การเติบโต: เผชิญหน้าคำตัดสิน

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 18 สิงหาคม 2013

“พี่ ขอหนูบ่นหน่อยเถอะ  ที่ทำงานของหนูเขาทำงานระดับนานาชาติ ทำเรื่องการปกป้อง การละเมิดสิทธิ การสนับสนุนระบบสิทธิ์ ความยุติธรรม  แต่พี่รู้ไหม ที่ทำงานเขาเอาเปรียบลูกน้องมากเลย ให้ทำงานเกินเวลา มอบหมายงานเกินบทบาทหน้าที่ ฝรั่งพวกนี้มันเอาเปรียบจริงๆ หนู….”  ถ้อยคำอีกมากมายพรั่งพรูราวทำนบแตก สิ่งที่สัมผัสได้จากการรับฟังคือ เจ้าตัวคงมีความอัดอั้นตันใจ ความคับแค้น และต้องการระบาย

ในอีกฉากที่เราทุกคนประสบกับการถูกปฏิเสธ เนื่องจากเรามีธุระสำคัญที่ต้องจัดการดูแล และต้องการความช่วยเหลือ คิดนึกตรึกตรองอยู่นานว่าเพื่อนคนนี้น่าจะช่วยได้ แต่คำตอบที่ได้รับคือ ถูกปฏิเสธ ไม่ว่าง  แม้ท่าทีตอบรับที่เราแสดงออกคือ ไม่เป็นไร แต่อารมณ์ความรู้สึกก็เต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ คำตัดสินต่อเพื่อนคนนี้ และอาจรวมถึงคำตัดสินต่อตนเอง “เราโง่ เราถูกหลอก” ฯลฯ  จากคำตัดสินต่างๆ นานา เราก็กำหนดท่าทีความสัมพันธ์กับเพื่อนคนนี้ที่ต่างจากเดิม

กรณีแรก คือตัวอย่างที่เรามักมีคำตัดสิน คำวิพากษ์วิจารณ์กับสังคมภายนอก กับบุคคลที่เป็นคู่กรณีของเรา สำนึกในใจคือ การมีความชอบธรรมในใจว่า คำตัดสินที่เรามีให้กับคนอื่น กับสิ่งที่รับรู้ ถูกต้องแล้ว ใช่แล้ว  ขณะที่กรณีหลัง คำตัดสินต่อตนเอง เราถูกทำร้าย อาจประสานกับคำตัดสินที่มีต่อคู่กรณี “คนไม่มีน้ำใจ” ฯลฯ  นี่คือตัวอย่างคำตัดสิน และผลที่เกิดขึ้นคือ ความทุกข์ ความผิดหวัง เศร้าหมองในใจ

เราทุกคนต่างล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญการตัดสิน ทั้งในบทบาทของผู้กระทำหรือถูกกระทำ เราถูกล้อมรอบด้วยคำวิพากษ์ตัดสิน ทั้งจากตัวเราเอง จากผู้อื่น  โชคร้ายที่ถ้อยคำเหล่านี้ก่อเกิดผลกระทบไม่มากก็น้อย หลายคนติดจมกับถ้อยคำวิพากษ์ตัดสินที่รับรู้มา ถูกลากถูและจมจ่อมไปกับถ้อยคำดังกล่าว  อาการที่เกิดขึ้นคือ โกรธ ผิดหวัง เสียใจ น้อยใจ อารมณ์เชิงลบต่างๆ นานาผุดขึ้นระลอกแล้วระลอกเล่า สะสมจนรู้สึกถึงความอึดอัด คับข้องใจ  และเมื่อสะสมมากเข้า ในที่สุดทนไม่ไหว ภาวะ “องค์ลง” ก็เกิดขึ้น ต้องหาทางระบายออก ซึ่งการระบายออกมักเกิดขึ้นใน ๒ ทิศทางคือ การกล่าวโทษความผิด สาเหตุ รวมถึงการลงโทษมาที่ตนเอง ในอีกทิศทางก็คือ การพุ่งไปที่สิ่งภายนอก เช่น คู่กรณี บุคคลที่เกี่ยวข้อง สภาพแวดล้อม

พ้นจากมิติทางกาย มิติทางจิตใจ สุขทุกข์ของคนเราล้วนสืบเนื่องกับเรื่องของถ้อยคำวิพากษ์ตัดสิน คำพูดดังกล่าวมีผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิด  ตัวอย่างเรื่องราวในข้างต้น เจ้าตัวเองก็เหมือนหลายๆ คนที่ตกเป็นเหยื่อของคำวิพากษ์ตัดสินที่เจ้าตัวสร้างขึ้นมาเอง  กับดักสำคัญที่ทำให้เจ้าตัวมองไม่ออกว่า ตนกำลังอยู่ในกรงขังของคำวิพากษ์ตัดสิน คือ เจ้าตัวเชื่อว่าสิ่งที่เห็น สิ่งที่ตนมองและเข้าใจคือความจริง  ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง พฤติกรรมที่เรามองเห็นในตนเองหรือในผู้อื่น บ่อยครั้งเราสับสนระหว่างการตีความ การให้คุณค่า กับข้อเท็จจริงที่ปราศจากการตีความ การให้คุณค่า เช่น “ฉันได้ยินเธอพูดว่า โง่ กับลูกน้อง” กับข้อความ “ฉันได้ยินเธอพูดดูถูกลูกน้อง”  ข้อความทั้งสองคล้ายคลึงกันมาก แต่สิ่งที่แตกต่างคือ น้ำหนักของมุมมองและความเข้าใจที่มีต่อเรื่องราว  ดังนั้นปรากฎการณ์ที่เราประสบและเราคิดว่ามันเป็นความจริง อาจไม่ใช่ความจริงที่แท้ เป็นเพียงความจริงตามมุมมองของเรา

ถ้อยคำ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การพูดส่อเสียด การพูดให้ร้าย การพูดเท็จ ถือเป็นศีลข้อสำคัญในศีลห้า ที่เราพึงระลึกและให้ความสำคัญ  โดยไม่รู้ตัว การใช้ถ้อยคำที่แฝงการตีความ การให้คุณค่า จึงอาจทำร้ายเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ประเด็นนี้จึงเป็นแบบฝึกหัดสำคัญของการใช้ถ้อยคำที่เท่าทันถ้อยคำตัดสินเช่นนี้

กับดักที่สองคือ คำวิพากษ์ คำตัดสิน ที่มักสื่อสารออกมาผ่านการบ่นว่า ร้องเรียน ตำหนิ และรวมถึงการโวยวาย “มันไม่ถูกต้อง มันไม่ยุติธรรม” ก็ยิ่งทำให้เจ้าตัวไม่สามารถใช้พลังงานในตนเองเพื่อย้อนคิดนึกว่า เกิดอะไรขึ้นกับตนเอง กับจิตใจของตน  พลังงานถูกใช้ไปกับเรื่องภายนอกว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้รับสิ่งถูกต้อง  ดังนั้นความสับสนจึงเกิดขึ้นได้ง่าย หากว่าการเรียกหาความยุติรรมกระทำโดยไม่ผ่านการเรียนรู้และการทำงานต่อโลกภายในของตน แท้จริงเราต้องการอะไร ความถูกต้อง ความยุติธรรมนำไปสู่อะไร ที่ตอบสนองในจิตใจเรา

คำตอบคือ ความสุข ความมั่นคงในจิตใจ แต่นี่คือความสับสนระหว่างวิธีการกับเป้าหมาย  หลายคนมักมีความคาดหวังที่ขัดแย้งต่อความเป็นจริง นั่นคือเรากำลังเอาความสุข ความทุกข์ ไปแขวนติดกับความคาดหวัง ต่อสภาพภายนอก  การเรียกร้องหาความถูกต้อง ความยุติธรรมเช่นนี้ จึงทำให้เราขาดการเชื่อมโยงกับความรู้สึก ความต้องการที่แท้ของตนเอง  ความคาดหวังลักษณะนี้เกิดขึ้นเนื่องเพราะเราแต่ละคนมีความเชื่อบางอย่างซ่อนอยู่โดยมักไม่รู้ตัว ในกรณีนี้ก็คือ “ฉันมีความสุข ความพอใจต่อเมื่อโลกนี้ยุติธรรม ถูกต้องแบบที่ฉันต้องการ” ความเชื่อเช่นนี้เองทำให้เรามีมุมมองพร้อมคำตัดสินที่จะใช้กับเรื่องราวต่างๆ ที่พานพบ และก็ทำให้เราติดจมกับความทุกข์ใจไปด้วยดังที่เจ้าตัวแสดงออก

สิ่งสำคัญที่จะเท่าทันและเผชิญหน้ากับคำตัดสินในประเด็นนี้คือ การค้นหาและเท่าทันประโยคความเชื่ออื่นๆ ที่อาจมีและซ่อนอยู่ในตัวเรา  การทำงานกับโลกภายใน จึงเป็นฐานสำคัญของการรับมือกับคำตัดสินในการเท่าทันประโยคความเชื่อของตน

เราทุกคนล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการตัดสิน ทั้งในบทบาทของผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ เราถูกล้อมรอบด้วยคำตัดสินทั้งจากตัวเองและผู้อื่น

กรณีตัวอย่างที่พึงสำรวจมุมมองคำตัดสินที่เรามีให้กับตนเอง เช่น “เพราะเรื่องสุขภาพ ฉัน (เลือก) ไม่กินหวาน” กับข้อความ “เพราะเรื่องสุขภาพ หมอห้ามฉันกินหวาน” ปรากฏการณ์ที่คนอื่นรับรู้ต่อพฤติกรรมการกินหวานของเราอาจไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่แตกต่างคือ ฐานการตัดสินใจมีความแตกต่างคือ กรณีแรกมาจากความรับผิดชอบที่เรามีกับตนเอง ขณะที่กรณีหลังเรากระทำเนื่องเพราะอิทธิพลภายนอกกำกับเรา  การเผชิญหน้ากับคำวิพากษ์ตัดสินจึงมีจุดเริ่มที่ความรับผิดชอบกับความคิด ความรู้สึกของตนเอง  นี่คือการมีอิสระและการมีทางเลือกให้กับตนเอง ไม่ใช่การให้สิ่งภายนอกมากำกับ กำหนดสุข ทุกข์ของเรา

ยามที่เราเผชิญหน้ากับคำตัดสิน  ข้อพึงระลึกเบื้องแรกและสำคัญ คือ  ๑) ระลึกและเท่าทันตนเอง ด้วยการไม่นำตัวเองเข้าเป็นเหยื่อ หรือเข้าเป็นคู่กรณีกับคำวิพากษ์ตัดสิน  โจทย์ข้อนี้เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย เพราะถ้อยคำเหล่านี้มักมีแรงดึงดูดให้เรามักนำอัตตา ตัวตนเข้าไปแบกรับและปกป้องตัวตน  และ ๒) การค้นหาและมองให้ลึกถึงความรู้สึก ความต้องการที่แท้ที่ซ่อนอยู่ในคำวิพากษ์ตัดสินนั้นๆ  ตัวอย่างคำวิจารณ์ คำตัดสิน เช่น “เธอ ทำงานแย่มาก” สะท้อนความรู้สึกผิดหวังของผู้พูด พร้อมกับสะท้อนความต้องการความมีคุณภาพ ความรับผิดชอบ หรือประสิทธิภาพ ที่เป็นความต้องการของผู้พูด  แต่หากเรายึดถือคำพูดนี้เป็นเรื่องกรณีบุคคล เราย่อมมี มุมมองว่าเราถูกตำหนิ และนั่นก็นำไปสู่การปกป้องตนเอง มากกว่าการค้นหาสาระความหมายที่แท้

การเผชิญหน้ากับคำตัดสินเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่อาศัยการฝึกฝน เรียนรู้ เมื่อนั้นเราย่อมมีสันติกับสิ่งนี้ได้

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน