จากยิ่งสูง ยิ่งสวย ถึง ยิ่งยาก ยิ่งได้มาก

เชาวลิต บุณยภูษิต 1 พฤษภาคม 2016

ภาพหมู่เกาะอ่างทองที่เคยเห็นชินตาในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะนิตยสารและหนังสือท่องเที่ยว เป็นแรงจูงใจหลักชักนำให้ผมเดินทางไปเกาะสมุยช่วงปลายหน้าฝนที่ผ่านมา

ช่วงสายท้องฟ้าสีครามเปิดโล่ง จากท่าเรือหน้าทอนบนเกาะสมุย เรือไม้ 2 ชั้นคงเป็นลำเดียวที่ใช้เส้นทางนั้นเดินทางมุ่งหน้าสู่หมู่เกาะอ่างทอง เพราะไม่เห็นลำอื่นมุ่งหน้าไปทางเดียวกันเลย เห็นบ้างก็เรือบรรทุกสินค้าแล่นอยู่ไกลๆ  บางช่วงที่เรือแล่นไปมีนกนางนวล 4-5 ตัวบินล้อเล่นลมตามหลังลำเรือ พอมีคนโปรยขนมนกก็บินโฉบรับ ก่อนที่จะลาลับหายไปไม่นาน  เรือใช้เวลาแล่นเกือบ 2 ชั่วโมงถึงเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง

พอขึ้นฝั่ง ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองบนเกาะวัวตาหลับ บางคนก็เล่นน้ำทะเล บ้างก็ดำน้ำดูปะการัง พายเรือคายัก บางคนแค่ถ่ายภาพกับป้ายทางขึ้น “เส้นทางศึกษาธรรรมชาติ จุดชมวิวผาจันทร์จรัส” แต่ผมบอกตัวเองว่า ต้องปีนไปบนจุดชมวิวให้ได้ แม้จะเหนื่อยและมีคำเตือนไว้ว่าลาดชันก็ตาม

ระยะทางขึ้นจุดชมวิวเพียง 500 เมตรจากพื้นราบเชิงเขา ค่อยๆ เดินขึ้นขั้นบันไดหินที่มีไม่กี่ขั้น หลังจากนั้นก็ต้องจับเชือกเพื่อปีนและพยุงตัวขึ้นสู่ที่สูงตามเส้นทาง

ผ่านซุ้มทางขึ้นและป้ายข้อความ “เราจะไม่เก็บอะไรไป นอกจากภาพถ่าย  เราจะไม่ทิ้งอะไรไว้ นอกจากรอยเท้า” ขึ้นไปได้เพียง 100 เมตรก็ถึงจุดชมวิวจุดแรกสุด จากจุดชมวิวมองลงมาเห็นทิวแถวต้นมะพร้าวริมหาด ทุ่นลอยน้ำที่ใช้เทียบเรือขึ้นสู่ชายหาด หาดทรายขาว น้ำทะเลชายฝั่งใสจนเห็นพื้นทรายเบื้องล่าง

หลังจากจุดที่ 1 หลายคนหันหลังกลับเนื่องจากสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวยต่อการปีนขึ้นที่สูง เพราะเส้นทางเริ่มลาดชันขึ้น ได้ยินบางคนพูดว่า “ขึ้นไปข้างบนก็เห็นวิวทะเลภูเขาเหมือนที่เห็นข้างล่างนั่นแหละ” เพื่อชวนกันหันหลังกลับ

ผมเดินขึ้นอีก 100 เมตรก็ถึงจุดชมวิวจุดที่ 2 จากจุดชมวิวมองไม่เห็นชายหาดทรายเบื้องล่างแล้ว เริ่มเห็นหมู่เกาะใกล้เคียง แต่เป็นเพราะความสูงที่ไม่มากนักทำให้เกาะใกล้บดบังเกาะที่อยู่ข้างหลังและที่ไกลออกไป

ปีนขึ้นไปได้สักพัก ก็มีบางคนพูดว่า “ขึ้นไปข้างบนก็เห็นวิวทะเลภูเขาเหมือนที่เห็นข้างล่างนั่นแหละ” เพื่อชวนกันหันหลังกลับ

จากจุดชมวิวจุดที่ 2 ค่อยๆ ปีนและเกาะเชือกขึ้นจุดถัดไป ขณะนั้นรู้สึกตัวได้ว่าหัวใจเต้นแรงกว่าช่วงปกติ แรงกว่าตอนวิ่งออกกำลังกายเสียอีก! คงเป็นเพราะหัวใจต้องสูบฉีดเลือดแรงเพื่อขยับร่างกายขึ้นสู่ยอดเขา ปีนขึ้นอีก 150 เมตรก็ถึงระยะทาง 350 เมตร ซึ่งเป็นจุดชมวิวจุดที่ 3 มองเห็นหมู่เกาะกลางทะเลสีมรกต ก้อนเมฆและเส้นขอบฟ้าไกลปรากฏแก่สายตา

จุดที่ 4 ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายกว่าจะได้สัมผัสความงามบนจุดชมวิวผาจันทร์จรัส มีระยะห่าง 150 เมตรจากจุดที่ 3 ต้องผ่านเส้นทางปีนสูงชันเฉลี่ยประมาณ 45 องศา และระยะก่อนจะถึงสุดสูงสุดชันประมาณ 50-60 องศา แถมเป็นหินตะปุ่มตะป่ำ ไร้ต้นไม้ให้ยึดเกาะ ต้องเพิ่มความระมัดระวังและพึ่งพาเชือกอย่างเดียวในการไต่ขึ้นลง ถ้ามัวแต่เพลินชมความงามก็อาจเกิดบาดแผลได้เสมอแม้ในช่วงขณะจิตเดียวก็ตาม ช่วงไต่เชือกต้องคอยเตือนสติตัวเองว่าค่อยชมความงามของทิวทัศน์เมื่อถึงจุดพัก

เมื่อยืนบนจุดชมวิวผาจันทร์จรัสสูง ความสูง 262 เมตรจากระดับน้ำทะเล ได้สัมผัสความงามของหมู่เกาะอ่างทอง ซึ่งประกอบด้วยเกาะเล็กบ้างใหญ่บ้าง 42 เกาะ แต่ละเกาะคลุมด้วยป่าเขาสีเขียวเข้มทอดตัวและล้อมรอบด้วยน้ำทะเลสีมรกต เห็นเส้นขอบฟ้าและเฉดสีน้ำทะเลไล่ระดับตั้งแต่เขียวอ่อนฟ้าครามเขียวเข้มตามสีท้องฟ้า มองเห็นเรือคายักพายรอบเกาะตามกันไปเหมือนมดแมลงเคลื่อนขบวน เรือเร็ววิ่งนำฟองคลื่นขาวคล้ายควันไอพ่นยามเข้าออกเกาะ ภาพต่างๆ งดงามคุ้มค่ากับแรงกายที่ได้ปีนป่ายขึ้นไป

เส้นทางศึกษาธรรรมชาติ จุดชมวิวผาจันทร์จรัสนับเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติมีความงาม ความลาดชันและหินแหลมตลอดระยะทาง ในเขตอุทยานนอกจากพันธุ์ไม้ในเขตชุกฝนแล้วยังมีสัตว์ป่า ที่บ่งบอกได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้เป็นอย่างดีคือนกเงือก ที่เห็นบินอยู่เป็นระยะๆ

จากจุดสูงสุดนั้น ทำให้ผมประจักษ์ใจในความหมายของคำพูดที่ว่า การเดินทางเรียบเราได้เรียนรู้แค่ระยะทาง แต่ถ้าเป็นทางชัน จะได้ทั้งระยะทางและความสูง การดำเนินชีวิตประจำวันของคนเราก็เช่นกัน คงจะไม่ต่างกันกับอุปมานี้

การปีนเขาหรือที่สูงนอกจากใจที่อยากพิชิตความสูงชัน อยากชมความสวยงามจากที่สูงแล้ว ร่างกายก็ต้องพร้อมต้องแข็งแรงพอ ต้องมีหัวใจที่กล้าแกร่งความปรารถนาจึงจะสำเร็จ ลำพังแต่ความอยากจะปีนแต่ร่างกายไม่เอื้ออำนวยให้ หรือมีร่างกายที่แข็งแรงแต่ใจกลัวความสูง ความสวยงามคงไม่ปรากฏแก่สายตาแน่นอน

ขณะยืนบนยอดสูงอดรู้สึกภูมิใจไม่ได้ว่า ได้บรรลุสิ่งที่ตั้งใจจะทำเมื่อขึ้นบนเกาะ และในแต่ละวันจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปเที่ยวหมู่เกาะอ่างทองมีประมาณ 200-300 คน ในจำนวนนั้นไม่กี่คนที่ขึ้นไปถึงจุดชมวิวผาจันทร์จรัสได้

ภาพความงามของท้องทะเลสีมรกตของหมู่เกาะอ่างทองทำให้นึกถึงคติในการฝึกฝนพัฒนาตนที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) สอนอยู่เสมอ คตินั้นก็คือ “ยิ่งยาก ยิ่งได้มาก” (เช่น ใน CD ธรรมะบรรยายชุด “คุยกับเณร พอให้เห็นธรรม” ฯลฯ)

ท่านพูดอยู่เสมอว่า สิ่งที่ยากเป็นโอกาสให้ได้ฝึกฝนตนเอง ฝึกประสบการณ์ เพราะต้องใช้ปัญญามากกว่าสิ่งง่าย ดังนั้นผู้ที่ทำสิ่งยากให้สำเร็จได้ย่อมได้ประสบการณ์จากสิ่งนั้นมากกว่าการกระทำสิ่งง่าย นอกจากนี้ท่านยังเน้นย้ำบ่อยๆ ว่าให้สังคมเราเปลี่ยนจากการหวังผลดลบันดาล หรือการอ้อนวอนนอนคอยโชค เป็นการลงมือทำให้สำเร็จด้วยความเพียร จึงจะได้ชื่อว่าเป็นสังคมที่สมาชิกใฝ่ รู้ใฝ่ทำ ใฝ่สร้างสรรค์

สิ่งที่ยากเป็นโอกาสให้ได้ฝึกฝนตนเอง เพราะต้องใช้ปัญญามากกว่าสิ่งง่าย

ขาลงจากยอดถึงพื้นล่าง ผมใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง แม้ไม่ต้องใช้พลังกายมากเหมือนขาขึ้น แต่ต้องใช้ความระมัดระวังในการพยุงกายไม่ให้ไปถูกโขดหรือแง่หิน วันนั้นใช้เวลาขึ้นลงรวมทั้งหมดประมาณ 2 ชั่วโมง

บ่าย 3 โมงฟ้าครึ้มฝนตกตามพยากรณ์อากาศที่พนักงานบนเรือแจ้งไว้ ขากลับเรือต้องฝ่าคลื่นลมแรง บางคนเมาคลื่นและอาเจียนเพราะเรือโคลงเคลงตามแรงคลื่นลม บางคนไปหลบรวมกันในห้องกัปตัน เรือโคลงผสมโรงกับอากาศอับไม่ถ่ายเทก็เลยเมาเรือไปตามๆ กัน

ขณะยืนหลบลมและฝนอยู่ด้านนอกห้องกัปตัน ผมนึกทบทวนย้อนหลังไปในช่วงที่ขึ้นลงจุดชมวิวผาจันทร์จรัสที่ลาดชัน นักเดินทางที่ดีต้องมีสัมภาระติดตัวให้น้อยที่สุดและมีเท่าที่จำเป็น การเดินทางจึงจะสะดวกและคล่องตัว ยิ่งขึ้นสู่ที่สูงยิ่งต้องทิ้งหรือฝากสัมภาระไว้เบื้องหลัง เหลือสิ่งของติดตัวเท่าที่จำเป็นเท่านั้น…ใช่หรือไม่?