การเติบโต: สัมพันธภาพ การเชื่อมโยง

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 17 พฤศจิกายน 2013

ด้วยอาชีพการงานทำให้ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้คนหลากหลาย สิ่งที่พบว่าเป็นความปรารถนาร่วมกันของหลายชีวิต คือ ภายใต้การอุทิศตัวทำงานหนัก มุ่งมั่นในอาชีพการงานจนละเลย ทอดทิ้งหลายเรื่อง  แต่เมื่อยามเผชิญวิกฤตชีวิต เช่น ภัยพิบัติ การเจ็บป่วย สูญเสีย  สิ่งสำคัญที่เข้ามาในจิตใจคือ การกลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด การติดต่อสื่อสารคนที่รักในครอบครัว ญาติพี่น้อง  ดังนั้นคำตอบของหลายๆ คนที่มักมีกับคำถามว่า หากมีช่วงเวลาที่เหลือในโลกนี้อีก ๓ วัน จะใช้ช่วงเวลานี้กับอะไร และอย่างไร  คำตอบก็คือ การใช้ช่วงเวลากับบุคคลที่รัก ครอบครัว พ่อแม่ และท้ายที่สุดกับสิ่งที่รักมากคือ ตนเอง  หรือทบทวนจากประสบการณ์ของเราทุกคน  ทุกครั้งที่เกิดเหตุร้ายรุนแรง สิ่งแรกที่มักผุดขึ้นมาทันทีคือ ความปลอดภัย สุขสบายของผู้คนที่เรารัก เราใส่ใจ

สำหรับทุกคนแล้ว ชีวิตคือสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยง และเรียกร้องให้เราโหยหาที่จะกลับคืนสู่ถิ่นฐานต้นกำเนิด  แม้ว่าเราจะมีเส้นทางชีวิตที่ห่างไกลจากต้นกำเนิดเพียงใด แต่ในที่สุดความปรารถนาที่จะหวนคืนสู่ต้นกำเนิด ถิ่นฐาน ความเป็นมาของตน ก็จะเรียกร้องให้เรากลับบ้าน  ในแง่จิตวิญญาณ ยามเมื่อเราเผชิญวิกฤติการณ์ในชีวิต เช่น ผิดหวัง สูญเสีย ล้มเหลว อับอาย ฯลฯ คำถามที่ผุดขึ้นในใจและสะท้อนความโหยหา ความต้องการกลับคืนสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด อันเป็นคำถามสำคัญแห่งชีวิตก็คือ เราคือใคร

คำถาม “เราคือใคร” อาจไม่ใช่คำถามเร่งด่วน แต่สำคัญ เพราะคำถามนี้มักผุดขึ้นเสมอๆ ยามเมื่อเราเผชิญกับวิกฤติในชีวิต หรือเมื่อเราพบว่าเราหลงทางจากบางสิ่งที่มีคุณค่า  คำถามนี้จะทำงานจนกว่าเราจะเริ่มออกเดินทางเพื่อค้นหาคำตอบหรือคำอธิบายที่จะช่วยให้เราได้พบและรู้จักตนเอง  ปรากฏการณ์ที่มักเกิดขึ้นคือ เมื่อแต่ละคนไม่เข้าใจ ไม่รู้จักตนเอง  คุณค่าและความหมายของชีวิตก็มักไปผูกติดสิ่งภายนอกที่เราเชื่อว่าสำคัญ เช่น ชื่อเสียง ฐานะ เงินทอง อำนาจ เมื่อนั้นเส้นทางชีวิตที่มีพันธกิจผูกพันจึงเป็นเรื่องของการมุ่งสร้างสัมพันธภาพกับสิ่งภายนอกเหล่านี้

หากว่าเราถือความสำคัญของการมีชื่อเสียง เกียรติยศ อำนาจ การเป็นที่เคารพนับถือ  นั่นหมายถึงความจำเป็นที่เราต้องอุทิศแรงกาย แรงใจ เพื่อพบกับความสำเร็จในหน้าที่การงาน การได้รับการยกย่องนับถือ และนั่นก็หมายถึงการที่เราต้องอุทิศแรงกาย ใจ และความรับผิดชอบ เพื่อความมุ่งมั่นบรรลุผลสำเร็จ รวมไปถึงการพยายามมุ่งมั่นเพื่อรักษาปกป้องสถาบัน องค์กรต้นสังกัด

หรือหากว่าเราถือความสำคัญของการเป็นที่รัก การเป็นที่ยอมรับและชื่นชมยินดี  นั่นหมายถึงความจำเป็นที่เราต้องอุทิศแรงกาย ใจ เพื่อเป้าหมายคือบุคคลอันเป็นที่รักหรือเคารพรัก โดยการเสียสละ การเก็บกดซึ่งความต้องการ ความปรารถนาส่วนตัว เพื่อไปตอบสนอง ทุ่มเทเพื่อความต้องการ ความปรารถนาของบุคคลเป้าหมาย  ในลักษณะชีวิตเช่นนี้ ความสุข ความทุกข์จึงผูกพันและขึ้นกับบุคคลเป้าหมายทั้งในชีวิตส่วนตัวหรือการงาน

และหากเราถือความสำคัญของการได้มาซึ่งการได้รับความใส่ใจเป็นพิเศษ การได้รับการมองเห็นในคุณค่า หรือความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตน  นั่นหมายถึงความจำเป็นที่เราต้องอุทิศแรงกาย ใจ เพื่อสร้างความความมีคุณค่า ความโดดเด่น ความปลอดภัยมั่นคง  มุ่งสร้าง ‘ปมเขื่อง’ หรือ ‘สิ่งหล่อเลี้ยงประจำใจ’ โดยการคิดนึกเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น ตนเองกับสภาพแวดล้อม เพื่อกำหนดท่าทีและดำเนินการเพื่อได้มาซึ่งปมเขื่องหรือสิ่งหล่อเลี้ยงประจำใจตามที่ตั้งใจไว้  ชีวิตเช่นนี้จึงต้องอุทิศแรงกาย ใจ เพื่อการสร้างสรรค์ปมเขื่อง หรือสิ่งหล่อเลี้ยงประจำใจนั้นๆ โดยไม่สามารถปล่อยวางสิ่งต่างๆ รอบตัวได้หากสิ่งนั้นยังไม่ใช่สิ่งที่ปรารถนา

ยามที่เราเผชิญวิกฤตการณ์ในชีวิต เราจะพบว่ามีคำถามสำคัญผุดขึ้นมา นั่นคือ “เราคือใคร”

ความเชื่อมโยงช่วยให้เราได้สานสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว ได้เรียนรู้และเข้าถึงพลังของจักรวาลและสรรพสิ่งรอบตัวทั้งความดี ความงามและความจริง  เราทุกคนต่างมีเครื่องมือในตนเองที่ช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงดังกล่าวผ่านการสื่อสาร ซึ่งหลายคนก็มักพบว่าในการสื่อสารหลายครั้งกลับล้มเหลวในการสร้างความเชื่อมโยง ซึ่งอาจก่อเกิดความเข้าใจผิด บาดหมางในสายสัมพันธ์  เนื่องเพราะในการสื่อสาร ทักษะการฟังเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายและไม่คุ้นชินมากที่สุดเมื่อเทียบกับทักษะการพูด ทักษะการคิด

การฟังที่แท้จริงเปรียบเหมือนการเดินทางเข้าสู่โลกภายในทั้งในตนเองและผู้อื่น  ยามเมื่อเรารับฟังอย่างใส่ใจ ด้วยสติและความรู้ตัวทั่วพร้อม ไม่เพียงเราได้รับฟังเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เรายังสามารถสัมผัสได้ถึงบางสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวนั้น  สิ่งที่ซ่อนอยู่ต้องอาศัยการฟัง การสังเกต การสัมผัสและเชื่อมโยง  สิ่งที่จะพบคือ โลกภายในอันประกอบด้วยความรู้สึกต่างๆ ความคิด ความเชื่อ ความคาดหวัง ความต้องการ  เราสามารถใช้การฟังเพื่อเชื่อมโยงกับโลกภายในของอีกฝ่าย ก็เพราะโลกภายในอันอยู่ในตัวเราก็มีองค์ประกอบและเนื้อหาสาระไม่ต่างกัน นั่นคือ เราต่างต้องการความรัก ความเข้าใจเช่นเดียวกัน

การมองเห็นความเชื่อมโยงในตัวเราและผู้อื่น จึงก่อเกิดความเมตตากรุณา และเป็นสะพานที่ทำให้ความดี ความงาม และความจริงปรากฏ  กระนั้นการฟังที่นำพาให้เกิดความเชื่อมโยงกับผู้อื่นได้ ย่อมหมายถึงเราในฐานะผู้ฟังก็ต้องเริ่มต้นด้วยการสามารถเชื่อมโยงกับตนเอง  เริ่มต้นด้วยการรับรู้ต่อโลกภายในของตน รับรู้ต่อทุกความรู้สึก ความคิดนึก ความเชื่อ ความต้องการ ฯลฯ  สิ่งที่ยากคือ ปฏิกิริยาต่อต้าน ปฎิเสธบางสิ่งในโลกภายใน เช่น การไม่ยอมรับในบางความรู้สึก เช่น ความโกรธ ความกลัว ฯลฯ หรือปฏิเสธต่อความต้องการบางอย่าง เช่น ความต้องการทางเพศ  การยอมรับคือจุดเริ่มต้นการเชื่อมโยงกับโลกภายในและเปิดรับ ซึ่งมิได้หมายความถึงการแสดงออกหรือการตอบโต้โดยเสรี

หากเราไม่สามารถเชื่อมโยงผู้อื่นได้ ก็หมายถึงการไม่สามารถก้าวข้ามอคติในตน  ภาวะติดต่อภายในตัวเราก็ทำให้การเชื่อมโยงติดขัด สัมพันธภาพก็ย่อมเกิดขึ้นภายใต้ความไม่รู้ ความหลง  หลายคนมีใจช่วยเหลือ สงสาร เห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากจนขาดการทบทวนถึงความเหมาะความควร การช่วยเหลือนั่นกลับกลายเป็นการหลงลืมตนเอง  เช่นเดียวกับความไร้น้ำใจ การเชื่อมโยงก็ไม่อาจเกิดขึ้น

เราทุกคนเติบโตผ่านสายสัมพันธ์  พลังชีวิตที่หมุนเวียนถ่ายโอนพลังชีวิตระหว่างกัน คือสัญลักษณ์ที่สะท้อนความมีชีวิต  ภาวะไร้การเชื่อมโยงจึงสะท้อนภาวะไร้ชีวิต  ไม่มีสิ่งใดดำรงอย่างโดดเดี่ยว และการเชื่อมโยง สัมพันธ์กับผู้อื่น สรรพสิ่งรอบตัว จึงหมายถึงการเติบโต


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน