“การทำงานโดยที่ไม่ได้สตางค์เป็นสิ่งที่ท้าทาย” สันติ ดำรงวิริยาเวทย์ อาสาวัยเกษียณ

นุดา 20 สิงหาคม 2021

ทุกวันพฤหัสตั้งแต่ 6 โมงเช้า สันติ ดำรงวิริยาเวทย์ จะมาประจำการอยู่ที่สถาบันประสาทวิทยา เขาออกจากบ้านย่านเกษตรตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง นั่งรถเมล์มายังสถาบันประสาทวิทยา ย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ เพื่อปฏิบัติหน้าที่อาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล ซึ่งเขาทำอย่างนี้ต่อเนื่องเป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้ว

ตี 3 ผมก็ตื่นแล้ว คนอายุเยอะ ตื่นเร็วอยู่แล้ว ตี 4 ครึ่งเดินออกจากบ้าน ตี 5 ก็ขึ้นรถเมล์ เช้าๆ มันสะดวก ไม่มีปัญหา ผมก็มาถึงที่สถาบันประสาทฯ 6 โมง  กติกาการเป็นอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยเขาตั้งไว้คือเริ่มงาน 7 โมงเช้า แต่ผมมาเริ่มงานก่อนเวลา คือที่นี่เขาเปิดรับคนไข้ตอน 6 โมงเช้า เรามาถึงก่อนก็พอจะได้ช่วยคนไข้บ้าง คนไข้เวลามาติดต่อตามโรงพยาบาล ส่วนใหญ่จะกังวลว่าต้องไปตรงไหน กังวลว่าจะได้รักษาไหม ได้เจอหมอไหม คือไม่รู้จะไปทางไหน บางทีก็กังวล จะไปทานข้าวก็ไม่กล้าไป เดี๋ยวหมอเรียก เราก็แนะนำบางส่วนที่พอช่วยให้เขาสะดวกขึ้น คลายกังวลได้บ้าง

พี่สันติหรือป๋าสันติที่เหล่าเพื่อนจิตอาสาเรียกขาน เป็นอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาลมาตั้งแต่รุ่นที่ 1 จนถึงวันนี้รุ่นที่ 19 แล้ว พี่สันติก็ยังมีความสุขกับการมาทำงานอาสาฯ ที่สถาบันประสาทวิทยา อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน หรือบางทีก็มากกว่านั้น

“โลกนี้อยู่ได้ด้วยการให้” คือสาระสำคัญที่พี่สันติ ได้รับจากหนังสือเรื่อง “เดินสู่อิสรภาพ” ของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ หนังสือที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนวิธีคิดของเขา ประกอบกับเมื่อคุณแม่ต้องเข้าโรงพยาบาล ทำให้ได้เห็นหลากชีวิตทั้งคนไข้ ญาติคนไข้ เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ความรู้สึกภายในจึงบอกตัวเองว่า เราจะช่วยอะไรได้บ้าง

ผมทำงานเกี่ยวกับด้านรถยนต์ หน้าที่สุดท้ายก่อนเกษียณคือ ดูแลรถยนต์ให้บริษัทใหญ่บริษัทหนึ่ง ตลอดชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยทำงานด้านอาสาเลย แล้วเราก็เป็นคนแข็งแรง ไม่เคยเข้าโรงพยาบาล ก็ไม่มีญาติที่ป่วย ไม่เคยเห็นภาพความเจ็บป่วย ไม่เคยต้องมารอหาหมอในโรงพยาบาล  จนตอนปี 2559 คุณแม่ล้ม ท่านอายุ 90 กว่าแล้ว ท่านเข้าโรงพยาบาล พอเรามาที่โรงพยาบาล ได้เห็นสภาพของคนไข้ ทั้งเจ้าหน้าที่ ทุกอย่างดูชุลมุน เราเห็นแล้วเกิดความรู้สึกว่า อยากจะช่วยอะไรได้บ้าง เผอิญทางพุทธิกาเปิดรับสมัครอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล เลยสมัครมา

ตลอดการทำงานอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล พี่สันติได้ปฏิบัติหน้าที่อาสาอำนวยความสะดวกในหลายๆ จุด ไม่ว่าจะเป็นงานวัดความดัน ชั่งน้ำหนัก งานเวชระเบียน แต่จุดที่เขาอยู่ประจำมากที่สุด จนแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของแผนกไปแล้ว คืองานประชาสัมพันธ์และคัดกรองผู้ป่วย หน้าที่ของอาสาจุดนี้คือ อำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยหรือญาติ บริการให้คำแนะนำข้อมูลที่เกี่ยวกับการตรวจรักษาภายในสถาบันประสาทวิทยา รวมทั้งการให้บริการในจุดต่างๆ ถือเป็นจุดแรกในการติดต่อข้อมูลในการเข้ามารับบริการ

ส่วนใหญ่ผมทำงานอยู่กับน้องๆ หน้าเคาน์เตอร์ เรื่องที่ต้องยืนตลอด ไม่ต้องห่วง เรื่องเมื่อยผมทนได้ ผมว่าเวลาผมอยู่จุดนี้น้องๆ เจ้าหน้าที่ที่สถาบันเขาสบายใจ หนึ่งอาจทำงานด้วยกันมานานเป็นปี สองคือความเป็นคนแก่ของเรานี่แหละ ใช้ได้ดีกับการพูดคุยกับคนไข้ เราต้องมีวาทศิลป์ มีลูกล่อลูกชนบ้าง แต่ต้องระมัดระวังในการพูด อันดับแรกเราต้องระลึกไว้เสมอว่า คนไข้ทุกคนมีเกียรติ การที่เราจะใช้คำพูดเราต้องระวัง ปกติผมเป็นคนที่เสียงดัง พูดห้วนๆ เพราะลักษณะงานที่ผ่านมาของผมทำงานกับผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ แต่พอมาทำงานอาสา เพื่อนจิตอาสาบอกเราว่า ถ้าพี่พูดให้อ่อนโยนกว่านี้อีกนิดจะเยี่ยมเลยนะ ผมเลยพูดด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนลงมา ถือว่าโชคดีอีกอย่างที่ได้มาแก้ไขตอนแก่

พี่สันติบอกว่า นับตั้งแต่เขาได้ทำงานอาสาสมัคร ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองสำคัญที่สุด คือ การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้มากขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้น และต้องขอบคุณคนไข้ผู้มีพระคุณ

ตอนนี้บางทีเจอเพื่อนฝูงวัยเดียวกันเขาบ่นว่า ไม่รู้จะไปเที่ยวไหน ผมบอกว่าถ้าไม่รู้จะไปเที่ยวไหน มาเดินโรงพยาบาลก็ได้ เขาคงนึกว่าผมไปว่าเขาน่ะ แต่จริงๆ แล้ว เราอยากให้เขามาเดินจริงๆ หรือพี่ชายผม อายุ 70 กว่า บ่นว่าทำไมชีวิตต้องเป็นอย่างนี้ พอดีแกมีปัญหาเรื่องต่อมลูกหมาก ผมบอกว่าโชคดีที่อยู่มาได้ตั้ง 70 ปีเพิ่งเป็น เพิ่งป่วย แต่เด็กบางคน เกิดมาขวบเดียวก็เป็นเนื้องอกแล้ว นี่คือสิ่งที่ผมได้เจอจากการได้มาเป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาล คนเราบางครั้งบางคราว มองแต่ทุกข์ของตัวเองว่าใหญ่เสมอ แต่ถ้าได้มาเจอคนอื่น เจอทุกข์ของคนอื่น จะทำให้มองโลกได้ดีขึ้น ทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้น

งานอาสาที่นี่ไม่มีเบี้ยเลี้ยง ทุกสิ่งทุกอย่างเราต้องจ่ายเองหมด คือเป็นอาสาจริงๆ ผมจะพูดกับคนสนิทๆ ว่า การทำงานโดยที่ไม่ได้สตางค์เป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะพอทำไปแล้วเราคิดได้หลายอย่างมาก โดยเฉพาะเวลาเหนื่อยขึ้นมา อีกด้านหนึ่งเป็นการทดสอบจิตใจด้วย ลดอัตตาเรา มาทำงานอาสาบางทีเราก็เจอคนไข้ที่แสดงอารมณ์ไม่ดีใส่เรา เราก็พยายามข่ม บางทีเราคิดเยอะ ก็กลายเป็นความโกรธ ผมว่าตรงนี้มีประโยชน์กับตัวเรา เวลาถอดบทเรียนประจำวัน วันนี้เจอคนไข้อย่างนี้ๆ ความรู้สึกเป็นอย่างไร ช่วยพัฒนาด้านในของเรา ความจริงต้องขอบคุณคนไข้นะ เขาเป็นบทเรียนให้เรา เป็นครูสอน


*** อาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฉลาดทำบุญวิถีสร้างสุข มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันประสาทวิทยา หน้าที่ของอาสาสมัครคือให้คำแนะนำ และช่วยเหลือผู้ป่วยที่มารับบริการที่สถาบันประสาทวิทยา

นุดา

ผู้เขียน: นุดา

เกิดและเติบโตที่จังหวัดนครปฐม ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ตอบตัวเองได้ว่า อยากทำงานเกี่ยวกับการเขียนตอนเรียนมัธยม จึงเลือกเดินในเส้นทางสายนี้ และยึดเป็นอาชีพหลักกว่า 20 ปี แม้รูปแบบของสื่อจะไปเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่เชื่อว่าการเขียนยังเป็นพลังสำคัญในการสื่อสาร