Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

กลัว ไม่กลัว รู้ได้อย่างไร

-A +A

          คนที่บอกว่าความตายไม่น่ากลัว ไม่กลัวตายหรอก อาจจะมีอยู่จริง เราก็ขออนุโมทนาด้วย เขาอาจจะมีบุญเก่าสะสมมา (ว่าไปถึงคติความเชื่อทางพุทธเลย) แต่บางคนเมื่อรู้ว่ากำลังจะเผชิญความตาย ใจก็เริ่มระทึก สั่นไหว (คล้ายจะเป็นลม... ไม่ใช่โฆษณาขายยาหม่อง ซีเรียสนะ ชีวิตเดิมพัน!) เห็นทีต้องเปลี่ยนมาตั้งหลักใหม่ (ให้ทันเที่ยวสุดท้ายของชีวิตด้วยนะ จะบอกให้) อย่างเช่นหยิบหยอกบอกเล่าฉบับนี้ ที่เป็นกรณีศึกษาขนาดงานวิจัยระดับบ้านๆ 

          “นที” เป็นผู้เข้าอบรมการเผชิญความตายอย่างสงบ เขาบอกว่าก่อนที่จะมายืนอยู่หน้าบ้านประตูสำนักงานเครือข่ายพุทธิกาเพื่อสมัครเข้าอบรม เขาคิดขึ้นมาแวบหนึ่งว่า ความตายหรือ อืมม์...ไม่กลัวหรอก แต่อยากจะมาเข้าอบรมด้วย อันที่จริงแล้ว นทีไม่เคยถามตัวเองเลยเรื่องความตาย เขาก็เหมือนกับคนทั่วไปที่เห็นว่าความตายยังเป็นเรื่องห่างไกล แล้วอะไรที่ทำให้เขามาอบรมล่ะ? 

          วันแรกนทีได้ฟังเรื่องราวของสมาชิกที่มาอบรมด้วยกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้ดูแลคนรัก คนใกล้ชิด บางคนก็เฉียดตายเอง ยิ่งฟังนทีก็ยิ่งรู้สึกเริ่มเข้าใจมากขึ้น เพราะมีหลายอย่างไม่เคยได้ยินได้คิดมาก่อน ยิ่งพระอาจารย์ไพศาล (วิสาโล) ช่วยบรรยายเพิ่มเติมให้เกิดความกระจ่างในเรื่องการตายดี การตายสงบที่คนเราพึงปรารถนา หรือวิทยากรท่านอื่นที่เป็นแพทย์ พยาบาล ก็ช่วยกันสาธยายขยายความกระจ่างว่า เมื่อถึงวาระสุดท้ายแล้ว ร่างกายจะเป็นอย่างไร ความต้องการของคนที่ป่วยเป็นอย่างไร

          จนมาถึงวันที่สองของการอบรม นทีเรียนรู้ก้าวหน้าขึ้นไปถึงเรื่องที่คนเรามักมองข้าม แต่สำคัญ คือการถามตัวเองว่า สิ่งสุดท้ายที่หากยังไม่ได้ทำหรือสะสาง อาจจะกลายเป็นปมให้กับคนที่ยังอยู่ หรือเป็นสิ่งกีดขวางรบกวนจิตใจของคนที่กำลังจะเดินทางไปสู่สัมปรายภพให้ไม่สงบได้ นทีได้เรียนรู้ต่อไปจากการฝึกสวมบทบาทเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายเสียเอง ทำให้ได้เรียนรู้ไปถึงภายในความรู้สึกจิตใจของผู้ป่วย โดยการเอาตัวเองมาทดสอบ ช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ในพื้นที่ที่เขาไม่เคยเข้าไปสัมผัสเกี่ยวข้องมาก่อน ทำให้นทีเผยถึงเหตุผลที่มาอบรมเองในที่สุดว่า เพื่อจะไปดูแลแม่ เขาไม่ได้คิดถึงตัวเองเลยว่าจะต้องมาเตรียมตัวกับการเผชิญความตายแต่อย่างใด

          การอบรมมาถึงช่วงสุดท้าย ในวันที่สาม ช่วงเช้าเราอบรมเรื่องวิธีการดูแลคนใกล้ตาย จะโน้มนำผู้ป่วยทางด้านจิตใจได้อย่างไรบ้าง นทีกระหยิ่มยิ้มย่องว่าสองวันที่ผ่านมา ตัวเองเริ่มเข้าใจมากขึ้นแล้ว ประเดี๋ยวตอนบ่ายในการฝึกช่วงสำคัญเพื่อทดสอบว่าเวลาเจอของจริงแล้วจะเป็นอย่างไร เขาคงเอาไปใช้ได้(สบายมาก)

          แต่เมื่อถึงเวลาเอาเข้าจริง นทีเริ่มคิด – เอาละสิ – จะต้องไปเจอคนไข้ที่อยู่ในวาระสุดท้ายหรือเฉียดตาย นี่ละหนา ของจริง...

          นทีเริ่มปั่นป่วนดุจกระแสนทีที่เชี่ยวกราก – เอายังไงดี ...-ใจเต้นตูมตามยังไงๆ ก็จะเดินตามคนอื่น มั่วนิ่มตามๆ กันไป ระหว่างเดินไปๆ เมื่อบอกกับตัวเองว่าจะต้องไปเยี่ยมคนไข้ระยะสุดท้าย เบื้องลึกของหัวใจก็สั่นระรัว ก็กลัวน่ะสิ – ใครว่าความตาย (แม้ไม่ใช่ของเราเองก็เถอะ) ไม่น่ากลัว... เดิมผู้ฝึกอบรมเขาจัดให้ไปเยี่ยมด้วยกันเป็นคู่ แต่พอเดินๆ ไป คู่ดันหายแวบ บอกว่ามีธุระขอตัวกลับก่อน ตายล่ะ จะไปเจอคนไข้ยังไงคนเดียว ...คิดไประหว่างเดินใกล้เข้าไปๆ ว่า กลัว ไม่กลัวๆ สลับกลับไปมา ครั้งแล้วก็ทำตัวให้ลีบเล็กลงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำเป็นเดินไปหาพี่เลี้ยง แกล้งชวนคุย แล้วพาเดินเคียงข้างมาด้วยกัน...

          ใครที่พูดว่า ความตายไม่น่ากลัว ดูสิ ขนาดนทีอบรมมาแล้วนะ... แต่ก็น่าอยู่หรอกว่า ทำไมเราถึงยังกลัว ... ก็เพราะเราแทบไม่เคยได้เผชิญหรือสัมผัสกับความตายมาเลยตั้งแต่เกิด ชีวิตต่างคนต่างอยู่แบบคนเมืองนั้นน่าสงสาร เราจะไปอยู่กับความตายในวาระไหนล่ะ  ถ้าไม่มีคนใกล้ชิดหรือคนรู้จักจากไป เราจึงไม่มีประสบการณ์ดูแลคนใกล้ตาย ยิ่งวิธีคิดของสังคมปัจจุบันที่แยกคนป่วยไปให้หมอ ให้พยาบาลดูแล หรือเข้าใจความตายแต่ในความคิด พอเอาเข้าจริง ดูอย่างนทีที่ผ่านการอบรมมาหมาดๆ ยังฝ่อเลย

          ดังนั้น การอบรมจะยังไม่เสร็จจนกว่าได้เผชิญกับของจริง จึงพอจะเรียกได้ว่ารู้จักความตาย และฝ่าความกลัวออกไปได้ ช่วงสุดท้ายของการอบรม ผู้จัดกระบวนการจึงให้เข้าไปสัมผัสคนไข้ ทำให้เห็นว่าความตายไม่ได้สยดสยองอย่างที่คิด ถ้าเรามีมุมมองหรือทัศนคติที่เหมาะสม คนไข้ต่างหากที่เป็นผู้สอนเรา และเป็นการปลดปล่อยเราจากความกลัวที่จะเผชิญหน้ากับความตายให้ลดลงไป

          ในที่สุด นทีก็ได้ไปเยี่ยมคนไข้พร้อมกับพี่เลี้ยง คนไข้เป็นคุณลุงอายุ ๖๐กว่า มีบุคลิกที่ดูเรียบๆ แต่กลับอัธยาศัยดี ชวนคุยสนุกสนาน ถามลุงเรื่องอายุ แกจะตอบทำนองว่ายังไม่แก่ ถามเรื่องคนที่มาอยู่มาเยี่ยม แกชี้ไปที่คนหนุ่มละอ่อนกว่า แล้วบอกว่าเป็นเพื่อนๆ ถือว่าลุงไม่ธรรมดา มีเพื่อนบ้านในชุมชนจัดเวรมาเฝ้า ๓ ผลัดเลย นี่ขนาดนอนห้องคนไข้ประเภทรวม (มากๆ) คนเยี่ยมก็มีมาก จนต้องนั่งตามระเบียงลงไปถึงบันไดหนีไฟเลยล่ะ แกมีลูกล่อลูกชนเวลาเล่าขนาดท้องแกโตแข็ง (ก็มาจากตับแข็งนั่นล่ะ เป็นกรณีศึกษาที่โครงการรณรงค์ปลอดเหล้าเอาไปเข้าแฟ้มบทเรียนได้อย่างแน่นอน ถ้ามาเจอเข้า) แต่ยังมีกำลังใจมาก เพราะมีทั้งลูก เพื่อนบ้านมาเฝ้ากันไม่ขาด ดูเหมือนจุดที่ทำให้แกไม่กังวลไปกับความเจ็บป่วยนี้ เป็นเพราะส่วนหนึ่งแกได้เห็นผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตัวเองที่กินเหล้าไปยั้ง จึงกลายมาเป็นสภาพเช่นนี้

          นทีหันไปคุยกับคนที่มาอยู่เป็นเพื่อนลุง คอยให้กำลังใจ เขาไม่ได้แสดงสีหน้าถอดใจอะไรเลย กลับสนับสนุนทุกครั้งที่ลุงพูด ท่าทีสีหน้าของลุงเหมือนคนปรกติ ซึ่งตรงข้ามกับสภาพร่างกายที่ทรุดหนัก แกเล่าเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองก่อนที่จะถูกนำมาโรงพยาบาล บางครั้งทำให้ผู้มาเยี่ยมหัวเราะ สนุกไปด้วยแกกับชุมชนมิได้แปลกแยก แต่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านมากมาย จึงไม่ถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพังบนเตียง ทำให้นทีทึ่งและเปลี่ยนความรู้สึก ผ่อนคลายขึ้นมาเมื่อไรไม่รู้ เขาไม่กลัวแล้วที่จะไปพบเห็นคนป่วย... ยังคิดว่าบางทีอาจจะไปช่วยคนป่วยระยะสุดท้ายด้วย... – แต่ลึกๆ ในใจ ที่ว่าจะไปช่วยเขา ให้กำลังใจเขา หรือจะไปเอาจากเขากันแน่! – 

          นี่ล่ะหนา ที่ว่ากลัว มันเป็นความกลัวจากการคิดไปล่วงหน้า... แบบรอไว้เลย... ต่อเมื่อได้เผชิญแล้ว จะพบว่าแท้จริงแล้วเรานั้นเองที่เป็นผู้กลัวซะมากกว่ามิใช่คนป่วยหรือใครที่ไหน 

คอลัมน์:

ผู้เขียน:

บุคคลสำคัญ: