งาน พลังกลุ่ม และความสุข

ปรีดา เรืองวิชาธร 27 สิงหาคม 2005

ผมตั้งคำถามและเริ่มปฏิเสธความเชื่อหรือทัศนคติบางอย่างของการทำงานองค์กรในสังคมสมัยใหม่มาตั้งแต่เป็นนักศึกษา โดยเฉพาะทัศนคติที่ว่า เราควรมุ่ง ผลสำเร็จของงาน เป็นหลักโดยมองข้าม ความสุขกับการเติบโตของคน รวมถึง สัมพันธภาพอันลึกซึ้งของเพื่อนร่วมองค์กร หรือแม้จะให้ความสำคัญบ้างแต่ก็ให้คุณค่าเพียงแค่เป็นเครื่องมือหรือปัจจัยเพื่องานที่บรรลุผลเท่านั้น นั่นหมายถึงการเอางานเป็นตัวตั้งหรือเป้าหมายเพียงประการเดียว

หากเราเน้นเอางานเป็นเป้าหมายเพียงเรื่องเดียว เราจะละเลยหรือไม่เปิดโอกาสให้กับการเรียนรู้เพื่อเติบโตทางจิตวิญญาณและเพื่อพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ของคน เพราะการเรียนรู้ที่สอดคล้องต้องกันกับฉันทะและงานที่แต่ละคนทำ ย่อมนำไปสู่ความสุขใจที่จะเรียนรู้เพื่อจะพัฒนาตนเอง นำไปสู่พลังแสวงหาและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ อยู่เสมอ ทั้งยังทำให้ทุกคนเกิดความพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาจากงานอันหนักอึ้ง รวมถึงปัญหาความขัดแย้งไม่ลงตัวของคนในองค์กร ดังนั้นการเรียนรู้ของคนจึงเป็นที่มาของงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและความสดใหม่

เช่นเดียวกัน หากเราละเลยไม่ใส่ใจต่อการสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ของคนในกลุ่มองค์กรเดียวกัน นอกจากจะทำให้งานออกมาด้อยทั้งคุณภาพและปริมาณแล้ว ยังทำให้บรรยากาศการทำงานร่วมกันเต็มไปด้วยความอึดอัดขัดแย้ง ออกอาการต่างคนต่างทำเพื่อมุ่งเป้าของตน ความร่วมไม้ร่วมมือเป็นทีมที่เข้มแข็งจึงเกิดขึ้นได้ยาก สิ่งเหล่านี้เป็นที่มาของอาการหมดไฟ เพราะต้องทำงานบนความอึดอัดซ้ำซากจำเจอย่างไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงตรงไหน

ดังนั้น กลุ่มหรือองค์กรควรเปิดโอกาสให้กับการสร้างสรรค์สัมพันธภาพอันลึกซึ้งที่มากไปกว่าการเป็นเพื่อนร่วมงานธรรมดา เพราะมนุษย์มีมิติอื่นอีกมากมายที่ไม่ควรจำกัดให้ต้องเกี่ยวข้องกันเฉพาะเรื่องงาน  เราจำต้องมีเวลา โอกาส หรือกิจกรรมต่างๆ ให้ทุกคนในกลุ่มองค์กรได้รับรู้ถึงสุขทุกข์ในชีวิต เข้าใจและยอมรับจุดอ่อนจุดแข็งของบุคลิกภาพและความสามารถด้านต่างๆ ของกันและกันได้

มากไปกว่านั้นเราควรสนับสนุนให้แต่ละคนได้เรียนรู้จากกันและกัน และเสริมหรือเกื้อหนุนจุดแข็งพร้อมกับช่วยสลายคลายจุดอ่อนให้แก่กันและกันได้ โดยเรียนรู้กันด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตรสบายๆ ไม่เคร่งเครียด  การเปิดโอกาสให้เรียนรู้ซึ่งกันและกันย่อมนำไปสู่ความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกัน รวมถึงการเกื้อกูลช่วยเหลือกัน เมื่อองค์กรมีกลิ่นอายแห่งรักและเข้าใจกันก็ย่อมทำให้งานมีคุณภาพและชีวิตชีวา

ในทางพุทธศาสนานั้นไม่ได้ให้งานเป็นเป้าหมายของชีวิตเพียงด้านเดียว แต่กลับเน้นให้ทุกคน ทำประโยชน์ตนให้ถึงพร้อม ซึ่งเป็นเป้าหมายชีวิตอันสำคัญพื้นฐานเลยทีเดียว เพราะหากแต่ละคนขวนขวายเรียนรู้พัฒนาตนเองให้มีร่างกายเข้มแข็งสมบูรณ์ มีพฤติกรรมที่ไม่เบียดเบียนเอาเปรียบคนอื่น มีจิตใจและปัญญาที่มั่นคงและคลี่คลายปัญหาต่างๆ เองได้ ย่อมเป็นเป้าหมายอันประเสริฐของชีวิตในตัวอยู่แล้ว ซึ่งเราทุกคนควรขวนขวายทำให้ได้ และเมื่อเป้าหมายด้านนี้เริ่มเจริญงอกงามขึ้นเรื่อยๆ เราย่อมสามารถ ทำงานเพื่อยังประโยชน์สำหรับผู้อื่นและสังคม ได้มากขึ้น

นอกจากประโยชน์หรือเป้าหมายระดับบุคคลแล้ว ในแง่เป้าหมายด้านความสัมพันธ์ พระพุทธองค์ยังทรงสนับสนุนให้เกิดสังฆะหรือคณะสงฆ์ เพื่อให้สังฆะทำหน้าที่เกื้อกูลส่งเสริมการปฏิบัติขัดเกลาด้านในของกันและกัน และเพื่อเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้คณะสงฆ์ทำประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนได้  ดังนั้นเป้าหมายด้านความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งและมีเอกภาพนั้น พระพุทธองค์ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ดังเราจะเห็นได้ชัดเจนจากการบัญญัติพระวินัยสำหรับคณะสงฆ์ เพื่อให้เป็นอยู่ร่วมกันด้วยความรักสามัคคี และยังกำหนดให้คณะสงฆ์ต้องมีส่วนร่วมในทุกๆ ด้านของกิจกรรมส่วนรวม ดังนั้นคณะสงฆ์จึงดำรงอยู่ได้ด้วยดีและตั้งมั่นแม้จะไม่มีพระองค์อีกแล้วก็ตาม

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ กลุ่มองค์กรสมัยใหม่ควรใส่ใจถึงการเรียนรู้กับความสุขของคนในองค์กร และความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของคนในกลุ่มให้สมดุลกับการทำงานอย่างเพียงพอ โดยยกเอาทั้ง ๒ ประเด็นขึ้นมาเป็นเป้าหมายควบคู่กับงาน เมื่อองค์กรทำเป้าหมายทั้ง ๓ ด้าน คือ งาน คน และกลุ่ม ให้เกิดความบรรสานสอดคล้องแล้ว ก็จะแปรเป็นพลังขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงอันมหาศาลทั้งในแง่ชีวิตและสังคม

องค์กรสมัยใหม่ควรใส่ใจถึงการเรียนรู้ ความสุข และสัมพันธภาพของคนทำงาน

ประสบการณ์จากหลายองค์กรพบว่า แม้บางครั้งงานจะล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่หากแต่ละคนยังมีไฟและฉันทะที่จะทำต่อ ทั้งกลุ่มยังคงรักใคร่ปรองดองกันอย่างเหนียวแน่นแล้ว แนวโน้มที่งานจะบรรลุมรรคผลตามที่ฝันก็จะไม่ไกลเกินเอื้อม

ในทางตรงข้าม แม้งานในครั้งนั้นจะขับเคี่ยวสำเร็จออกมาได้ แต่หากผลสำเร็จนั้นมาคู่กันกับความรู้สึกขัดแย้งพร้อมที่จะแตกหัก หรือต่างคนต่างหมดไฟกรอบจากการทำงานแล้ว งานในอนาคตเราจะเอาปัจจัยที่ไหนมาขับเคลื่อนออกมาให้เห็นได้อย่างยั่งยืนล่ะ

ดังนั้นงานเองนอกจากจะอยู่ในฐานะเป็นเป้าหมายที่เราควรขวนขวายทำให้บรรลุผลแล้ว งานก็ควรเป็นปัจจัยหรือโอกาสให้คนเรียนรู้เพื่อเติบโตทั้งทางจิตวิญญาณและทักษะด้านต่างๆ  เพราะหากคนแต่ละรุ่นได้ใช้การทำงานเป็นโอกาสในการพัฒนาตนแล้ว องค์กรย่อมมีคนดีมีฝีมือหนุนเข้ามาช่วยทำงานอย่างไม่ขาดสาย และนั่นก็เท่ากับเราได้ช่วยกันสร้างสรรค์คนดีมีคุณภาพให้กับสังคมทางหนึ่งด้วย

ท่านพุทธทาสภิกขุเคยพูดถึงเรื่องข้างต้นไว้ว่า เราควรทำงานเพื่อธรรม หรือ การทำงานคือการปฏิบัติธรรม ซึ่งนอกจากจะหมายถึง การทำงานเพื่อความถูกต้องดีงามแล้ว ยังหมายถึงงานนั้นควรเป็นโอกาสหรือปัจจัยให้เราได้ฝึกลดละคลายความยึดมั่นถือมั่นภายในของแต่ละคน เพราะการทำงานเราต้องปะทะสังสรรค์กับคนซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย เผชิญกับความผันผวนปรวนแปรของงานกับคนรวมถึงตัวเองด้วย  ดังนั้นการมีสติพร้อมพอที่จะเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็จะทำให้เราเห็นความทุกข์จากการเข้าไปทำอะไรอย่างยึดมั่นถือมั่น เมื่อฝึกมองให้เห็นบ่อยๆ ขึ้นเราก็จะคลายจากความยึดติด ความสุขใจก็เกิดขึ้น งานจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราเลื่อนขั้นทางจิตวิญญาณได้เช่นกัน

เมื่อมองทั้ง ๓ ประเด็นแล้ว งาน คน และกลุ่มจึงควรเป็นทั้งเป้าหมาย ๓ ด้านในเวลาเดียวกัน และต่างเป็นปัจจัยหนุนเสริมต่อกันและกันอย่างมิสามารถแยกกันได้


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน