การเดินทางภายใน-ภายนอก

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 14 มิถุนายน 2009

ชายหนุ่มคนหนึ่งเดินทางไปยังวัดป่าเพื่อภาวนาเฝ้ารู้กับร่างกายและตามดูจิตใจ ชายหนุ่มพบว่าทุกขณะที่เฝ้าดูร่างกายหายใจ จิตใจก็อยู่สงบนิ่ง  แต่เพียงคล้อยหลังไปชั่วไม่กี่วินาที จิตใจของชายหนุ่มก็กระโดดแวบไปเกาะเกี่ยวกับความคิด เรื่องราวที่ผ่านเข้ามา  บางช่วงขณะทันทีที่ชายหนุ่มรู้สึกตัว ความคิดที่กำลังก่อเกิดก็ดับวูบหายไป แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะหลายช่วงที่ชายหนุ่มรู้ตัวก็ต่อเมื่อตกหลงเข้าไปในความคิด และรู้ตัวต่อเมื่อเรื่องราวความคิดนั้นจบลงแล้ว  “ไม่เป็นไร” ชายหนุ่มบอกกับตัวเอง และเฝ้ารู้กับร่างกายและตามดูจิตใจต่อไป  กลางดึกเคลื่อนคล้อยไป ร่างกายที่ยังแข็งแรงทำให้ไม่เป็นอุปสรรคมากนัก แม้จะเพลียบ้าง แต่จิตใจของชายหนุ่มตื่นตัวและเต็มแน่นไปด้วยความรู้สึกต่างๆ นานา และความทรงจำถึงบาดแผลชีวิต

ช่วงขณะของการภาวนา จิตใจของชายหนุ่มก็หวนทำหน้าที่ตามปกติของมันอีกครั้ง  ภาพเหตุการณ์และคำพูดของคนรักที่บอกเลิกรา และข้อมูลเรื่องราวที่ชายหนุ่มรับรู้มาว่า คนรักของตนมีที่หมายปองคนใหม่  ภาพและคำพูดของทีมงานที่ตอบโต้ แสดงปฏิกิริยาเชิงลบกับตนเอง  ภาพต่างๆ ผุดขึ้นมาในห้วงนึก ความรู้สึกหนักหน่วงค่อยๆ เข้ามายึดกุมพื้นที่ในจิตใจ ดูราวกับหนวดปลาหมึกยักษ์ที่ค่อยๆ โอบรัดเหยื่อและบีบเค้น  ชายหนุ่มรู้สึกถึงแรงบีบเค้นในจิตใจ พร้อมกับสำนึกที่ระลึกรู้ว่าความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นตรงหน้าเป็นเพียงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น และสืบเนื่องมาจากความคิดภายใต้ภาพและคำพูดที่ผุดขึ้นมา “เขาไม่ชอบเรา” “เขาหลอกลวงเรา” “พวกเขาไม่เห็นคุณค่าของเรา” ฯลฯ ความคิดเหล่านี้เองที่ผุดขึ้นมาและทำร้ายจิตใจของชายหนุ่ม  สิ่งที่ชายหนุ่มพบคือ จากภาวะจิตใจที่สุข สงบ ถูกกระเพื่อม หวั่นไหว และแปรเปลี่ยนเป็นความเจ็บปวดรวดร้าวทันทีเมื่อความคิดดังกล่าวผุดขึ้น

ข่าวดีและข่าวร้ายในคราวนี้  ข่าวดี คือ การได้เข้าใจและประจักษ์ชัดว่าทุกข์เกิดขึ้นจากอะไร จากความคิดที่ปรุงแต่งของเขานั่นเอง จากจิตใจที่มักคอยสร้างเรื่องราว หาเรื่องให้ทุกข์และกังวล  จิตใจที่เขาคอยปรนเปรออยากให้สุข สงบ สบายใจ แท้จริงมันเอาแต่ได้ มันโบยตีเขาโดยไม่ปรานีเลยยามที่มันไม่ได้ดั่งใจ  แท้จริงเขาควบคุมบังคับจิตใจไม่ได้เลย มันแค่เสแสร้งยอมตามเท่านั้น  และข่าวร้ายก็คือ เขาต้องยอมรับวิบากกรรมจากความโง่ของเขาเอง  ย้อนกลับไปเมื่ออดีต ยามที่เกิดความเจ็บปวด ผิดหวังเสียใจ ชายหนุ่มก็มักทำสิ่งที่คล้ายคลึงกับหลายๆ คน คือ กล่าวโทษความทุกข์ ความผิดหวัง ฯลฯ ว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้จิตใจของตนต้องทุกข์ระทม ขุ่นเคือง  บ่อยครั้งชายหนุ่มก็วิ่งหาเพื่อน ป่าวร้องให้คนใกล้ตัวรับรู้ความทุกข์ของตน ชักชวนไปเที่ยว กินดื่มเพื่อหนีหรือระบายความทุกข์ในใจ  “มันรู้สึกดีขึ้น” การได้ระบาย บอกกล่าวเช่นนี้ก็เป็นหนทางเยียวยาแบบหนึ่ง แม้ว่าวิธีการเช่นนี้จะได้ผลเพียงชั่วคราว

แต่คราวนี้ด้วยเหตุปัจจัยใดก็ตาม คำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ที่ผุดขึ้นมาคือ “ไม่แทรกแซง ให้เฝ้ารู้ ตามดูด้วยใจสงบ” ชายหนุ่มเฝ้าดูอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจตนต่อไป สลับกับรู้สึกตัวกับลมหายใจเป็นบางครั้ง  แล้วความมหัศจรรย์อันเรียบง่ายก็ค่อยๆ ผุดขึ้น ความทุกข์และความบีบเค้นในใจค่อยๆ จางคลายไป  น่าแปลกที่บางช่วงจิตใจยังหวนคิดถึงภาพและความคิดนั้นๆ ฤทธิ์เดชที่เคยบีบเค้นจิตใจก็จางคลายลงไปด้วย อาจจะวูบไหวเป็นบางครั้งแต่ก็สงบลงมาก  มันคล้ายกับท้องทะเลที่เงียบสงบ มีคลื่นเล็กๆ บ้าง ยามที่พายุร้ายได้ผ่านพ้นไปแล้ว ความคิดนึกยังแวบแวะเวียนไปมาบ้างด้วยจิตใจที่สงบและตั้งมั่นพอสมควร  อาการต่างๆ ในใจแม้จะวูบไหวและกระตุกเจ็บปวดใจบ้าง แต่ก็ให้บทเรียนของการเท่าทันการปรุงแต่ง ไม่ปรุงแต่งในจิตใจ  แต่ละขณะ แต่ละก้าวของชีวิต คือ จังหวะและโอกาสแห่งชีวิตที่ได้เดินทางสู่การเข้าใจตนเองว่า แท้จริง เราคือ ใคร

“ไม่แทรกแซง ให้เฝ้ารู้ ตามดูด้วยใจสงบ”

ย้อนกลับไปหลายเดือนก่อนหน้านี้ ชายหนุ่มคนเดียวกันกำลังหน้าดำหน้าเครียดด้วยสีหน้าที่เต็มไปด้วยโทสะ ระหว่างประชุมกับทีมงานถึงความคืบหน้าที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง  สำหรับชายหนุ่ม มันคือ ทีมงานทำงานหนักไม่พอ รับผิดชอบไม่มากพอ  ชายหนุ่มบอกกับตนเองว่า ตนเองมีเหตุผลที่จะต้องดุด่า คาดโทษ เพราะผลการดำเนินงานเช่นนี้ มันหมายถึงอันตรายต่อความอยู่รอดขององค์กร และมันหมายถึงชีวิตและครอบครัวของทีมงาน  ชายหนุ่มระเบิดโทสะ ใช้คำพูดที่บาดลึกเข้าไปในใจของทีมงาน  สำหรับทีมงาน พวกเขารู้ว่าชายหนุ่มคนนี้เป็นคนดี มีความพยายามและตั้งใจสูง แต่ก็เห็นว่าชายหนุ่มรับฟังน้อยไป ไม่ได้พยายามเข้าใจทีมงานซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานนัก พวกเขารู้สึกท้อแท้ โกรธ ขุ่นเคือง  และแล้วก็เหมือนทำนบถูกทำลาย เมื่อทีมงานคนหนึ่งลุกขึ้นตอบโต้ จากนั้นคนอื่นก็ช่วยกันลุกขึ้นตอบโต้ ตัดพ้อและต่อว่าในทุกประเด็นที่ชายหนุ่มตำหนิ  อารมณ์ความรู้สึกถูกสาดใส่ ชายหนุ่มได้แต่ตะลึงงัน เหมือนถูกสะกดและเงียบ

ภาวะนั้น ชายหนุ่มคงไม่สามารถรับฟังเนื้อหาคำอธิบายใดๆ ได้มากนัก  สิ่งที่ชายหนุ่มได้ค้นพบและเข้าใจในเวลาต่อมาคือ ตนเองได้ทำร้ายคนอื่นมากเพียงใดในนามของความปรารถนาดีที่ตนเองตั้งขึ้นไว้  สิ่งที่คิดนึกแท้จริงเป็นเพียงมุมมองของตนเองเท่านั้น ตนเองประเมินและดูแคลนความสามารถของทีมงาน ขณะเดียวกันก็คาดหวังจากทีมงานสูง  และสิ่งสำคัญคือ อารมณ์ ความรู้สึกเมื่อถูกดูแลและจัดการอย่างไม่เหมาะสม มันก็สามารถบาดลึก ทำร้าย และถ่ายทอดกระทบถึงกันได้

จากชีวิตของเด็กน้อยที่เติบโตรู้ความ จนเป็นผู้ใหญ่ที่ช่วยเหลือ รับผิดชอบตนเอง และทำการงานได้ เราทุกคนต่างล้วนมีความหวัง ความฝันกับการเดินทางของชีวิตที่ก้าวเดินจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง  เรามีการเดินทางของโลกภายนอก : ทำอาชีพการงาน มีบทบาทหน้าที่ตามฐานะ ตำแหน่ง  พร้อมกับเราก็มีการเดินทางของโลกภายในเพื่อเข้าใจสิ่งซ่อนเร้น สิ่งที่อยู่ในใจ สู่การเข้าใจตนเอง  และเพื่อที่จะเข้าสู่ชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ ชีวิตที่ทุกข์น้อยลง ผู้เขียนประทับใจคำพูดของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งที่ได้ให้ข้อธรรมเพื่อระลึกไว้ว่า “ขอให้ถือเสียว่า งานหลัก คือ การภาวนา  งานอาชีพ การงานเป็นเรื่องรองเพื่อให้เราได้อยู่สบายในโลกใบนี้เท่านั้น”  เพราะเมื่อใดที่เราสลับขั้ว เราก็อาจจะเจ็บปวด และหลงทางได้


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน