ความผิดพลาดครั้งประวัติศาสตร์

พระไพศาล วิสาโล 1 พฤษภาคม 2005

การแผ่แสนยานุภาพทางทหารของญี่ปุ่นเข้าไปในจีนและเกาหลี  แม้จะล่วงเลยมา ๖๐ ปีแล้ว แต่ก็ได้สร้างบาดแผลที่ฝังลึกและยากจะเยียวยา  เพียงแค่มีอะไรมาสะกิด ก็สามารถกระตุกให้ผู้คนลุกขึ้นมาประท้วงและก่อความรุนแรงได้  ดังที่กำลังเกิดขึ้นในจีนและเกาหลีใต้หลังจากที่มีข่าวว่ากระทรวงศึกษาของญี่ปุ่นอนุมัติแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่กลบเกลื่อนความโหดร้ายของทหารญี่ปุ่นในเหตุการณ์ครั้งนั้น

การรุกรานจีนและเกาหลีระหว่างปี ๒๔๗๔ ถึง ๒๔๘๘  ไม่ได้เป็นแค่รอยด่างในประวัติ ศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น  หากยังสร้างมลทินให้แก่วงการพุทธศาสนาในประเทศนั้นด้วย  ประเด็นหลังเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้กันเท่าใดนัก แต่ก็สมควรกล่าวถึงเพื่อเป็นบทเรียนสำหรับชาวพุทธทั้งมวล

แม้สงครามจะเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักการของพุทธศาสนา  แต่เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นส่งกำลังทหารเข้าไปในจีนและเกาหลี ก็ได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญจากชาวพุทธในทุกระดับและทุกนิกาย  ผู้นำและนักวิชาการทางพุทธศาสนาต่างออกมาให้เหตุผลสนับสนุนการกระทำดังกล่าว  ดร.ฮิตาเนะ โจซาน นักวิชาการลัทธิเซน ให้เหตุผลว่า “นี้เป็นสงครามแห่งการเสียสละที่ชอบธรรมและถูกศีลธรรม ซึ่งช่วยกอบกู้จีนให้พ้นจากภัยคอมมิวนิสต์และการเป็นทาสทางเครษฐกิจ”  เขาถึงกับเรียกการรุกรานดังกล่าวว่าเป็น “สงครามศักดิ์สิทธิ์อันกอปรด้วยจริยาวัตรอันยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์”

ชาวพุทธชั้นนำจำนวนไม่น้อยถือว่าสงครามดังกล่าวเป็น “สงครามอันเปี่ยมด้วยเมตตา”  การจับอาวุธออกไปรบก็คือ “การกระทำเยี่ยงพระโพธิสัตว์เพื่อรักษาดวงวิญญาณนับล้านๆ ทั่วทั้งประเทศจีนและเกาหลีให้พ้นจากกรงเล็บแห่งความตาย”  ความคิดที่อยู่เบื้องหลังเหตุผลดังกล่าวก็คือความเชื่อว่าทั้งสองประเทศต่างล้าหลังในทางพุทธศาสนา มีความเข้าใจน้อยมากเกี่ยวกับหัวใจของพุทธศาสนา  ตรงกันข้ามกับชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็น “ชาวพุทธที่ก้าวหน้าที่สุดในเอเชีย” บ้างก็ว่าญี่ปุ่นเป็น “อันดับหนึ่งในโลกที่เข้าใจจิตวิญญาณที่แท้ของพุทธศาสนา”  บางคนเช่นฟูรูกาวา ไทโกะ ซึ่งเป็นนักเขียนชื่อดังถึงกับกล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็น “ประเทศที่นับถือพุทธศาสนาเพียงประเทศเดียว”  ด้วยเหตุนี้จึงเป็นหน้าที่ของญี่ปุ่นที่จะต้องนำพุทธศาสนาที่แท้ไปให้แก่จีน เกาหลี และอินเดีย ซึ่งอาจรวมถึงการ “เปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนาอันบริสุทธิ์”

สงครามจีน-ญี่ปุ่น ระหว่างปี ค.ศ. 1937-1945

ไม่เพียงสนับสนุนสงครามเท่านั้น  ชาวพุทธชั้นนำของญี่ปุ่นยังตีความและปรับเปลี่ยนหลักธรรมทางพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับการทำสงคราม  เช่น ตีความว่า “ไม่มีโพธิสัตวจริยาใดที่ยิ่งใหญ่กว่าการปลิดชีวิตด้วยความกรุณา”  ขณะเดียวกันก็พูดถึงสงครามว่าไม่มีตัวตนของมันเอง จะดีหรือชั่ว สุดแท้แต่เป้าหมายของการทำสงคราม  รวมทั้งสอนให้ละทิ้งตัวตนเพื่อเข้าสู่สมรภูมิอย่างไม่กลัวตาย  การบรรลุธรรมก็คือการทำตามคำสั่งอย่างมุ่งมั่น “เมื่อสั่งให้เดิน ก็เดิน เมื่อสั่งให้ยิง ก็ยิง นี้คือการแสดงออกซึ่งการบรรลุธรรมขั้นสูงสุด”  ผู้นำนิกายเซนบางคนถึงกับกล่าวว่า “ถ้าเห็นศัตรู เธอต้องฆ่า เธอต้องทำลายสิ่งผิด และสถาปนาความถูกต้อง นี้คือสาระ สำคัญของเซน”

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่พระและนักบวชในนิกายต่างๆ ของพุทธศาสนาได้เสนอตัวไปร่วมรบในจีนและเกาหลีเป็นจำนวนมาก  บ้างก็ร่วมเดินทางไปกับกองทัพเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา  พระหลายรูปทำตัวเป็นสายลับส่งข่าวให้กองทัพ รวมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับคนท้องถิ่นที่ต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่น  ขณะเดียวกับชาวพุทธที่อยู่แนวหลังก็บริจาคเงินซื้ออาวุธและเครื่องบิน รวมทั้งประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อให้อานิสงส์แห่งบุญอำนวยอวยผลให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการทำสงคราม

ข้อที่น่าสังเกตคือ พุทธศาสนาที่มีอิทธิพลอย่างสูงในเวลานั้นจะให้ความสำคัญกับพระจักรพรรดิเป็นอย่างมาก  ดังเห็นได้จากวัดนิกายชินในจีนมีการตั้งแผ่นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิไว้บนแท่นบูชาข้างๆ พระพุทธรูปอมิตาภะ  เอกสารของนิกายนี้ระบุชัดเจนว่า “ในนิกายชิน ไม่มีคำสอนใดที่ไม่สนับสนุนให้ศิโรราบต่อนโยบายขององค์จักรพรรดิ”  ในทำนองเดียวกัน นิกายนิชิเรนก็ประกาศว่า “จิตวิญญาณที่แท้ของพุทธศาสนาแบบมหายาน ก็คือการสนับสนุนกิจการขององค์จักรพรรดิอย่างเคารพนบนอบ”  ส่วนนิกายโซโตเซนก็ไม่ยอมน้อยหน้า แถลงว่า “จุดมุ่งหมายของลัทธินี้คือ…การเชิดชูหลักการอันยิ่งใหญ่ได้แก่การปกป้องรัฐและสนับสนุนองค์จักรพรรดิ”

รับใช้จักรพรรดิก็คือรับใช้พระพุทธองค์ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดามากในเวลานั้นที่ผู้นำบางคนกล่าวว่า “การบูชาพระรัตนตรัยหมายถึงการบูชาพระบรมราชโองการขององค์จักรพรรดิอย่างไร้ข้อสงสัย”  เห็นได้ชัดว่าพุทธศาสนาในญี่ปุ่นได้สนิทแนบแน่นจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลัทธิชาตินิยมซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่จักรพรรดิ  ผลที่ตามมาก็คือพุทธศาสนาในญี่ปุ่นได้กลายมาเป็นเครื่องมือของลัทธิชาตินิยมในการแผ่อำนาจไปทั่วภูมิภาค

เชลยศึกชาวจีนกำลังถูกทหารญี่ปุ่นประหารโดยการตัดคอด้วยดาบซามูไร

พุทธศาสนานั้นปฏิเสธการฆ่าในทุกกรณี  แต่เมื่อใดที่สนิทแนบแน่นกับลัทธิชาตินิยม ก็ง่ายที่จะคลาดเคลื่อนจากหลักการเดิม และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำสงครามและก่ออาชญากรรม ดังได้เกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว  ความผิดพลาดของชาวพุทธในครั้งนั้นได้กลายเป็นมลทินที่ติดตรึงมาจนทุกวันนี้  อย่างไรก็ตามมีหลายนิกายที่ยอมรับความผิดพลาดดังกล่าว และขออภัยอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้ แม้จะล่าช้าไปมากแต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำเลย

ความผิดพลาดของชาวพุทธในญี่ปุ่นในครั้งนั้นเป็นบทเรียนสำคัญที่ชาวพุทธในที่อื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยไม่ควรมองข้าม  ความถือตนว่าเป็นเมืองพุทธชั้นนำและดูถูกชาติอื่นนั้น เป็นกิเลส (เรียกว่ามานะ) ซึ่งสามารถล่อลวงให้เผลอทำสิ่งที่ตรงข้ามกับความเป็นพุทธได้ง่ายๆ  ในทำนองเดียวกันการเผยแผ่ศาสนาหากทำความด้วยความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นประเสริฐสุด ลัทธิของฉันนั้นเป็นเลิศ  สุดท้ายอาจลงเอยด้วยการทำร้ายผู้อื่นในนามของศาสนาหรือความดีได้   และที่สำคัญก็คือความสัมพันธ์กับลัทธิชาตินิยม หากพุทธศาสนายอมให้ลัทธิชาตินิยมครอบงำ  ไม่เพียงหลักธรรมจะถูกแปรเปลี่ยนเท่านั้น หากอันตรายยังจะเกิดขึ้นทั้งกับพุทธศาสนาเองและประชาชนผู้บริสุทธิ์

ความผิดพลาดดังกล่าว แม้แต่ศาสนิกในศาสนาอื่นก็ควรถือเป็นบทเรียนด้วยเช่นกัน


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา