กุญแจแก้ปัญหาความยากจนในชนบท

พระไพศาล วิสาโล 19 มีนาคม 2005

รัฐบาลกำลังจะทุ่มเงินอีกหลายหมื่นล้านให้ชาวบ้านทั่วประเทศตามนโยบายแก้ปัญหาความยากจน พื้นฐานของนโยบายนี้ก็คือความคิดที่ว่าชาวบ้านยากจนเพราะขาดเงิน  ความคิดเช่นนี้จะว่าไปก็ไม่ผิด แต่ที่จริงแล้วสิ่งที่ชาวบ้านขาดจริงๆ จนเป็นเหตุให้ยากจนก็คือ การขาดความไว้วางใจกัน  ขาดเงินนั้นยังพอจะระดมหามาได้ แต่ถ้าขาดความไว้วางใจกันแล้ว มีเงินเท่าไรก็หมด

การขาดความไว้วางใจกันทำให้ชาวบ้านไม่สามารถร่วมมือกันได้ และเมื่อร่วมมือกันไม่ได้ก็จมปลักอยู่ในความยากจน หรืออาจจะยากจนยิ่งกว่าเดิม  ตัวอย่างเช่น การรักษาป่า ชาวบ้านทุกคนรู้ว่าป่านั้นมีประโยชน์ต่อหมู่บ้าน แต่ทำไมจึงมีการตัดไม้ทำลายป่าไม่หยุดหย่อน  ทำไมชาวบ้านจึงไม่ช่วยกันรักษาป่า คำตอบก็คือเพราะชาวบ้านขาดความไว้วางใจกัน ไม่มีใครอยากจะรักษาป่าเพราะรักษาไปแล้วก็กลัวว่าคนอื่นจะมาชุบมือเปิบ ต่างคนต่างคิดว่าฉันจะรักษาป่าทำไมในเมื่อคนอื่นจ้องจะมาตัด สู้อยู่เฉยๆ ไม่ดีหรือ หนักเข้าก็ร่วมตัดกับเขาด้วย เพราะเห็นคนอื่นตัด ฉันจะอยู่เฉยๆ ทำไม

บางทียังไม่มีใครมาตัดเลย แต่ฉันก็ขอตัดก่อนเพราะคิดว่า “ถึงฉันไม่ตัด คนอื่นก็ตัดอยู่ดี” การคิดแบบนี้ทำให้ไม่มีใครสนใจที่จะช่วยรักษาทรัพยากรของส่วนร่วม ไม่ใช่แค่ป่าไม้เท่านั้น แต่รวมถึงแม่น้ำลำคลอง ตลอดจนเงินของส่วนรวม  ใครที่ดูแลเงินของส่วนรวม ก็คิดแต่จะโกง เพราะมองว่าคนอื่นก็จ้องจะโกงอยู่แล้ว ฉันจะอยู่เฉยๆ ทำไม “ถึงฉันไม่โกง คนอื่นก็โกงอยู่ดี” ก็เลยลงมือโกงเสียเลย กรรมการคนอื่นก็คิดแบบนี้ จึงโกงไปด้วยกัน

ในทำนองเดียวกันชาวบ้านก็คิดแบบนี้ด้วย ดังนั้นเมื่อกู้เงินไปแล้วจึงไม่ยอมคืน เพราะคิดว่าถึงฉันคืนให้กองกลาง กรรมการก็โกงเข้ากระเป๋าตัวเองอยู่ดี ก็เลยขอโกงด้วย  ความไม่ไว้วางใจกันแบบนี้ทำให้การระดมเงินเพื่อส่วนรวมเป็นไปได้ยาก เพราะชาวบ้านกลัวว่าพอให้ไปแล้วกรรมการจะโกง หรือไม่ก็กลัวว่าคนอื่นจะไม่ให้ แล้วเรื่องอะไรฉันจะไปให้อยู่คนเดียว

กองทุนต่างๆ ในหมู่บ้าน เช่น กองทุนฌาปนกิจ ตั้งได้ไม่นานก็เพราะแบบนี้ เนื่องจากต่างคนต่างกลัวว่าคนอื่นจะโกง ไม่จ่ายเงินสมทบ ก็เลยไม่ยอมจ่ายบ้าง  ในทำนองเดียวกันเวลาจะระดมชาวบ้านมาช่วยทำงานของส่วนรวม เช่น สร้างถนน ซ่อมสะพาน ผู้คนก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ส่วนหนึ่งก็เพราะเห็นว่าถึงฉันไม่ไปช่วย ฉันก็ได้ประโยชน์อยู่ดี  อีกส่วนหนึ่งไม่ไปช่วยก็เพราะคิดไปก่อนแล้วว่าจะมีคนคอยกินแรง ก็เลยไม่อยากเป็นฝ่ายเสียเปรียบ จึงอยู่กับบ้านเฉยๆ  เป็นเพราะระแวงกันแบบนี้ฉะนั้นชาวบ้านจึงรวมกันทำอะไรไม่ค่อยได้

เท่านั้นยังไม่พอ นอกจากจะไม่ร่วมมือกันทำประโยชน์ส่วนรวมแล้ว ยังร่วมกันทำลายทรัพยากรของส่วนรวมด้วย ของดีๆ จึงไม่เหลือ แม้แต่เห็ดหรือหน่อไม้ในป่า ถ้าเห็นเมื่อใดก็รีบเก็บจนหมด ไม่เหลือให้คนอื่น  ถามว่าทำไมไม่เก็บแค่พอกินเหมือนแต่ก่อน คำตอบก็คือเพราะไม่ไว้ใจคนอื่นว่าจะเก็บแค่พอกินด้วยหรือเปล่า ถ้าฉันเก็บแค่พอกิน แต่คนอื่นกวาดเอาไปขาย จะยอมได้อย่างไร เพราะฉะนั้นฉันก็ต้องกวาดเอาไปเหมือนกัน เรื่องอะไรจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ  เมื่อคิดแบบนี้กันทุกคน หน่อไม้หรือเห็ดจึงไม่หมดไปอย่างรวดเร็ว

ความไม่ไว้วางใจกันทำให้ชาวบ้านไม่สามารถร่วมมือกันทำสิ่งดีๆ ได้ กลับทำให้ชาวบ้านคิดแต่จะโกงหรือนึกถึงตัวเองอย่างเดียว  เมื่อไม่คิดจะร่วมมือ คิดแต่จะโกงหรือหาประโยชน์ส่วนตัว ทรัพยากรส่วนร่วมจึงมีแต่จะหมด หมู่บ้านจึงยากจนลงทุกที

การขาดความไว้วางใจกันทำให้ชาวบ้านไม่สามารถร่วมมือกันได้ และเมื่อร่วมมือกันไม่ได้ก็จมปลักอยู่ในความยากจน หรืออาจจะยากจนยิ่งกว่าเดิม

ในทางตรงกันข้าม หากชาวบ้านมีความไว้วางใจกันแล้ว เงินก็หามาได้ไม่ยาก ดังจะเห็นได้ว่ามีหลายหมู่บ้านที่สามารถระดมเงินออมจากชาวบ้านได้นับสิบล้านบาทในชั่วเวลาไม่กี่ปี ดังชาวบ้านในตำบลน้ำขาว อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีครูชบ ยอดแก้วเป็นผู้นำ หรือในอีกหลายหมู่บ้านโดยการนำของพระสุบิน ปณีโต แห่งจังหวัดตราด  ความไว้วางใจดังกล่าวเกิดขึ้นได้มิใช่จากการเทศนาสั่งสอนของพระหรือผู้ใหญ่บ้าน แต่เกิดจากการได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ได้แก่กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ (หรือกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์)

กิจกรรมดังกล่าวแม้ทีแรกชาวบ้านจะเข้าร่วมด้วยความไม่แน่ใจในสมาชิกด้วยกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานก็มีความไว้วางใจกัน ส่วนหนึ่งก็เพราะกลุ่มมีกลไกในการป้องกันและจัดการกับคนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ เช่น ยืมแล้วไม่คืน  เมื่อกลไกดังกล่าวทำงานได้ดีเพราะมีผู้นำที่เข้มแข็งและเสียสละ ความไว้วางใจในเพื่อนสมาชิกด้วยกันก็เกิดขึ้น  เมื่อแน่ใจว่าเงินที่ลงไปไม่มีวันสูญแน่ ชาวบ้านก็เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกมากขึ้น  และยิ่งกลุ่มเติบโตมีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น ไม่เพียงแต่มีเงินปันผลให้สมาชิก แต่ยังสามารถจัดสรรสวัสดิการให้แก่สมาชิกได้อย่างทั่วถึง ชาวบ้านก็ยิ่งมีความมั่นใจที่จะร่วมกันทำงานที่ใหญ่ขึ้นและยากกว่าเดิมได้  ผลที่ตามมาอย่างหนึ่งก็คือการลักขโมยและทะเลาะวิวาทในชุมชน ตลอดจนปัญหายาเสพติดลดลงอย่างมาก เนื่องจากชาวบ้านมีความสามัคคีกัน

หัวใจสำคัญของการแก้ไขความยากจนในระดับชุมชนก็คือ การได้ทำกิจกรรมร่วมกัน จนชาวบ้านเกิดความไว้วางใจกันและตระหนักถึงพลังแห่งการรวมกลุ่ม  น่าเสียดายที่สิ่งนี้ไม่ได้รับความสำคัญจากรัฐบาล ดังเห็นได้ว่ากองทุนหมู่บ้านก็ดี การจดทะเบียนคนจนก็ดี ไม่มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มหรือร่วมมือกัน แต่ให้ชาวบ้านเข้าร่วมในลักษณะปัจเจกบุคคล ต่างคนต่างยืม ต่างคนต่างจดทะเบียน เป็นต้น

ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลน่าจะทำควบคู่กับการกระจายเงินให้ชาวบ้านก็คือ การส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มทำงานร่วมกัน  นอกจากการส่งเสริมกิจกรรมที่ชาวบ้านริเริ่มกันเอง เช่น กลุ่มสัจจะออมทรัพย์แล้ว ควรสนับสนุนให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรของชุมชน ไม่ว่าดิน น้ำ หรือป่า ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้าน  ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน ที่ค้างมาหลายปี ควรเร่งผลักดันให้เป็นกฎหมายเสียที

จะว่าไปแล้วความไม่ไว้วางใจมิใช่เป็นแค่ตัวการทำให้ชาวบ้านยากจนเท่านั้น หากยังสามารถทำให้ประเทศถึงกับล่มจมได้ด้วย  ดังจะเห็นได้ว่า สาเหตุที่เมืองไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อ ๘ ปีก่อน ไม่ใช่เพราะขาดเงิน แต่เป็นเพราะขาดความน่าเชื่อถือ กล่าวคือต่างชาติไม่มีความไว้วางใจในเศรษฐกิจไทย รวมทั้งไม่ไว้ใจธนาคารและสถาบันการเงินทั้งหลาย เนื่องจากมีการคอร์รัปชั่นและเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง จึงแห่ถอนเงินกลับประเทศทำให้ค่าเงินบาทดิ่งลงเหว ทั้งหมดนี้เป็นเพราะประเทศไทยไม่ได้รับความไว้วางใจจากนานาชาติ

ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำมีหลายคนกล่าวว่า ไม่มีเงินยังพอว่า แต่ถ้าไม่มีเครดิต ก็หมดทุกอย่าง  เครดิตคือความน่าเชื่อถือ ความน่าไว้วางใจ  ไม่ว่าในระดับประเทศหรือระดับชุมชน ความไว้วางใจและความน่าไว้วางใจเป็นสิ่งสำคัญ  เศรษฐกิจของประเทศจะเจริญต่อเมื่อนานาประเทศไว้วางใจฉันใด หมู่บ้านจะหายจนก็ต่อเมื่อชาวบ้านมีความไว้วางใจกันฉันนั้น


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา