งานชีวิต: เผชิญหน้า วิกฤตชีวิต

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 30 ตุลาคม 2016

เราทุกคนต่างมีช่วงเวลาของการเผชิญวิกฤตชีวิต วิกฤตในรูปของการเผชิญความยากลำบาก อึดอัดคับข้องใจ เจ็บปวด สูญเสีย  ความรุนแรงของวิกฤตชีวิตทำให้แนวทางชีวิต ระบบคุณค่า ความเชื่อต่างๆ ที่เคยยึดถือถูกกระทบกระเทือน สั่นคลอน  และหากรุนแรงมาก สิ่งที่เคยยึดถือก็อาจถึงขั้นพังทลาย

ราวบ่ายสี่ของวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๙ มิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย พ่อหลวง หรือในหลวง พ่อผู้เป็นที่รักได้จากไป ความเศร้าโศก ความอาลัยรัก คลอบคลุมทุกดวงใจของคนไทย

การสูญเสียเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคน ทุกชีวิตต่างมีวิกฤตเข้ามาทดสอบในการข้ามผ่าน และแต่ละครั้งที่ข้ามผ่านก็จะทำให้เราเติบโตเป็นคนใหม่ที่มีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น มีวุฒิภาวะมากขึ้น ในทุกวิกฤตจึงมีโอกาสของการเติบโตอยู่เสมอ  สิ่งที่สำคัญคือ การเรียนรู้และเตรียมพร้อมว่า หากวันใดที่เราต้องประสบกับเหตุการณ์ที่นำความเสียใจ ผิดหวัง และทุกข์ใจมาให้  ทำอย่างไรเราจึงจะผ่านวิกฤตไปสู่โอกาสได้  บททดสอบที่เข้ามาในรูปวิกฤตชีวิต จึงเป็นเสมือนด่านทดสอบพลังและคุณภาพของ “สุขภาพจิต RQ” (Resilience Quotient) ว่ามีคุณภาพอย่างไร มากน้อยเพียงใด

นิยามของสุขภาพจิต RQ  คือ ความสามารถทางอารมณ์ จิตใจ ในการปรับตัวและฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ ภายหลังที่พบกับเหตุการณ์วิกฤต หรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความยากลำบากในชีวิต  พลังสุขภาพจิต เป็นความสามารถของคนเราที่มีอยู่แล้ว และนำมาใช้เมื่อต้องการเอาชนะปัญหา อุปสรรค หรือความยากลำบาก  และพลังนี้แท้จริงคือ “พลังของความอึด ฮึด สู้” ซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน

หลายคนเลือกที่จะอดทน ต่อสู้แบกรับกับความยากลำบาก  หลายคนเลือกที่จะยืนหยัด ดำรงและรักษาไว้ซึ่งระบบคุณค่าที่มีความหมาย มีความสำคัญต่อชีวิต  หลายคนเลือกที่จะไม่ยอมแพ้แรงกดดันจากกระแสสังคมและค่านิยม เพื่อธำรงไว้ซึ่งหลักการดำเนินชีวิตที่ดีงามของตน

พลังอึด

มาจากความเป็นตัวเรา I am คือ พลังคุณค่าในตนเอง  เมื่อคนเรามีความเชื่อมั่นในตนเอง มองเห็น ตระหนักรู้ และเคารพในคุณค่าของตนเอง บุคคลผู้นั้นจะสามารถอดทนต่อแรงกดดันได้ สามารถมองสิ่งต่างๆ ที่มากดดัน สามารถสร้างมุมมองเชิงบวก มองวิกฤตเป็นโอกาส มองเห็นความหวัง เห็นแสงสว่างท่ามกลางสถานการณ์ชีวิตอันยากลำบากได้

พลังฮึด

มาจาก I have คือ พลังกำลังใจที่มาจากการมีคนรัก ครอบครัว เพื่อน คนรอบข้าง หรือสิ่งที่เขาศรัทธา ยึดเหนี่ยว เช่น คำสอนของครูบาอาจารย์ รวมถึงสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับบุคคลผู้เป็นที่รัก อุดมการณ์ ระบบคุณค่า เช่น ความรัก ความเมตตา หรือการเชื่อมโยงกับรากลึกของตนเอง

พลังสู้

มาจาก I can คือ พลังที่เชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง เชื่อมั่นในสติปัญญาและจิตใจของตนเองในการจัดการกับปัญหาและวิกฤตที่เข้ามาในชีวิต สามารถและรู้จักปรับเป้าหมายของชีวิตให้เป็นไปตามสภาพแวดล้อมและเหตุปัจจัย เพื่อนำพาชีวิตไปสู่สิ่งที่ปรารถนา หรือบรรลุความต้องการของตน

ทั้งหมดนี้เป็นเสมือน “ทุนชีวิต” เป็นเสบียงคลังที่ใช้เพื่ออยู่รอดและดำเนินชีวิตท่ามกลางวิกฤตที่เข้ามา

พลังสุขภาพจิต (Resilience Quotient) คือพลังของความ “อึด ฮึด สู้” ซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน

พลังสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เกิดขึ้นดวยการเรียนรู้ สั่งสม และสร้างเสริมจากประสบการณ์ชีวิต จากความสัมพันธ์อย่างมีคุณภาพที่เราได้เชื่อมโยงกับตนเอง กับสัมพันธภาพที่มีต่อคนรอบข้าง รวมถึงต่อสังคมแวดล้อมและวัฒนธรรม โดยแนวทางฝึกฝนอาจเริ่มต้นจาก

๑) สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว เพื่อน ญาติพี่น้อง เพราะสิ่งนี้จะช่วยเราได้เมื่อเจอปัญหาสำคัญในชีวิต เสมือนการมีทุนสำรองคอยโอบอุ้มชีวิต  ๒) การมีอารมณ์ขัน เสียงหัวเราะ การคิดทางบวก การแสดงความรู้สึกที่ดี จะมีส่วนช่วยลดความทุกข์ในใจได้ เสียงหัวเราะทำให้เกิดความสามารถที่จะเย้ยหยัน หรือลดทอนพลังความเข้มข้นในความทุกข์และความเจ็บปวดให้เบาลงได้

๓) เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา มองความล้มเหลวและความผิดพลาดในฐานะบทเรียนเพื่อสามารถลุกขึ้นมาใหม่ สามารถให้กำลังใจตนเองด้วยการรักและภูมิใจในตนเองถึงสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้น และไม่ยอมแพ้กับอุปสรรค แต่สามารถเรียนรู้และปรับตัวเพื่อเอาชนะอุปสรรคนั้น  ๔) มีความหวัง มองโลกในแง่ดี ปรับตัวเก่ง มีความอดทนอดกลั้น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค

และสิ่งสำคัญ คือ  ๕) สามารถดูแลตนเองทั้งด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ มองเห็นศักยภาพของตนเอง ภูมิใจในตนเองว่าสามารถทำสิ่งต่างๆ ที่ยากได้เมื่อเราเผชิญวิกฤตชีวิตที่เข้ามาท้าทาย

ทุกชีวิตต่างมีวิกฤตเข้ามาทดสอบ แต่ละครั้งที่ข้ามผ่านจะทำให้เราเติบโต

หากเปรียบเทียบตัวเราเป็นเสมือนภาชนะบรรจุของเหลว ของเหลวในภาชนะนั้นจะมีลักษณะอย่างไร  มีอะไรในของเหลวที่เข้มข้น อ่อนแก่ หนักเบาอย่างไร  ของเหลวในภาชนะ เปรียบเสมือนความสามารถทั้งหมดที่เรามีอยู่เพื่อรับมือกับวิกฤตที่เข้ามา  ถ้าของเหลวมีสภาพเหมาะสม ก็จะสามารถรับมือกับวิกฤตนั้นได้  แต่ถ้าไม่สามารถรับมือหรือปรับตัวให้เหมาะสมได้ เราจำเป็นต้องจัดสรรองค์ประกอบในของเหลวให้เหมาะสม หมายถึงการเรียนรู้ที่จะเพิ่มอะไรบางอย่าง หากว่าสิ่งนั้นในตัวเรามีน้อยเกินไป หรือการลดอะไรบางอย่างในตัวเรา หากว่าสิ่งนั้นในตัวเรามีมากเกินไป ดังเช่น

๑) การปรับอารมณ์ เลือกใช้หรือมีสติมากขึ้น แทนการใช้อารมณ์ที่เข้มข้นมากไป  ๒) การปรับความคิด ลดการคิดเชิงลบหากว่าเรามองสิ่งต่างๆ ในเชิงลบมากไป และหรือการคิดทางบวกมากขึ้น มองเห็นด้านดีของเหตุการณ์แทนการจับผิดที่มากเกินไป  ๓) ปรับการกระทำเชิงสร้างสรรค์ให้มากขึ้น แม้จะเล็กน้อย เพื่อให้เหตุการณ์ดีขึ้น หรือการเพิ่มความยืดหยุ่นบางอย่างให้มากขึ้น เช่น ปรับเป้าหมาย ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เหตุปัจจัย

๔) การเพิ่มเติมศรัทธา การเพิ่มเติมในความเชื่อมั่นว่า ชีวิตมีคุณค่าและความหวัง แม้จะถูกทดสอบก็ช่วยทำให้เข้มแข็งขึ้น  ๕) การเพิ่มเติมมิตร การมีคนที่พร้อมรับฟังและช่วยเหลือเรา  ๖) การเพิ่มเติมจิตใจให้เปิดกว้างขึ้น ร่มเย็นขึ้น เปิดรับและเข้าใจในความรู้สึกของอีกฝ่ายได้ แม้ประสบการณ์หรือความรู้สึกความคิดนั้นจะเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย

เราทุกคนต่างอยากที่จะหลีกเลี่ยงความทุกข์ หลีกห่างวิกฤตที่เข้ามา โชคร้ายที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้  โชคดีคือเราสามารถเรียนรู้และเติบโตได้จากวิกฤตที่เข้ามา ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนความสามารถและความเข้มแข็งของความฉลาดทางพลังสุขภาพจิต ซึ่งแท้จริงก็เพื่อรับมือวิกฤตครั้งยิ่งใหญ่คือ ความตายของตัวเราเอง

ปราศจากการฝึกซ้อม เรียนรู้ เราจะรับมือไม่เป็น  ผลที่เกิดขึ้นคือ โศกนาฎกรรม

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน