จริยธรรมสำหรับโลกยุคใหม่

พระไพศาล วิสาโล 29 พฤศจิกายน 2009

ปัญหาจริยธรรมเสื่อมโทรมกำลังเป็นปัญหาทั่วโลก แม้แต่สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความเจริญทางวัตถุอย่างเต็มที่ ก็กำลังเรียกหาจริยธรรม เพราะสังคมกำลังประสบปัญหาหลายประการเช่น  อาชญากรรมแพร่ระบาด แม้กระทั่งเด็กก็กลายเป็นฆาตกรสังหารหมู่อย่างไม่รู้สึกรู้สา  ระบบสวัสดิการผลาญงบประมาณมาก เพราะคนไม่ยอมทำงาน คอยพึงแต่ความช่วยเหลือจากรัฐ  นอกจากนั้นยังมีปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน เด็กท้องไม่มีพ่อ กลายเป็นภาระของรัฐมาก  ขณะเดียวกันจริยธรรมการทำงานตกต่ำ คนขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวม  การศึกษาตกต่ำ คนจำนวนมากอ่านหนังสือไม่ออก คิดเลขไม่ได้ ผลก็คือคนยากจนเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และเกิดช่องว่างมากขึ้นระหว่างคนรวยกับคนจน

ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความวิตกกังวลมาก ดังเอ็ดเวิร์ด ลุตต์แวค นักวิชาการชาวอเมริกันให้ความเห็นว่า “สหรัฐจะกลายเป็นประเทศในกลุ่มโลกที่ 3 เมื่อใด?  คำตอบหนึ่งคาดไว้ใกล้แค่ ค.ศ. 2020 ส่วนการคาดหมายที่มองในแง่ดีกว่านั้นเพิ่มให้อีก 10 หรือ 15 ปี  แต่ไม่ว่าจะเอาแบบไหนก็ตาม ถ้าแนวโน้มปัจจุบันยังดำเนินต่อไป คนอเมริกันทั้งหมดยกเว้นจำนวนน้อยนิด จะจนลงอย่างรวดเร็ว จนเหลืออยู่แต่ความหวนละห้อยอย่างสิ้นหวัง ถึงยุคทองแห่งความรุ่งเรืองของอเมริกาที่หมดสิ้นไปแล้ว”

ปัญหาจริยธรรมนั้นได้กลายเป็นปัญหาระดับโลกไปแล้ว และกลายเป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศ  ความเชื่อที่ว่าจริยธรรมกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจไปด้วยกันไม่ได้นั้น (เช่นถ้าอยากจะรวยก็ต้องรู้จักโกง) กำลังจะล้าสมัยแล้ว เพราะเห็นได้ชัดในกรณีสหรัฐ ว่า การขาดจริยธรรมของผู้คน กำลังเหนี่ยวรั้งเศรษฐกิจไม่ให้เจริญรุดหน้า มิไยจะต้องเอ่ยถึงความเจริญก้าวหน้าในด้านอื่น

ด้วยเหตุนี้ปัจจุบันจึงมีเสียงเรียกร้องจริยธรรมหนาหูขึ้นในทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่วงการธุรกิจ ดังมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้เปิดสาขาวิชาใหม่เรียกว่า “จริยธรรมธุรกิจ” ขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ เปิดสอนวิชาจริยธรรมด้านอื่นๆ มากมาย

แม้กระทั่งในวงการเมือง ก็เริ่มเห็นแล้วว่าลำพังระบบประชาธิปไตยอย่างเดียวย่อมไม่พอแล้ว แต่จะต้องมีจริยธรรมเข้ามากำกับด้วย ดังในประเทศอังกฤษเมื่อไม่กี่ปีมานี้ พอล จอห์นสัน นักประวัติศาสตร์ลือชื่อได้เสนอ “ประชาธิปไตยแบบคุณธรรม” ขึ้น ขณะเดียวกันก็มีผู้เสนอให้คนที่อาศัยอยู่ในอังกฤษทุกคนมี “ดัชนีแห่งคุณธรรม” ประจำตัว โดยให้มีการปรับเปลี่ยนดัชนีดังกล่าวเป็นระยะๆ ตามความประพฤติ

จริยธรรมสิ่งแวดล้อม

จริยธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นจริยธรรมอีกประเภทหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบัน เพราะลำพังเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ตัวอย่างเช่นรถยนต์ประหยัดน้ำมันแทนที่จะทำให้คนใช้น้ำมันน้อยลง กลับทำให้ใช้เพิ่มขึ้น เพราะเมื่อเสียค่าน้ำมันน้อยลง ก็เกิดแรงจูงใจที่จะใช้รถบ่อยขึ้น ทำให้เผาผลาญน้ำมันมากขึ้น  ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะบรรเทาลงได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเสียใหม่

จริยธรรมสิ่งแวดล้อมมีคุณลักษณะสำคัญดังนี้

• เห็นมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มิใช่แยกตัวหรือเป็นใหญ่เหนือธรรมชาติ (ความเชื่อบางสายถึงกับมองว่ามนุษย์กับสัตว์มีสิทธิในโลกนี้เท่าเทียมกัน)

• คำนึงถึงผลกระทบแบบลูกโซ่ในธรรมชาติ เช่น ตระหนักว่าการสร้างเขื่อน ไม่เพียงแต่จะทำลายป่าหากยังมีผลกระทบต่อสัตว์และแมลงในป่า อาจนำไปสู่การระบาดของโรค นอกจากนั้นยังทำให้หน้าดินถูกกัดเซาะลำธารตื้นเขิน เกิดน้ำท่วมตามมา ผลก็คือต้องสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นไม่รู้จบ  ด้วยเหตุนี้ การทำอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม จะต้องมีการสำรวจตรวจสอบอย่างทั่วถึงตลอดสายเท่าที่จะเป็นไปได้

• พยายามลดผลกระทบต่อธรรมชาติให้เหลือน้อยที่สุด แม้จะทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือทำให้เพิ่มต้นทุนก็ตาม เช่น ต้องยอมลงทุนบำบัดน้ำเสียก่อนระบายสู่แหล่งน้ำ หรือมีเครื่องกรองควันพิษจากรถยนต์และปล่องโรงงาน

• คัดค้านการกระทำที่ส่งผลเสียต่อธรรมชาติ เช่น ไม่ซื้อสินค้าซึ่งผ่านกระบวนการผลิตที่ทำลายธรรมชาติ หรือใช้วัตถุดิบที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม หรือคัดค้านโครงการพัฒนาที่ส่งผลให้มีการทำลายป่าหรือลดทอนความหลากหลายทางชีวภาพ

จริยธรรมระดับบรรษัท – ประเทศ

ยุคโลกาภิวัตน์ไม่เพียงแต่เรียกร้องให้มีจริยธรรมแบบใหม่ เช่น จริยธรรมสิ่งแวดล้อมเท่านั้น หากยังก่อให้เกิดจริยธรรมอีกระดับหนึ่งที่ไปพ้นระดับบุคคล กล่าวคือถือว่าจริยธรรมนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนบุคคลเท่านั้น หากยังถือว่าเป็นเรื่องที่บรรษัทและประเทศทั้งหลายจะต้องคำนึงและเคารพด้วย

ปัจจุบันมีบรรษัทเป็นอันมากประกาศนโยบายทางด้านจริยธรรม  อาทิ

• ไม่ซื้อวัตถุดิบที่มีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่ซื้อปลาที่จับด้วยอวนลากอวนรุนอันเป็นเหตุให้เต่าทะเลหรือโลมาตาย หรือไม่ซื้อไม้ที่ตัดด้วยวิธีล้างผลาญป่า

• ไม่ใช้กระบวนการผลิตหรือก่อผลผลิตที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่ใช้สารไดอ๊อกซิน ซึ่งทำให้เป็นมะเร็งทั้งคนและสัตว์ ต้องมีการบำบัดน้ำเสีย ไม่มีการทรมานสัตว์ไม่ว่าในห้องทดลองในฟาร์มหรือในระหว่างการถ่ายภาพยนตร์ เป็นต้น

• รับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม เช่นเรียกบรรจุภัณฑ์กลับมารีไซเคิลเอง

• ไม่ซื้อวัตถุดิบที่เกิดจากแรงงานเด็ก หรือกดค่าแรงคนงาน

• ไม่ลงทุนในประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นเผด็จการ หรือเหยียดผิว เช่น พม่า หรืออาฟริกาใต้ในสมัยหนึ่ง

• ให้โอกาสแก่ผู้หญิงและคนส่วนน้อยอย่างเท่าเทียมกับผู้ชายหรือคนส่วนใหญ่

นอกจากนั้นยังมีหลายประเทศที่ถูกเรียกร้องกดดันให้เคารพจริยธรรมด้านต่างๆ มากขึ้น เช่นไม่ค้าขายติดต่อกับประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน กดดันประเทศที่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยมาตรการทางการค้า เช่น ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือใช้มาตรการทางการทูต เช่น กดดันเขมรกรณีทำลายป่าขนานใหญ่หรือกดดันฝรั่งเศสกรณีทดลองระเบิดนิวเคลียร์

จริยธรรมในยุคใหม่

จริยธรรมในยุคปัจจุบันนั้นมีลักษณะพิเศษเมื่อเทียบกับอดีตคือ

• มีหลายระดับ กล่าวคือไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อบุคคล หรือบุคคลต่อสังคม หากยังครอบคลุมถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อสัตว์ ชนิดพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม  นอกจากนั้น จริยธรรมยังไม่ใช่เป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังคลุมถึงบรรษัทและประเทศ

• มีหลายด้าน อาทิ สิ่งแวดล้อม (เช่นใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด ไม่ตัดไม้ทำลายป่า)  ผู้หญิงและเด็ก (เช่นเคารพสิทธิของผู้หญิง ไม่ละเมิดทางเพศ)  เชื้อชาติ (เช่นไม่เลือกปฏิบัติหรือดูถูกเหยียดหยาม เคารพวัฒนธรรมของชนเชื้อชาติต่างๆ)  ธุรกิจและเศรษฐกิจ (เช่นไม่กดค่าแรง รับผิดชอบสังคม มีความโปร่งใส)  การเมือง (เช่นเป็นประชาธิปไตย ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน)

น่าสังเกตว่าจริยธรรมดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจจากศาสนาน้อยมาก แต่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดแบบมนุษยนิยม (humanism)  ในแง่หนึ่งก็ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลที่ลดลงของศาสนา ขณะเดียวกันก็ทำให้ศาสนาต้องปรับตัวด้วยการนำเอาจริยธรรมเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคำสอนทางศาสนา  หาไม่แล้วศาสนาก็จะมีบทบาทน้อยมากในสังคมสมัยใหม่


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา