มรณานุสติในงานศิลปะ
'
Memento Mori หรือ “มรณานุสติ” เป็นหัวข้อเก่าแก่ยาวนานในงานศิลปะตะวันตก ทว่าศิลปะที่เตือนให้ระลึกถึงความตายเป็นศิลปะที่ขัดแย้งกับตัวเอง เพราะหากศิลปะเป็นวัตถุที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อที่จะเก็บรักษาเอาไว้ชั่วกัลปาวสานดังที่กระบวนการเก็บรักษา อนุรักษ์ และฟื้นฟูซ่อมแซมงานศิลปะและงานพิพิธภัณฑ์ต่างทุ่มเทความพยายามให้ งานประเภทมรณานุสติก็เป็นเสมือนเรื่องย้อนแย้ง เพราะมันย้ำเตือนว่าไม่มีอะไรอยู่ยั้งยืนยง
นิทรรศการเดเมียน เฮิร์สต (Damien Hirst, ๔ เมษายน – ๙ กันยายน ๒๕๕๕) ที่ เทต โมเดิร์น (Tate Modern) เป็นนิทรรศการย้อนอดีต (retrospective) ที่คัดเลือกผลงานตั้งแต่ยุคแรกๆ มาจนถึงปัจจุบันของเดเมียน เฮิร์สต ศิลปินชาวอังกฤษผู้โด่งดัง การจัดแสดงผลงานย้อนหลังแสดงให้เห็นความหมกมุ่นกับการเตือนให้รำลึกถึงความตายและวงจรของชีวิตที่แสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ ความสนใจเรื่องความตายของเฮิร์สต สืบย้อนไปได้ถึงวัยเยาว์ “With Dead Head” เป็นภาพถ่ายเฮิร์สตสมัยเป็นนักเรียนวัย ๑๖ ปีกับศีรษะของคนตายในภาควิชากายวิภาคที่มหาวิทยาลัยลีดส์ ที่เขามักเข้าไปวาดรูป เก้าปีต่อมา การทำงานกับสิ่งที่ตายแล้วและการละเล่นกับชีวิตผุดกลับขึ้นมาอีกครั้งใน “A Thousand Years” ที่เป็นจุดตั้งต้นของซีรีย์สัตว์ดองในตู้กระจก หัววัวที่ถูกตัดขาดแต่คอวางจมกองเลือดของตัวเองอยู่บนพื้น คืออาหารของเหล่าแมลงวันที่เกิดและตายอยู่ภายในตู้ใบเดียวกัน ซากของแมลงวันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้ทำให้แมลงวันในตู้กระจกลดจำนวนลงเนื่องจากก่อนตายมันได้วางไข่เพื่อแพร่พันธุ์เอาไว้แล้ว เลือดวัวและซากเน่าเปื่อยคงเพียงพอที่จะเป็นอาหารของพวกมันไปจนตลอดช่วงเวลาของนิทรรศการ “A Thousand Years” เป็นจักรวาลจำลองย่อยๆ ที่แสดงวงจรของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายที่เกิดขึ้นทุกที่นอกโลกในตู้กระจก
ในทำนองเดียวกัน ผลงานจัดวาง “In and Out of Love (White Paintings and Live Butterflies)” และ “In and Out of Love (Butterfly Paintings and Ashtrays)” ก็แสดงวงจรของชีวิตผ่านความเปราะบางของผีเสื้อ ในห้องที่ชื้นและอุ่นจนเกือบร้อนจากการควบคุมอุณหภูมิ ผีเสื้อไต่ออกมาจากรังดักแต้ที่ติดอยู่บนผืนผ้าใบราวกับชีวิตที่โผบินขึ้นมาจากงานจิตรกรรมเหล่าผีเสื้อบินว่อนทั่วห้อง ดูดน้ำหวานจากดอกไม้และผลไม้ ใช้ชีวิต สืบพันธุ์ และวางไข่ก่อนที่จะตายจากไป ซากผีเสื้อถูกติดกลับเข้าไปที่ผืนผ้าใบใหม่ กลายเป็นงานศิลปะอีกครั้งหนึ่ง ความตายหรือชีวิต คือศิลปะ หรือใช่และไม่ใช่ทั้งสองอย่าง? ห้องกลายเป็นตู้กระจก แต่ไม่ให้ผู้ชมเพียงเฝ้ามองจากภายนอก แต่เดินลึกเข้าถึงภายใน เดินเข้าสู่วงจรแห่งการเกิดและตาย
ตายแล้วก็ยังไม่ตายลับ การยื้อยุดสภาพหลังความตายจากการเน่าเปื่อยสูญสลายไม่ใช่การคืนชีวิตแต่เป็นการ “คงไว้ให้อยู่ในสภาพนั้น” เหล่าสัตว์ที่ถูกจับแช่ดองน้ำยาฟอร์มาลีนในกล่อง ตู้กระจก ตั้งแต่บรรดาปลาใน “Isolated Elements Swimming in the Same Direction for the Purpose of Understanding (Left, Right) ฉลามใน “The Physical Impossibility of Death in the Mind of Someone Living” ไปจนถึงแกะใน “Away from the Flock” บ่งบอกความพยายามในการคงสภาพหลังความตาย งานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ไม่ต่างอะไรกับสัตว์ดองในห้องแล็บหรือโรงพยาบาล ต่างอยู่ด้วยอำนาจของการรักษาสภาพเพื่อที่จะถูกศึกษาเฝ้าดู (และอาจจะปลง? แต่การปลงเป็นเรื่องที่ไปกันได้กับการหน่วงเหนี่ยวหรือเปล่า?)
การรำลึกได้ว่าทุกคนและทุกสิ่งที่ต้องตายฟังดูเหมือนเป็นงานทางศาสนา ทั้งความคิดเรื่องมรณานุสติ ยังมีความสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นกับศาสนาคริสต์ (แต่อันที่จริงแล้วเป็นความคิดที่เก่าแก่กว่านั้น) ทว่า ผลงานของเฮิร์สตก็ท้าทายความยิ่งใหญ่ของคริสต์ศาสนาด้วยความคิดและสิ่งประดิษฐ์สมัยใหม่ที่มีอำนาจต่อชีวิตคนไม่แพ้กันอย่างวิทยาศาสตร์ “Trinity-Pharmacology, Physiology, Pathology” องค์สามศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นเภสัชวิทยา, สรีรวิทยา และพยาธิวิทยา แทนที่จะเป็นพระบิดา พระบุตร และพระจิต ใน “The Anatorny of an Angel” แม้กระทั่งเทพธิดาก็ยังถูกผ่าชำแหละเผยให้เห็นอวัยวะภายในไม่ต่างอะไรกับหุ่นกายวิภาคที่ใช้เรียนรู้ทางสรีรศาสตร์ ส่วน “The Incomplete Truth” พิราบขาวที่เป็นทั้งสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ตามความเชื่อในคริสต์ศาสนาและสัญลักษณ์ของสันติภาพในความคิดแบบทางโลก กางปีกโผบินแต่กลับบินไม่ได้จริง แข็งค้างอยู่ในน้ำยาฟอร์มาลีน และ “Mother and Child Divided” เปลี่ยนจากพระแม่มารีและพระเยซูวัยเยาว์เป็นแม่วัวและลูกวัว แยกกันอยู่คนละตู้ ร่างถูกเฉือนขาดครึ่งและดองไว้ด้วยน้ำมือของวิทยาศาสตร์ / ศิลปะ
แต่เฮิร์สตก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่คิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นศาสนาใหม่ สิ่งที่เขาเชื่อคือ ศิลปะ ศิลปะต่างหากที่มีมนต์ขลัง ในที่นี้ ศิลปะมีชีวิตอยู่จริงๆ (alive) ผ่านแมลงวันและผีเสื้อที่โบยบิน มีชีวิต (life) อยู่ในศิลปะ หัตถ์ของศิลปินดุจดั่งหัตถ์ของพระเจ้าที่ให้ลมหายใจ แต่สุดท้ายสิ่งเหล่านั้นก็จะตาย ตายแล้วก็ยังจะต้องเน่าเปื่อยผุพัง ไม่ว่าจะยื้อยุดด้วยวิธีอะไรมันก็ต้องสูญสลายไปจนได้ เพราะการดำรงชีวิต คือกระบวนการเดินเหน้าไปสู่ความตาย แม้ไม่พึงปรารถนาแต่ไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่การเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของความตายก็อาจน่าดึงดูดใจไปอีกแบบ ในความน่าสะพรึงกลัวมีความสวยงาม ไม่จำเป็นต้องแยกสองฝั่งระหว่างความตายกับความดึงดูดใจเพราะมันอาจแยกไม่ได้ “For the Love of God” หัวกะโหลกฝังเพชรกลับสู่ขนบของงานประเภทมรณานุสติที่มักแสดงภาพหัวกะโหลกเพื่อเตือนให้รำลึกความเป็นของชั่วคราวของชีวิต แต่ก็เพราะศิลปะไม่ใช่บทสั่งสอนศีลธรรมอย่างเชื่องๆ โดยแท้และเสมอมา ศิลปะแห่งมรณานุสติของเฮิร์สตจึงไม่ชวนให้ปลงด้วยการให้ภาพอัปลักษณ์ของความตาย ไม่โน้มนำให้ผละจากกิเลสทางโลก แต่กลับเน้นย้ำความเป็นสิ่งย้อนแย้งของตนเองด้วยทำตนให้สวยงามและล้ำไปด้วยมูลค่าจากการประดับหินมีค่า – เพชร
ศิลปะที่พูดถึงมรณานุสติจึงไม่เคยพูดถึงความตายของตัวเอง แต่แล้วใครล่ะจะบอกศิลปินถึงความไม่จีรังของศิลปะ อาจเป็นเสียงบ่นของผู้ชมถึงสรรพสัตว์ในน้ำยาฟอร์มาลีนว่าเริ่มเน่าเปื่อย หรือนักวิจารณ์บางคนที่กล่าวถึงความตายของเฮิร์สตเองจากการทำงานหัวข้อซ้ำซาก ตายแล้วตายอีกมาหลายสิบปี (แต่ก็ยังแพงเอาๆ) แล้วในที่สุดวันหนึ่งแมลงวันและปีกผีเสื้อก็จะฉีกขาด ร่วงหล่นจากผืนผ้าใบ อนิจจา...อนิจจังของศิลปะ วันหนึ่งเราคงต้องกล่าวต่อกันว่า “RIP”
ที่มา: art4d 195, August 2012
เรื่อง ธนาวิ โชติประดิษฐ
ภาพ Tate Modern, Damien Hirst