คลี่คลายความขัดแย้งด้วยพลังสันติวิธี (๑)

ปรีดา เรืองวิชาธร 28 มีนาคม 2010

ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ “สมานไมตรี” (การคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธี) เราได้สมมุติสถานการณ์ว่าหากเราทั้งหมดต้องไปสร้างชุมชนใหม่ด้วยกัน สิ่งที่เราอยากให้มีในชุมชนใหม่ของเราได้แก่อะไรบ้าง โดยให้ผู้เข้าร่วมอบรมทั้ง ๒๐ ท่าน เลือกสิ่งต่างๆ ได้เพียง ๖ อย่างจากทั้งหมด ๒๐ อย่าง  สิ่งต่างๆ ที่ให้เลือกนั้นได้แก่ เรือกสวนนาไร่ ป่าชุมชน โรงเรียนที่มีอุปกรณ์การเรียนการสอนครบครัน ชมรมแพทย์พื้นบ้าน ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมประจำหมู่บ้าน กิจกรรมกลุ่มเรียนรู้ของเยาวชน วัดและพระสงฆ์ กองทุนหมู่บ้าน ศูนย์กีฬาครบวงจร วิทยุชุมชน ผู้ใหญ่บ้านและ อบต. ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ

ผลจากการเลือกปรากฏว่า ไม่มีใครเลือกทั้ง ๖ อย่างเหมือนกันหมด ทั้ง ๒๐ รายการมีคนเลือกหมด แม้บางรายการจะมีคนเลือกเพียงคนสองคน  ที่สำคัญเราให้แลกเปลี่ยนแบ่งปันเหตุผลที่เลือกและไม่เลือก ปรากฏว่าแต่ละคนมีเหตุผลล้วนน่าสนใจ ฟังดูสมเหตุสมผล  และมีหลายคนเปลี่ยนใจไม่เลือกสิ่งที่เลือกไว้เดิม เพราะเหตุผลของคนอื่นน่าสนใจกว่า นอกจากนี้เมื่อขอให้กลุ่มคุยกันต่อเพื่อหาข้อสรุปที่เป็นเอกภาพแล้ว กลุ่มมีข้อเสนอที่เป็นเอกฉันท์โดยเสนอเลือกสิ่งใหม่ (เป็น ๑ ใน ๖ อย่างที่เลือก) ที่ไม่มีใน ๒๐ รายการเดิม  ซึ่งข้อเสนอใหม่นี้ได้สร้างความพอใจให้กับทุกฝ่ายได้ อย่างน้อยที่สุดทุกคนยอมรับได้ แม้จะไม่สามารถสร้างความพอใจสูงสุดให้กับทุกคนได้

จากสถานการณ์จำลองนี้ เราได้เรียนรู้ร่วมกันว่า มีเหตุปัจจัยมากมายหลายประการที่กำหนดให้แต่ละคนคิดและตัดสินใจเลือกไม่เหมือนกัน รวมถึงเป็นเหตุทำให้เราต้องขัดแย้งกันได้ง่ายทุกชั่วโมงนาที

เหตุปัจจัยที่ว่านี้ได้แก่ ความต้องการพื้นฐานของชีวิตที่ต่างกัน  ความแตกต่างทางอายุหรือวัย เพศ  ความเชื่อศรัทธาซึ่งรวมไปถึงความเชื่อทางศาสนา  ความชอบความสนใจเฉพาะคนที่ไม่เหมือนกัน  อาชีพ (ใครทำอาชีพอะไรก็ย่อมต้องการหรือปกป้องรักษาอะไรที่สัมพันธ์กับอาชีพตน)  สถานภาพทางสังคม  บุคลิกภาพพื้นฐานที่แตกต่างหลากหลาย  การเลี้ยงดูและการหล่อหลอมทางสังคมผ่านกลไกทางสังคมที่แตกต่างกัน เช่น ระบบการศึกษาหรือวิธีการเรียนรู้  การใช้ชีวิตในสังคมกับสิ่งแวดล้อ%

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน