Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

จุ๊บแจง ชีวิตที่ยังมีพรุ่งนี้

-A +A

จุ๊บแจง ชีวิตสอนอะไรเราบ้าง

 

ลองย้อนกลับไปในวัย ๑๓-๑๔ ปี คุณกำลังทำอะไรอยู่? เล่นกับเพื่อน โดดหนังยาง เรียนหนังสือ เตรียมตัวสอบ ปรับตัวเข้ากับโรงเรียนใหม่ แอบชอบรุ่นพี่ห้องข้างๆ โดดเรียนไปเที่ยวกับเพื่อน มีแฟนคนแรก ฯลฯ สำหรับเราๆ ท่านๆ ช่วงเวลาวัยรุ่นอาจเป็นเวลาที่หอมหวาน โชติช่วง ระคนตื่นเต้น แต่สำหรับเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ เบื้องหน้า นี่คือช่วงเวลาแห่งความยากลำบากและพลิกผัน เธอพบว่าตนเองเป็นมะเร็งรังไข่ ต้องออกจากโรงเรียนที่เพิ่งเริ่มปรับตัว เข้ารับการผ่าตัด คีโม ย้ายจากกรุงเทพฯ ไปอยู่อุบลราชธานีเพื่อรักษาตัว เมื่อผมกลับมาขึ้น ผิวกลับมาใส เธอหวังว่าจะกลับไปมีชีวิตเช่นวัยรุ่นทั่วไป แต่ปรากฏว่าพบอาการแทรกซ้อน พังผืดจากการผ่าตัดจับตัวกันบริเวณท้องน้อย ทำให้เธออาหารไม่ย่อย ปวดท้อง และอ้วกไม่หยุด อาการแบบนี้เกิดขึ้นอย่างมิได้นัดหมายและเธอต้องนอนโรงพยาบาลทุกครั้งที่มีอาการ 

เด็กสาวคนนี้ชื่อ “มรกต ผาสุพรรณ์” หรือ “จุ๊บแจง” ทุกวันนี้เธออายุ ๑๗ ปี แม้ว่าจะตัวเล็กและผอมไปสักนิดสำหรับวัยสาวเช่นเธอ แต่ใบหน้าของเธอก็ดูสดใสน่ารัก ผมซอยสั้นระต้นคอประดับด้วยที่คาดผมสีหวาน ระหว่างการพูดคุยอันยาวนาน บางครั้งเธอเล่าไปหัวเราะไป บางครั้งน้ำเสียงก็สั่นครือ เด็กสาวช่างคุยคนนี้บอกเล่าเรื่องราวของเธออย่างมีชีวิตชีวา ตรงไปตรงมา และสัตย์ซื่อ มีทั้งตกใจ มีท้อแท้ มีสิ้นหวัง มีคิดได้ แล้วก็เดินต่อ มีเจ็บ แต่ก็ชิน เพราะอย่างไรก็ดี ก็ยังมีพรุ่งนี้ให้เดินต่อ

เรื่องราวของจุ๊บแจงเริ่มขึ้นตอนที่เธอขึ้นมัธยมการศึกษาปีที่ ๑ เธอกำลังปรับตัว จากที่เคยอยู่กับเพื่อนเก่ามา ๖ ปี ต้องมาพบเพื่อนใหม่ ชั้นเรียนใหม่ จากร่างกายที่ไม่เคยเป็นประจำเดือน ก็เริ่มเป็นเด็กสาว แต่ละครั้งที่มีประจำเดือน เธอแทบลุกไม่ได้ ต้องรอให้มาในวันที่ ๒-๓ จึงกลับไปเรียนได้ตามปกติ เวลาไปหาหมอ หมอก็จะวินิจฉัยว่าอาจเป็นเพราะโรคกระเพาะ ฮอร์โมน หรืออื่นๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง ประจำเดือนมากระปิดกระปอยเหมือนตกเลือด ทำให้เธอต้องใส่ผ้าอนามัยตลอดเวลา เมื่อคลำที่ท้องก็พบก้อนแข็งๆ จึงไปพบหมอ หมอคาดว่าจะตั้งครรภ์จึงให้ตรวจอัลตราซาวน์ สิ่งที่ตรวจพบมิใช่เด็กแต่เป็นก้อนเนื้อ เนื่องจากสิทธิการรักษาอยู่อีกโรงพยาบาล เธอจึงถูกส่งตัวไปอีกที่ ตรวจซ้ำอีกรอบ รอใบส่งตัว เทียวไปเทียวมาระหว่างสองโรงพยาบาลเป็นเวลาสองสามอาทิตย์ แถมรอคิวผ่าตัดอีกสามเดือน ในขณะที่ก้อนเนื้อค่อยๆ ขยายจนขนาดเท่าส้มโอลูกย่อมๆ แม่จึงตัดสินใจพาเธอไปโรงพยาบาลรามาธิบดีเพื่อรับการผ่าตัด

“ตอนแรก เราก็คิดว่าผ่าก็หาย ตอนรอผ่า มีพี่คนหนึ่งบอกเราว่าขอให้เจอเนื้อดี อย่าเจอเนื้อร้าย เราก็ไม่รู้ว่าคืออะไร เราคิดถึงเนื้อย่างด้วยซ้ำ (หัวเราะ) คือก่อนผ่าเขาจะให้งดน้ำ งดอาหาร ใจก็เลยคิดถึงหมูย่าง เพราะเราไม่มีพื้นฐานเลยว่าโรคนี้คืออะไร ไม่มีใครในบ้านเป็นเลย ฉะนั้น จะเนื้อดีร้ายก็ช่าง ขอให้ผ่าแล้วได้ออกมาก็พอ” 

หลังจากออกจากโรงพยาบาล เธอเตรียมตัวไปโรงเรียน คิดถึงการบ้านกองใหญ่ที่รออยู่ ทว่าเมื่อทราบจากคุณหมอว่าเป็นมะเร็งรังไข่ เด็กสาวพูดอะไรไม่ออก ทั้งอึ้ง ทั้งจุก เดินออกมากินข้าวหน้าโรงพยาบาลแบบงงๆ กินไป น้ำตาไหลไป แม่ปลอบใจว่าไม่เป็นไร ไม่ตายหรอก เอ็งยังเด็กนัก

“ช่วงนั้น นอนก็คิดว่าทำไมต้องเป็นเรา เราได้ทุนเรียนฟรีด้วย ถ้าให้คีโมคงไมได้เรียน เคยถามหมอว่าเราต้องหยุดเรียนไหม หมอบอกว่าไม่ต้องก็ได้ ถ้าไหวและรับสภาพที่ผมร่วงได้ เราก็คิดว่าแค่ปวดท้องแล้วต้องเดินขึ้นบันไดไปเรียนยังแทบแย่ เราคงไม่ไหว เลยตัดสินใจออกจากโรงเรียน”

หลังจากออกจากโรงเรียน เธอย้ายไปรักษาตัวและเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ที่บ้านป้า จังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากช่วงนั้นที่บ้านเกิดปัญหาในครอบครัว และที่อุบลฯ สะดวกกว่า ทั้งเดินทางไปโรงพยาบาลง่ายกว่า ค่ารักษาถูกกว่า และอากาศดีกว่า จึงใช้เวลาปีกว่าๆ เพื่อรักษามะเร็งด้วยการทำคีโมจนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ไม่ทันไรเธอก็มีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย แม้ว่าจะกินยาไปหลายขนานก็ไม่หาย พอเริ่มตกดึกก็เกิดอาการแสบท้อง ปวดเกร็ง และอ้วก กินอะไรไม่ได้ เธอไปโรงพยาบาลหลายครั้งด้วยอาการดังกล่าว หมอก็รักษาตามอาการไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายถูกส่งต่อไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของอีสานใต้ และวินิจฉัยได้ว่าเป็นลำไส้อุดตัน เนื่องจากพังผืดจากการผ่าตัดเข้าไปรัดลำไส้

ในกระบวนการรักษา สิ่งที่เลวร้ายที่สุดสำหรับจุ๊บแจง คือการใส่สายให้อาหารทางจมูก (Nasogastric Tube) เพื่อดูดอาหารที่ติดค้างที่อยู่ในกระเพาะออกมา 

“สายสวนจมูกมันเจ็บมาก สายทำให้อยากจะอ้วกออกมา แต่ก็ต้องกลืนเข้าไปให้ถึงขีดที่หมอบอก ไม่อย่างนั้นเราจะอ้วกไม่หยุด อ้วกจนไม่มีแรง ครั้งแรกที่ใส่ เลือดนี่เต็มหมอน สายมันยาวกว่าแขนหนูอีก ทรมานมาก ดิ้นไปดิ้นมาเหมือนปลาโดนทุบหัว ตอนแรกนางพยาบาลสงสารก็เลยเอาสายเล็กมาใส่ให้ พอหมอมาเห็นก็บอกว่า ถ้าใส่แบบนี้น้องจะไม่หาย น้ำจะดูดได้ไม่มาก ก็ต้องถอดออก แล้วใส่อันใหญ่เข้าไป เป็นทีไรก็ต้องไปใส่ ตอนนี้เริ่มรู้แกว เริ่มชิน เจ็บก็ต้องทำ” 

ทุกวันนี้ อาการดังกล่าวไม่ได้หายไหน แต่มาเยี่ยมเป็นครั้งคราว แบบไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เดือนละครั้ง สองหรือสามเดือนครั้ง เป็นประจำ แต่มาไม่แน่นอน ทุกวันนี้เธอยังไปโรงพยาบาลอยู่ แม้ไม่มีอาการของมะเร็งแล้วก็ตามที

 

แน่นอนว่า ความป่วยจะทำให้ร่างกายนี้รู้สึกเจ็บ แต่ยิ่งกว่านั้น มันได้พรากสิ่งอื่นๆ ไปด้วย จุ๊บแจงต้องออกจากโรงเรียนด้วยปัญหาสุขภาพ และต้องพับความฝันที่อยากเป็นหมอเก็บใส่ลิ้นชัก 

“หนูอยากเป็นหมอตั้งแต่ก่อนป่วยแล้ว มันเท่ มีเกียรติ ได้ใส่ชุดขาว ได้ดูแลพ่อแม่ตอนแก่ ได้ทำงานในโรงพยาบาล ได้เจอคนมากหน้าหลายตา เงินดี สวัสดิการดี แต่พอรู้ว่าเป็นโรคนี้ พอได้คลุกคลีกับนางพยาบาล ได้รู้จักนักศึกษาแพทย์ ฝันดับเลย คือ เราต้องมีร่างกายที่แข็งแรงเป็นพื้นฐานถึงจะทำงานนี้ได้” 

“บางทีก็คิดนะว่าทำไมต้องเป็นเรา วัยรุ่นที่เขาไม่ชอบไปโรงเรียน ชอบเที่ยว ไปดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ทำไมถึงไม่เป็นอะไรเลย ทั้งๆ ที่เขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่น่าจะเป็น บางทีเราก็นั่งร้องไห้คนเดียวว่าทำไมต้องเป็นเรา เคยมีท้อ เพราะไม่รู้จะเรียนไปเพื่ออะไร ไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ อายุจะถึง ๒๐ หรือเปล่าก็ไม่รู้ บางครั้งเคยคิดอยากโดดตึก วิ่งไปให้รถชนเลย แต่ก็คิดว่าถ้าเราไม่ตายล่ะ ถ้าเราทั้งป่วยทั้งพิการล่ะ มันจะไม่หนักกว่านี้เหรอ คือ หมดเลย แค่เราอ่านหนังสือหรือกินข้าวเองก็ไม่ได้แล้ว สุดท้ายคือต้องกลับมา ถ้าถึงเวลาเมื่อไหร่ก็ถึงเวลา”

เธอแลกเปลี่ยนต่อไปว่าช่วงที่เธอรับคีโม เธอเคยรับตัวเองไม่ได้ ทั้งๆ ที่เป็นเด็กผู้หญิง แต่ไม่มีผม บางครั้งก็โดนทักเป็นผู้ชาย แม้จะพยายามเอาวิกมาใส่ แต่มันก็ไม่ใช่ ทั้งร้อน ทั้งหลอกตา สุดท้ายเธอแค่ใส่หมวก ด้านคนรอบข้างที่เป็นคนรุ่นเดียวกันก็ไม่เข้าใจความป่วยไข้ของเธอ หลายครั้งเธอก็ถูกซุบซิบนินทา ถูกตั้งแง่รังเกียจ

“เด็กคนอื่นเขามองเรา ซุบซิบนินทาว่าเราเป็นตัวประหลาด ตอนมาอยู่ใหม่ๆ มีเด็กแถวนี้แอดเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊ก แต่พอเขาเห็นตัวจริงของหนู เขา unfriend เลย เราก็พยายามไม่คิดอะไรมาก แต่ก็คิดว่า เป็นมะเร็งแล้วมันน่ารังเกียจขนาดนั้นเลยเหรอ มันตลกมากเลยใช่ไหม ทุกวันนี้ แม้ว่าหนูจะหายแล้ว เขาก็ยังทำกับหนูเหมือนเดิม ทำให้พอมาอยู่ที่นี่ หนูไม่ค่อยได้คบใครใหม่ เพื่อนที่สนิทมีน้อย”

 

สิ่งที่ช่วยชุบชูใจเด็กหญิงคนนี้คือหนังสือ และเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจในอินเทอร์เน็ต เรื่องราวของลุงเก็บขยะที่จุฬา เด็กที่ขายหมูปิ้งส่งตัวเองเรียนวิศวะ อาสาสมัครชื่อบิณฑ์ บันลือฤทธิ์ ที่ช่วยเหลือคนที่กำลังลำบาก ฯลฯ แต่เรื่องราวที่กระทบใจเธอมากที่สุดเป็นวรรณกรรมแปลชื่อ ดาวบันดาลใจ หรือ The Fault in Our Stars ซึ่งเล่าเรื่องราวของเด็กสาวอายุ ๑๖ ปี ที่ป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะสุดท้าย เธอถูกพ่อแม่คะยั้นคะยอให้เข้าร่วมกลุ่มสนับสนุนของผู้ป่วยมะเร็ง และได้พบรักกับเด็กชายอีกคนที่เป็นอดีตนักบาสเกตบอล เขาเคยเป็นมะเร็งจนถึงขั้นต้องตัดขาข้างหนึ่งทิ้ง หนังสือเล่มนี้ถูกทำเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน และจุ๊บแจงก็รีบไปดูหนังเรื่องนี้ทันทีที่เข้าโรง

“ไปดูหน้าโรงคนแรกเลย ไปดูคนเดียวด้วย ดูแล้วซึ้งมาก มันตรงกับเรามาก ดูไปก็ร้องไห้ไป คนข้างๆ คงแปลกใจว่า อีนี่เป็นไรมากไหม (หัวเราะ) แต่มันซึ้งและโดนมาก โดยเฉพาะฉากผ่าตัด ที่เขาต้องเจาะไขสันหลัง ต้องให้ออกซิเจน ทำอะไรต่อมิอะไรที่เรารู้ดีว่ามันเป็นอย่างไร สิ่งที่ชอบมากคือ หนังเขาไม่แสดงเกินจริง ทำให้ชีวิตเขาเหมือนเรา แต่ต่างตรงที่ว่า พ่อแม่ปล่อยให้ลูกมีอิสระมากกว่า และในเรื่องยังมีชมรมของคนที่เป็นมะเร็งที่รวมตัวกันสัปดาห์ละครั้ง ทำให้เขามีกลุ่มเพื่อนที่จับเข่าคุยกันได้ ทุกคนรู้ตัวว่าจะอยู่ได้อีกไม่นาน คุยกันว่าอยากจะทำอะไรเพื่อให้ตัวเองมีความสุข บางทีก็ไปเที่ยวด้วยกัน เราก็คิดว่า ทำไมเมืองไทยไม่มีบ้างนะ เราอยากมีเพื่อนที่เข้าใจเรา ผ่านประสบการณ์คล้ายเรา แต่มันไม่มีมีเลย ทั้งๆ เด็กที่เป็นมะเร็งก็มีไม่น้อย”

เช่นเดียวกับวัยรุ่น สิ่งสำคัญของจุ๊บแจงคือเพื่อน เพียงแค่เพื่อนคนนั้นรู้ดีว่าความตายเป็นเรื่องใกล้ตัว หากเพื่อนเจ็บป่วยก็ให้กำลังใจกัน หากเพื่อนตาย ก็ไปเผาศพให้ จุ๊บแจงให้ชื่อเพื่อนแบบนี้ว่า “เพื่อนตายจริงๆ”

แม้ทุกวันนี้เธอจะยังไม่มีเพื่อนตายจริงๆ แต่ก็มีเพื่อนสนิทที่อุบลฯ ที่รู้จักกันจากการไปเล่นสงกรานต์ คุยกันบ่อยๆ และเพื่อนคนนี้มีฝันเหมือนกับเธอคืออยากเป็นหมอ เธอตั้งใจจะสานฝันต่อให้จุ๊บแจง ตอนนี้กำลังเรียนอยู่ ม. ๓ และสอบทุน หากได้ทุนก็จะได้เรียนทั้งมัธยมปลายและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีไปพร้อมๆ กัน

“เขาก็พูดเล่นๆ ว่า สลับตัวกันไปสอบไหม คือ ถ้าไปได้ก็อยากไปหรอก”

 

ทุกวันนี้ นอกจากเรียน กศน. จุ๊บแจงยังมีหน้าที่ช่วยพ่อเลี้ยงลูกของแม่ใหม่และเลี้ยงหลาน คนหนึ่งขวบกว่า อีกคนสามขวบ เด็กทั้งสองทำให้ชีวิตของเธอวุ่นวายอยู่ไม่น้อย เดี๋ยวร้องไห้จ้า เดี๋ยวชอบเล่นแรงๆ ทำเอาเธอสู้ไม่ไหว วิถีชีวิตของเธอจึงไม่เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป แต่คล้ายคุณแม่มือใหม่มากกว่า กินนอนกับน้อง ส่งน้องไปโรงเรียน ทำการบ้านกับน้อง ฯลฯ

เมื่อถามว่าทุกวันนี้เธอยังมีฝันและหวังอะไรบ้าง จุ๊บแจงบอกว่า เธอไม่กล้าหวัง เพราะวันนี้อาจจะยังแข็งแรง พูดคุยได้ตามปกติ แต่พรุ่งนี้อาจจะต้องเข้าโรงพยาบาลเป็นอาทิตย์ สิ่งที่ทำได้จึงคืออยู่ตรงนี้ไปก่อน และพยายามคิดว่าควรจะเรียนอะไรต่อในสภาพร่างกายแบบนี้ ตัวเธอเองเหมาะจะทำงานแบบไหน ซึ่งเธอก็ยังคิดไม่ตก

ในขณะเดียวกันความเจ็บป่วยในครั้งนี้ ก็ทำให้เธอเห็นคุณค่าของชีวิตมากขึ้น เห็นว่าเวลาของคนเราไม่ได้ยืนยาว เพื่อนของเธอแต่ละซื้อนู่น กินนี่ เอามาอวดกันในเฟซบุ๊ก แต่เธอรู้ดีว่าสุดท้ายเมื่อความเจ็บป่วยความตายมาถึงก็เอาอะไรไปไม่ได้ หากยิ่งยึดติดว่าต้องมีเหมือนกันก็จะยิ่งเครียด หากยิ่งเครียดก็ยิ่งกระตุ้นให้ตัวเองป่วย ดังนั้น เธอจึงต้องให้กำลังใจตัวเองอยู่เสมอ

“เราเป็นคนป่วย เราก็อยากได้กำลังใจ ตอนที่เราป่วย เพื่อนไม่ได้มาเยี่ยมเลย เพราะว่าเขายังเด็ก ยังมาโรงพยาบาลเองไม่ได้ ดังนั้น สำหรับหนูกำลังใจที่ดีที่สุด อย่ารอจากใคร เพราะถ้ารอแล้วเขาไม่มา เราก็ท้อ เราจึงต้องให้กำลังใจตัวเองมากๆ อย่างไรก็ต้องสู้” จุ๊บแจงกล่าวทิ้งท้ายถึงคนที่อาจเจ็บป่วยเหมือนเธอ

 

 

ที่มา:

คอลัมน์: