Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ของขวัญล้ำค่าจากความตาย

-A +A

         ชายผมสีดอกเลาเบื้องหน้าชื่อ มนตรี ทองเพียร เขาอายุ ๕๘ ปี ด้วยอายุอานามขนาดนี้ หากจะผ่านประสบการณ์ความเจ็บป่วยหรือเฉียดตายสักครั้งก็คงไม่แปลก แต่ที่แปลกคือเขาบอกเล่าถึงอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงเมื่อ ๒ ปีก่อนด้วยสีหน้าที่สดชื่นเบิกบาน ในเหตุการณ์ครั้งนั้น เขากระดูกซี่โครงหัก ๓ ซี่ กระดูกไหปลาร้าด้านซ้ายหัก เลือดคั่งในปด ระบบหายใจล้มเหลว และต้องเข้าผ่าตัดด่วนเพื่อเอาเลือดออก ระหว่างการรักษา เขาหยุดหายใจถึง ๔ ครั้ง แต่ความร้ายแรงดังกล่าวหาได้หมายถึงความคับแค้น ความหวาดกลัว หรือความท้อแท้สิ้นหวังไม่ แต่มีความหมายอย่างยิ่งต่อชีวิตด้านใน การมีสติรู้ตัว และยิ้มได้แม้กำลังเจ็บปวดแทบสิ้นชีวิต เหตุการณ์ครั้งนั้นเหมือนบททดสอบว่าสิ่งที่เขาบอกและสอนในฐานะ “กระบวนกร” ด้านจิตปัญญาศึกษา เขาทำมันได้จริงหรือไม่ 

         ดังนั้น เบื้องหลังความเบิกบานจึงบรรจุเรื่องราวชีวิตของเด็กชายมนตรีที่คลุกคลีกับวัดตั้งแต่ยังเยาว์ เติบใหญ่มาเป็นเด็กหนุ่ม และเป็นชายหนุ่มที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตหลากหลาย ผ่านการฝึกกายและฝึกจิตจากครูบาอาจารย์ท่านต่างๆ กลายมาเป็นชายชราที่สดชื่นแจ่มใสผู้บอกเล่าเรื่องราวให้เราฟัง

 

ชีวิตที่ผูกพันกับจิตวิญญาณ

         ไมตรีกำเนิดใน พ.ศ. ๒๔๙๙ ที่จังหวัดพะเยา เติบโตมากับแม่ซึ่งหย่ากับพ่อตั้งแต่เขาอายุเพียง ๓ เดือน มียายเป็นผู้ดูแลชีวิต ด้วยความที่เป็นเด็กขี้กลัว ฉี่รดที่นอนแทบทุกคืน ยายจึงแก้อาการด้วยการพาไปนอนที่วัดบ่อยๆ จนอาการดังกล่าวหายไปเพราะเด็กชายกลัวบาป อย่างไรก็ดี เขาได้ซึมซึมวิถีชีวิตชาวพุทธที่เรียบง่ายตั้งแต่ยังเล็ก ประกอบกับยายตั้งใจให้เด็กชายมนตรีบวชตลอดชีวิต พออายุได้ ๑๐ ขวบเขาก็บวชเณร มีโอกาสได้เรียนทั้งหนังสือและธรรมะ ทว่าเมื่อเข้าสู่วัย ๑๕ ปี หลังจากได้ศึกษาต่อนักธรรมโทที่วัดเบญจมบพิตร เขาก็ตัดสินใจสึก เนื่องจากเห็นความไม่ดีงามในคณะสงฆ์ หลังจากหันหลังให้ชีวิตนักบวช เขาก็เรียนต่อ กศน. ด้วยจิตใจที่ห่อเหี่ยว ไร้ซึ่งแรงบันดาลใจ จนเมื่อได้ฟังธรรมะจากลูกศิษย์ของท่านพุทธทาสและได้อ่านหนังสือของอาจารย์ปรีดี พรหมยงค์ เกี่ยวกับสหกรณ์ เขาก็กลับมีแรงใจไปทำนาที่พะเยาบ้านเกิด

         หลังจากนั้น ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในยุค ๑๔ ตุลา เด็กหนุ่มชื่อมนตรีเป็นอีกคนที่เข้าไปเป็นอาสาสมัครเผยแพร่ประชาธิปไตยในชนบท ทำให้หลังจากเหตุการณ์ ๑๖ ตุลา เขาจำต้องหนีเข้าป่า ใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ ลำบากในการอยู่ การกิน การนอนถึง ๒ ปีเต็ม ได้เห็นทั้งชีวิตของผู้เฒ่าที่สมถะเรียบง่ายและผู้เฒ่าที่เต็มไปด้วยโลภ โกรธ หลง ครั้นเมื่อออกจากป่า โอกาสจัดสรรจึงได้มาทำงานกับคณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา (ศพพ.) ทำให้ได้กลับมาสัมผัสกับพระนักปฏิบัติหลายท่าน ประกอบกับได้ปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน (จิตฺตสุโภ) และหลวงพ่อคำเขียน (สุวณฺโณ) จึงกลับมาศรัทธาในพุทธศาสนาอีกครั้ง

         “ตอนนั้นหลวงพ่อเทียนยังอยู่ มีโอกาสเจอหลวงพ่อคำเขียน สัมผัสกับความเย็นของหลวงพ่อ ทำให้เรากลับมาศรัทธาในทางปฏิบัติ คือความคิดเรากลับมาแล้วล่ะ แต่ทางปฏิบัติเพิ่งจะกลับมา หลังจากที่อกหักกับพุทธศาสนา เราก็กลับมาตกหลุมรักมันอีก” 

         จากจุดๆ นั้น ทีละน้อยๆ มนตรีได้บ่มเพาะมิติจิตวิญญาณขึ้นในตน ยิ่งเมื่อหันมาทำงานฝึกอบรมด้านจิตตปัญญาเมื่อ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้ได้ฝึกฝนและศึกษาหาความรู้หลายๆ เรื่องราว โดยมี “ความตาย” เป็นหนึ่งในหัวข้อนั้น เขาประทับใจหนังสือ ๒ เล่ม ชื่อ ประตูสู่สภาวะใหม่  และ เหนือห้วงมหรรณพ  ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รู้สึกตื่นตัวกับเรื่องความตาย

 

บทสนทนาว่าด้วยความตาย

         อีกช่วงหนึ่งในชีวิตที่ทำให้เขาคำนึงถึงความตายอย่างเบิกบาน คือช่วงเวลาที่ได้ดูแลแม่วัย ๗๙ ปี ที่มีอาการความดันสูงอยู่ ๒๐ กว่าวัน มนตรีรับแม่จากบ้านที่พะเยามาดูแลสุขภาพที่เชียงราย ในระหว่างที่อยู่ด้วยกัน แม่เริ่มสนใจหนังสือเกี่ยวกับความตาย เหนือห้วงมหรรณพ เป็นเล่มที่เธออ่าน และทุกๆ เช้า แม่ลูกจะนั่งคุยกันถึงเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ พูดคุยเรื่องชีวิตที่ใกล้ชิดความตาย มนตรีบอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่แม่และเขาพูดคุยกันด้วยความรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมกัน เหมือนได้ฝึกและเรียนรู้เรื่องการเตรียมตัวตายไปด้วยกัน

         สำหรับแม่ซึ่งมีลูกกับพ่อใหม่ถึง ๕ คน (ชาย ๓ คน หญิง ๒ คน) ลูกชายทั้งหมดของแม่ติดยา ทำให้แม่เป็นทุกข์มาก เพราะลูกๆ ต้องเสียชีวิตตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ด้านลูกสาวอีกคนก็เสียชีวิตก่อนไปอีกคน คุณแม่จึงเป็นผู้นำพาทุกคนผ่านช่วงเวลาแห่งความตาย ระหว่างการได้ช่วยเหลือลูกๆ ทำให้เธอได้เห็นตนเองและรู้สึกพร้อมรับความตายอยู่เสมอ ยิ่งมาได้พูดคุยกับลูกชายคนนี้ยิ่งหมดห่วง แถมรู้สึกดีใจที่เห็นคนอายุน้อยกว่ามีความสำนึกพร้อมต่อชีวิตที่ไม่แน่นอน 

         ช่วงเวลา ๒๐ กว่าวันนั้น อาการของคุณแม่ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ อาจเป็นเพราะการปรับยา อาจเป็นเพราะบรรยากาศที่เชียงราย และอาจเป็นเพราะบทสนทนาเหล่านั้นที่ทำให้คุณแม่มีชีวิตชีวาขึ้น

 

ประตูสู่ความตาย

         ๒๐ มกราคม ๒๕๕๖ คือวันที่คุณมนตรีประสบอุบัติเหตุ วันนั้นเขาปิดวงการอบรมที่จังหวัดนครสวรรค์ว่า “ผมนั่งรถนั่งราทุกวัน ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะไป เราเจอกันวันนี้เป็นครั้งสุดท้ายหรือเปล่าก็ไม่รู้” หลังจากนั้น เขาไปขึ้นรถตู้เพื่อมายังกรุงเทพฯ เมื่อมาถึงรถ สีหน้าคนขับรถดูหงุดหงิดเนื่องจากโดนตามตัวให้มาขับรถกะทันหัน ทันทีที่รถออกตัวก็ขับไปอย่างรีบเร่ง แซงซ้าย ป่ายขวา จนใจคุณมนตรีอยากจะลงจากรถเมื่อแวะปั๊มข้างหน้า แต่ไม่ทันได้แวะ รถตู้ก็เบี่ยงจากเลนซ้ายสุดไปขวาสุด ตกท้องร่องบนถนนและเสียหลักปาดหน้ารถปิ๊กอัพที่วิ่งมาเร็วไม่แพ้กัน รถส่วนหลังชนปิ๊กอัพดัง ผึ่ง!! ผู้คนในรถตื่นกลัว

         มนตรีมองเห็นเหตุการณ์โดยตลอด เขาไม่ได้ทำอะไรอื่นนอกจากกลับมาที่ลมหายใจ พร้อมกับท่องมนตร์ธิเบตว่า “โอม อา หุง วัชระ คุรุ ปัทมะ สิทธิ หุม” ก่อนที่รถจะหยุด เขาเห็นภาพต้นไม้ใหญ่กลุ่มหนึ่งได้หลุดออกไปจากตัวเอง ณ ขณะนั้น เขาให้ความหมายว่า นี่คือต้นไม้แห่ง โลภ โกรธ หลงที่ถอนตัวออกไป ความรู้สึกโกรธคนขับรถมลายหายสิ้น หลังจากหมดความรับรู้ไปพักหนึ่ง เขากลับมารู้สึกตัวว่ากำลังนอนอยู่บนพื้น ตัวเขากระเด็นออกมาจากรถ หน่วยกู้ชีพเข้ามาอยู่ข้างๆ เพื่อพาเขาไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แล้วจึงย้ายไปอีกโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการกระดูกหัก เลือดคั่งในปอด ระบบหายใจล้มเหลว ต้องเข้าผ่าตัดด่วน

         “ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ ใบหน้าผมยิ้ม ไม่มีความกลัวหรือกังวล รับรู้ด้วยตัวเองและคนรอบข้าง ถ้าไม่เห็นบาดแผล เขาจะคิดว่าผมไม่เป็นอะไร เหมือนไม่ทุรนทุราย ไม่โอดครวญว่าเจ็บปวด แม้ว่าจะเจ็บมาก เจ็บจนชา”

         หลังออกจากห้องผ่าตัดและรอเข้าห้องไอซียู มีช่วงหนึ่งเขารู้สึกเหมือนกำลังจะจากโลกนี้ไป เขาเรียกลูกศิษย์ที่อยู่ใกล้ตัวให้ช่วยเปิดเพลงเพราะๆ ที่มักเปิดในงานอบรม พร้อมกับบอกว่า “จะไปทั้งที อยากไปแบบเท่ๆ หน่อย” ชายชราพูดแบบอมยิ้ม หลังจากนั้น ลูกชายก็เข้ามาจับที่ตัวและหัวใจ พูดเพื่อให้เขากลับมาสู่ลมหายใจอย่างสงบ ญาติ เพื่อน และลูกศิษย์หลายคนก็มายืนอออยู่รอบเตียง แต่เขากลับไม่ค่อยได้ยินเสียงของลูกชายนัก แล้วเขาก็เห็นภาพบางอย่างหมุนๆ ติ้วๆ ภาพนั้นคือวงจรปฏิจจสมุปบาท  ซึ่งเป็นสีขาวดำ หมุนไม่ยอมหยุด เขาพยายามทำให้ภาพนี้หยุดนิ่ง แต่ยิ่งพยายาม ความรู้สึกตัวก็ยิ่งน้อยลง จึงต้องตามภาพดังกล่าวไป จากหมุนเร็วมากๆ ก็ค่อยๆ หมุนช้าลงๆ และกลับไปได้ยินเสียงลูกชายพูดอีกครั้ง “พ่อ ทุกคนรักพ่อนะ แคร์พ่อนะ” 

         “ตอนนั้นเหมือนมีปาฏิหาริย์ ที่อยู่ๆ ก็กลับมารู้สึกตัวเองได้ ภาพนั้นเหมือนมาเพื่อให้เราได้เห็นความจริงของชีวิตและยอมรับมัน เหมือนย้อนให้เห็นชีวิตที่เกิดและเติบโตขึ้นมา เห็นภาพคนอื่นๆ ที่เขาก็เกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกัน จนเป็นคำถามว่าเรายอมรับความจริงของชีวิตที่เป็นแบบนี้ได้ไหม พอเรายอมรับ ไม่ปฏิเสธ ถ้าต้องตายก็ตาย หากไม่มีปัจจัยให้เราอยู่ก็ต้องตาย”

         หลังจากนั้นอีก ๑ วัน ๑ คืน เขาก็ไปนอนที่ห้องไอซียู มนตรีรู้ชัดว่าห้องๆ นี้พลังงานแย่มาก เดี๋ยวคนป่วยด้านซ้ายก็ไป ขวาก็ไป ญาติที่มาดูแลก็ไม่พร้อม ทั้งผู้ป่วยและญาติพี่น้องต่างไม่ได้เตรียมตัวกับเรื่องความตาย หลายคนทุรนทุรายและโอดครวญจนคุณหมอต้องมัดมือเอาไว้ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ระหว่างนั้นชายชรารู้สึกตัวดีทุกประการ แต่แทนที่จะรู้สึกแย่ตามปรากฏการณ์ในห้อง เขากลับอยากช่วยดูแล

         “ช่วงที่อยู่ไอซียู ผมได้นอนวันละชั่วโมงครึ่ง คือนอนพร้อมพยาบาลเลย พอเขาปิดไฟ ผมก็หลับพร้อมเขา จึงเหมือนกับว่าเราเป็นพยาบาลคนหนึ่งที่ทำหน้าที่ดูแลสภาวะพลังงานที่อยู่ในห้อง ผมรู้สึกว่าต้องทำหน้าที่นี้ เพราะพลังงานในห้องไอซียูแย่มาก และพยาบาลก็ป่วย สิ่งที่ผมทำคือต่อเชื่อมพลังงานดีๆ แผ่ขยายออกไปจากกายและใจของผม ความรู้สึกอบอุ่น รักอย่างไม่มีเงื่อนไข ผมไม่ทุกข์ ไม่เสียใจเลยที่ต้องมาอยู่อย่างนี้ กลับดีใจด้วยซ้ำที่ถูกกำหนดว่าให้มาอยู่แบบนี้ ไม่รู้สึกว่าถูกรังแกหรือถูกกระทำ มีแต่คิดว่าเราจะทำให้ภาวะที่มันแย่เปลี่ยนเป็นดีได้อย่างไร”

 

ช่วงเวลาที่จิตตก

         แม้ว่าจะเต็มไปด้วยความเบิกบาน แต่มนตรีก็แบ่งปันถึงบางช่วงเวลาที่จิตใจเขารู้สึกขุ่นมัวด้วย หลังจากพักฟื้นในไอซียูได้สักพักหนึ่ง คุณหมอก็พบว่ายังมีเลือดคั่งหลงเหลืออยู่ในปอด ทำให้เขาต้องผ่าตัดอีกครั้ง เขาก็อดน้ำอดข้าว เตรียมตัวสำหรับการผ่าตัด แต่พอถึงเวลา เจ้าหน้าที่กลับมาบอกว่าห้องไม่ว่าง เครื่องมือไม่พร้อม หลังจากนั้น เขาแอบได้ยินเจ้าหน้าที่พูดคุยกันเองว่าห้องไอซียูลืมประสานงานเพื่อยืนยัน ทำให้ฝ่ายที่ดูแลห้องผ่าตัดไม่ได้จองห้องไว้ให้ 

         “ตอนนั้นผมรู้สึกแย่ที่เขาไม่พูดความจริงกับผม เพราะผมรับได้หากมีการผิดพลาด แต่พอรู้ว่าเขาโกหก จิตผมตกเลย ตอนนั้นอยากคุยกับภรรยา แต่เขาไม่ติดต่อให้ ทำให้คืนนั้นเป็นคืนแรกที่ผมนอนไอซียูแล้วทุกข์ใจ ผมเห็นเลยว่าจิตตกแล้วเป็นอย่างไร คือ ไม่สดชื่นเบิกบาน ไม่มีความสุขไปหลายชั่วโมง สักพักหนึ่ง บทเรียนหนึ่งจากกิจกรรมที่เคยทำเรื่องการให้อภัยก็ผุดขึ้นมา ทำให้ผมคิดได้ว่า เราจะยึดทำไม ให้อภัยเถอะ อย่าไปโกรธเขาเลย คนเราผิดพลาดได้ บางครั้งคนก็ไม่กล้าบอกความจริง เพราะกลัวเราโกรธ พอเราไปผูกพยาบาทก็ไม่มีผลดีกับตัวเอง พอใจมันอภัยได้ ความเบิกบานก็กลับมา”

 

ฟื้นตัวและเกิดใหม่

         หลังจากอยู่ไอซียูได้ ๑๒ วัน เขาก็ย้ายมาอยู่ห้องพิเศษและได้พักฟื้นอย่างเต็มที่ มีโอกาสได้อยู่กับผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด และทุกๆ เช้าที่ตื่นมาภาวนาก็จะรับรู้ได้ถึงพลังที่คนต่างๆ ส่งมาให้ บุคคลที่มนตรีระลึกถึงเสมอคือ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หลังจากอยู่ห้องพิเศษ ๓ วัน เขาก็โทรหาอาจารย์สุลักษณ์ และเอ่ยปากขอเป็นลูกบุญธรรม 

         “อาจารย์ ผมขออะไรหน่อยได้ไหม ผมเป็นลูกศิษย์อาจารย์มา ๓๐ กว่าปี เมื่อก่อนผมกลัวอาจารย์มาก แต่วันนี้ผมอยากขออะไรสักอย่าง เนื่องจากพ่อแม่ของผมแยกทางตั้งแต่เด็ก หลังจากนั้น ๑๕ ปี พ่อก็เสีย ไม่เคยเจอแกเลย ทำให้รู้สึกขาดพ่อ ขาดผู้ใหญ่ที่สนับสนุน ผมจะขอให้อาจารย์เป็นพ่อผมได้ไหม แกก็คิดพักหนึ่งแล้วบอกว่า ‘ได้ เราเป็นพ่อลูกกัน’ หลังจากนั้นไม่กี่วัน แกก็ฝากของมาให้ เป็นผ้าคล้องคอซึ่งได้มาจากองค์ทะไลลามะ”

         หลังจากนั้น เขาได้ขออนุญาตหมอเชิญลูกศิษย์มาทำพิธีบายศรีสู่ขวัญให้กับตนเอง ระหว่างทำพิธีกว่า ๒ ชั่วโมง เขาเห็นภาพตัวเองเป็นเหมือนเด็กเล็กๆ ที่ลอยขึ้นมา ร่างกายนี้ไม่เป็นอะไรเลย มือไม้เคลื่อนไหวได้ดี รู้สึกตัวเองหายแล้วอย่างปลิดทิ้ง นอกจากนี้ เมื่อรู้ข่าวโครงการบวชให้ชาวสิงหล เขาก็ตั้งจิตอธิษฐานให้ได้ร่วมบวชครั้งนี้ด้วย ซึ่งกำหนดบวชจะมีใน ๑ เดือนข้างหน้า สิ่งเหล่านี้ทำให้เขามีแรงใจอย่างมหาศาลและฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว จากกำหนดที่ต้องอยู่โรงพยาบาลประมาณ ๔๕ วัน ก็หดสั้นลงและกลับไปพักฟื้นต่อเองที่บ้านได้ 

         “ก่อนออกมาคุณหมอก็ถามว่า ผมทำอะไร ทำไมหายเร็ว เขาไม่เคยเจอเคสไหนที่คนไข้อายุ ๕๐ กว่าปี แต่แผลหายเร็วมาก กระดูกก็เชื่อมเร็ว คิดว่าเป็นเพราะร่างกายของผมดีมาก จิตใจก็ดีด้วย” 

         เมื่อถึงบ้านที่กรุงเทพฯ มนตรีต้องขึ้นบันไดบ้าน ๓ ชั้น เพื่อไปยังห้องนอน เขารู้สึกว่าตัวเองเหมือนเด็กเล็กๆ ที่กำลังหัดเดิน เพราะกว่าจะไต่ขึ้นไปได้แต่ละขั้น เขาต้องก้าว ๒-๓ ครั้ง พอวันถัดไปเขาก็ท้าทายตัวเองให้ทำได้มากขึ้นๆ จนกระทั่งการเตรียมบวชก็ทำได้เกือบหมด มีเพียงมือขวาที่ยังเข้าเฝือกอยู่ทำให้ไปบิณฑบาตหรือทำกิจเช่นพระรูปอื่นไม่ได้

         “ผมรู้สึกว่าตัวเองปฏิบัติได้ดี เข้มข้น จริง และละเอียดอ่อน เหมือนเราเริ่มต้นชีวิตใหม่เลย เวลาก้าวก็ก้าวไม่ยาว เหมือนเด็กที่เดินเปาะแปะๆ แต่ก็ไม่รู้สึกโกรธ รู้สึกยอมรับได้ รู้สึกดีทุกวันที่เราทำได้ เห็นว่าตัวเองดีขึ้นทุกวันๆ”

 

ความเปลี่ยนแปลงจากการเปลี่ยนผ่าน

         หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ แม้ร่างกายของเขาจะชำรุดทรุดโทรม แต่จิตภายในกลับรู้สึกราวได้เกิดใหม่ เขารู้สึกสดใสและมั่นคง ความรู้สึกหวั่นกลัวในเรื่องต่างๆ หายไป ทั้งความกังวลถึงชีวิตในวันข้างหน้า ความกลัวว่าความสัมพันธ์จะแตกหักหากพูดความจริง หรือความกลัวการพลัดพรากสูญเสีย

         “เมื่อก่อนเราคิด แต่ก็บอกว่าไม่กังวล ไม่กลัว บางทีความกังวลก็มาให้เห็นในรูปความฝัน มาแว้บๆ ในความคิด แต่หลังเหตุการณ์นี้แทบไม่เห็นอีกเลย เมื่อก่อนแค่จะโทรหาอาจารย์สุลักษณ์ยังไม่กล้า แต่พอเราฟื้นขึ้นมา เราก็หาจังหวะโทรหาแกเลย หรือกับเพื่อนบางคน เราไม่กล้าพูดสิ่งที่อยู่ในใจ ไม่กล้าเผชิญ แต่ตอนนี้เรารู้สึกเท่ากัน ไม่กลัวเขาโกรธเหมือนเมื่อก่อน คือมันหายไปเลยทั้งทางความคิดและความรู้สึก ความกลัวที่ค้างในระดับเซลล์หายไป”

         เขาอธิบายว่าหลังอุบัติเหตุ เขาได้ประสบกับสภาวะ “ตื่นโพลง” อย่างชัดเจน เมื่อจดจำสภาวะและหล่อเลี้ยงพลังงานนี้ได้ เขาก็อยู่กับปัจจุบันได้อย่างเต็มร้อย ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ไม่มีความกลัวและกังวล 

         “สังเกตว่าในงานกระบวนกร ผมนำพาคนคลี่คลายความขัดแย้งได้ดีมาก ดูแลคนที่ไม่ยอมอภัย ให้เขารู้สึกคลายและให้อภัยได้ บางกรณีเราคิดว่าคงช่วยไม่ได้แล้วล่ะ แต่ ๑๕ นาทีสุดท้ายกลับได้ คือจะสำเร็จก็ได้ ล้มเหลวก็ได้ อะไรเกิดขึ้นก็ยอมรับได้ ทำให้อยู่ในปัจจุบันอย่างเต็มร้อยมาก ไม่วอกแวก ไม่ถูกดึงไปไหน แล้วจิตมันจำได้ จิตมันฉลาดขึ้น เมื่อก่อนเราบอกตัวเองว่า เราจะตั้งใจทำงานเหมือนเป็นวันสุดท้ายของชีวิต แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องบอกแล้ว มันเป็นไปเองว่าวันนี้จะเป็นวันสุดท้าย”

 

การเตรียมกาย เตรียมใจ ก่อนความตายมาเยือน

         มนตรีเผยถึงเหตุที่ฟื้นตัวได้เร็วว่า อย่างแรก เขามีร่างกายที่ดีมาก ทุกๆ วันก่อนเกิดอุบัติเหตุ เขาเดินวันละ ๓ กิโลเมตร และทำกายบำบัดแบบจีน รำกระบอง หรือโยคะแล้วแต่โอกาส สอง เขาฝึกจิตภาวนามาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจึงรับมือได้อย่างเป็นอัตโนมัติ ดังนั้น คำแนะนำแรกเพื่อเตรียมตัวตาย เขาบอกให้เรากลับไปฟังเสียงร่างกายก่อน

         “ร่างกายบอกอะไรเราตลอดเวลา แต่เรามักเผลอลืม เช่น นั่งๆ โซฟาอยู่ก็ไหลไปตามโซฟา ซึ่งอาจจะรู้สึกสบาย แต่ไม่ดีกับโครงสร้างร่างกาย นานๆ เข้า ร่างกายก็ไม่สบาย เพราะอยู่ในท่าที่ผิดธรรมชาติ ฉะนั้นเราก็ต้องปรับจากความสบายชั่วคราวมาที่ความเป็นธรรมชาติ ในเชิงหลักการแล้ว เราต้องฟังเขาจริงๆ รับรู้จริงๆ ว่าในปัจจุบันเขาอยากให้เราดูแลแบบไหน ถ้าร่างกายเราไม่ปกติ สภาวะอารมณ์ที่เบิกบานจะมาจากไหน”

         ลำดับถัดมา เขาแนะให้เรากลับไปหาภูมิปัญญาเรื่องการภาวนาซึ่งบรรพชนส่งทอดมาให้ หาแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง อะไรก็ได้ที่ทำให้กลับมารู้สึกตัวและอยู่กับปัจจุบัน เพราะปัจจุบันเชื่อมโยงเรากับทุกสิ่ง หากเราไม่อยู่ในปัจจุบัน เรากำลังตัดการเชื่อมโยงบางอย่างออกไป ทำให้อดีต อนาคต หรือเรื่องบางเรื่องเข้ามามีอิทธิพลกับตัวเองมากเกินไป

         “หากเราอยู่ในปัจจุบันได้ เรากำลังอยู่ที่ประตูสู่ขุมทรัพย์ ประตูสู่ปัญญา ซึ่งเราจะต้องสืบค้นต่อไปอีก มันอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ขอให้เราประคับประคองตัวเองให้เป็นปกติและสืบค้นต่อไป ปลายทางจะมีของขวัญที่มีค่ารออยู่ ผมคิดว่าถ้าผมไม่ได้ฝึก ไม่ได้เตรียมตัวเอง ไมได้สืบค้นและประคับประคองตัวเองมาโดยตลอด พอเกิดเหตุการณ์นี้ ผมก็คงไมได้รับของขวัญอันล้ำค่า เผลอๆ จะทุลักทุเลถึงขั้นทุเรศเอาเลยก็ได้” ชายชรากล่าวทิ้งท้ายปนหัวเราะร่วน 

 

คอลัมน์:

frontpage: