“ขอบคุณค่ะ”

“ขอบคุณครับ”

คำพูดแรกๆ ที่เรามักถูกสอนให้พูดตั้งแต่ยังไม่ทันจำความได้ เพื่อแสดงความรู้สึกขอบคุณ รู้สึกสำนึกในความช่วยเหลือเกื้อกูลที่ใครสักคนหยิบยื่นสิ่งดีๆ ให้  แต่พอโตขึ้นมา คำเดียวกันนี้ ถูกบอกสอนให้เป็นคำพูดติดปากไว้ เพื่อแสดงถึงการเป็นคนมีมารยาท ใครทำอะไรให้ ก็ให้รู้จักขอบคุณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยขนาดขยับที่นั่งให้ ช่วยส่งของให้ หรือกระทั่งการช่วยเหลือในสิ่งที่ยิ่งใหญ่

ไม่แน่ใจว่า “ขอบคุณ” เป็นหนึ่งในคำพูดที่พร่ำพูดกันบ่อยที่สุด กำลังถูกใช้ให้ทำหน้าที่สื่อความหมายที่พร่ำเพรื่อเกินไปหรือไม่ ทุกครั้งที่คำว่า “ขอบคุณ” หลุดออกจากปาก ความรู้สึกภายในของเรา ณ ขณะนั้นตรงกับความหมายของคำๆ นี้หรือไม่ ส่วนใหญ่เราอาจพูดออกไปด้วยความเคยชิน หรือเป็นมารยาทสังคมมากกว่า

ความรู้สึกขอบคุณ ที่เป็นสำนึกจากความรู้สึกที่แท้จริง มักเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก หรือหากเกิดขึ้นจริง บ่อยครั้งเรากลับรู้สึกว่า คำว่า “ขอบคุณ” มันน้อยเกินไป “ขอบคุณ” ไม่สามารถทดแทนความรู้สึกข้างใน ที่เปี่ยมล้นไปด้วยความซาบซึ้งใจในการได้รับความช่วยเหลือ

การเกื้อกูลกันของคนเดินทาง ที่บ่อยครั้งแค่คนผ่านมาแล้วก็จากไป แต่ความช่วยเหลือกันอย่างไม่หวังการตอบแทนใดๆ ก็ทำให้เราซาบซึ้งตื้นตันใจจนเกินเลยคำว่า “ขอบคุณ”  เช่นเพียงคนแปลกหน้าสักคนที่เราแค่แวะถามทาง แต่เขาคนนั้นกลับสละเวลาพาเราไปส่งถึงที่หมาย คำว่า “ขอบคุณ” ก็เหมือนจะไม่ค่อยพอกับน้ำใจของคนแปลกหน้า  หรือใครบางคนรับฟังเรื่องทุกข์ร้อนของเราอย่างเข้าใจ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พร้อมทั้งหาทางออก ชี้ทางสว่างให้เราคลี่คลายจากความทุกข์ร้อนนั้นๆ การเกิดความรู้สึกถึงบุญคุณนั้น ก็มักจะเกินเลยกว่าคำว่า “ขอบคุณ” อีกเช่นกัน

ชายหนุ่มขับรถไปบนหนทางห่างไกล ได้แวะข้างทางรับหญิงชรากับเด็กไปส่งให้ถึงโรงพยาบาล ในวันที่เด็กน้อยป่วยไข้ ลองคิดว่า กว่ายายหลานคู่นี้จะพากันไปขึ้นรถที่ท่ารถ และกว่าจะไปถึงโรงพยาบาลอำเภอ คงใช้เวลาไม่ต่ำว่า 4-5 ชั่วโมง ซึ่งเด็กจะต้องทนพิษไข้อยู่อย่างนั้น เขาจึงตัดสินใจขับรถไปส่งให้แม้จะอยู่นอกเส้นทางก็ตาม  ยายหลานคู่นี้คงมีเพียงคำ “ขอบคุณ” ที่พูดซ้ำๆ และเมื่อชายแปลกหน้าจากกันไป อาจคิดไปว่านั่นเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต ที่มีบุรุษผู้ไม่เคยรู้จักมาปรากฏในห้วงยามที่กำลังทุกข์เข็ญ ก็เป็นได้

หรือเมื่อหญิงสาวก้มเก็บดอกกรรณิการ์ทีละดอกๆ ที่ร่วงพรูลงบนพื้นหญ้าหน้าบ้าน รวมไว้ในถ้วยเล็กๆ เพียงเพื่อนำไปให้เพื่อนรักของเธอในที่ทำงานเดียวกันได้ชื่นใจ เรื่องเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ในความรู้สึกของใครได้เสมอ หากการสำนึกแห่งความขอบคุณได้งอกงามขึ้นในจิตใจ

ผู้คนในยุคปัจจุบัน แทบจะไม่รู้สึก “ขอบคุณ” อย่างลึกซึ้งกับเรื่องใดๆ เพราะสังคมสมัยใหม่บ่มเพาะให้เราเรียกร้องสิ่งต่างๆ เพื่อตอบสนองตัวตนของตัวเองเป็นหลัก  เราไม่มีเวลานึกขอบคุณท้องฟ้าในวันที่แดดสวย ฟ้าใส ที่ทำให้หัวใจเบิกบาน  เราไม่นึกขอบคุณ ชื่นชมยินดีที่สายลมรำเพยพัดให้เราเย็นกายสบายใจอีกต่อไป  กระทั่งสายน้ำที่ไหลรินมาจากก๊อกน้ำทุกเมื่อเชื่อวันอย่างสัตย์ซื่อ เราก็เย็นชากับมัน จนกว่าวันที่เปิดก๊อกแล้วไม่มีน้ำไหลออกมาอย่างเดิมอีกแล้ว เราถึงจะเดือดร้อนและดิ้นรนหาน้ำใช้ และแทบไม่มีเวลาสำนึกว่าที่ผ่านมาต้นธารแห่งสายน้ำนี้ มีใครควรได้รับการขอบคุณบ้างหรือไม่

โลกยุคใหม่ที่อุดมไปด้วยความเพียบพร้อม กลับทำให้เราขาดพร่องในบางความรู้สึก ความรู้สึกนอบน้อมด้วยดวงจิตคารวะในสรรพสิ่ง ได้หล่นหายไปกับกาลเวลาเสียแล้ว  แม้ว่า เราจะลงท้ายจดหมายที่เขียนถึงใครต่อใครว่า “ด้วยความเคารพ” แต่อาจไม่ได้มีความหมายอะไรที่ตรงกับความรู้สึก  คำนั้น แค่สื่อถึงความเป็นสุภาพชนเท่านั้นเอง

ลองอ่านข้อความการกล่าวสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า ด้วยดวงจิตที่เปิดกว้าง

“ตอนเช้า แม่จะให้เราร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า ที่บ้านหลังข้างในนั่น ขับร้องให้เหมือนนกลาร์กของพระนางแมรี ร้องเพลงอยู่ท่ามกลางหมู่เมฆ เหมือนนกมาวีสของพระเยซูที่ร้องเพลงอยู่บนต้นไม้ ขับร้องเพื่อสดุดีพระองค์ผู้ทรงสร้างสรรพชีวิต สดุดีการได้พักผ่อนยามราตรี สดุดีแสงสีแห่งทิวา และความสุขหรรษาแห่งชีวิต เธอบอกเราว่า ทุกชีวิตบนโลกนี้ และที่อยู่ในมหาสมุทร และที่มีชีวิตอยู่กลางอากาศ ล้วนเสริมพระส่งราศรีแห่งพระเจ้าผู้ทรงสร้างโลกและสรรพชีวิต พระองค์ผู้ทรงพระคุณ และไม่อาจพรรณนาได้ด้วยคำพูด” 

ความขอบคุณเช่นนี้มาจากหัวใจ เป็นบทเพลงความยินดีที่ฉงนต่อการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง หลั่งเทความชื่นชมยินดีต่ออาหารที่กิน ต่อที่อยู่อาศัย ต่อแสงแดด ต่อผู้คนทั้งหลาย และต่อชีวิตนั่นเอง

..การพัฒนาลัทธิอุตสาหกรรม และศรัทธาของชาวคริสต์ลดน้อยถอยไป สำนึกขอบคุณที่ครั้งหนึ่งเคยงอกงามได้แคระแกร็นไปเสียแล้ว…

…เรามีความรู้มากขึ้น โลภมากขึ้น แต่สำนึกขอบคุณลดน้อยลงไป เห็นว่าความมั่งคั่งและอภิสิทธิ์ที่ได้รับเป็นเรื่องธรรมดาๆ

จากหนังสือ “ความเงียบ” Spirit of Silenceจอห์น เลน เขียน สดใส ขันติวรพงศ์ แปล

ความสำนึกในการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งที่เกื้อกูลชีวิต ยังคงปรากฎชัดอยู่ในการสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า

“ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า  หลายคนเหนื่อยยาก ลำบากหนักหนา สงสารบรรดาคนไม่มีกิน ในโลกนี้ ยังมีคนที่จนยาก แสนลำบาก อัตคัดและขัดสน อย่ากินทิ้งกินขว้าง ตามใจตน สงสารคนอื่นที่ไม่มีกิน เราจะกินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน เวลากินไม่ใช่เวลาคุย คนที่คุยจึงไม่สมควรที่จะกิน เราจะทานไม่ดัง ไม่หกไม่เหลือ สาธุ สาธุ สาธุ”

บทพิจารณาข้าวปลาอาหาร ที่เด็กๆ ในค่ายธรรมะเปล่งเสียงท่องก่อนลงมือตักข้าวเข้าปาก เป็นการสร้างสำนึกขอบคุณในสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิต

ทุกศาสนาล้วนมีแนวทางในการบ่มเพาะศาสนิกให้มีจิตใจอ่อนโยน นอบน้อมต่อสิ่งที่เอื้อต่อการมีชีวิตอยู่ แม้เป็นเพียงสิ่งน้อยนิด และหากเรานิ่งพอ เราจะมองเห็นสิ่งที่น่าขอบคุณอยู่รายล้อมรอบตัวเราไปหมด

ไม่แน่ว่าในวันที่มืดมนอนธการ ปัญหารุมเร้าให้ต้องทุกข์กายทุกข์ใจ หากเราย้อนนึกคิดสำนึกระลึกในสิ่งที่ได้เกื้อกูลต่อชีวิตเรามาจนถึงนาทีนี้ เราอาจพบทางสว่างอย่างนึกไม่ถึง  จอห์น คราลิค (John Kralik) ชายหนุ่มที่ประสบปัญหาทั้งการงาน การเงิน และชีวิตครอบครัว ทุกอย่างกำลังพังลงต่อหน้า แต่ก็รอดพ้นความทุกข์ยากมาได้ด้วยการนึกขอบคุณสิ่งดีๆ ในชีวิต จนถึงกับต้องเขียนหนังสือบอกเล่าปาฏิหาริย์ที่เกิดจากการขอบคุณ

หากเรารู้สึกสำเหนียกนึกระลึกถึงคุณความดีของใครสักคนด้วยใจ ก็เชื่อว่า เราคงหาทางตอบแทน หยิบยื่นความช่วยเหลือเกื้อกูลกันเมื่อมีโอกาส หรือกระทั่งตอบแทนความดีงามของใครสักคนด้วยการส่งต่อความช่วยเหลือ ไปสู่ใครคนอื่นอีกหลายๆ คน ก็เป็นได้

“มิตรภาพ และความเอื้อเฟื้อ ที่ฉันมักจะได้รับในยามต้องเดินทางไปต่างถิ่นแดนไกล แม้จะไม่มีโอกาสกลับไปตอบแทนคนเหล่านั้น ฉันจึงทำได้ด้วยการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มใจแก่นักเดินทางคนอื่นๆ ที่ผ่านเข้ามาในเส้นทางชีวิต”

“ขอบคุณค่ะ” ที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้

นี่ไม่ใช่คำขอบคุณตามมารยาท แต่แค่อยากแสดงความรู้สึกยินดี ที่ยังมีผู้ใช้เวลากับข้อเขียน ท่ามกลางโลกที่หมุนเร็วเสียจนข้อเขียนต่างๆ กำลังจะกลายเป็นตัวหนังสือ ที่มีคนอ่านน้อยลงๆ


ภาพประกอบ

นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ

ผู้เขียน: นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ

หลังจากจบการศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เข้าสู่อาชีพในสายสื่อสารมวลชนทำข่าวสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ จัดรายการวิทยุ และรายการโทรทัศน์ นอกจากสนใจประเด็นความเป็นไปของสังคมแล้ว ยังสนใจแนวทางการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมแวดล้อม ระยะหลังสนใจแนวทางการเรียนรู้พัฒนาตัวเองในมิติของชีวิตจิตใจ