ขับเคลื่อนชีวิตด้วยจิตวิวัฒน์

พระไพศาล วิสาโล 1 มกราคม 2009

เมื่อพูดถึงธรรมชาติของมนุษย์ เราก็นึกถึงความเห็นแก่ตัว  “ใคร ๆ ก็เห็นแก่ตัวทั้งนั้น” เป็นประโยคที่เรามักได้ยินอยู่เสมอ และมักประสบกับกับตัวเป็นประจำ

อย่างไรก็ตามคนเราไม่ได้มีแต่ความเห็นแก่ตัวเท่านั้น  ลึกลงไปในจิตใจเรายังมีความเห็นอกเห็นใจและปรารถนาดีต่อผู้อื่น ตลอดจนความเสียสละ และความเชื่อมั่นในสิ่งดีงาม อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต  ทั้งหมดนี้เรียกรวม ๆ กันว่ามโนธรรม

มโนธรรมหรือความใฝ่ดีทำให้เรามีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น หรือสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้แก่ส่วนรวม แม้ตนเองจะลำบากหรือสูญเสียทรัพย์ก็ตาม  การที่เราปีติหรืออิ่มเอิบภาคภูมิใจเมื่อได้ทำความดี แม้ไม่ได้รางวัลหรือคำสรรเสริญ นั่นก็เพราะเรามีมโนธรรมอยู่ในจิตใจ

มโนธรรมทำให้เราได้สัมผัสกับความสุขทางจิตใจ เป็นความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพิงทรัพย์  ยศ อำนาจ แต่สุขเพราะได้ทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่น หรือเห็นผู้อื่นมีความสุข  ตรงข้ามกับความเห็นแก่ตัว ซึ่งแม้จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้คนแสวงหาทรัพย์สมบัติและอำนาจ แต่แม้จะครอบครองสิ่งเหล่านั้นมากมายเพียงใด ใช่หรือไม่ว่าเขาเหล่านั้นก็ยังเป็นทุกข์ รู้สึกชีวิตไม่มีความหมาย เพราะไม่ได้ใช้ชีวิตให้มีประโยชน์ หรือสร้างสรรค์สิ่งดีงามแก่ส่วนรวม

ความเห็นแก่ตัวหรืออัตตาทำให้เราเป็นทุกข์เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีกว่าเรา สุขสบายกว่าเรา  แต่มโนธรรมกลับทำให้เราไม่สบายใจเมื่อเห็นคนอื่นทุกข์ร้อนกว่าเรา ขณะเดียวกันก็ทำให้ความทุกข์ของเราเล็กลง  คนที่อกหักหรือตกงานจะรู้สึกทันทีว่าความทุกข์ของตนเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเห็นผู้คนมากมายสูญบ้านและคนรักจากภัยสึนามิ

หากจิตของเราแบ่งออกเป็นชั้น  ชั้นแรกคืออัตตา  ถัดมาคือมโนธรรม  คนที่มีอัตตาหรือความเห็นแก่ตัวมาก ย่อมมีเปลือกหรือผิวชั้นแรกที่หนา จนยากที่มโนธรรมหรือความใฝ่ดีจะฝ่าออกมาได้  ส่วนคนที่มีความเห็นแก่ตัวน้อย เปลือกหรือผิวชั้นแรกจะบาง เปิดโอกาสให้คุณธรรมหรือความใฝ่ดีแสดงตัวออกมาได้ง่าย

อัตตาหรือมโนธรรม จะมากหรือน้อย เป็นเรื่องของการฝึกฝนกล่อมเกลาก็จริง แต่ก็ต้องอิงกับธรรมชาติดั้งเดิมที่มีอยู่แล้ว  ปัจจุบันมีหลักฐานยืนยันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ามโนธรรมเป็นธรรมชาติพื้นฐานอย่างหนึ่งของมนุษย์  จะเรียกว่าเมตตาและความเห็นใจติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิดก็ว่าได้  ตัวอย่างเช่น เด็กทารก เมื่อเห็นหรือได้ยินเสียงเด็กอื่นร้อง ก็จะร้องด้วย (แต่จะเงียบหากได้ยินเสียงร้องของตัวเองจากเครื่องบันทึกเสียง)  ส่วนทารกที่อายุมากกว่า ๑๔ เดือนจะไม่ร้องเฉยๆ แต่จะพยายามเข้าไปช่วยเด็กคนนั้น  เด็กที่อายุมากกว่านั้นจะร้องน้อยลง แต่จะหาทางไปช่วยมากขึ้น

ไม่ใช่แต่เด็กเท่านั้น แม้แต่สัตว์ก็ยังมีความเห็นใจ มีการทดลองแขวนหนูเอาไว้จนมันร้องและดิ้น เมื่อหนูหลายตัวเห็นเหตุการณ์ จะมีบางตัวที่พยายามไปช่วยเหลือหนูตัวนั้น จนรู้วิธีคือกดคันบังคับเพื่อหย่อนหนูตัวนั้นลงมาอย่างปลอดภัย

การทดลองอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือมีการฝึกลิงกัง ๖ ตัวให้รู้จักหากินด้วยการดึงโซ่ที่มีอาหารผูกติดอยู่ แต่ทุกตัวพบว่าเมื่อดึงโซ่ทีไรก็จะเกิดไฟช็อตลิงตัวที่ ๗ ผลที่ตามมาคือลิง ๔ ตัวจะหันไปดึงโซ่เส้นอื่น แม้จะได้อาหารน้อยกว่า แต่ไม่ทำให้เพื่อนถูกช็อต  ตัวที่ ๕ จะเลิกดึงโซ่ติดต่อกัน ๕ วัน ส่วนตัวที่ ๖ ไม่ยอมดึงโซ่เลยตลอด ๑๒ วัน นั่นหมายความว่าทั้ง ๒ ตัวยอมหิวเพื่อจะได้ไม่ทำให้เพื่อนเจ็บปวด

คนเราไม่ได้มีแต่ความเห็นแก่ตัวเท่านั้น ลึกลงไปในจิตใจเรายังมีความเห็นอกเห็นใจและปรารถนาดีต่อผู้อื่น ตลอดจนความเสียสละ และความเชื่อมั่นในสิ่งดีงาม

นอกเหนีออัตตาและมโนธรรมแล้ว ใจเรายังมีธรรมชาติอีกชั้นหนึ่งซึ่งอยู่ลึกสุด ได้แก่ สภาวะที่เป็นอิสระ ปลอดโปร่ง ผ่องใส ปลอดพ้นจากความเห็นแก่ตัว หรือความยึดถือในอัตตา  เป็นสภาวะที่เส้นแบ่งระหว่าง “ฉัน” กับ “ผู้อื่น” หมดไป เกิดความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง จิตอยู่เหนือการแบ่งเป็นขั้วหรือมองโลกเป็นคู่ตรงข้าม ไม่ว่าดี-ชั่ว สุข-ทุกข์ ได้-เสีย เกิด-ตาย ดังนั้นจึงไม่หวั่นไหวกับความผันผวนปรวนแปร หรือความพลัดพรากสูญเสีย

มนุษย์ทุกคนสามารถประจักษ์ถึงสภาวะนี้ได้ ในยามที่จิตเราสงบ ปราศจากกิเลสตัณหา เป็นสภาวะที่ท่านพุทธทาสภิกขุเรียกว่า “จิตว่าง” คีอว่างจากกิเลสหรือความสำคัญมั่นหมายใน “ตัวกู ของกู”  นี้เป็นสภาวะที่มีอยู่แล้วในใจเรา แต่มักถูกเคลือบคลุมด้วยอัตตาหรือความเห็นแก่ตัว จึงทำให้เรารู้สึกหม่นหมองอยู่บ่อยครั้ง ดังมีพุทธพจน์ว่า “จิตนั้นประภัสสร แต่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่เกิดขึ้นภายหลัง”

ธรรมชาติส่วนที่สามซึ่งอยู่ลึกสุดนี้ เรียกอีกอย่างว่า “โพธิจิต” คือจิตที่ตื่นรู้ เห็นความจริงแจ่มแจ้ง เป็นศักยภาพที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน แต่จะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการฝึกฝนพัฒนา  หากมนุษย์สามารถเข้าถึงโพธิจิต หรือให้โพธิจิตได้แสดงตัวออกมา จะมีความสุขอย่างยิ่ง  ความสุขจากโพธิจิตที่เปล่งประกายออกมา ทำให้รู้สึกว่าชีวิตได้รับการเติมเต็ม ไม่ดิ้นรนแสวงหาอีกต่อไป เพราะไม่มีตัวตนที่จะต้องปรนเปรอ ดิ้นรน เป็นความสงบอย่างยิ่ง  แต่หากยังไม่ได้สัมผัสกับสภาวะเช่นนี้ ก็จะรู้สึกพร่องอยู่ลึกๆ และโหยหาตลอดเวลา แม้จะมีสมบัติล้นโลก อำนาจล้นฟ้า หรือแม้จะทำความดีมามากมาย ก็ยังรู้สึกว่าบางสิ่งขาดหายไปในชีวิต

อุปสรรคที่ทำให้เราไม่อาจเข้าถึงชั้นโพธิจิต (หรือปิดกั้นมิให้โพธิจิตแสดงตัวออกมาได้) ก็คือการยึดติดอยู่กับอัตตา การแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว (เปลือกชั้นแรก) และยึดติดถือมั่นในความดี หรือปล่อยใจขึ้นลงไปกับสุขหรือทุกข์ของผู้อื่น (จิตชั้นที่สอง) เช่น ทุกข์เพราะช่วยคนอื่นไม่สำเร็จ หรือทุกข์เพราะทำดีไม่พอ หรือให้อัตตาเข้ามาครอบงำความดี กลายเป็นการทำดีเพื่อหล่อเลี้ยงอัตตา หรือเกิดความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นคนดีนะ (ใครมาตำหนิไม่ได้ หรือถ้าคนอื่นไม่เห็นความดีของฉัน ฉันก็จะโกรธและน้อยใจ) ถ้าใครทำดีกว่าฉัน ฉันก็จะไม่พอใจหรืออิจฉา และถ้าเจอคนที่ไม่ดีเท่าฉัน หรือไม่ดีเหมือนฉัน ฉันก็จะยกตนข่ม หรือดูถูกว่าเขาดีสู้ฉันไม่ได้ เป็นต้น

จิตชั้นนอกสุดนั้นมุ่งปรนเปรออัตตา  ส่วนจิตชั้นที่สอง มุ่งขัดเกลาอัตตาให้ประณีตขึ้นหรือลดอัตตาให้เบาบาง  จิตชั้นในสุด คือ สภาวะที่ไร้อัตตา หรือนำไปสู่การไร้ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา

โพธิจิตเป็นธรรมชาติของจิตที่เราต้องรู้จัก เข้าถึง และเปิดโอกาสให้แสดงตัว หรือเรียกอีกอย่างว่า หล่อเลี้ยงบ่มเพาะก็ได้  เหมือนกับรดน้ำจนเมล็ดแตกเป็นต้นกล้า และจากต้นกล้ากลายเป็นไม้ใหญ่ ที่แผ่ร่มเงา ให้ความสงบเย็น

โพธิจิตสามารถเบ่งบานเติบใหญ่ได้ มิใช่จากการปลีกตัวหลีกเร้นเพื่อบำเพ็ญสมาธิภาวนาเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตประจำวันและทำงานอย่างมีสติ ตื่นรู้ และรู้เท่าทันเวลาอัตตาเข้ามาครอบงำใจ ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งต่างๆ ว่าเป็น “ตัวกู ของกู” (เช่น บ้าน “ของกู” งาน “ของกู”) แต่ทำด้วยปัญญาและอุตสาหะ อย่างถูกต้องชอบธรรมและตรงตามความเป็นจริง (ส่วนผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย)  พูดอีกอย่างคือทำเต็มที่ด้วยใจปล่อยวาง เพราะตระหนักว่า “ความพยายามเป็นของมนุษย์ ความสำเร็จอยู่ที่ฟ้า”

“จิตวิวัฒน์” คือการพัฒนาจิตชั้นที่สองและสาม คือมโนธรรมและโพธิจิตให้เจริญงอกงาม จนสามารถบันดาลใจให้เกิดความสุข ตลอดจนขับเคลื่อนชีวิตและการทำงานให้เป็นไปในทางที่ดีงาม จนบรรลุถึงคุณค่าสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์ และได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเกิดมาในโลกนี้ นั่นคือเข้าถึงอิสรภาพและความสงบเย็น ชนิดที่ความผันผวนปรวนแปรในโลกมิอาจแผ้วพานได้ แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความล้มเหลว ความพลัดพราก ความเจ็บ หรือความตายก็ตาม


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา