การเรียนรู้ยิ่งใหญ่จากน่องไก่ชิ้นเดียว

คะทาวุธ แวงชัยภูมิ 31 กรกฎาคม 2011

เช้าเมื่อวาน….

ท้องถนนยังคงพลุกพล่านเหมือนทุกวัน บนทางเท้าหน้าห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ย่านฝั่งธนฯ แห่งนั้น กลิ่นไก่ทอดคลุกเคล้าเขม่าควันพิษ โชยเข้ารูจมูกและเข้าไปทำปฏิกิริยากับน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร จนรู้สึกว่าได้เวลาอาหารเช้าแล้ว  เมนูยามเช้าของคนรีบเร่งอย่างผมทุกวัน คงหนีไม่พ้นข้าวเหนียวหมูทอดหรือไม่ก็ไก่ทอด มักจะเป็นอย่างนี้แทบทุกวัน

“…น้อง ๆ ขอคุยอะไรด้วยหน่อยได้มั้ย…”

คำพูดและท่วงท่าสะกิดแบบจู่โจมของชายแปลกหน้า ทำเอาผมตกใจและนิ่งงันอยู่พักหนึ่ง ก่อนมองซ้ายมองขวาเพื่อให้แน่ใจว่า ผมคือคู่สนทนาของเขาคนนั้น  ผมคิดว่าหลายคนคงเคยเจอเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้อยู่บ่อยๆ ช่วงขณะนั้นความคิดบวกกับภาพประสบการณ์เดิมมันโผล่ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ  ถ้าลักษณะอย่างนี้ เดี๋ยวก็คงขอเงินค่ารถกลับต่างจังหวัด หรือไม่ก็กำลังจะไปหาญาติแต่ไม่มีสตางค์ค่ารถ หรือแม้แต่ภาพของผู้หญิงอุ้มเด็กทารกเดินตามทางเท้า เที่ยวขอเงินกับคนที่เดินผ่านไปมา โดยอ้างว่าจะเอาไปซื้อนมให้กับเด็ก  ภาพเหล่านั้นมันแวบขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จำได้ว่าผมก็ควักเงินในกระเป๋าให้ไปแทบทุกครั้ง แล้วก็กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า เมื่อสักครู่เราโดนเขาหลอกหรือเปล่านะ? ทำไมผู้หญิงคนนั้นไม่ให้น้ำนมตัวเองกับเด็กทารกคนนั่นล่ะ? หรือคำถามอื่นๆมากมาย มันทำให้ผมไม่มั่นใจและไม่สบายใจกับการที่จะช่วยเหลือคนเหล่านั้น

“น้องนี่…ใช่คนอีสานหรือเปล่า..?”

เขารีบปล่อยประโยคที่สองออกมา ด้วยการถามถึงภูมิลำเนา เหมือนกำลังหาอะไรที่เรามีร่วมกันสักอย่าง  เป็นคนอีสานแล้วยังไง? ผมคิดถามในใจแต่ยังไม่ได้พูดอะไรออกมา เพียงแต่รอฟังสิ่งที่เขาต้องการ รอฟังว่าเขาจะขอเงินเหมือนครั้งก่อนๆ ที่เคยเจอมาหรือเปล่า  แล้วเขาก็คุยต่อไปด้วยน้ำเสียงตัดพ้อว่า คนแถวนี้ไม่มีใครยอมคุยกับเขาเลยแม้แต่คนเดียว  ผมคิดว่าความหมายของคำว่า “คนแถวนี้” ของเขา คงหมายถึงคนกรุงเทพฯ หรือคนภูมิภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาคอีสาน  ผมยังนิ่งเงียบไม่ตอบคำถามทั้งที่ผมก็เป็นคนอีสานอย่างที่เขาเข้าใจ ด้วยเหตุผลเพียงเพราะไม่อยากให้เขาคิดเหมารวมเอาว่าคนกรุงเทพฯ ทุกคนหรือคนที่อื่นๆ ทุกคนเป็นคนแล้งน้ำใจ

ลักษณะอย่างนี้ เดี๋ยวก็คงขอเงินค่ารถกลับต่างจังหวัด หรือไม่ก็กำลังจะไปหาญาติแต่ไม่มีสตางค์ค่ารถ

“พี่จะไปหาญาติที่บางบัวทอง (เห็นมั้ยล่ะ..ผมคิดไว้ไม่ผิด…จะขอเงินใช่มั้ยล่ะ?) กะว่าจะไปขึ้นรถเมล์ฟรีฝั่งตรงข้ามโน่น” เขาชี้มือไปทางอีกฟากหนึ่งของถนน

“แต่ที่จะขอความช่วยเหลือจากน้องไม่ใช่จะมาขอเงินอะไรหรอกนะ” เขาค่อยๆ ชี้แจงพร้อมกับจ้องมองสิ่งของที่ผมถืออยู่ในมือ

“คือ…พี่หิวข้าว ว่าจะรบกวนขอข้าวน้องกินสักมื้อ พอจะได้มั้ย..?”

ผมเริ่มประมวลคำพูดและท่าทางของเขาอย่างรวดเร็ว มีแวบหนึ่งที่นึกถึงภาพอดีตในเรื่องการขอกันกินของคนอีสานบ้านเกิด ที่เคยเห็นและเคยมีประสบการณ์เมื่อตอนเป็นเด็ก คราวที่ขอติดสอยห้อยตามพ่อไปตระเวนหาซื้อของแตกของฮ้าง หรืออาชีพรับซื้อของเก่าที่เรารู้จักกันนั่นเอง  บางครั้งพ่อจะพาผมไปขอข้าวเหนียวนึ่งจากชาวบ้าน ด้วยข้อจำกัดที่ต้องพเนจรร่อนเร่ไป ค่ำไหนนอนนั่น ทำให้ไม่สะดวกที่จะหุงหาอาหารกินเอง  หรือด้วยเหตุผลที่วันนั้นการค้าการขายไม่สู้ดี ไม่มีเงินพอที่จะซื้อข้าวกินในมื้อนั้น ก็อาศัยน้ำใจจากพี่น้องบ้านอื่นเป็นข้าวเหนียวปั้นใหญ่ แถมบางครั้งก็จะมีปลาย่างหรือน้ำพริกปลาร้าติดไม้ติดมือกลับมาด้วย

ภาพความทรงจำเก่าๆ นั่นเอง ที่ช่วยผมตัดสินใจในการจะช่วยเหลือชายแปลกหน้าคนนั้น

“ผมยกนี่…ให้พี่แล้วกัน”

นั่นเป็นประโยคแรกที่หลุดออกมาจากปากของผมตลอดช่วงเวลาสั้นๆ ที่ได้แต่ยืนฟังอย่างเดียว พร้อมกับยื่นถุงข้าวเหนียวไก่ทอดที่ตั้งใจจะซื้อไปกินเองให้กับชายคนนั้น  แต่เขากลับยกมือปฏิเสธทันที โดยให้เหตุผลว่าการกระทำเช่นนี้เปรียบเสมือนการแย่งของกันกิน ถึงเขาจะขอแต่ก็ไม่ได้แย่งของใครกิน

“ไม่ได้หรอก ทำอย่างนี้มันเป็นการแย่งของกันกินชัดๆ”

ผมไม่เข้าใจความหมายของเขาหรอก การขอกับการแย่ง มันคนละเรื่องกัน  ผมยินดีที่จะให้แล้วแต่เขากลับไม่รับ แล้วตกลงเขาต้องการอะไรกันแน่  ในหัวผมเริ่มกลับมาคิดถึงเรื่องขอเงินอีกครั้ง เขาคงอยากจะได้เงินมากกว่า อาจจะเอาเงินไปซื้อเหล้า เขาคงไม่ได้หิวข้าวจริงๆหรอก….

แต่ความคิดแบบนั้นของผมก็พลันสลายหายไปในทันที เมื่อเขาบอกว่า เขามีข้าวเหนียวติดกระเป๋ามาแต่เมื่อคืน อยากได้แค่กับข้าวสักอย่างเท่านั้นเอง  ผมตั้งใจว่าจะซื้อไก่ทอดให้เขาใหม่ คิดไว้ว่าจะซื้อสองชิ้น ที่ต้องเป็นสองชิ้นก็ด้วยเหตุผลเอาตัวเองเป็นมาตรฐานนั่นเอง น่องไก่ทอดสองชิ้น ชิ้นละสิบสองบาท สำหรับผมแล้วมันเป็นจำนวนที่จะพอดีอิ่ม และผมก็ได้สั่งแม่ค้าไปตามนั้น

ขณะที่แม่ค้ากำลังเลือกหยิบไก่ทอดและกำลังจะสับเป็นชิ้นๆ ชายคนนั้นเดินเข้ามาสะกิดและพูดกับผมเบาๆ ว่า….

“แค่นี้ก็ขอกันมากเกินไปแล้ว ผมขอแค่ชิ้นเดียวก็พอ”

แค่คำพูดนี้เอง ที่ทำให้ผมเกิดอาการคล้ายๆ ปิ๊งแวบ แต่ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร  ที่รู้คือ มันทำให้ผมได้คลี่คลายความคิดที่ติดอยู่ในหัวมานาน มันเป็นความคิดที่ทำให้ผมไม่สบายใจทุกครั้งที่จะช่วยเหลือคนอย่างผู้ชายคนนี้ ที่ผมเคยเรียกว่า พวกคนช่างขอ หรือคนอื่นๆที่ผมไม่รู้จัก  วันนั้นมีความสุขและอิ่มอยู่กับความรู้สึกนั้นทั้งวัน ไม่ใช่จากการได้ช่วยเหลือผู้ชายคนนั้น แต่เป็นเรื่องจากการได้คลี่คลายความคิดพิพากษาคนอื่น ซึ่งเท่าที่นึกย้อนกลับไปแค่เพียงเหตุการณ์เดียว ผมตัดสินชายคนนั้นไม่รู้กี่เรื่องแล้ว

ในชีวิตแต่ละวัน เราอาจจะตัดสินคนอื่นอยู่หลายๆ ครั้งหรือตลอดเวลา ในขณะที่คนอื่นก็คงตัดสินเราด้วยเช่นกัน ตัดสินจากรูปร่าง หน้าตา จากสำเนียงภาษา หรือจากประสบการณ์เดิม  การคิดตัดสินอย่างนี้บางทีมันก็ทำให้เราเข้าใจคนอื่นคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามความเป็นจริง แล้วมันยังย้อนกลับมาทำให้เราทุกข์ใจ เพราะต้องกลับมาคิดว่าเราโดนหลอกหรือเปล่า  ด้วยการคิดอย่างนี้เองที่ทำให้ผมพลาดโอกาสที่จะยืนมือเข้าไปช่วยเหลือคนอื่นด้วยความหวาดระแวง และจบลงด้วยการตัดสินเขาเหล่านั้นไปต่างๆ นานา

ผมนึกขอบคุณชายคนนั้นจริงๆ ที่ทำให้ผมได้เรียนรู้สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า การวางใจ  วางใจจากอคติและการด่วนตัดสินผู้อื่น พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เคยบอกไว้เสมอว่า “เราเลือกที่จะมีความสุขได้ ถ้าเราวางใจเป็น”


ภาพประกอบ

คะทาวุธ แวงชัยภูมิ

ผู้เขียน: คะทาวุธ แวงชัยภูมิ

การเขียนหนังสือทำให้ผมอยากอ่านหนังสือ แต่ในที่สุดผมก็ได้อ่านมากกว่าได้เขียน อ่านเพื่อจะเขียนให้ได้มากกว่านี้