ครู…คนสุดท้าย

มะลิ ณ อุษา 3 กันยายน 2017

ตั้งแต่เกิด เราก็มี “ครู” คนแรก

คือพ่อแม่คอยสั่งสอนบทเรียนที่มนุษย์ตัวน้อยควรรับรู้และฝึกฝน เมื่อเติบโตขึ้น “ครู” คนต่อมาก็ถือชอล์กถือปากการอเราอยู่ที่โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถม โรงเรียนมัธยม และมหาวิทยาลัย ตลอดช่วงเวลาการเป็นนักเรียนและนักศึกษา 20 – 25 ปีนี้ เราจึงได้พบกับครูและอาจารย์มากมายหลายสิบคน

นอกเหนือจากการศึกษาในระบบและนอกระบบแล้ว เราก็ยังมีการศึกษาที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบ แต่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับการดำเนินชีวิตอย่างแนบแน่น

ผู้เขียนเชื่อว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดชีวิต แม้ว่าบางรายวิชา เราจะไม่ได้ลงทะเบียนก็ตาม

แม้ว่าจะผ่านวิชาที่ลงทะเบียนเรียนในมหาวิทยาลัยครั้งล่าสุดมาเกือบยี่สิบปีแล้ว แต่ผู้เขียนก็ยังสมัครเรียนวิชาต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอนอยู่เรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสื่อสาร การรู้จักตัวตนที่แท้จริง ศิลปะ การปลุกพลังความสร้างสรรค์ ฯลฯ

ล่าสุด ผู้เขียนเพิ่งลงทะเบียนเรียนวิชาที่สำคัญที่สุดเท่าที่เคยเรียนมา นั่นคือ วิชาไม่สุข – ไม่ทุกข์  ตลอดระยะเวลา 5 วัน ครูผู้ชี้ทาง บอกให้ทำเพียงอย่างเดียว คือ รู้สึกตัว แล้วความรู้สึกตัวคืออะไร และจะนำไปสู่ความไม่สุข – ไม่ทุกข์ได้อย่างไร?

คำตอบอยู่ตรงนี้…

เมื่อเราอยู่ในสภาวะที่รู้สึกตัวทั่วพร้อม เราจะเห็นความคิดผุดขึ้นมา ทั้งเรื่องในอดีตและอนาคต ทั้งเรื่องดีและไม่ดี เกือบจะทันทีที่ความคิดผุดขึ้นมา เราก็สามารถปรุงแต่งต่อไปได้เป็นสาย จากเรื่องนี้ไปเรื่องนั้น จากเรื่องนั้นไปได้เรื่อยๆ และส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นไปในทางที่จะทำให้จิตใจขุ่นมัว

เมื่อความรู้สึกตัวชัดเจน เราจะกลับมาอยู่กับปัจจุบัน เป็นปัจจุบันขณะที่อยู่กับความเคลื่อนไหว เช่น การเดิน การกิน การนั่ง การนอน หากเราอยู่กับอิริยาบถเหล่านี้อย่างรู้สึกตัว เราจะปราศจากความคิด เมื่อปราศจากความคิด ก็ปราศจากการปรุงแต่ง เมื่อปราศจากการปรุงแต่ง ก็ไม่มีความรู้สึกสุข – ทุกข์ มีแต่สภาวะที่เป็นกลางๆ

แต่เมื่อใดก็ตาม ที่เราหลงไปกับเล่ห์เหลี่ยมของความคิด เพลิดเพลินไปกับอารมณ์สุข เมื่อคิดเรื่องที่ชอบหรือถูกใจ หรือเตลิดไปกับอารมณ์โกรธขึ้ง หงุดหงิด เศร้าสร้อย เมื่อคิดถึงเรื่องที่ขัดอกขัดใจ หรือความต้องการของเราที่ไม่ได้รับการตอบสนอง

รู้สึกตัว…ที่นี่ เดี๋ยวนี้

เหมือนเป็นคำแนะนำเก่าแก่ที่เราได้ยินได้ฟังกันจนชาชิน แต่จะมีสักกี่คนที่ตระหนักและสัมผัสประสบการณ์นี้ด้วยตัวเอง

การฝึก “รู้สึกตัว” ผ่านการเคลื่อนไหวตามแนวทางที่หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภเคยอบรมสั่งสอนไว้ คือ การเคลื่อนไหวมือเพื่อสร้างจังหวะ 14 จังหวะ และการเดินจงกรม

การ “รู้สึกตัว” จากการเคลื่อนไหว จะช่วยให้เราเห็น “ความคิด” เล่ห์เหลี่ยมของความคิดที่พยายามหลอกล่อให้เราล่องลอยตามไป การฝึกช่วงแรกๆ ความเมื่อยล้าจากการเคลื่อนไหวไม่หยุดอาจมีบ้าง แต่ไม่เท่าความเหนื่อยอ่อนจากการเห็น (และตาม) ความคิด ลอยไป กลับมา วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า

กระนั้น ความคิดก็ไม่ใช่ผู้ร้ายที่เราจะต้องกำจัดให้สิ้นซาก เพราะความคิดมีอยู่อย่างนั้น เป็นของธรรมชาติ และเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะกำจัดมันออกไปเพราะกำลังอันน้อยนิดของเรา ไม่สามารถที่จะไปต่อกรกับอานุภาพของความคิดได้เลย เราเพียงแต่ “รับรู้” และปล่อยให้ความคิดผ่านเลยไป

เมื่อการฝึกผ่านไประยะหนึ่ง เราจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ความสงบรำงับ เสี้ยววินาทีแห่งความปีติอาจผุดพรายขึ้นมา คือ ผลและกับดักในคราวเดียวกัน เพราะการฝึกในครั้งถัดๆ มา เราก็จะโหยหาสภาวะที่รื่นรมย์เช่นนั้นอีก ประสบการณ์นี้ไม่ใช่แค่ความคิดเท่านั้น ผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าความคิดที่บงการอยู่เบื้องหลัง คือ “ความอยาก” สั่งให้เราฝึกต่อไป เอาจริงเอาจังมากขึ้นๆ

หารู้ไม่ว่า…ยิ่งเราจริงจังเพียงใด ความสงบก็ยิ่งห่างไกลออกไปเท่านั้น ความอึดอัดคับข้องใจก็จะตามมา จนเมื่อเรากลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวอีกครั้ง รับรู้ถึงกายที่กำลังเคลื่อนไหว แบบเบาๆ สบายๆ ไม่หย่อนและไม่ตึงเกินไป เราก็จะได้เข้าใกล้กับความสงบอีกครั้ง

เมื่อฝึกรู้สึกตัว อยู่กับปัจจุบันขณะ กระทั่งเกิดความสงบ ว่างจากความคิด…แล้วอย่างไรต่อ

เราก็จะเท่าทันการปรุงแต่งของความคิดไวขึ้น เท่าทันความ “อยาก” ที่พร้อมจะลากเราออกจากที่ตั้งอยู่ทุกขณะจิต และความอยากนี่เองที่จะนำพาให้เราไปเจอกับความทุกข์ ทั้งอยากได้แล้วไม่ได้ ได้มาแล้วสูญเสียไป และได้มาซึ่งสิ่งที่ไม่ปรารถนา เหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งความทุกข์

ทันทีที่อยากได้ความสงบ ความสงบก็จะบินจากไป

อย่างไรก็ตาม การเท่าทันความอยากก็ไม่ใช่เป้าหมายที่สุดของการฝึก เพราะความอยากทำงานตอบสนองผู้บงการคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลัง นั่นคือ อัตตา หรือ ตัวกู

ตัวกู นี่เองที่ผลักดันอยู่เบื้องหลังให้เราทำนั่นทำนี่เพื่อตอบสนอง

แม้กระทั่งขณะที่ฝึกปล่อยวาง เราก็ยังอยากได้รับการยอมรับ อยากได้รับการชื่นชม อยากบรรลุมรรคผล ทำให้เราเคี่ยวเข็ญตัวเองจนเบียดบังร่างกาย เราไม่อยากให้ครูตำหนิ ไม่อยากอยู่ท้ายแถว (ซึ่งจริงๆ ก็ไม่รู้หรอกว่า หัวแถวอยู่ตรงไหน) ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อตอบสนอง “ตัวกู” ป้อนอาหารหล่อเลี้ยงตัวกู ให้ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ

หลังการฝึกอันต่อเนื่องยาวนาน นักเรียนทั้งหลายต่างเคี่ยวกรำตัวเอง (แม้การฝึกที่จะผ่อนคลายก็ยังนับเป็นการเคี่ยวกรำ) เราทั้งหลายได้สัมผัสประสบการณ์ความสงบรำงับมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป แม้จะยังไม่เห็นวี่แววว่า จุดหมายปลายทางของการฝึกจะอยู่อีกไกลแค่ไหน และต้องผ่านความยากลำบากอะไรบ้าง คาถาที่เราต่างเก็บกลับไปฝึกต่อในวันนั้น คือ ไว้วางใจ ความรู้สึกตัว

ความรู้สึกตัว คือ ครูคนสุดท้ายที่จะอยู่กับเรา และสอนบทเรียนที่สำคัญที่สุดในชีวิตความมนุษย์ ซึ่งผู้เขียนก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่า บทเรียนนั้นคืออะไร และจะสอบผ่านเมื่อใด

มะลิ ณ อุษา

ผู้เขียน: มะลิ ณ อุษา

คือ...ผู้หญิงธรรมดา รักการเดินทางพอๆ กับการอยู่บ้าน แต่ที่รักมากกว่า คือ การเรียนรู้ชีวิต วันดีคืนดี คุณอาจเห็นเธอนั่งวาดภาพอยู่ข้างถนน อ่านบทกวีอยู่ในกระโจมกลางป่า สอนหนังสือเด็กๆ ในชนบท ปลูกต้นไม้ในสวนเล็กๆ หรือนวดแป้งอยู่หน้าเตาดิน ไม่ต้องแปลกใจ เธอทั้งหมดคือคนๆ เดียวกัน