การเติบโต: เส้นทางสุข ทุกข์

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 5 สิงหาคม 2012

หลังจบอุดมศึกษา สมชายมีโอกาสได้เข้าทำงานในรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง  ความรู้สึกในใจของสมชายและญาติมิตรคือ นั่นเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ น่าพอใจ และมีความสุขจากการได้ทำงานในองค์กรที่มีความมั่นคง มีชื่อเสียง ค่าตอบแทนดี สามารถอวดโอ่ต่อคนภายนอกได้  แต่เมื่อสมชายทำงานไปได้สัก ๒ เดือน ความคิดเรื่องลาออกก็เริ่มผุดโผล่ขึ้น  บทบาทหน้าที่การงานดูไม่ต้องใช้ความรู้ที่เรียนมา เพราะเนื้อหาการงานคือ การทำงานที่ตอบสนองทุกความต้องการของผู้บริหาร หลากหลายความต้องการดูเป็นความต้องการส่วนตัวมากว่าขององค์กร  สมชายพบว่าชีวิตไม่ได้อยู่ในความควบคุมของตนเองสักเท่าไรนัก แต่ขึ้นกับว่าหัวหน้างานพอใจผลงานที่ทำมากน้อยเพียงใด ขณะที่ผลสำเร็จของงานก็ไม่ได้อยู่ในความควบคุมของสมชายสักเท่าไรนัก

บ่อยครั้งสมชายต้องเผชิญและอดทนกับโทสะของหัวหน้างาน ความเครียดและภาวะไร้สุขเริ่มก่อตัวและเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ  ลาออก คือคำตอบและทางเลือกที่ผุดขึ้นมา ขณะที่เสียงคัดค้านและทัดทานจากคนรอบข้างก็มากขึ้น แต่ปัญหาที่แท้ไม่ใช่เสียงคัดค้านของคนรอบข้าง แต่คือความกลัวและความไม่กล้าของสมชายเอง  กระทั่งความเครียด ความไร้สุขรุนแรงมากพอ และยาแก้ปวดในนามของการพยายามมองโลกแง่ดี คำปลอบใจไม่สามารถใช้ได้ผล ในที่สุดสมชายก็เข้มแข็งพอในการลาออก

เรื่องราวของสมชายคล้ายคลึงกับชีวิตการงานของหลายคน สมชายจึงเป็นใครก็ได้ที่ต่างมุ่งแสวงหาความสุข และหลีกเลี่ยงความทุกข์  เราทุกคนต่างมีเส้นทางของความสุข ความทุกข์ และเส้นทางชีวิตการงานก็เป็นเวทีทดสอบสนามใหญ่ มีรางวัลและบทลงโทษที่ทั้งชัดเจนและซับซ้อน

เริ่มแรก สมชายเริ่มต้นการงานด้วยความศรัทธาในผู้บริหารถึงความเป็นคนดี การมีน้ำจิตน้ำใจต่อสังคม รวมถึงคำยกย่องด้านความรู้ ความสามารถ  สมชายคาดหวังว่าตนจะได้ประโยชน์ในการเรียนรู้แบบอย่างชีวิตที่ดี แต่ภาพลักษณ์กับความจริงมีความแตกต่างกัน  ความศรัทธาเริ่มเสื่อมคลาย ความมุ่งมั่นเริ่มหดหาย ความกลัวและกังวลทำให้ปัญญาไม่สามารถแสดงตัวออกได้  พลังชีวิตถูกใช้เพื่อเอาตัวรอดและการแก้ตัวเพื่อความปลอดภัยและการปลอบใจยามถูกตำหนิ ดูหมิ่น  ความเครียดถูกหาทางออกด้วยการท่องเที่ยว ภาพยนตร์ เพื่อนฝูง และความเกียจคร้าน รวมถึงสิ่งมึนเมา เช่น สุรา เกม อินเทอร์เน็ต

สมชายพบว่าในช่วงนั้นชีวิตไร้ซึ่งพลังชีวิตโดยสิ้นเชิง หลายปีของการทบทวนจึงพบว่าชีวิตช่วงนั้นขาดไร้ซึ่งหลักธรรมสำคัญ คือ อินทรีย์ ๕ อันประกอบด้วยคู่ธรรมระหว่างศรัทธากับปัญญา วิริยะกับสมาธิ  คู่ธรรมเหล่านี้มีความสำคัญในลักษณะตรงข้าม กระนั้นก็มีความสำคัญในทางส่งเสริมและประสานกัน

ศรัทธา เป็นพลังความเชื่อที่นำมาซึ่งการกระทำ นำสติปัญญาไปสู่สิ่งที่คิดและเชื่อ ไม่ถูกบั่นทอนด้วยความลังเลสงสัย  ขณะที่ ปัญญา ก็เป็นหลักธรรมที่สร้างความสมดุลให้ความเชื่อนั้นไม่ใช่ความหลงงมงาย  พร้อมกับศรัทธาก็ช่วยสร้างความสมดุลให้กับปัญญาไม่ให้แก่กล้าจนกลายเป็นการหลงตน หรืออวดตน ปิดกั้นการเรียนรู้

สมาธิ คือองค์ธรรมที่ช่วยปกป้องให้พ้นจากความแส่ส่ายทางจิตใจจนหมดกำลังหรือไร้ทิศทาง สมาธินำให้เกิดความตั้งมั่น จดจ่อในการงาน กระนั้นสมาธิที่เข้มข้นเกินก็ทำให้เกิดความแช่นิ่งแข็งตัว  วิริยะ จึงเป็นองค์ธรรมให้เกิดความพากเพียร และนำพลกำลังของสมาธิมาใช้เพื่อก่อเกิดการงาน การขับเคลื่อน  สมาธิและวิริยะจึงเป็นคู่ปรับที่เสริมสร้างความสมดุลระหว่างพลังชีวิตที่ตั้งมั่น จดจ่อกับการงานที่ขับเคลื่อนไป  พร้อมกับหลักธรรม สติ ในฐานะองค์ธรรมที่มีบทบาทกำกับและสร้างความพอดีให้แต่ละองค์ธรรมไม่ล้นเกิน ไม่บกพร่อง เปรียบเหมือนการก้าวเดินของเท้าซ้ายและเท้าขวาที่ต้องมีความพอดี ประสาน ไม่เด่นเกินกว่ากัน

เส้นทางชีวิตการงานเป็นเวทีทดสอบสนามใหญ่ ซึ่งมีรางวัลและบทลงโทษที่ทั้งชัดเจนและซับซ้อน

สมชายพบว่า ๒ ปีของความอดทนกับภาวะไร้สุขก็ให้ผลดีกับชิวิต เหมือนได้ผ่านเบ้าหลอมของการเรียนรู้และค้นหาว่าเส้นทางชีวิตของตนต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร  และเพื่อสิ่งที่ปรารถนา อินทรีย์ ๕ คือองค์ธรรมที่มีบทบาทสำคัญ  ในแง่นี้ความสุข ความทุกข์ จึงไม่ต่างกับสองด้านของเหรียญเดียวกัน  ความสุขกลับเป็นความทุกข์เมื่อเราหลงยึดติดในสุข ความทุกข์อาจช่วยให้เราดิ้นรนหาความสุขที่แท้  กระนั้นหลายคนก็อาจพบว่าความสุขทำให้เรายิ่งหลงมัวเมา ความทุกข์ก็ยิ่งทำให้เราระบายและสร้างความทุกข์อื่นขึ้นมาแทน  องค์ธรรม อินทรีย์ ๕ จึงช่วยให้เราได้ตรวจสอบถึงความเชื่อที่ซ่อนอยู่ คุณภาพของปัญญาที่มีความตั้งใจ และความทุ่มเทที่อุทิศให้ในการงานนั้น

ความสุขเป็นพลังที่ทำให้ศักยภาพขององค์ธรรม ๕ ถูกใช้ได้เต็มที่ พร้อมกับเป็นกับดักให้เราเกียจคร้าน ประมาท  อีกทั้งความกลัวก็ทำให้เราไม่กล้าต่อสู้หรือเปลี่ยนแปลงใดๆ  ปัญหาของสมชายไม่ใช่ความต้องการความมั่นคง แต่คือการมีความกลัวและยึดกุมความกลัวจนไม่กล้าเปลี่ยนแปลง รวมถึงความเข้าใจผิดที่มุ่งมองว่าความมั่นคงอยู่ที่ภายนอก คือการงานที่ดี องค์กรที่มั่นคง  ความมั่นคงที่แท้อยู่ที่ภายในตน คือการมีจิตใจที่หนักแน่น มั่นคง กอรปด้วยสติปัญญา แต่คุณภาพเช่นนี้ก็ต้องอาศัยการเรียนรู้ ฝึกฝน บ่มเพาะ

ชีวิตให้ประสบการณ์และบทเรียนกับเราเสมอ รางวัลและบทลงโทษคือ ความสุข ความทุกข์ที่ได้รับ และทั้งสองสิ่งก็สามารถให้คุณและโทษกับชีวิตได้ไม่ต่างกัน การดำเนินชีวิตจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่เจ้าของชีวิตต้องดูแลและใส่ใจ อย่าปลอยเส้นทางชีวิตให้เป็นไปตามสิ่งเร้า สิ่งกระตุ้นจากภายนอกจนไร้ทิศทาง


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน