Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ดวงใจพ่อ: รับมือกับความตาย

-A +A

        Good life ซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่องนี้ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเมื่อราวต้นปีนี้ ต้นฉบับเป็นวรรณกรรมและซีรีส์เกาหลีในชื่อเรื่องว่า Daddy fish ความนิยมทำให้ถูกนำมาผลิตซ้ำในญี่ปุ่น เค้าโครงโดยย่อของเรื่องคือ พ่อในฐานะตัวเอกมีครอบครัว ภรรยา และลูกชายอายุ ๖ ขวบ ชีวิตดูมีความสุขและลงตัวดี ความที่ตัวเอกอุทิศตนให้กับงานในฐานะนักข่าว ทำงานหนักจนไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง รวมถึงเวลาให้กับครอบครัว ภรรยาซึ่งมีความใฝ่ฝัน แต่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของความเป็นแม่ ความเป็นภรรยา เมื่อมาพร้อมกับการขาดการดูแลใส่ใจจากสามี เธอจึงเลือกทำความปรารถนาของตนเองด้วยการขอแยกทาง ตัวเอกจึงต้องกลายมาเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว

        ความเสียใจ ความเจ็บปวดเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ยามที่ครอบครัวต้องร้าวฉานนี้ แต่ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป สองพ่อลูกพยายามปรับตัวและอยู่ร่วมกัน ที่น่าสนใจคือ เมื่อเงื่อนไขบังคับ พ่อก็ทำหน้าที่ดูแลลูกด้วยความรัก และลูกก็แสดงออกถึงความรัก จนเป็นความใกล้ชิด ซึ่งสำหรับเด็กวัยนี้ความใกล้ชิดเป็นเรื่องสำคัญ ลูกได้ซึมซับเรียนรูและมีพ่อเป็นแบบอย่าง

        แล้ววันหนึ่งระบบความสัมพันธ์ก็มีอันต้องสั่นคลอน เมื่อลูกชายล้มป่วยและพบว่ามันคือ อาการป่วยของมะเร็งเม็ดเลือดขาว โอกาสรอดชีวิตขึ้นอยู่กับกำลังใจ การดูแลรักษารวมถึงผลสำเร็จในการปลูกถ่ายไขกระดูก การเจ็บป่วยจากโรคร้ายเป็นวิกฤตชีวิต และกระทบต่อสมาชิกทุกคนในครอบครัว ต่อปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว แต่จะถึงขั้นวิกฤตหรือไม่ก็ขึ้นกับว่าครอบครัวยังสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติต่อไปหรือไม่ ที่สำคัญคือ นี่เป็นช่วงเวลาทดสอบความเข้มแข็ง ความรักและสายสัมพันธ์ในครอบครัว

        การเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงเช่นนี้ โรงพยาบาลจึงเป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของคนไข้วัยเด็ก น่าสนใจที่ตัวละครเด่นในเรื่องที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลคือ เจ้าหน้าที่ประสานงานระหว่างคนไข้ ญาติ และหมอ พยาบาล นอกเหนือจากหน้าที่ทำกิจกรรมการเรียนรู้การใช้ชีวิตให้กับคนไข้เด็กแล้ว หน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การให้ความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงการประสานความเข้าใจกับผู้คนที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนกำลังใจ การช่วยเหลือทางจิตใจแก่พ่อแม่ กับตัวคนไข้ยามเมื่อเผชิญการสูญเสีย

        แต่ละตอนในซีรีส์ฉายภาพสังคมญี่ปุ่น บทบาทของพ่อแม่ที่พึงพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย การทำงานในระบบโรงพยาบาล งานอาชีพ รวมถึงความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม หลายตอนยังสะท้อนภาพความคิดที่สำคัญ โดยเฉพาะการรับมือกับวิกฤติของชีวิต กับความตาย การสูญเสีย ความคิด ความเชื่อที่มีต่อเด็ก รวมถึงความรัก ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่แสดงออกต่างๆ กัน

        ฉากสำคัญที่อยากนำเสนอคือ จากที่เด็กน้อยยอมรับการใช้ชีวิตในโรงพยาบาล มิตรภาพกับเพื่อนคนไข้เด็กกลายเป็นสิ่งสำคัญ แต่แล้ววันหนึ่งเพื่อนสนิทที่เป็นคนไข้ก็หายตัวไป ถามไถ่ใครก็ได้ข้อมูลเพียงว่า เขากลับบ้านไปแล้ว โดยไม่มีคำบอกกล่าวล่ำลากันในฐานะเพื่อนเลย ความสับสนคับข้องใจรุมเร้าจนเด็กน้อยหงุดหงิด เศร้า โกรธ ที่สำคัญคือ ความผิดหวังในเพื่อน ในคนรอบตัว ความสงสัยในคุณค่าตัวเอง รวมถึงคำบอกเล่าจากคนรอบข้างทั้งพ่อ และคนอื่นๆ เด็กน้อยอยู่ในภาวะงุนงง ไม่เข้าใจ และไม่ไว้วางใจผู้คน และสิ่งรอบตัว

        ความจริงสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เพื่อนสนิทได้จากโลกนี้ไปแล้วด้วยโรคที่รักษาไม่ได้ ผู้ใหญ่รอบตัวโดยเฉพาะพ่อกลัวว่าลูกจะรับความจริงไม่ได้ จึงเลือกที่จะโกหกว่าเพื่อนกลับบ้านไปแล้ว ซึ่งเด็กน้อยก็ฉลาดพอที่จะไม่เชื่อ ความผิดหวังที่พ่อปิดบังความจริงกลายเป็นความโกรธ น้อยใจ เสียใจ เรื่องราวคลี่คลายด้วยการที่หมอได้สนทนาพูดคุยกับพ่อ ประเด็นสำคัญคือ หากเด็กรู้ว่าเราโกหกเขา แม้จะด้วยความรักก็ตาม เด็กจะไม่ไว้วางใจเรา การสูญเสียความไว้วางใจโดยเฉพาะต่อบุคคลสำคัญในชีวิต ถือเป็นบาดแผลชีวิตที่สำคัญสำหรับเด็ก เนื่องเพราะเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่กล้าวางใจใคร ความไว้วางใจจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโต น่าสนใจว่า แบบฝึกหัดแรกของตัวเอกก็คือ การไว้วางใจว่าเด็กสามารถรับมือกับการสูญเสีย รับมือกับความจริงที่เรียกว่า ความตายได้

        การรับมือกับความตายอีกวิธีหนึ่งคือ การยอมรับในความสูญเสีย ในความรู้สึกเศร้า เสียใจ อาลัยรัก การร้องไห้ จึงเป็นเรื่องปกติที่สุดของคนเรา โชคร้ายที่สังคมระบบชายเป็นใหญ่อย่างในปัจจุบัน มักยึดถือความเชื่อผิดๆ ว่า ลูกผู้ชายต้องไม่ร้องไห้ สำหรับสังคมญี่ปุ่น การร้องไห้ไม่ใช่เรื่องปกติและง่ายนักสำหรับผู้ชาย ในภาพยนตร์มีบทสนทนาที่เจ้าหน้าที่ประสานงานได้พูดกับพ่อว่า สอนให้เด็กร้องไห้ ยอมรับความรู้สึกดีกว่าการห้ามพวกเขาไม่ให้ร้องไห้ เพราะเมื่อเด็กโตขึ้น เขาจะเรียนรู้การเก็บกดความรู้สึก ไม่แสดงออก และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เก็บกดความรู้สึกไว้ นั่นย่อมมีผลกระทบต่อตนเอง ต่อสัมพันธภาพที่มีกับคนรอบตัว

        ในที่สุด พ่อก็เลือกที่จะพูดความจริงกับลูกของตนว่าเพื่อนสนิทได้ตายจากไปแล้ว สิ่งที่น่าสนใจและเกินคาดคือ เด็กยอมรับความจริงได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่มาก เมื่อพ่อพูดความจริงกับลูก สิ่งที่ได้กลับมาด้วยก็คือ ความไว้วางใจ ความสนิทสนมที่ตามมา คือ ลูกขอให้พ่อมาเล่นเกมด้วยกัน

        ในทัศนะของผู้เขียน บทสรุปการเรียนรู้ของเรื่องคือ จากพ่อที่เชื่อในจุดยืนและกระทำตามวิธีการของตน เมื่อเปิดใจรับฟังความคิด มุมมองของคนอื่น พ่อก็พร้อมปรับเปลี่ยนทัศนคติของตนที่มีต่อการรับมือกับความตาย การสูญเสียได้อย่างน่าชมเชย

        การเปิดใจรับฟัง โดยเฉพาะความคิดเห็นที่แตกต่าง จึงมีความหมาย ความสำคัญกับชีวิตในการเพิ่มพูนความสามารถในการอยู่รอดและการเติบโต ขณะที่การยึดถือแต่ทฤษฎี ยึดถือแต่มุมมอง ทัศนคติของตนเองโดยไม่ปรับเปลี่ยน ไม่เรียนรู้ จะทำให้เรื่องราวและชีวิตเลวร้ายลง

        การปรับตัว จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการอยู่รอด รวมถึงการรับมือ การเผชิญหน้ากับวิกฤตชีวิต เช่น ความตาย หรือการสูญเสีย

คอลัมน์: