ความมั่นคงของชีวิต : ความจริงที่ต้องรู้

พระไพศาล วิสาโล 1 กรกฎาคม 2013

เมื่อพูดถึงความมั่นคงของชีวิต อันเป็นยอดปรารถนาของผู้คน ส่วนใหญ่แล้วมักนึกถึงความมั่งคั่งร่ำรวย เพราะเมื่อมีเงินแล้ว สวัสดิภาพ ความปลอดภัย และความสะดวกสบายก็ตามมา ยังไม่ต้องพูดถึงบริษัทบริวารที่ห้อมล้อม  แต่ทั้งหมดนี้จะมีความหมายอะไร หากชีวิตไม่มีความสุข ปราศจากความรักและความอบอุ่นจากครอบครัวและมิตรสหาย  ถึงจะมีพวกแต่ไร้เพื่อน จิตใจก็คงอ้างว้าง อดไม่ได้ที่จะรู้สึกโดดเดี่ยวในยามที่อยู่คนเดียว  ยิ่งเงินที่มีอยู่นั้น มิได้มาด้วยวิธีการที่ชอบธรรม ก็ย่อมเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ

ในขณะที่ผู้คนพากันแสวงหาความมั่นคงของชีวิตนั้น สิ่งที่มักถูกมองข้ามไปก็คือ ความมั่นคงของจิตใจ  แม้จะมีเงินมากมายมหาศาล แต่ถ้าจิตใจเต็มไปด้วยความวิตกกังวล หวาดกลัว รุ่มร้อน  รู้สึกพร่อง ไม่รู้จักพอ ขาดความสุขสงบเย็น ก็ยากที่จะรู้สึกว่าชีวิตมีความมั่นคง

ในสมัยพุทธกาลมีพระราชาองค์หนึ่งชื่อว่าพระเจ้าภัททิยะ เป็นพระญาติกับพระพุทธเจ้า ต่อมาได้ออกบวชเพราะทนการรบเร้าอ้อนวอนของเพื่อน (คือเจ้าชายอนุรุทธะ) ไม่ได้  เมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติธรรมจนได้เป็นพระอรหันต์ ไม่ว่าท่านอยู่ที่ใด ในป่าหรือใต้ร่มไม้ ท่านมักเปล่งอุทานว่า “สุขหนอๆ” เป็นประจำ  เพื่อนภิกษุได้ยินก็เข้าใจว่าท่านไม่ยินดีในการบวช จึงกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์จึงรับสั่งให้เรียกท่านมาแล้วถามเหตุผล  พระภัททิยะจึงตอบว่า เมื่อครั้งเป็นฆราวาสครอบครองราชสมบัติ แม้มีทรัพย์และบริวารมาก มีคนคอยดูแลปกป้องรอบข้าง ก็ยังอดสะดุ้งจิตหวาดกลัวไม่ได้  แต่บัดนี้ไม่ว่าข้าพระองค์อยู่ที่ใดเพียงลำพัง ก็ไม่รู้สึกสะดุ้งกลัว มีแต่ความสุขในทุกหนแห่ง จึงเปล่งอุทานเช่นนั้น

สำหรับพระภัททิยะแล้ว แม้เป็นกษัตริย์ก็มิได้รู้สึกมีความมั่นคงในชีวิตเลย สาเหตุก็เพราะจิตใจไม่มีความมั่นคงอย่างแท้จริง

ภาพวาดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ขณะฟังพระปฐมเทศนา โดยพระภัททิยะคือหนึ่งในนั้น

มีหลายสิ่งที่ทำให้คนเราไม่รู้สึกมั่นคงในจิตใจ สิ่งหนึ่งก็คือ ความกลัว ดังกรณีของพระภัททิยะ  หลายคนอาจไม่ได้กลัวอันตราย แต่กลัวการสูญเสีย อาทิ การสูญเสียทรัพย์  เป็นธรรมดาที่ว่า ยิ่งฝากชีวิตไว้กับทรัพย์สินเงินทองมากเท่าใด ก็ยิ่งกลัวการสูญเสียทรัพย์มากเท่านั้น  นี้คือทุกข์ข้อแรกของคนมีทรัพย์ ซึ่งนำไปสู่ทุกข์ประการต่อมา คือ ต้องเหน็ดเหนื่อยในการปกป้องรักษาทรัพย์ แม้ไม่เหนื่อยกายก็เหนื่อยใจ  ยังไม่ต้องพูดถึงก่อนหน้านั้นที่ต้องดิ้นรนขวนขวายในการหาทรัพย์ ซึ่งแม้ประสบความสำเร็จ แต่ความสุขที่เกิดขึ้นก็ชั่วคราวเท่านั้น ไม่ช้าไม่นานก็รู้สึกเฉยๆ หรืออาจถึงกับเบื่อด้วยซ้ำ ทำให้อยากได้ของใหม่ (คนที่ดีใจเพราะได้ iPhone รุ่นใหม่เมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้ส่วนใหญ่คงไม่ปลื้มกับมันแล้วเพราะเห็น iPhone รุ่นใหม่กว่าวางตลาด)

ดังนั้นนอกจากความกลัวแล้ว ความอยากได้ไม่รู้จบก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จิตใจไม่มั่นคง เพราะรู้สึกพร่องอยู่เสมอ  คนที่คิดว่าคำตอบของชีวิตอยู่ที่ทรัพย์สินเงินทอง (รวมไปถึงอำนาจ) จะไม่เคยรู้สึกพึงพอใจในชีวิตเลย เพราะได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ  ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าแม้ได้อะไรมามากมาย แต่ก็มีบางสิ่งบางอย่างที่ขาดหายไปจากชีวิต

เฟอร์ดินันด์ มาร์คอส อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ซึ่งทรงอำนาจอย่างยิ่งเมื่อ ๔๐ ปีก่อน ได้เปิดเผยความในใจในบันทึกของตนเมื่อครั้งที่ถึงจุดสูงสุดของชีวิต ว่า

“ผมมีอำนาจมากที่สุดในฟิลิปปินส์ ผมมีทุกอย่างที่เคยใฝ่ฝัน พูดให้ถูกต้องคือ ผมมีทรัพย์สมบัติทุกอย่างเท่าที่ชีวิตต้องการ มีภรรยา ซึ่งเป็นที่รักและมีส่วนร่วมในทุกอย่างที่ผมทำ มีลูกๆ ที่ฉลาดหลักแหลมและสืบทอดวงศ์ตระกูล มีชีวิตที่สุขสบาย  ผมมีทุกอย่าง แต่กระนั้นผมก็ยังรู้สึกไม่พึงพอใจในชีวิต”

สำหรับมาร์คอส ความมั่นคงของชีวิตที่ผู้คนเห็นจากภายนอกนั้น มีความหมายต่อเขาน้อยมากตราบใดที่เขายังไม่รู้สึกพึงพอใจในชีวิต

เฟอร์ดินันด์ มาร์คอส อดีตประธานาธิบดีผู้ทรงอำนาจของฟิลิปปินส์ ผู้ซึ่งภายหลังได้ลี้ภัยและเสียชีวิตในต่างแดน

มาร์คอสกับพระภัททิยะนั้นเป็นภาพที่ตัดกันอย่างสิ้นเชิง คนหนึ่งมีทรัพย์และอำนาจล้นฟ้าแต่ไม่มีความสุข อีกคนไม่มีอะไรเลยนอกจากบาตรและจีวร แต่มีความสุขอย่างยิ่ง

สิ่งที่ชีวิตของคนเราต้องการอย่างแท้จริงนั้น หาใช่ทรัพย์สินเงินทองไม่ แต่คือความสงบเย็นในจิตใจ  พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าทรัพย์สินไม่สำคัญ ทรัพย์สินนั้นมีประโยชน์ตราบใดที่เรารู้จักใช้มัน ไม่ลุ่มหลงเพราะรู้ว่ามันมีข้อจำกัดอย่างไร  แต่หากลุ่มหลงมันแล้ว เราก็กลายเป็นทาสของมันทันที อีกทั้งมันจะกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้เราเข้าถึงความสงบเย็นในจิตใจ อันเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความสุขและความมั่นคงในจิตใจอย่างแท้จริง

ความสงบเย็นในจิตใจนั้น เกิดจากการหมั่นทำความดี เริ่มด้วยการแบ่งปันทรัพย์สินแก่ผู้ที่ทุกข์ยากหรือผู้ที่ทำประโยชน์ส่วนรวม (ทาน) จากนั้นก็รักษากายและใจไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น รวมไปถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นด้วยกำลังกายและสติปัญญา (ศีล) ตามมาด้วยการฝึกฝนอบรมจิตใจให้เป็นกุศล (ภาวนา) เช่น มีสติ สมาธิ และสันโดษ (ความรู้จักพอ) ที่สำคัญคือการบ่มเพาะใจให้เกิดปัญญา คือเห็นและเข้าใจความจริงของชีวิต

ความจริงของชีวิตอย่างหนึ่งที่ควรตระหนัก และจะช่วยให้จิตใจมั่นคงอย่างยิ่ง นั่นคือความจริงที่ว่า ชีวิตนี้แท้จริงแล้วไม่มีความมั่นคงเลยแม้แต่น้อย เพราะทุกคนเมื่อเกิดมา นอกจากต้องแก่ ต้องป่วยแล้ว ยังหนีความตายไม่พ้น  ชีวิตที่มีความตายเป็นจุดหมายโดยมีความเจ็บป่วย ความแก่อยู่ระหว่างทาง (ไม่นับความสูญเสียพลัดพรากที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน) จะเป็นสิ่งที่มั่นคงได้อย่างไร

มาร์คอส ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองเมื่อปี ค.ศ. 1969

ความจริงของชีวิตที่ควรตระหนัก ซึ่งจะช่วยให้จิตใจมั่นคงอย่างยิ่ง คือความจริงที่ว่า “ชีวิตนี้แท้จริงแล้วไม่มีความมั่นคงเลยแม้แต่น้อย”

ไม่ว่ามีเงินมากมาย มีอำนาจล้นฟ้า ก็ไม่อาจป้องกันความแก่ ความเจ็บ และความตายได้ (ทำได้อย่างมากก็แค่ชะลอเท่านั้น)  ใช่แต่เท่านั้น เงินทองและอำนาจก็ล้วนเป็นสิ่งไม่เที่ยง ไม่จิรัง ไม่มั่นคง แปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา  ในเมื่อตัวมันเองยังไม่มั่นคง มันจะไปค้ำยันชีวิตเราให้มั่นคงได้อย่างไร

ใช่หรือไม่ว่า ความมั่นคงของชีวิตนั้นแท้จริงเป็นของชั่วคราว หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นก็คือ มันเป็นมายาภาพ ที่เราหลงคิดว่าเป็นความจริง  ตราบใดที่เรายังหลงในมายาภาพดังกล่าว เราจะไม่มีวันพบกับความสุขที่แท้จริงได้เลย  ต่อเมื่อเราเห็นความจริงว่าไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้หรือมั่นคงอย่างแท้จริงเลย เราจึงจะพบกับความสงบเย็น เพราะจิตไม่ลุ่มหลงยึดติดกับสิ่งใดๆ อีกต่อไป ไม่ว่ามีอะไร ก็รู้ว่าสักวันหนึ่งมันย่อม “หมด” ไป ดังนั้นเมื่อวันนั้นมาถึง จึงไม่ทุกข์ ไม่เศร้าโศก เสียใจ หรือโกรธแค้น จิตใจยังคงเป็นปกติ มั่นคง ไม่หวั่นไหว

โลกและชีวิตนี้เต็มไปด้วยความผันผวนแปรปรวน  เมื่อใดเราเปิดใจยอมรับและเห็นความจริงดังกล่าว ไม่ยึดหรืออยากให้ทุกอย่างเที่ยงแท้มั่นคงหรือเป็นไปตามใจเรา ความผันผวนนั้นจะไม่อาจทำให้เราทุกข์ได้ต่อไป  ถ้าไม่อยากทุกข์ใจเพราะความผันผวนดังกล่าว ก็ควรพากเพียรสั่งสมความดีและฝึกใจให้เห็นความจริงดังกล่าว อย่ามัวแต่แสวงหาเงินทองหรือสะสมวัตถุจนมองข้ามสิ่งที่สำคัญและประเสริฐกว่าไปเลย


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา