การเติบโต: ดูแลตัวเองด้วยนะ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 29 มิถุนายน 2014

เรามักมีคำอวยพรเสมอในช่วงเทศกาลสำคัญ การให้ศีลให้พรที่ผู้ใหญ่ให้กับผุ้เยาว์ หรือผู้เยาว์รดน้ำอวยพรผู้ใหญ่เพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต เป็นประเพณีที่ดีงามที่เราได้สื่อสารแสดงความรัก ความเคารพ ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่ละฝ่ายต่างมีความสุขใจ อิ่มใจที่ได้ให้และได้รับคำอวยพร  จากนั้นชีวิตและความรู้สึกอิ่มเอมในใจก็ค่อยๆ เข้าสู่วิถีตามปกติและจางคลายไปตามเวลา

ตัวอย่างคำอวยพรที่พวกเราคุ้นเคยเช่น ขอให้มีสุขภาพแข็งแรง ขอให้การงานสำเร็จเจริญก้าวหน้า ขอให้เจริญในธรรมะ มั่งมีศรีสุข ฯลฯ  สิ่งที่น่าสนใจคือ คำอวยพรเหล่านี้เราทุกคนต่างคุ้นเคยที่จะได้รับฟัง ได้รับรู้ และคุ้นเคยที่จะบอกเล่า หยิบยื่นให้กับคนอื่น แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคย คือ การระลึกและตื่นรู้ว่าคำอวยพรก็เป็นแค่คำอวยพร

พรวิเศษที่แท้จริงเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อพรวิเศษนำไปสู่ความสัมฤทธิ์ผล และสิ่งนี้เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนำไปสู่การปฏิบัติ การปฎิบัติต่อการดำเนินชีวิต ชีวิตที่ประกอบด้วยมิติกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ

เริ่มตั้งแต่ มิติทางกาย: การดูแลสุขภาพ อาหาร การออกกำลังกาย อากาศที่ดี  มิติทางจิตใจ: การดูแลอารมณ์ความรู้สึก  มิติทางสังคม: การดูแลจัดการด้านความสัมพันธ์  มิติทางจิตวิญญาณ: ในฐานะสิ่งที่ต้องศึกษาเรียนรู้เพื่อเข้าถึงจิตวิญญาณ คือ การเข้าใจ การเข้าถึงความจริงของชีวิต ความจริงของธรรมชาติ รวมไปถึงการฝึกฝนพัฒนาด้านคุณธรรมและจิตสำนึกต่อสิ่งรอบตัว สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติ

สังคมตะวันตกไม่ได้มีรูปแบบการอวยพรเหมือนแบบที่สังคมไทยถือปฏิบัติ แต่การให้คำอวยพรของสังคมตะวันตกก็มีวัฒนธรรมในแบบของตนแฝงอยู่ “Take care of yourself — ดูแลตัวเองด้วยนะ”  สังคมตะวันตกมักมีคำจากลาด้วยประโยคข้างต้น ถ้อยความนี้สะท้อนถึงคำเตือนต่อภารกิจความรับผิดชอบที่เราพึงมีและให้กับตนเอง

ความรักที่เรามีต่อชีวิต ต่อตัวเราเอง ย่อมหมายถึงการสร้างสรรค์ ทำสิ่งที่ดีให้กับชีวิตของเราเอง  ดังนั้นเมื่อใดที่เราพบว่ามีบางสิ่งเกิดขึ้นกับชีวิต เช่น การเจ็บป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บและอุบัติเหตุ ความแตกร้าวในความสัมพันธ์ ความเครียด เหนื่อย กังวลกับการงานและอนาคต รวมไปถึงการมีอดีตที่เศร้าหมอง ทุกข์โศก ฯลฯ สภาพเช่นนี้สะท้อนว่ามีอาการ “สอบตกกับการดูแลตนเอง”

เราจะเข้าใจความหมายถ้อยความนี้ได้ก็ต่อเมื่อ เราหันกลับมาใส่ใจ “ตัวเอง” และถอดรหัสบางอย่างที่ซ่อนอยู่

ในมุมมองพุทธศาสนา ชีวิตประกอบด้วย ขันธ์ ๕  คือ รูป (ร่างกาย) เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความจำได้หมายรู้) สังขาร (การคิดนึกปรุงแต่ง) และวิญญาณ (การรับรู้ทางอายตนะต่างๆ)  หรือมุมมองจิตวิทยาตะวันตก ที่มองชีวิตคนคนหนึ่งในรูปแบบภาพจำลองคือ ภูเขาน้ำแข็ง  ที่แบ่งเป็นส่วนที่อยู่เหนือและใต้แผ่นน้ำแข็ง โดยส่วนของภูเขาที่อยู่เหนือแผ่นน้ำแข็ง คือ พฤติกรรม การกระทำที่แสดงออก  ขณะที่ใต้ภูเขาน้ำแข็งซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ คือ ชั้นของความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ความคาดหวัง ความโหยหา ปรารถนาต่างๆ

และไม่ว่ารหัสในตัวเราจะมองในบริบทเชิงพุทธหรือจิตวิทยาตะวันตก สิ่งที่สำคัญคือเมื่อเกิดปัญหาใดๆ ก็ตาม สิ่งที่พึงแยกแยะคือ ส่วนไหนที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนไหนทำไม่ได้

แน่นอนว่าปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เช่น การพลัดพราก การลาจาก การสูญเสีย เนื่องด้วยอุบัติเหตุ โรคภัยไข้เจ็บ การกระทำของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม หรือบุคคลภายนอก สิ่งเหล่านี้เราแก้ไขไม่ได้  แต่สิ่งที่เราแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้คือ ปฏิกิริยา ท่าทีที่มีต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น มุมมอง ทัศนคติ ความคาดหวัง ความรู้สึกที่มีต่อปัญหาเรื่องราวนั้นๆ ซึ่งหากกล่าวในแง่บริบทเชิงพุทธก็คือ การเปลี่ยนแปลงที่ระดับเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ โดยการตระหนักรู้ผ่าน “สติ ปัญญา สัมปชัญญะ”

อะไรคือ ความคิด ความเชื่อ ความคาดหวังเดิมที่เป็นอยู่ และครอบงำตัวเรา มันก่อความทุกข์ให้กับเราอย่างไร  ความที่องค์ประกอบเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้นี้เองที่จะนำเราไปสู่การมีทางเลือกอื่นๆ ในการรับมือกับปัญหาข้างต้น

เมื่อเกิดปัญหาใดๆ ก็ตาม ให้ลองพิจารณาว่าส่วนไหนที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ และส่วนไหนทำไม่ได้

อย่างไรก็ดี การมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา  เช่น การเรียนรู้และเข้าใจในความเป็นตัวเรา อุปนิสัย ทัศนคติที่ยึดถือ การให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ การเรียนรู้ว่าเรายึดถืออะไร มีความเชื่อ ทัศนคติที่คลาดเคลื่อนต่อความจริง ต่อกฏของธรรมชาติอย่างไร  สิ่งเหล่านี้คือหนทางสู่การเรียนรู้ตนเอง สู่การสร้างสรรค์ความสามารถในการรับมือกับปัญหา ซึ่งเมื่อกล่าวในแง่ของการดูแลมิติทางกายและมิติความสัมพันธ์ทางสังคม ก็เป็นเรื่องของการตื่นรู้ สำนึกรู้ในชีวิตและบริบทรอบตัว

“ดูแลตัวเองด้วยนะ”  จึงเป็นการลงมือและกระทำต่อความรับผิดชอบที่มีต่อตนเอง คือการเรียนรู้ การทำความเข้าใจโลกและชีวิต การมีสำนึกรู้ในความรับผิดชอบ รวมไปถึงการมีคุณภาพจิตใจที่รักและรับผิดชอบต่อครอบครัว ต่อสังคม ด้วยการไม่สร้างภาระ ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบ แต่มุ่งสร้างสรรค์สิ่งที่ดีมีคุณค่าต่อตนเอง สังคม และครอบครัว


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน