คลี่คลายความขัดแย้งด้วยพลังสันติวิธี (๒)

ปรีดา เรืองวิชาธร 4 เมษายน 2010

โดยทั่วไปเมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล กลุ่มองค์กร สังคม หรือระดับประเทศ หลายคนเชื่อว่าหากไม่ใช้ความรุนแรงเข้าจัดการ ก็มักจะยอมจำนนกับความขัดแย้ง

การใช้ความรุนแรงเข้าคลี่คลายความขัดแย้งให้ผลกระทบในแง่ร้ายมากกว่าดี  การใช้ความรุนแรงในมุมกว้างนั้นไม่ได้หมายเพียงการฆ่าหรือทำร้ายทำลายชีวิตและทรัพย์สินเท่านั้น แต่หมายถึงสิ่งใดหรือวิธีการใดก็ตามที่กระทำต่อบุคคลในทางบั่นทอน ขัดขวาง หรือกดให้ต่ำลงจนทำให้เขาไม่สามารถบรรลุถึงศักยภาพที่เขาพึงมีพึงเป็นได้  ดังนั้นการใช้เล่ห์เพทุบายเพื่อปิดกั้นเสรีภาพแห่งการแสดงออก หรือการใช้อำนาจในทางใดเพื่อละเมิดสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของบุคคล จึงเป็นความรุนแรงด้วยเช่นกัน

สำหรับวิธีการหรือกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้ง ตามแนวทางสันติวิธีนั้น ในทางรูปธรรมมีมากมายหลายวิธี ตั้งแต่การพูดคุยปรับความเข้าใจกัน การพูดคุยที่ปล่อยวางเป้าหมายและวาระซ่อนเร้นในใจของแต่ละคนเพื่อสนทนาด้วยการฟังเสียงภายในอย่างลึกซึ้ง (สุนทรียสนทนา) การเจรจาต่อรอง การประชุมกลุ่มที่ใช้สิทธิ์แสดงออกอย่างเท่าเทียม กระบวนการกลุ่มที่มุ่งเน้นให้ทุกฝ่ายพูดคุยเพื่อปรับความเข้าใจ รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความไว้วางใจและสร้างความสัมพันธ์ใหม่ภายในกลุ่ม การใช้ตัวแทนที่ทุกฝ่ายยอมรับเพื่อรับฟังปัญหาและช่วยตัดสินชี้ขาด การใช้ผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งเพื่อช่วยให้ทุกฝ่ายเรียนรู้ประเด็นความขัดแย้งร่วมกัน และเจรจาหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ร่วมกัน

ยังมีวิธีการคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธีอีกมากที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ ซึ่งจริงๆ แล้วเราสามารถพัฒนาปรับปรุงวิธีการหรือกระบวนการได้อีกมากมายไม่สิ้นสุด  ดังนั้นการคลี่คลายความขัดแย้งจะใช้วิธีหรือกระบวนการใด จะผสมผสานหลายวิธีการเข้าด้วยกันอย่างไร หรือจะพลิกแพลงไปอย่างไรนั้น เราควรใช้หลักการพื้นฐานสำคัญต่อไปนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางกว้างๆ ในการกำหนดและกำกับวิธีการจัดการความขัดแย้ง

๑. ในการดำรงอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นสังคม ความขัดแย้งเป็นสัจธรรมข้อหนึ่งที่เราต้องยอมรับตามที่มันเป็น จะหลีกเลี่ยงหลบหนีหาได้ไม่  สิ่งที่ต้องตระหนักคือ เราต้องเผชิญความจริงข้อนี้อย่างรู้เท่าทัน โดยเริ่มที่การมองความขัดแย้งเสียใหม่ว่า มันสามารถพลิกเปลี่ยนเป็นพลังสร้างสรรค์อันเป็นประโยชน์ต่อปัจเจกบุคคลและสังคม  ความขัดแย้งไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยความทุกข์ร้อนและใช้ความรุนแรง หากทุกฝ่ายเชื่อมั่นอย่างลึกซึ้งว่า เราสามารถคลี่คลายความขัดแย้งร่วมกันได้ เราร่วมกันปะทะสังสรรค์ความรู้สึกนึกคิดเพื่อมุ่งแสวงหาทางออกหรือข้อเสนอใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ได้  การให้โอกาสตนเองและผู้อื่นเพื่อพูดคุยกันด้วยใจที่เปิดกว้างและบรรยากาศฉันท์มิตร มักจะทำให้ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้น  ไม่เพียงเท่านั้นระหว่างที่อยู่ในขั้นตอนของกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้ง จะเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ทุกฝ่ายได้เรียนรู้ความเหมือนความต่าง และเบื้องหลังของความรู้สึกนึกคิดของกันและกัน ซึ่งจะทำให้เราใจกว้างมากขึ้น ความรักความเมตตาปราณีภายในของเราย่อมเกิดและงอกงามขึ้นได้ง่าย นี่นับเป็นโอกาสแห่งการเติบโตทางจิตวิญญาณได้อย่างดีเยี่ยม เพราะเพียงแค่เรามองเห็นความยึดมั่นถือมั่นภายในจนเริ่มปล่อยวางได้มากขึ้น ก็ถือว่าความขัดแย้งเป็นคุณูปการต่อเราอย่างยิ่งแล้ว

๒. ระหว่างอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งหรือกำลังอยู่ในขั้นตอนของการคลี่คลาย ทุกฝ่ายควรสะกิดเตือนสำนึกภายในว่าเราควรปฏิบัติต่อกันในฐานะที่เป็นมนุษย์ซึ่งรักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน ทุกคนมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์เหมือนกัน มีสิทธิ์เสรีภาพขั้นพื้นฐานที่จะพึงได้เหมือนกัน  เราทุกคนมีความเหมือนมากกว่าความต่าง ไม่ควรคิดหรือมองแบบแบ่งแยกเป็นขาวเป็นดำล้วนๆ  ที่สำคัญ เตือนตัวเองอยู่เสมอว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นศัตรูของเรา สิ่งที่ต้องละต้องกำจัดก็คือ ความชั่วร้ายที่สิงสู่ในผู้คนรวมถึงปัจจัยหรือโครงสร้างที่ทำให้เกิดความอยุติธรรม  ดังนั้นเราไม่มีสิทธิ์ไปทำร้ายทำลายชีวิตและทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่ง

๓. วิธีการหรือกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งที่ใช้ ควรทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเข้าใจอย่างชัดเจนถึงประเด็นแห่งความขัดแย้ง มองเห็นพัฒนาการของความขัดแย้งที่ขยายเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นอื่น รวมถึงการแผ่วงขยายของความขัดแย้งไปสู่อีกหลายคนหลายฝ่าย  ที่สำคัญยิ่งก็คือ ทำให้ทุกฝ่ายมองเห็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ความขัดแย้งเกิดและขยายตัว

๔. วิธีการหรือกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งที่ใช้ ในอีกด้านหนึ่ง ควรเป็นกระบวนการเรียนรู้ให้ทุกฝ่ายเกิดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้สึกนึกคิด จุดยืน ความต้องการและภูมิหลังอย่างเท่าเทียม รวมถึงการเข้าไปรับรู้สัมผัสสถานการณ์ที่แท้จริงของทุกฝ่าย ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจ เข้าถึงความเป็นจริงทุกด้านทุกแง่มุมของความขัดแย้ง  ดังนั้นกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งใดๆ จึงต้องทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงสิ่งสำคัญอันได้แก่ การดำรงสติอย่างมั่นคง อดทนอดกลั้น การใส่ใจรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง  การสร้างบรรยากาศแห่งความไว้วางใจกัน สร้างบรรยากาศที่ไม่เคร่งเครียดกดดันกัน การถ่ายถอนความคิดหรือมองแบบตัดสินตายตัว ไม่ผูกขาดความจริงและข้อเท็จจริงว่าตนเท่านั้นที่รู้ความจริงแท้อยู่เพียงผู้เดียว การพยายามเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม การระมัดระวังเรื่องอารมณ์ความรู้สึกโดยเฉพาะการยั่วยุและการแสดงออกอย่างก้าวร้าว เป็นต้น

๕. วิธีการ หรือกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งที่ใช้ ควรทำให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการเสนอ หรือกำหนดข้อตกลง ซึ่งอาจเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากมีการพูดคุยปรับความเข้าใจกัน ทั้งนี้การแสวงหาข้อตกลงร่วมกันควรเอาความถูกต้องดีงาม หรือธรรมเป็นรากฐานในการกำหนดข้อตกลง  ดังนั้นความถูกต้องดีงามจึงควรใช้เป็นจุดร่วมของข้อเสนอต่างๆ

๖. วิธีการหรือกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งที่ใช้ นอกจากจะช่วยให้เกิดข้อตกลงที่สร้างสรรค์แล้ว ควรทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเติบโตทางจิตวิญญาณด้วย กล่าวคือช่วยให้ทุกฝ่ายรู้เท่าทันกิเลสวาสนาภายใน คลายความยึดมั่นถือมั่นในอกุศลกรรม ๓ ประการคือ ความทะยานอยากที่เกินเลยทั้งหลายทั้งปวง ความถือตัวสำคัญตน และความยึดติดในความเห็นความเชื่อแบบแน่นอนตายตัว รวมถึงเป็นโอกาสได้ฝึกฝนความรัก ความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

๗. หากมองเห็นชัดเจนว่าในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ตกอยู่ในสภาพไร้สิทธิ์ไร้เสียง ดังนั้น วิธีการหรือกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งที่ใช้ ควรมีส่วนช่วยทำให้เสียงที่แผ่วเบาของฝ่ายที่ไร้สิทธิ์ไร้เสียงมีพลังมากขึ้น โดยการพยายามเปิดโอกาส เปิดพื้นที่ให้ฝ่ายที่ไร้สิทธิ์ไร้เสียง ได้แสดงออกซึ่งจุดยืนและความรู้สึกนึกคิดให้สะท้อนดังไปถึงอีกฝ่ายหนึ่ง รวมทั้งดังไปถึงสังคมรอบข้างด้วย โดยเฉพาะหากความขัดแย้งเกิดขึ้นอันเนื่องด้วยความไม่เป็นธรรมหรือถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ  สังคมควรได้เรียนรู้บทเรียนจากความขัดแย้งตามที่เป็นจริง มิใช่เพื่อให้ความขัดแย้งรุนแรงรุกลามไปสู่วงกว้าง แต่เพื่อทำให้สังคมร่วมรับผิดชอบต่อความถูกต้องดีงาม ซึ่งจะช่วยจรรโลงธรรมาภิบาลของสังคมเราในทางหนึ่งด้วย

๘. หากเห็นชัดเจนว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มาจากโครงสร้างองค์กรหรือสังคมที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นวิธีการหรือกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งที่ใช้ ควรมุ่งส่งเสริมให้การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ทั้งระดับกลุ่มองค์กรและระดับสังคมให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นด้วย ทำให้โครงสร้างมีการกระจายอำนาจ ตรวจสอบดูแล และไม่ก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบและทุจริตได้ง่าย  ดังนั้นหากเป็นไปได้ กระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งควรไปให้ถึงการเปลี่ยนแปลงระดับกฎหมาย กฎระเบียบ เงื่อนไขข้อกำหนดต่างๆ รวมถึงบรรยากาศที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม

การใช้ความรุนแรงเข้าคลี่คลายความขัดแย้งให้ผลกระทบในแง่ร้ายมากกว่าดี

หลักการทั้ง ๘ ประการที่กล่าวมา เป็นหลักกว้างๆ ของการคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธี  เราสามารถประยุกต์วิธีการหรือกระบวนการคลี่คลายให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทความขัดแย้งที่เรากำลังเผชิญ ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักพื้นฐานได้ตั้งแต่ความขัดแย้งในครอบครัว กลุ่มองค์กร ชุมชน หรือระดับสังคม  เพียงเราเชื่อมั่นว่า ความขัดแย้งไม่ได้เป็นวิกฤติเสมอไป แต่เป็นโอกาสอันดีเยี่ยมสำหรับเติบโตของบุคคลและสังคม รวมถึงหากเปลี่ยนเป็นพลังสร้างสรรค์ได้อย่างคาดไม่ถึง


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน