จัดระเบียบความตาย

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 8 กันยายน 2002

นิทานเซนเรื่องหนึ่ง เล่าว่ามีคหบดีคนหนึ่งพร้อมบุตรหลานไปทำบุญที่วัดในวันขึ้นปีใหม่ เสร็จแล้วก็ขอพรจากหลวงพ่อเจ้าอาวาส  พระท่านก็เขียนคำอวยพรให้ว่า “พ่อตาย ลูกตาย หลานตาย”  คหบดีเห็นเข้าก็โกรธ ต่อว่าหลวงพ่อว่าเหตุใดจึงมาแช่งกันในวันมงคลเช่นนั้น  หลวงพ่อตอบคหบดีว่า การตายตามลำดับอายุขัยเป็นพรอย่างยิ่งแล้ว  เพราะลองคิดดูว่าหากหลานตายก่อนปู่ หรือลูกตายก่อนพ่อ ตายอย่างไม่เป็นไปตามธรรมดา ธรรมชาติ เขาจะมิยิ่งโศกเศร้าหรอกหรือ  คหบดีได้ฟังเช่นนั้นก็เข้าใจในธรรมที่หลวงพ่อให้ จึงขออภัยและคำนับขอบพระคุณด้วยความซาบซึ้งในธรรมที่ได้รับในวันขึ้นปีใหม่

ในวิถีแห่งพุทธนั้น “ความตาย” เป็นของธรรมดาอย่างยิ่ง เป็นสัจธรรมหาใช่ความอัปมงคล ต้องวิ่งหนีแต่อย่างไร  กระนั้นก็ตามความเป็นธรรมดานี้ ก็มิใช่จะเป็นสิ่งที่มนุษย์ปุถุชนจะยอมรับกันได้โดยง่าย เพราะเราทุกคนย่อมมีสัญชาติญาณแห่งการเอาชีวิตรอดด้วย  ในด้านหนึ่งความ “กลัวตาย” จึงเป็นสิ่งธรรมดาอีกเช่นกัน  ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้เพื่อขัดเกลาธรรมชาติอย่างหลัง เพื่อให้คนเรายอมรับสัจธรรมแห่งชีวิตคือความตายนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง  เพื่อให้เราสามารถจัดระเบียบกับความตายในชีวิตของเราได้อย่างเหมาะสม ด้วยความตระหนักรู้ว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา (แม้จะไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหนและจะมาเมื่อไร)  การสั่งสมการเรียนรู้เพื่อให้ยอมรับว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จึงเป็นสิ่งจำเป็นทั้งในยามที่เรายังเป็นหนุ่มสาวและเป็นไม้ใกล้ฝั่ง มิใช่เฉพาะเมื่อเราอายุมากขึ้น หรือเมื่อถูกคุกคามด้วยโรคร้ายที่ไม่อาจรักษา

ในวัฒนธรรมของชาวพุทธ การหมั่นเจริญมรณานุสติคือวิถีหนึ่งที่ช่วยเราไม่ให้ประมาทในชีวิต ไม่ผลัดวันประกันพรุ่งในการพัฒนาตนเอง  ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยความกลัวตายอย่างทุรนทุราย เสมือนคนวิ่งหนีเงาตนเอง  แต่ก็มิใช่ยอมจำนนกับอุปสรรคของชีวิต ด้วยการเอาความตายเป็นทางออกโดยไม่พัฒนาตนเองขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เผชิญนั้น  ในทางตรงข้าม ผู้มีสติซึ่งตระหนักรู้ว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่จะมาถึงเองในวันหนึ่งข้างหน้า จึงควรอดทนต่อสู้ให้อุปสรรคผ่านพ้นไปตราบที่ยังมีลมหายใจ

กระบวนการเรียนรู้เพื่อจัดระเบียบความตาย จึงเป็นสิ่งที่บุคคลควรได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลาในวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิต  ในสมัยเดิมนั้น การที่ครอบครัวอยู่ร่วมกันหลายช่วงอายุ การเปลี่ยนแปลงของกายสังขาร การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสิ่งที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยเฉพาะธรรมเนียมการเตรียมตัวตายของผู้สูงอายุ การตั้งศพ-เก็บศพที่บ้าน เพื่อให้ความตาย-คนตายเป็นสิ่งธรรมดา

ประเพณีพิธีกรรมของการตายเป็นเครื่องมือสำคัญของการส่งผ่าน “สัจธรรมแห่งการตาย” ให้แก่ผู้อยู่ใกล้ชิดได้เรียนรู้  ไม่ว่าบทสวดต่างๆ ของพระซึ่งมุ่งให้เห็นความเป็นธรรมดาของความตาย ประเพณีการอุทิศส่วนกุศล พิธีตัดทางกล้วยเพื่อแยกภพระหว่างผู้อยู่และผู้วายชนม์ ฯลฯ ล้วนส่งผ่านความเชื่อว่าความตายมิใช่ “การสิ้นสุด” หรือจบสิ้น จึงไม่ต้องเศร้าโศกฟูมฟายจนเกินไป  โดยเฉพาะธรรมเนียมการเก็บศพแล้วเปิดโลงก่อนเผา เพื่อให้ญาติพี่น้องคลายความเศร้าโศกเพราะศพสภาพเปลี่ยนเป็นน่าเกลียดน่ากลัว เกิดความปลงสังเวชตัดอาลัยในรูปกาย รำลึกถึงแต่คุณงามความดีของผู้ล่วงลับ

การเรียนรู้นี้ มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในครอบครัวผู้ตายเท่านั้น หากยังเป็นบทเรียนมรณานุสติแก่คนทั้งชุมชนด้วย จากการมาร่วมพิธีกรรมต่างๆ ได้ร่วมแบ่งปันทั้งความรู้สึกเอื้ออาทรและทรัพยากรที่ตนเองมีเพื่อช่วยจัดการศพ  มีการขอขมาและการให้อโหสิกรรมเพื่อละวางความอาฆาตจองเวร และตระหนักรู้ว่ามนุษย์ทำผิดพลาดกันได้ ควรให้อภัยแก่กันและกัน  และในขั้นตอนสุดท้ายคือการเผาศพ ก็เป็นโอกาสให้คนในชุมชนทั้งหมดมาร่วมกันเฝ้าดูการสิ้นสุดแห่งรูปกายที่มิอาจพกพาสิ่งใดไปได้ เกิดการปล่อยวางความโลภ ความโกรธ และความหลง  ประเพณีเกี่ยวกับความตายจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ให้ดีขึ้นอย่างสำคัญ

สังคมสมัยใหม่ได้ทำให้สาระของประเพณีพิธีกรรมซึ่งทำหน้าที่ส่งผ่านค่านิยมความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับความตายเลือนหายไป ชีวิตสมัยใหม่จึงอยู่กันแบบไม่มีกระบวนการเรียนรู้ทั้งในระดับชีวิตและระดับสังคม  ทุกวันนี้ผู้คนไปงานศพตามมารยาทมากกว่าอย่างอื่น คนยุคใหม่จึงมีชีวิตอยู่โดยลืมนึกไปว่าตัวเองต้องตาย จะมานึกถึงต่อเมื่อความตายเข้ามาสะกิดตนเองโดยตรงแล้วเท่านั้น  คนสมัยใหม่ปฏิเสธพิธีกรรมว่างมงาย “ไม่เป็นวิทยาศาสตร์” โดยไม่เข้าใจว่า ค่านิยมความเชื่อในทางนามธรรมไม่อาจส่งผ่านให้สืบเนื่องได้โดยอาศัยการสอนการพูดเพียงประการเดียว  หากจะต้องมีรูปแบบหรือโครงสร้างแห่งการเรียนรู้ที่ช่วยให้บุคคลได้เข้ามาสัมผัสเรียนรู้ จนเกิดความ “ประจักษ์แก่ใจ” ในสัจธรรมร่วมกัน

ในวิถีแห่งพุทธนั้น “ความตาย” เป็นของธรรมดาอย่างยิ่ง หาใช่ความอัปมงคลที่ต้องวิ่งหนีแต่อย่างใด

ไม่ว่าชีวิตหลังความตายจะมีหรือไม่ก็ตาม  แต่การคิดเผื่อไว้ว่า ชีวิตเป็นวัฏฏะยังมีการเดินทางต่อหลังการตาย ได้ช่วยเอื้อให้มนุษย์รู้จักใช้ชีวิตในปัจจุบันด้วยความไม่ประมาท ไม่เบียดเบียนกัน  มีความขวนขวายที่จะสะสมความดีงามที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง ผู้อื่น และโลก เพื่อไม่ให้เสียแรงที่เกิดมาใช้ทรัพยากรของผู้อื่นเปล่าๆ ไม่ว่าของมนุษย์ด้วยกันเองหรือสังคมและโลก สันติสุขย่อมเกิดขึ้นแก่สรรพชีวิตในภพปัจจุบันอย่างทันตาเห็นมิใช่หรือ

อย่างน้อยที่สุด วิธีคิดดังกล่าว ย่อมดีกว่า มีประโยชน์มากกว่า การคิดว่าชีวิตปิดบัญชีเบ็ดเสร็จในครั้งเดียว ไม่รู้จะทำความดีไปทำไม  ทำความชั่วดีกว่า ทำสิ่งที่ตนเองพอใจ อยากมี อยากเป็นให้สุดๆ ไปเลย  ใครจะหายนะอย่างไรไม่เป็นไร ทรัพยากรหมดโลกก็ช่าง (ใครอยู่ก่อนได้ใช้ก่อน)  แต่ขณะเดียวกันตนเองก็ถูกบีบคั้นจากความทุกข์ที่พยายามจะต่อสู้แย่งชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งต้องการ และทุรนทุรายจากความพยายามที่จะทำให้ชีวิตหนึ่งเดียวนี้แก่ช้าที่สุด อยู่นานมากที่สุด  โลกทัศน์ของมนุษย์ที่มีต่อความตาย จึงทำให้โลกนี้เป็นได้ทั้งนรกและสวรรค์ในเวลาเดียว ขึ้นอยู่กับว่า เราจะตั้งท่าทีต่อความตายอย่างไร  การจัดระเบียบความตายให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในความคิดและการใช้ชีวิตในสังคม จึงเป็นสิ่งที่เราอาจจะต้องช่วยกันคิดช่วยกันสร้างให้เกิดมีขึ้นมากกว่านี้

บางทีการได้เจริญมรณานุสติอาจช่วยให้บุคคลตระหนักรู้ว่า เลือกตั้งได้มา ๔๐๐ เสียง หรือ ๕๐๐ เสียง ตายแล้วก็เอาอำนาจไปไม่ได้อยู่ดี ทิ้งไว้ข้างหลังไม่ทันข้ามวันก็สิ้นสลาย  แต่หากทิ้งความดีงามไว้ แม้เอาไปไม่ได้เช่นกัน แต่ก็ไม่สิ้นสูญในชั่วข้ามคืน  หากจะอยู่เป็นมรดกที่ยั่งยืนแก่ลูกหลานและมนุษยชาติไปเนิ่นนาน ข้ามภพข้ามชาติได้จริงทีเดียว


หมายเหตุ

บทความเนื่องในโอกาสครบรอบ ๙ ปี แห่งการฌาปนกิจศพท่านพุทธทาสมหาเถระ วันขึ้น ๑๓ ค่ำเดือน ๑๐ วันดังกล่าวในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่จะถือเป็นวันแสดงอาจาริยบูชาประจำปีแด่ท่านอาจารย์ด้วย

“โลงศพของอาตมาก็คือ ความดีที่ทำไว้ในโลกด้วยการเผยแผ่พระธรรม  ป่าช้าสำหรับอาตมาก็คือบรรดาประโยชน์และคุณทั้งหลายที่ทำไว้ในโลกเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์  และขอชักชวนให้ท่านทั้งหลาย ถือหลักเกณฑ์อย่างเดียวกันว่า  โลงศพของเราก็คือความดีที่ทำไว้ในโลก  ป่าช้าของเราก็คือประโยชน์ทั้งหลายที่เราได้ช่วยกันทำไว้ เพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์”

– พุทธทาส อินทปัญโญ –


ภาพประกอบ