จริงหรือ อยู่ที่ไหนจิตวิญญาณก็พัฒนาได้?

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 26 พฤษภาคม 2001

เดือนเมษายน ๒๔๗๕  พระมหาเงื่อม อินทปัญโญ พระหนุ่มวัย ๒๖ ปี เดินทางออกจากกรุงเทพฯ กลับบ้านเดิมที่พุมเรียง ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อพบว่าเมืองหลวงมิใช่สถานที่อันเกื้อกูลต่อการพัฒนาจิตวิญญาณในแนวทางที่ตนเองเลื่อมใส  ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม ระบบการศึกษาของสงฆ์  เมื่อกลับถึงบ้านเกิดไม่นาน ในวันวิสาขบูชา เดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน  พระมหาเงื่อมก็ได้ย้ายเข้าไปอยู่ในวัดร้างแห่งหนึ่ง มุ่งมั่นฝึกฝนทดลองการพัฒนาตนเองตามแนวทางใหม่อย่างเข้มข้น โดยมีญาติมิตรจำนวนหนึ่งเป็นสหายธรรมคอยเอื้อเฟื้อเกื้อหนุนปัจจัยสี่ และมีพระบรมศาสดาเป็นครูคอยชี้แนะสั่งสอนอย่างใกล้ชิดผ่านการศึกษาพระไตรปิฎกด้วยตนเอง

ถ้าพระมหาเงื่อมยังคงอยู่ที่กรุงเทพฯ ต่อไปอีก ในวันนี้วงการพุทธศาสนาไทยอาจจะไม่มีพระมหาเถระนาม “พุทธทาสภิกขุ” ผู้นำด้านจิตวิญญาณซึ่งมีบทบาทสำคัญมากที่สุดในการปฏิรูปการพระศาสนาในสังคมยุคใหม่  และไม่มี “สวนโมกขพลาราม” สถานที่ซึ่งท่านและสหายธรรมร่วมกันก่อตั้งขึ้น เพื่อให้เป็น “อารามอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้น” แก่ชนร่วมสมัยของท่าน

หากท่านอาจารย์พุทธทาสยังมีชีวิตอยู่ วันที่ ๒๗ พฤษภาคมนี้ (๒๕๕๔) ท่านจะมีอายุครบ ๙๕ พรรษา ชีวิตของท่านได้ตอบคำถามที่ตั้งไว้อย่างชัดเจนว่า สิ่งแวดล้อมทั้งสถานที่ บุคคล ล้วนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการเกิดและเติบโตก้าวหน้าในทางจิตวิญญาณ  ดังปรากฏชัดเจนในจดหมายที่ท่านมีถึงโยมน้องชายผู้เป็นกำลังหนุนคนสำคัญคือท่านธรรมทาสว่า “เราตกลงใจกันแน่นอนแล้วว่า  กรุงเทพฯ ไม่ใช่เป็นที่ที่จะค้นพบความบริสุทธิ์” ท่านจึงขอให้ช่วยเสาะหาสถานที่ใหม่ซึ่งมีความเหมาะสมแก่การศึกษาตามแนวทางพุทธศาสนา  นั่นหมายความว่าการพัฒนาจิตวิญญาณนั้น มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงทั้งกับสภาพแวดล้อมและวิธีการศึกษา อย่างแยกกันไม่ออกและแยกกันไม่ได้

เราจะเข้าใจประเด็นนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น หากเข้าใจว่า มนุษย์มีธรรมชาติโดยพื้นฐานเป็นอย่างไร และการเรียนรู้ของมนุษย์ส่วนใหญ่เกิดและพัฒนาได้อย่างไร  พุทธศาสนานั้นมีความเชื่อหรือความศรัทธาพื้นฐานว่า มนุษย์ (ไม่แยกชายหญิง) มีธรรมชาติทั้งฝ่ายดีและฝ่ายต่ำหรือส่วนที่เป็นสัญชาติญาณดังเช่นสัตว์โลกทั่วไป  แต่มนุษย์ก็พัฒนาธรรมชาติฝ่ายดีได้ และขัดเกลา (หรือที่ท่านอาจารย์พุทธทาสใช้คำว่า “ขูดเกลา”) ฝ่ายต่ำได้ ถ้าได้รับการฝึกฝนหรือการศึกษาอย่างถูกวิธี  มนุษย์มิได้เป็นสัตว์ประเสริฐแต่กำเนิด หากเป็นสัตว์ประเสริฐได้ด้วยการฝึกฝน  และการฝึกฝนอย่างถูกวิธี อย่างเข้าใจสภาพธรรมชาติของมนุษย์ จะทำให้มนุษย์ธรรมดามีศักยภาพและพลังในการสร้างสรรค์ได้อย่างมหาศาล โดยมีชีวิตของพระบรมศาสดาและพระสาวกทั้งหลายเป็นประจักษ์พยาน

การที่มนุษย์มีธรรมชาติทั้งสองฝ่าย และมีแนวโน้มง่ายที่จะไหลลงสู่ฝ่ายต่ำ  การจัดสภาพแวดล้อมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง  เป็นเสมือนมาตรการเบื้องต้นที่จะช่วยในการควบคุมธรรมชาติฝ่ายต่ำ และส่งเสริมความงอกงามของธรรมชาติฝ่ายดี  เพราะมนุษย์ส่วนมาก เติบโตโดยอาศัยการรับรู้เรียนรู้จากภายนอก (ปรโตโฆษะ) เป็นหลักแรก ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่การรู้จักคิดไตร่ตรองหรือทำในใจให้แยบคาย (โยนิโสมนสิการ) เกิดปัญญาด้วยตนเอง  ยิ่งในกรณีที่ต้องการฝึกฝนธรรมชาติฝ่ายดีอย่างเข้มข้น เพื่อมุ่งตรงสู่เป้าหมายแห่งความหลุดพ้นโดยตรงและรวดเร็ว ก็ยิ่งต้องอาศัยสภาพแวดล้อม  ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ บุคคล รูปแบบ สัญลักษณ์ ระเบียบ (ศีล วินัย) ฯลฯ ที่จะช่วยสนับสนุนบุคคลให้เพิ่มพูนความคิด (ปัญญา) ให้แหลมคมชัดเจน  มีพลังจิตที่สงบ แจ่มใส ตั้งมั่น ไม่วอกแวก และมีพฤติกรรมที่ช่วยเสริมความคิดและจิตใจในฝ่ายดีของมนุษย์ให้งอกงาม  ไปพร้อมๆ กับการลด-ละ-เลิกธรรมชาติฝ่ายต่ำไม่ว่าทางความคิด จิต พฤติกรรมให้น้อยลงไปเป็นลำดับ

การที่มนุษย์มีธรรมชาติทั้งสองฝ่าย และมีแนวโน้มง่ายที่จะไหลลงสู่ฝ่ายต่ำ การจัดสภาพแวดล้อมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

โดยเหตุนี้พุทธศาสนาจึงเน้นวิถีชีวิตแบบอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน เพื่อให้การอยู่ร่วมกันเป็นปัจจัยเอื้อให้มนุษย์เรียนรู้และพัฒนาความคิด จิตวิญญาน พฤติกรรมซึ่งกันและกัน  โดยยอมรับความแตกต่างหลากหลายของกำลังอินทรีย์และความศรัทธาของมนุษย์  ชุมชนจึงมีทั้งคฤหัสถ์และชุมชนสงฆ์ (ภิกษุ-ภิกษุณี) โดยส่วนหลังมีขึ้นเพื่อมุ่งตรงสู่ความหลุดพ้น เป็นตัวแบบและปัจจัยเอื้อให้แก่การพัฒนาส่วนคฤหัสถ์ด้วย

จากอนุทินบันทึกธรรมของท่านอาจารย์พุทธทาสในระหว่างการศึกษาพุทธธรรมอย่างเข้มข้น  เราจะพบรูปธรรมชัดเจนว่า สภาพแวดล้อมและวิธีการเรียนรู้มีอิทธิพลที่สำคัญยิ่งต่อความก้าวหน้าในการบ่มเพาะจิตวิญญาณ  อันหมายถึงสภาวะจิตที่ตระหนักรู้ในสภาพความจริงของธรรมชาติ (ธรรม) ว่าดำรงอยู่อย่างไร เป็นไปอย่างไร และตัวมนุษย์เองเกี่ยวโยงกับสภาวะดังกล่าวอย่างไร  การที่ท่านอาจารย์ได้มีโอกาสสังเกตเรียนรู้สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เห็นความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งและสรรพชีวิต และความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งดังกล่าวกับตนเอง  มีผลโดยตรงต่อการเกิดความตระหนักรู้ในใจ (โยนิโสมนสิการ-ปัญญา) ในกฎแห่งธรรมชาติ (ธรรม) และมองทะลุว่ามนุษย์ควรดำรงชีวิตของตนเองและสังคมอย่างไรจึงจะถูกต้องสอดคล้องตามกฎดังกล่าว ไม่ถูกบีบคั้นให้เกิดทุกข์ และไม่สร้างความสัมพันธ์ในเชิงทำลายล้างเบียดเบียนชีวิตอื่นจากความไม่รู้ในกฎแห่งธรรมชาติดังกล่าว

ดังนั้น คำกล่าวที่ว่าอยู่ที่บ้านก็บรรลุธรรมได้ หรืออยู่ที่ไหนก็พัฒนาจิตวิญญาณได้นั้น แม้จะเป็นความจริง แต่ก็จริงอย่างจำกัดสำหรับคนส่วนน้อย ยังมิใช่ความจริงสำหรับคนส่วนใหญ่ซึ่งไม่มีต้นทุนทางจิตวิญญาณหรือมีน้อย  แม้ผู้ที่มีต้นทุนอยู่แล้ว หากต้องการพัฒนาอย่างเข้มข้นจริงจังก็ยังต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่ดีเกื้อหนุนเช่นกัน ดังกรณีท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นตัวอย่าง  ต่อเมื่อจิตวิญญาณได้รับการพัฒนามากขึ้นเป็นลำดับ ความสำคัญของสิ่งแวดล้อมก็จะลดน้อยลงเป็นลำดับเช่นกัน  จนกระทั่งไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อม สถานที่ บุคคล หรือเผชิญสถานการณ์แบบใด บุคคลผู้พัฒนาตนเองดีแล้ว จะสามารถทำในใจให้แยบคายคือมีปัญญารู้เท่าทันสภาวะภายนอก-ภายในใจของตนเองได้ดี  จนกระทั่งสามารถจัดการกับสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและสิ่งแวดล้อมไม่ว่ามนุษย์-สรรพชีวิตอื่น และธรรมชาติ

ความเข้าใจในปัจจัยที่เกี่ยวข้องไม่ครบถ้วน อาจเป็นอุปสรรคให้การพัฒนาจิตวิญญาณทั้งของบุคคลและสังคมก้าวหน้าได้ยากอย่างคาดไม่ถึงทีเดียว


ภาพประกอบ