บขยะ กวาดลานวัด ล้างห้องน้ำ ทำความสะอาดที่พัก

เอกสารสำคัญหลายชิ้น ที่อาสาได้ร่วมกันจัดเก็บและจัดทำระบบครั้งนั้น ได้ถูกนำมารวบรวมไว้ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) ในปัจจุบัน


อาสาข้างเตียง - เติมเต็มชีวิต


ในปี 2549 ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกอย่างคือ “อาสาข้างเตียงผู้ป่วยระยะท้าย” ซึ่งเป็นการเปิดมิติเรื่องการเยียวยาจิตใจให้แก่ผู้ป่วย นอกเหนือจากการดูแลทางกายภาพโดยใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือแม้กระทั่งการพยายามยื้อชีวิตผู้ป่วยไม่ให้ตาย อันเป็นแนวทางซึ่งคนทั่วไปมักจะคุ้นชิน แต่อาจไม่ส่งผลดีต่อผู้ป่วยก็เป็นได้

เพราะการดูแลทางใจ อันเชื่อมโยงกับมิติเรื่องจิตวิญญาณ จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตช่วงวาระสุดท้ายได้อย่างมีความสุขตามที่ควรจะเป็น และนำไปสู่การตายอย่างสงบ หรือการ “ตายดี” ซึ่งถือเป็นเหตุปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้ผู้ป่วยรายนั้นได้ไปสู่ภพภูมิที่ดี ตามคติความเชื่อทางพุทธศาสน

ขณะที่บุคลากรในโรงพยาบาลเอง หลายครั้งมีงานล้นมือจนไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง การเข้ามาของ "จิตอาสาข้างเตียง" จึงเป็นเสมือนเพื่อนที่มาเยี่ยมเยือน หรือเป็นเพื่อนรับฟังความกังวลใจของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจากไปได้อย่างสงบ

สำหรับงานในส่วนของการเผยแพร่แนวคิด "ฉลาดทำบุญ" ผ่านสื่อหนังสือ ในปีนี้ทางโครงการยังได้พิมพ์หนังสือ “เติมเต็มชีวิตด้วยจิตอาสา” ซึ่งเป็นการต่อยอดจากหนังสือ “เมื่อดอกไม้บานสะพรั่งทั้งแผ่นดิน” ที่เคยจัดพิมพ์เมื่อปี 2548 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับประสบการณ์ และแง่คิดที่ได้จากการทำงานอาสาสมัคร รวมทั้งข้อมูลควรรู้ เพื่อเตรียมตัวเตรียมใจก่อนไปเป็นอาสาสมัคร

“จิตอาสา เป็นจิตที่พร้อมจะสละเวลา แรงกาย และสติปัญญา เพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นจิตที่มีความสุขเมื่อได้ทำความดี และเห็นน้ำตาเปลี่ยนเป็นรอยยิ้ม เช่นเดียวกับดอกไม้ ที่ได้สยายกลีบ เบ่งบาน มอบความสุข ความสวยงามแต่งแต้มโลก” 

ข้างต้นคือคำโปรยบนปกหนังสือ “เติมเต็มชีวิตด้วยจิตอาสา”


ปี 2551–2552


“ฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา” ในมุมมอง “สุขแท้ด้วยปัญญา”

สองปีนี้ ถือเป็นช่วงเว้นวรรคการดำเนินงาน สำหรับโครงการฉลาดทำบุญ ขณะที่องค์กรภาคีอื่นก็ยังทำงานด้านจิตอาสากันไปตามปกต

เป็นช่วงเวลาที่เครือข่ายพุทธิกา มีภารกิจขับเคลื่อนโครงการ “สุขแท้ด้วยปัญญา” เพื่อส่งเสริมแนวคิดเรื่องทัศนคติอันเป็นที่มาแห่งความสุข อันประกอบด้วย 

1. การคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง 

2. การไม่พึ่งพิงความสุขทางวัตถุอย่างเดียว 

3. การเชื่อมั่นในความเพียรของตน ไม่หวังลาภลอยคอยโชค 

4. การรู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นประโยชน์เกื้อกูล 

กล่าวโดยสรุปคือ 

1. รู้จักให้ 

2. สุขที่ใจ 

3. ไม่รอโชค 

4. คิดดี คิดเป็น 

อันที่จริง ทัศนคติเหล่านี้ต่างก็มีความเชื่อมโยงกับแนวคิด “ฉลาดทำบุญ” ด้วยเช่นกัน 

เพราะการทำงานจิตอาสา คือการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น ซึ่งต้องอาศัยการลงมือทำด้วยความเพียรพยายาม 

อีกทั้งประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน และกระบวนการสรุปบทเรียนในกิจกรรมแต่ละครั้ง ก็จะช่วยเอื้ออำนวยให้จิตอาสาแต่ละคนได้กลับมาใคร่ครวญทบทวนตนเองจนเกิดความเข้าใจในสัจธรรมของชีวิต และสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ที่สามารถมีความสุขได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงแต่เพียงวัตถุ

เรียกว่า “ทำบุญด้วยจิตอาสา” คือหนทางนำไปสู่ “สุขแท้ด้วยปัญญา” นั่นเอง


ปี 2553

การกลับมาอย่างไม่เป็นทางกา

หลังจากขับเคลื่อนงาน “สุขแท้ด้วยปัญญา” มาจนพอจะอยู่ตัวแล้ว คณะทำงานบางส่วนก็มีโอกาสได้กลับมารื้อฟื้น “โครงการฉลาดทำบุญ” อีกครั้ง โดยช่วงนี้เป็นการทำงานในลักษณะย่อมๆ ที่มีแนวร่วมประมาณ 10 องค์กร

ปีนี้ เป็นช่วงที่ทางโครงการ ได้ทดลองเปิดหน้างานใหม่ๆ ของตนเอง อาทิ

กิจกรรม “อาสาเพื่อผู้พิการทางสายตา” โดยรับอาสาสมัครมาทำหน้าที่เป็น "พี่เลี้ยง" นำทางผู้พิการทางสายตา ให้พวกเขาเหล่านั้นได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น พาขึ้นรถไฟฟ้า ลงเรือข้ามฟาก ลงรถไฟใต้ดิน และท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ในลักษณะการจับคู่แบบหนึ่งต่อหนึ่ง โดยกิจกรรมนี้ทำให้อาสาหลายคนได้รับรู้และเข้าใจความรู้สึกของผู้พิการที่ต้องใช้ชีวิตในสังคมไทยมากขึ้น

กิจกรรม “เจริญสติ-จิตอาสา” โดยผสมสานเรื่องของการเจริญสติ และการทำจิตอาสาเข้าไว้ในงานเดียวกัน พร้อมทั้งการบรรยายธรรมและเรื่องราวที่น่าสนใจจากวิทยากรหลากหลาย อาทิ คุณดังตฤณ, อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม และคุณอรสม สุทธิสาคร เป็นต้น

ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ที่จัดโดยองค์กรแนวร่วม เช่น 

- ทำบ้านดิน (กลุ่มไม้ขีดไฟ)

- สร้างห้องน้ำปฏิบัติธรรม (เครือข่ายจิตอาสา)

- ทำความสะอาดวัด (ชุมชนคนใจดี)

- เก็บขยะ ผักตบชวา (ชุมชนคลองลัดมะยม)

- จากภูผาสู่มหานที ชวนทำความดี คืนชีวิตกลับสู่ธรรมชาติ (บ้านจิตอาสา / ชุมพรคาบาน่า)

- อาสาสร้างสุขในโรงพยาบาล (มูลนิธิกระจกเงา)

- ทำอาหาร (มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน)

- ปลูกผักดาดฟ้า (มูลนิธิโลกสีเขียว)

- นวดเด็ก (มูลนิธิสุขภาพไทย) 

- ทาสีห้องฝึกอาชีพสำหรับคนตาบอด (มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม)

แม้จะเป็นปีของการทำงานแบบไม่เป็นทางการ แต่ก็มีกิจกรรมที่สร้างความคึกคักให้ชาวจิตอาสาไม่น้อยเลย


ปี 2554

การกลับมาอย่างเป็นทางการ


กลับมาขับเคลื่อนโครงการอย่างเต็มรูปแบบ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมการขยายแนวร่วมใหม่ๆ เพิ่มเติมเป็น 22 องค์กร

จัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการ (อีกครั้ง) ด้วยกิจกรรม “รวมมิตรจิตอาสา” ภายใต้แนวคิด “บุญที่ทุกคนทำได้” ด้วยกิจกรรมที่หลากหลายเหมือนชื่องาน อาทิ จุลินทรีย์กู้โลก, บ้านรังนก, หนังสืออักษรเบรลล์เพื่อน้องตาบอด, ตัวปั๊มทำมือเพื่อน้องหูหนวก, ถักอุ่นให้คลายหนาว, ลูกชุบเพื่อผู้ต้องขัง, นิทานหุ่นถุงเท้า และ เพาะกล้ากลางกรุง ฯลฯ โดยมีผู้สนใจร่วมงานกว่า 1,000 คน 

กิจกรรมเด่นของโครงการปีนี้คือ “ฉลาดทำบุญกับสวนโมกข์” ซึ่งจัดเป็นประจำทุกเดือน ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) โดยชักชวนองค์กรภาคีต่างๆ มาเป็นเจ้าภาพร่วมจัดกิจกรรมหมุนเวียนเปลี่ยนกันไป

รูปแบบกิจกรรมคือ งานอาสาเชิงหัตถศิลป์ อันมีจุดเน้นที่การเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมได้ทำงานไปพร้อมกับการฝึกสติ และที่ขาดไม่ได้คือ “การถอดบทเรียน” โดยให้ผู้เข้าร่วมได้ทบทวนและแบ่งปันประสบการณ์ที่เกิดขึ้น จากการทำกิจกรรม

สำหรับกิจกรรมที่จัดโดยกลุ่มองค์กรแนวร่วมในปีนี้ เช่น 

- 365 วัน ถักอุ่นให้คลายหนาว (กลุ่มโรงบ่มอารมณ์สุข)

- สร้างสื่อนิทานหุ่นถุงเท้า (กลุ่มหุ่นไล่กา) 

- อาสาปั้นระเบิดแห่งความสุข (เครือข่ายจิตอาสา)

- ศิลปะภาวนา (เครือข่ายชีวิตสิกขา)

- ค่ายจิตอาสาของคนรุ่นใหม่ (มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน)

- อาสาพบพลัม (มูลนิธิหมู่บ้านพลัมประเทศไทย)

- เรียนรู้นอกตำรา กด Like ที่บางปู (ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบกบางปู)

- บ้านดินสนุกศิลป์ (สวนลมหายใจอันสงัด)

- ตุ๊กตา Happy Dolls (Happy Dolls Project)


น้ำท่วมแบบ “เอาไม่อยู่” กับงานอาสาเพื่อเยียวยาจิตใ


มาถึงช่วงปลายปี 2554 ได้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลแบบ “เอาไม่อยู่แล้ว” ซึ่งแม้หน่วยงานต่างๆ จะพยายามหาทางป้องกัน แต่ก็สู้พลังการไหลของสายน้ำตามธรรมชาติไม่ไหว จึงทำได้ในแง่ของการเยียวยาหลังจากน้ำได้ท่วมบ้านผู้คนไปแล้ว โดยคณะทำงานส่วนหนึ่งของโครงการ ก็ตกอยู่ในฐานะผู้ประสบภัยด้วยเช่นกัน

ทีมงานบางส่วนซึ่งยังเหลือรอดจากสถานการณ์ดังกล่าว ก็ได้รวมตัวกันกับองค์กรภาคสังคมต่างๆ เปิดศูนย์ประงานเฉพาะกิจ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยช่วงแรกเป็นการช่วยเหลือในเชิงกายภาพ ทั้งการรับบริจาคและส่งมอบอาหารแห้งและเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

เมื่อได้พบว่าผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ ต่างก็ได้รับความช่วยเหลือทางกายภาพ (หรือทางวัตถุสิ่งของ) จากหน่วยงานต่างๆ เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ทว่ายังขาดการช่วยเหลือดูแลทางใจที่มากพอ ขณะที่กิจกรรมหลักของ “คนบ้านโดนน้ำท่วม” ทั้งหลาย คือการนั่งดูข่าวสารทางโทรทัศน์ ซึ่งหลายรายการก็คล้ายจะพยายามแกล้งให้คนดูเกิดความรู้สึกตื่นตระหนกไปกับสถานการณ์มากยิ่งขั้น

ทางโครงการจึงได้เปิดกิจกรรม “อาสาเพื่อนรับฟัง” และ “อาสาเพื่อน้อง” เพื่อลงพื้นที่เยียวยาจิตใจให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมทั้งหลาย ที่ต้องย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพต่างๆ เป็นการชั่วคราว 

โดยกิจกรรมนี้เป็นการทำงานร่วมกับกลุ่ม “เพื่อนรับฟัง” ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการสื่อสารทางสุขภาวะเพื่อสร้างความเข้าใจในสังคม (เช่น การลงพื้นที่เข้าไปรับฟังความรู้สึกจากผู้ได้รับผลกระทบ ในกรณีความขัดแย้งทางการเมือง เป็นต้น) 

นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่ชุมชนซึ่งได้รับผลกระทบ ร่วมกับกลุ่มภิกษุและภิกษุณีชาวเวียดนามแห่งหมู่บ้านพลัม ซึ่งท่านเหล่านั้นได้ลงไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ รวมทั้งทำอาหารแจกจ่ายให้แก่ฆราวาสชาวไทย ผู้โดนน้ำท่วมอีกด้วย

หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย ทางโครงการก็ได้จัดกิจกรรม “ล้างวัด ล้างโรงเรียน ล้างใจ” โดยพาอาสาสมัครลงพื้นที่เพื่อทำความสะอาดและปรับปรุงทัศนียภาพ อันถือเป็นการเยียวยาในเชิงกายภาพ ต่อเนื่องจากการเยียวยาในเชิงจิตใจ ดังที่ได้กล่าวมา

สำนวนไทยมีคำว่า หลังน้ำลด ตอก็ผุด

แต่สำหรับเราแล้ว หลังน้ำลด ก็เกิดงานล้าง (ทำความสะอาด) ทันที


ปี 2555 

การสื่อสาร และ งานอาสา 50,000 ชั่วโมง


มาปีนี้ ส่วนงานสื่อสารรณรงค์ “โครงการฉลาดทำบุญ” ได้เริ่มเปิดเว็บไซต์และเฟซบุ๊ค เพื่อนำเสนอเนื้อหาผ่านช่องทางออนไลน์ 

พร้อมทั้งจัดพิมพ์ “คู่มือฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา” เพื่อมอบให้อาสาทุกคนที่มาร่วมกิจกรรม โดยหยิบแนวคิดเรื่องการทำบุญตามหลักพุทธศาสนาที่มีมาแต่ดั้งเดิม แต่ได้ถูกลืมเลือนไปจากยุคสมัย ให้กลับมามีความหมายในยุคนี้อีกครั้ง รวมทั้งการเตรียมตัว-เตรียมใจก่อนไปทำงานอาสาด้วย

“ใจ ถือเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นของงานจิตอาสา แต่ ความเข้าใจ ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน … การสละเวลา แรงกาย และความสามารถของเราเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ก็เป็นหนึ่งในสิบวิธีฉลาดทำบุญ”

ข้างต้นคือเนื้อหาบางส่วนจาก “คู่มือฉลาดทำบุญ”

นอกจากนี้ ยังได้เริ่มประชาสัมพันธ์กิจกรรม และรับสมัครจิตอาสาผ่านระบบออนไลน์ของ “ธนาคารจิตอาสา” ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรแนวร่วมของ “ฉลาดทำบุญ”

ขณะที่เมื่อหลายปีก่อน โครงการเคยใช้วิธีรับสมัครโดยให้จิตอาสากรอกแบบฟอร์ม แล้วส่งแฟ็กซ์กลับมา รวมถึงการสมัครผ่านโทรศัพท์ ที่หลายครั้งมีอาสาพร้อมใจกันโทรเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่รับสายกันแบบ non-stop

“ระบบธนาคารเวลา” ของธนาคารจิตอาสา จึงช่วยตอบโจทย์การทำงานของโครงการได้เป็นอย่างดี ในแง่ของช่องทางรับสมัคร

กิจกรรมฉลาดทำบุญ ที่เคยเปิดรับผ่านธนาคารจิตอาสา ล่าสุดมีทั้งสิ้น 77 กิจกรรม มีอาสาสมัครที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมแล้ว 6,187 คน คิดเป็นเวลาการทำงานจิตอาสารวมทั้งสิ้น 48,925 ชั่วโมง


ปี 2556 

เปิดมุมมองใหม่ ในวันสำคัญทางศาสนา

หลังจากหลายปีก่อน ทางโครงการได้รณรงค์ให้คนในสังคมมาร่วมกันทำบุญ ด้วยการเป็นจิตอาสาในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา 

มาปีนี้ คณะทำงานเกิดความคิดที่จะรณรงค์ให้คนมาเป็นจิตอาสา ในวันอื่นๆ เพิ่มเติม 

ขณะที่ชาวพุทธจำนวนมาก นิยมไปทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา (วันพระใหญ่) ทางโครงการจึงทดลองเปิดกิจกรรม “ฉลาดทำบุญในวาระสำคัญทางศาสนา” (มาฆบูชา, วิสาชบูชา, เข้าพรรษา และ ออกพรรษา) เพื่อชักชวนผู้คนให้มาเป็นจิตอาสาตลอดหนึ่งวันเต็ม ในวันสำคัญเหล่านั้น

นอกจากนี้ ยังทดลองจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่วัดเป็นครั้งแรก ในงาน “ทำบุญได้ปัญญาในวาระมาฆบูชา” ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม ที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน พร้อมใจกันมาทำงานจิตอาสา 

แต่ละกิจกรรมในวันนั้น ล้วนมีชื่อเรียกที่ชวนให้นึกถึงคำว่า “บุญ” ในมุมมองใหม่ๆ ที่ไปได้ไกลกว่าเขตกำแพงวัด (แม้วันนั้นเราจะจัดกิจกรรมกันในวัดก็ตาม) อาทิ

1. บุญชายผ้าเหลือง : ถุงชายผ้าเหลืองเติมใจผู้ป่วย 

2. บุญนี้ไม่มีเปื้อน : ผ้ากันเปื้อนเพื่อน้องในสถานสงเคราะห์ 

3. บุญข้ามโลก : นิทานภาพเพื่อการเรียนรู้ 

4. บุญ Recycle : ดินกระดาษเพื่อสร้างพัฒนาการให้เครือข่ายผู้พิการ 

5. บุญโอบ-อ้อม : ผ้าอ้อมเพื่อน้องในสถานสงเคราะห์ 

6. บุญกอดอุ่น : “Happy Dolls for New Born Toy” ตุ๊กตาของเล่นเด็กแรกเกิด 

7. บุญบอกบุญ : อาสาทำ ส.ค.ส. สำหรับเผยแพร่ความรู้เรื่องบุญ 10 วิธี

8. บุญพิมพ์นิยม : พิมพ์ต้นฉบับเพื่อจัดทำหนังสืออักษรเบรลล์ 

9. บุญสลวยสวยเก๋ : แชมพูรักษาโรคผิวหนังและดับกลิ่นหมาแมว

เพราะการทำบุญ มีมากมายหลายวิธีที่ไม่ต้องใช้เงิน และไม่จำเป็นต้องทำกับพระสงฆ์แต่เพียงอย่างเดียว


เชื่อมประสาน “วัด” กับ “ชุมชน”


ปีนี้ ยังมีกิจกรรมที่สำคัญเกิดขึ้นคือ “จิตอาสาพาเข้าวัด” ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้มาทำกิจกรรมร่วมกับวัดแต่ละแห่งในรูปแบบต่างๆ โดยผสมผสานระหว่างการทำงานจิตอาสา (ทำความสะอาดวัด) และการปฏิบัติธรรรม (สวดมนต์ เจริญภาวนา และฟังธรรม) ที่ใช้เวลาหนึ่งวัน 

กิจกรรมนี้ถือเป็นงานนำร่อง ในการสร้างความร่วมมือและพัฒนาแนวทางการทำงานร่วมกับพระสงฆ์ เพื่อประยุกต์เป็นกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ซึ่งคนในชุมชนและคนทั่วไปสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในอนาคต รวมทั้งเป็นการส่งเสริมพระสงฆ์ ให้กลับมามีบทบาทอย่างเหมาะสมกับยุคสมัย และเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อชุมชน

ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ที่จัดโดยองค์กรแนวร่วมในปีนี้ เช่น 

- ชวนไทยวน รักษ์ถิ่น (กลุ่มทำดีมะ)

- แปรขยะให้เป็นประโยชน์ (บ้านช่างคิดช่างทำ)

- ICT เพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล (มูลนิธิกระจกเงา)

- ปรับพื้นที่อยู่อาศัยของนกชายเลน (มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเทศไทย)

- อาสาสร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคราะห์ (มูลนิธิสุขภาพไทย)

- อาสาสร้างสื่อเรียนรู้บนผืนผ้า (มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) 

- บ้านดินสนุกศิลป์ (สวนลมหายใจอันสงัด)


ปี 2558 

สร้างแกนนำ และเปิดกิจกรรมช่วยเหลือผู้ป่วยระยะท้ายตามบ้าน


เริ่มทดลองสร้างเครือข่าย “แกนนำอาสา” ซึ่งมาจากกลุ่มอาสาสมัคร ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับทางโครงการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดโอกาสให้แกนนำเหล่านั้น ได้เข้ามามีบทบาทในพื้นที่ทำงานแต่ละแห่ง

รวมทั้งได้เปิดกิจกรรม “อาสาพาทำ” เพื่อลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรังและระยะท้าย พร้อมทำการลงแรงปรับปรุงซ่อมแซม ต่อเติมบ้านพักให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถใช้ชีวิตอยู่ในบ้านได้อย่างมีคุณภาพที่ดีในช่วงสุดท้ายของชีวิต


ครบรอบสิบปี “โครงการฉลาดทำบุญ” กับ “องค์กรภาคี” ที่เคยร่วมงานกันมา


ปี 2558 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการครบรอบ 10 ปี ของ “โครงการฉลาดทำบุญ” 

งานที่ผ่านมาของโครงการ จะไม่สามารถดำเนินไปได้ด้วยดี หากปราศจากกลุ่มองค์กรภาคี ที่ร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนแนวคิดนี้สู่สังคม

รายชื่อองค์กรภาคี ที่เคยร่วมงานกับโครงการฉลาดทำบุญ ทั้งอดีตและปัจจุบัน

1. กลุ่มคนอาสา

2. กลุ่ม ซ.โซ่ อาสา

3. กลุ่มทำดีมะ 

4. กลุ่มนวัตกรรมเยาวชนเพื่อสังคม (YIY) 

5. กลุ่มไม้ขีดไฟ 

6. กลุ่มรักษ์เขาชะเมา 

7. กลุ่มโรงบ่มอารมณ์สุข

8. กลุ่มหุ่นไล่กา 

9. เครือข่ายจิตอาสา 

10. เครือข่ายชีวิตสิกขา

11. เครือข่ายอาสารักษ์ธรรมชาติ (V4N)

12. คุณป้าสำรวย โตพฤกษา 

13. ชุมชนคนใจดี (บ้านสายรุ้ง / budpage)

14. ชุมชนคลองลัดมะยม 

15. ชุมพรคาบาน่า

16. ธนาคารจิตอาสา

17. บางกอกฟอรั่ม (Bangkok Forum) และกิ๊กบางกอก 

18. บ้านจิตอาสา 

19. บ้านช่างคิดช่างทำ

20. มูลนิธิกระจกเงา 

21. มูลนิธิกองทุนไทย 

22. มูลนิธิโกมลคีมทอง

23. มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)

24. มูลนิธิโลกสีเขียว 

25. มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ประเทศไทย)

26. มูลนิธิสุขภาพไทย 

27. มูลนิธิหมู่บ้านพลัมประเทศไทย

28. มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม 

29. โรงพยาบาลตำรวจ

30. วัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

31. วัดป่ามหาวัน จ.ชัยภูมิ 

32. ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน จ.แม่ฮ่องสอน 

33. ศูนย์ประสานงานอาสาสมัครสึนามิ พังงา 

34. ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

35. ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)

36. สมาคมพิทักษ์สัตว์ (ไทย) 

37. สมาคมนพลักษณ์ไทย

38. สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด จ.นนทบุรี 

39. สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก 

40. สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

41. สหทัยมูลนิธิ 

42. สวนลมหายใจอันสงัด

43. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

44. หน่วยการพยาบาลต่อเนื่อง โรงพยาบาลศิริราช

45. หน่วยชีวันตาภิบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

46. หน่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

47. หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ)

48. Happy Dolls Project

49. Thai Rural Net 


ครบสิบปี “ฉลาดทำบุญ” กับบางข้อมูลที่น่าสนใจ


ช่วงเวลาครบรอบ 10 ปี ของการดำเนินโครงการ “ฉลาดทำบุญ” ทีมงานมีข้อมูลบางส่วนที่น่าสนใจ ขอนำมาฝากกัน

553,000 รายการ ... ผลลัพธ์ที่ได้จากการพิมพ์คำว่า “ฉลาดทำบุญ” ลงไปในเว็บไซต์ google

350,000 เล่ม ... ยอดพิมพ์หนังสือ “ฉลาดทำบุญ” นับตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน

56,000 คน ... จำนวนสมาชิกโดยประมาณของ Fan Page ฉลาดทำบุญ

48,925 ชั่วโมง ... รวมจำนวนเวลาการทำงาน ของอาสาสมัครโครงการฉลาดทำบุญ นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555 ถึงปัจจุบัน (เป็นช่วงที่ทางโครงการได้เริ่มประชาสัมพันธ์กิจกรรม และรับสมัครจิตอาสาผ่านระบบออนไลน์ของ “ธนาคารจิตอาสา”)

7,334 คน ... จำนวนอาสาสมัครทั้งหมด (แบบไม่ซ้ำคน) ที่เคยมาทำกิจกรรมจิตอาสากับ “โครงการฉลาดทำบุญ” นับเฉพาะกิจกรรมที่จัดโดยเครือข่ายพุทธิกา เท่าที่ได้บันทึกไว้ในฐานข้อมูล

77 กิจกรรม ... จำนวนกิจกรรมของโครงการ ที่ได้เปิดรับสมัครผ่านระบบออนไลน์ของ “ธนาคารจิตอาสา” ขณะที่เมื่อหลายปีก่อน เราเคยใช้วิธีรับสมัครโดยให้กรอกแบบฟอร์มแล้วส่งแฟ็กซ์กลับมา

44 ครั้ง ... จำนวนกิจกรรมที่เราได้ไปจัดในพื้นที่สวนโมกข์กรุงเทพ ซึ่งถือเป็นสถานที่หลักแห่งหนึ่ง ของการจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ “ฉลาดทำบุญ”

30 เปอร์เซ็นต์ ... อัตราเฉลี่ยของจิตอาสาผู้หายสาบสูญไปในแต่ละครั้ง (สมัครกิจกรรมไว้แล้วหายไปอย่างลึกลับ)

18 องค์กร ... จำนวนภาคีเริ่มแรก ในการขับเคลื่อนแนวคิด “ฉลาดทำบุญ” ผ่านงาน “จิตอาสา”

6 ชั่วโมง ... ระยะเวลาโดยเฉลี่ยของกิจกรรมจิตอาสา “ฉลาดทำบุญ” ในแต่ละครั้ง

5 คน ... จำนวนเจ้าหน้าที่โครงการในปัจจุบัน ซึ่งถือว่ามากสุดเมื่อเทียบกับสิบปีก่อน ที่มีเพียง 1 คน (ทำไปได้ยังไง)

1 วัน ... ระยะเวลาที่เหลือ ก่อนจะถึงวันงาน “ทศวรรษฉลาดทำบุญ”


พรุ่งนี้เจอกัน 

--

เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อ พฤศจิกายน 2558 
เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี โครงการฉลาดทำบุญ


เรื่อง : อลงกรณ์