ขอทาน ให้ทาน

พระวิชิต ธมฺมชิโต 23 ธันวาคม 2012

ขอทานเป็นเรื่องที่พูดถึงกันมากเรื่องหนึ่งเมื่อจะเดินทางไปอินเดีย มักมีคำเตือนทั้งจากหัวหน้าทัวร์และผู้ที่มีประสบการณ์เคยไปมาแล้วว่า อย่าให้เงินขอทานเพราะอาจถูกรุมทึ้งรุมแย่งจนได้รับบาดเจ็บทั้งฝ่ายผู้ให้และผู้รับ (เพราะแย่งกันเอง) แต่ก็มีหลายคนก็อดใจไม่ได้ที่จะให้

ส่วนจะมีเทคนิคการให้อย่างไรที่จะไม่ถูกรุมทึ้ง หรือการเลี่ยงไม่ให้ถูกตามตื๊ออย่างไรนั้น เชื่อว่าผู้ที่จะไปคงได้ข้อมูลกันพอควรแล้ว  แต่เรื่องที่ผู้เขียนอยากชวนให้พิจารณาก็คือความรู้สึกสงสารอยากให้เงินแก่ขอทานนั้น เป็นธรรมชาติในความกรุณาของมนุษย์หรือเป็นวัฒนธรรมที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาในหมู่คนไทยเราเท่านั้น

หลายคนเห็นว่าความกรุณาหรือการมีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ที่ทุกข์ยากนั้น น่าจะเป็นเรื่องธรรมชาติที่มีมาในสัญชาตญาณของมนุษย์ เพราะเราพบเห็นการร่วมมือช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความทุกข์ภัยได้ในทุกยุคสมัยและทุกพื้นที่ ซึ่งอาจรวมถึงในสัตว์บางชนิดด้วย

ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น แต่ด้วยความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ ธรรมชาติหรือสัญชาตญาณพื้นฐานของเราทั้งหลายนั้น มักได้รับการปรับปรุงพัฒนาขึ้นอีกชั้นหนึ่งให้สอดคล้องกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม และความเชื่อพื้นฐานของคนในพื้นที่นั้น เช่นเดียวกับอาหารที่ทุกคนต้องกินแต่เราก็พัฒนากันขึ้นจนกลายเป็นวัฒนธรรมการกินที่แตกต่างหลากหลาย

เมื่อความกรุณาอยากช่วยเหลือผู้ที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก ได้ถูกฉาบเคลือบไว้ด้วยมิติทางวัฒนธรรม ทำให้การช่วยเหลือของคนในแต่ละท้องถิ่นมีลักษณะที่แตกต่างกันไป เช่น อย่างไรเรียกว่าเป็นการช่วย/ไม่ช่วย ช่วยแบบไหนดี/ไม่ดี ควรช่วยใคร/ไม่ควรช่วยใคร ควรช่วยตอนไหน/ไม่ช่วยตอนไหน ฯลฯ

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงไม่ควรตำหนิที่คนจากประเทศอื่นที่ไม่ให้เงินขอทานทั้งๆ ที่ร่ำรวยเงินทอง เพราะหลายคนไม่ใช่คนที่ไร้ความกรุณา เพียงแต่วัฒนธรรมได้หล่อหลอมให้เรามีความรู้สึกต่อความทุกข์ของผู้อื่นต่างกัน เขาอาจทนไม่ได้ต้องโวยวายช่วยเหลือคนที่ถูกเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม ในขณะที่เราแค่ยืนดูเฉยๆ หรือการที่เขาทุ่มเททั้งเงินทั้งเวลาเพื่อช่วยเหลือคนที่ได้รับภัยพิบัติ ดังเช่นกรณีครั้งเกิดสึนามิ ที่คนไทยเราเองยังทุ่มเทได้ไม่เท่ากับเขา

หลายคนสรุปว่าเพราะคำสอนในพระพุทธศาสนา คนไทยจึงนิยมให้เงินขอทาน แต่เมื่อเราเดินทางไปยังดินแดนพุทธภูมิจะพบว่า ชาวพุทธชาติอื่นแม้จะเป็นฝ่ายเถรวาทเหมือนกับเรา ไม่ว่าศรีลังกา พม่า กัมพูชา หรือลาว เขาก็ไม่ได้ถูกขอทานมารุมล้อมขอเหมือนกับกลุ่มชาวพุทธไทย เพราะโอกาสจะได้รับทานจากผู้แสวงบุญเหล่านั้นน้อยกว่ามาก

ก่อนจะไปตำหนิคนจากประเทศอื่นที่ไม่ให้เงินขอทาน เราควรพิจารณาดูว่า “ความรู้สึกสงสารอยากให้เงินขอทาน” นั้นเป็นความกรุณาตามธรรมชาติของมนุษย์ หรือเป็นวัฒนธรรมเฉพาะในหมู่คนไทยเราเท่านั้น

แน่นอนว่าเรื่องการให้ทานอันเป็นบุญกิริยาวัตถุพื้นฐานของชาวพุทธ ที่คงไม่ได้ถูกละเลยในหมู่ชาวพุทธเพื่อนบ้านของเราเหล่านั้น แต่ในวัฒนธรรมไทยเรามีเหตุปัจจัยอีกหลายอย่างมาทำให้ความเข้าใจเรื่องการทำทาน ความรู้สึกต่อขอทาน และวิธีการให้ทานแตกต่างไปจากชาวพุทธเพื่อนบ้าน

เราจึงเห็นว่าการให้เงินกับเด็กๆ กับวณิพก ขอทาน หรือการใส่เงินลงในบาตร (ที่เขาใส่เงินล่อไว้แล้วนิดหน่อย) ที่ใครก็ไม่รู้เอามาตั้งไว้หน้าพวกเราตอนสวดมนต์หรือนั่งสมาธิภาวนา หรือแม้กระทั่งให้กับผู้ที่แต่งตัวเป็นพระยืนหรือนั่งถือบาตรอยู่ในบริเวณที่เราเดินผ่านนั้น เป็นสิ่งที่ดีงามและได้บุญ

แต่พอเราซื้อมะขามป้อมจากชาวบ้าน หรือดอกไม้จากเด็กๆ ที่เก็บมาขายแพงกว่าคนอื่น ๕ หรือ ๑๐ รูปี เรากลับไม่รู้สึกว่าได้ช่วยเหลือเขา แต่รู้สึกโกรธหรือเสียเปรียบ  ทั้งๆ ที่พวกเขาได้ทำสิ่งที่สอดคล้องกับหลักการของพุทธศาสนามากกว่า คือ รู้จักพากเพียร ทำงานลงแรงแลกกับสิ่งที่ตนต้องการ ไม่ใช่แค่การวิงวอนร้องขอความกรุณาจากผู้อื่น

แน่นอนว่าขณะให้เงินขอทาน ถ้าเรามีใจกรุณา (ไม่ใช่ให้ด้วยความรู้สึกรำคาญ) ให้แล้วเห็นเขายิ้ม เรายินดีที่ได้ให้ การให้ขณะนั้นก็เป็นกุศลกรรมเราก็ได้บุญ

แต่เมื่อเราทำเช่นนั้น เราก็มีส่วนร่วมรับผิดชอบในผลสืบเนื่อง (วิบาก) ที่ตามมาด้วย นั่นคือ การที่ผู้แสวงบุญชาวไทยจะถูกรุมล้อมจากขอทานมากกว่าชาติอื่น ซึ่งทุกวันนี้กระจายตัวไปทุกที่ที่คนไทยไป ทั้งวัดไทย โรงแรมที่คนไทยพัก ร้านอาหารที่เราแวะ ห้องน้ำที่เราไปใช้ บางที่ถึงกับปักหลักรออยู่ที่รถบัสคันที่คนไทยใช้เดินทาง

ผลที่ตามมาต่อจากนั้นคือ เรามีเวลาสักการะสังเวชนียสถานน้อยลงเพราะเสียเวลาไปกับขอทาน และยังทำให้มีขอทานมากขึ้นทุกปี  และผลที่หลายท่านคาดไม่ถึงคือ การให้ทานของเรานั้นทำให้เด็กๆ ที่อยู่ใกล้สถานที่สำคัญทั้งหลายไปโรงเรียนน้อยลง

ขณะที่ผู้เขียนและคณะพระที่ร่วมโครงการศึกษาและปฏิบัติเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ ไปทัศนศึกษาที่วัดบุพพาราม ที่นางวิสาขามหาอุบาสีกาสร้างถวายที่เมืองสาวัตถี แม้ไม่มีขอทานเพราะผู้แสวงบุญไม่ค่อยได้เข้าไปเนื่องจากเดินทางลำบาก แต่ก็พบขอทานมือสมัครเล่นคือเด็กๆ ในหมู่บ้านเกือบ ๒๐ คน ที่มารอขอเงินอยู่  เหตุการณ์ไม่คาดคิดว่าจะได้พบคือ มีครูและนักเรียนจากโรงเรียนใกล้ๆ มายืนถือป้ายรณรงค์ ร้องตะโกนอะไรสักอย่าง สอบถามภายหลังจึงรู้ว่ามาเรียกร้องชักชวนให้เด็กๆ ที่มารอขอเงินนั้นไปเรียนหนังสือ

วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ปรับปรุงพัฒนาได้เรื่อยๆ ถ้าการทำทานของเราเป็นเหตุให้เกิดผลที่ว่ามา น่าจะถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาทบทวนวัฒนธรรมการให้ทานกันใหม่ เพื่อเกื้อหนุนแก่คนที่ควรช่วยเหลือ (เช่น อุตส่าห์ไปเก็บดอกไม้มาขาย) ไม่เป็นสมุทัยแห่งทุกข์ของผู้แสวงบุญผู้มาทีหลัง รวมทั้งไม่เป็นเหตุให้เด็กน้อยขอทานมือสมัครเล่นทั้งหลาย ทิ้งการเรียนไปเป็นขอทานมืออาชีพต่อไป

ไปทำทานถึงแดนพุทธภูมิทั้งที ทานของเราควรจะเป็นทานที่บริสุทธิ์ และได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดกับโลกใบนี้อีกแรง