การศึกษาสงฆ์ต้องเพื่อโลกและธรรม

พระไพศาล วิสาโล 1 กันยายน 2002

การศึกษาของสงฆ์หรือการศึกษาที่จัดขึ้นในวัด ในอดีตไม่เคยแยกบทบาททั้งสองออกจากกัน อันได้แก่การสร้างภิกษุสามเณรที่มีคุณภาพ และการส่งเสริมการศึกษาของมวลชน  แม้มีความพยายามแยกบทบาททั้งสองนับแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมาแต่ก็ไม่เคยทำได้สำเร็จ เพราะชาวบ้านเป็นอันมากก็ยังคงส่งลูกหลานมาบวชเรียนในวัด เพื่อพร้อมกลับไปใช้ชีวิตคฤหัสถ์ตามประเพณีบวชเรียนที่มีมาแต่ดั้งเดิม  เป็นแต่ว่าผู้ที่มาบวชเรียนในระยะหลังล้วนเป็นลูกคนยากคนจน ซึ่งขาดโอกาสที่จะได้รับการศึกษาที่รัฐจัดให้  กลายเป็นว่าการศึกษาของคณะสงฆ์ (รวมทั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์) ได้กลายเป็นช่องทางสำหรับสำหรับผู้ด้อยโอกาสในสังคม

อย่างไรก็ตาม ความจริงข้อนี้ถูกมองข้ามมาโดยตลอดไม่ว่าจากคณะสงฆ์หรือรัฐ  ผลส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นกับคณะสงฆ์โดยตรงก็คือ ความขัดแย้งระหว่างพระผู้น้อยที่ต้องการเรียนวิชาทางโลก กับพระผู้ใหญ่ที่พยายามควบคุมบังคับให้พระผู้น้อยศึกษาแต่ปริยัติธรรม ซึ่งโยงไปสู่ปัญหาการศึกษาปริยัติธรรมที่ตกต่ำลงเพราะผู้เรียนขาดแรงจูงใจ  ในขณะเดียวกันพระเณรจำนวนไม่น้อยก็ถูกผลักไสให้ต้องไปเรียนวิชาทางโลกเอาเองในสถานที่ไกลหูไกลตาเจ้าอาวาสและมีสภาพที่อาจไม่เอื้อต่อเพศบรรพชิต หาไม่ก็อยู่วัดอย่างไม่เต็มใจเพียงเพื่อรอวันสึกดังได้กล่าวมาแล้ว

แม้ปัจจุบันการศึกษาของรัฐจะแพร่หลายไปมากแล้ว รวมทั้งขยายการศึกษาภาคบังคับไปเป็น ๙ ปีซึ่งมีผลให้ผู้มาบวชเรียนเป็นสามเณรลดจำนวนลงเป็นลำดับ  แต่วัดหรือการศึกษาของสงฆ์ก็จะยังคงเป็นที่พึ่งของคนยากคนจนที่ไม่สามารถส่งเสียให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนมัธยมของรัฐ  คนที่มาบวชเรียนเพื่อหวังโอกาสทางการศึกษาจึงจะยังมีอยู่เป็นอันมากและจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนาน

ในเมื่อนี้คือความเป็นจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ จึงเป็นการดีกว่าที่จะจัดการศึกษาสงฆ์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง คือพร้อมรองรับและสนองความต้องการของคนเหล่านี้ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการสืบต่อประเพณีบวชเรียนของไทยแต่เดิม หากยังช่วยลดความไม่เสมอภาคทางการศึกษาและลดช่องว่างทางสังคมอีกด้วย

คุณประโยชน์ที่จะบังเกิดขึ้นกับพระศาสนาและคณะสงฆ์โดยตรงก็คือ เป็นโอกาสที่คณะสงฆ์จะได้ปลูกฝังให้ประชาชนมีศีลธรรมจรรยาตั้งแต่เล็ก หากว่าการศึกษาทางโลกและทางธรรมเชื่อมประสานกัน  ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความผูกพันให้แก่ผู้ที่สึกออกไปหลังจากบวชเรียนได้ตามความมุ่งหมายแล้ว  คนเหล่านี้เองที่จะเป็นกำลังให้แก่คณะสงฆ์ แทนที่จะเฉยเมยเพราะได้รับประสบการณ์ไม่ดีจากเจ้าอาวาสดังที่มักเกิดขึ้นในปัจจุบัน

ใช่แต่เท่านั้น มีความเป็นไปได้มาก (อย่างน้อยก็มากกว่าในปัจจุบัน) ว่า ประสบการณ์ที่ดีจากการศึกษาในวัดและความสัมพันธ์ที่ดีกับพระผู้ใหญ่ในวัดย่อมเอื้อให้มีพระเณรจำนวนไม่น้อยบวชต่อ เท่ากับว่าการส่งเสริมการศึกษาของมวลชนนั้นในที่สุดแล้วย่อมช่วยให้เกิดศาสนทายาทที่มีคุณภาพ  ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่คณะสงฆ์ในอดีตมีพระสืบต่อมาไม่ขาดสาย ก็เพราะวัดได้ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่มวลชนด้วย มิใช่มุ่งผลิตพระเณรที่มีคุณภาพเท่านั้น  ดังเห็นได้ว่าพระที่ทรงคุณธรรมและอุทิศทั้งชีวิตให้แก่พระศาสนา ส่วนใหญ่ในอดีตก็เริ่มต้นจากการบวชเรียนเพื่อหวังจะมีความรู้สำหรับกลับไปใช้ชีวิตคฤหัสถ์ หากแต่การศึกษาในทางธรรมที่เกิดขึ้นตามมาก็ช่วยให้เกิดศรัทธาและความซาบซึ้งในเพศบรรพชิต จนกลายเป็นกำลังสำคัญให้แก่คณะสงฆ์

อย่างไรก็ตาม พึงเข้าใจว่าการส่งเสริมการศึกษาของมวลชนในที่นี้ มิได้มีความหมายเพียงแค่การเปิดทางให้ประชาชนใช้วัดหรือการศึกษาของสงฆ์เป็นทางผ่านเพื่อมีความรู้ในการประกอบอาชีพเท่านั้น  หากยังมีความหมายรวมไปถึงการเอื้อให้ประชาชนมีความรู้เพื่อสามารถดำรงชีวิตด้วยดีในสังคม ตลอดจนพร้อมที่จะเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม  เช่น มีความรู้ความเข้าใจในสภาพปัญหาของชุมชน ตลอดจนความเป็นไปในสังคมวงกว้างที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและชุมชน  มีทักษะในการคิดและแก้ไขปัญหาชีวิต สามารถพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้  รวมทั้งมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบเพื่อช่วยให้ชุมชนของตนมีความเจริญก้าวหน้า  นั่นหมายความว่า การสร้างสำนึกในทางจริยธรรมตลอดจนการให้ความรู้ทางศาสนาแก่ประชาชน ก็จัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการศึกษาของมวลชนด้วย

จะว่าไปนี้มิใช่บทบาทที่แปลกใหม่ เพราะในอดีตการศึกษาในวัดหรือการบวชเรียน กล่าวโดยรวมแล้วก็เพื่อให้บุคคลมีความพร้อมที่จะเป็นคนของชุมชนโดยสมบูรณ์  โดยนอกจากจะเรียนรู้วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมของชุมชน และเรียนวิชาความรู้ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้หรือตรงกับความต้องการของชุมชนแล้ว ยังฝึกฝนในทางศีลธรรมจรรยาเพื่อเป็นสมาชิกที่ดีมีคุณค่าของชุมชนด้วย  เพิ่งไม่กี่สิบปีมานี้เองที่บทบาทดังกล่าวได้หายไปจากวัดหรือไม่สามารถทำได้ดีดังแต่ก่อน  ส่วนหนึ่งก็เพราะการจำกัดการศึกษาภายในวัดให้แคบเหลือเพียงแค่การผลิตศาสนทายาทที่ดี โดยไม่ถือว่าการให้การศึกษาแก่ประชาชนเป็นเรื่องของวัด จนกลายเป็นว่าแม้แต่ศีลธรรมจรรยาของเยาวชนในชุมชนก็ไม่ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของวัดที่จะต้องดูแลเอาใจใส่ด้วย


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา