จากเสื้อยืดของซักเคอร์เบิร์ก ถึงหลักสันโดษ

เชาวลิต บุณยภูษิต 8 มีนาคม 2015

เมื่อไม่นานมานี้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้ง facebook กล่าวถึงเหตุผลที่เขาชอบใส่เสื้อยืดสีเทาทุกวันว่า การเลือกเสื้อผ้าเป็นการตัดสินใจในเรื่องเล็กน้อย เขาไม่อยากเสียเวลากับเรื่องเหล่านี้ เพราะในแต่ละวันเขามีเรื่องสำคัญให้คิดและตัดสินใจมากกว่าเรื่องการแต่งกาย แต่เขาเลือกที่จะใช้เวลาไปกับการดูแล facebook มากกว่า

ด้วยอิทธิพลของสื่อออนไลน์แห่งยุคสมัย ทำให้คำพูดของผู้ก่อตั้ง facebook เป็นข่าวและกล่าวถึงไปทั่วทั้งโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย อันที่จริงแนวคิดเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นแนวคิดใหม่แต่อย่างใด มีมานานอย่างน้อยก็สองพันกว่าปีแล้ว เพียงแต่เราอาจจะละเลยไม่ได้ใส่ใจ หรือคิดว่าไม่ใช่เรื่องใกล้ตัว

มหาบุรุษของโลกชาวอินเดียอย่างเช่นมหาตมา คานธี ก็ยึดถือคติเรื่องความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายนี้ ดังที่ท่านพูดถึงการดำเนินชีวิตของท่านไว้ว่า “เป็นอยู่อย่างเรียบง่าย แต่คิดใฝ่ให้สูง” (Simple living and high thinking)

ใครจะเชื่อหรือไม่ว่า โดยรวบรัดแล้วแนวคิดดังกล่าวก็คือหลักเรื่อง “สันโดษ” ในพระพุทธศาสนานั่นเอง

ทั้งที่ความสันโดษเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราได้ยินได้ฟังอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ความเข้าใจของผู้พูดและผู้ฟังอาจจะไม่ชัดเจน และความชัดเจนอาจจะสวนทางกันกับความถี่ที่ได้ยินคำนี้

แนวคิดนี้โดยส่วนตัวผมนิยมมาก่อน เพียงแต่เข้าใจแค่ความหมายของคำ แต่เพิ่งได้เข้าใจความหมายของสันโดษตลอดสาย และได้เห็นตัวอย่างที่ยืนยันให้เราหนักแน่นตอนที่ได้ไปบวชที่วัดญาณเวศกวันเมื่อพรรษา 2550

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) องค์อุปัชฌาย์เป็นผู้ที่อธิบายเรื่องสันโดษจนผมสิ้นสงสัย และท่านปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างให้เห็น (ทิฏฐานุคติ หรือ Role model) ทำให้คนรุ่นหลังได้มีตัวอย่างและแบบอย่างดำเนินตาม

ท่านสอนเสมอว่า ให้สันโดษในปัจจัย 4 เพื่อจะได้ไม่กระวนกระวายมุ่งแต่แสวงหาวัตถุสิ่งเสพ แล้วทุ่มเทเวลาให้กับการเจริญไตรสิกขา สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามและเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น  อาจจะเป็นด้วยแนวคิดนี้ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่น กุฏิพระทั้งวัดไม่มีเครื่องปรับอากาศ รวมทั้งกุฏิเจ้าอาวาสก็ทำตามคติแห่งความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายที่สุดตามวิสัยแห่งสมณะ เพื่อพระภิกษุจะได้มีเวลาเจริญไตรสิกขา ศึกษาฝึกฝนตนเอง สั่งสอนธรรมะและปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขของพหูชน

ท่านอธิบายไว้ในหนังสือ “รู้ไว้เสริมปัญญา และพัฒนาคน” ว่า สันโดษคือ ความพอใจในสิ่งที่ตนมีตนได้ ความพอใจในสิ่งที่ได้มาเป็นของตนด้วยความเพียรพยายามอันชอบธรรม

อย่างไรก็ตาม ถ้าใช้สันโดษอย่างเดียว ก็ไปหยุดที่ความพอใจความสุขใจ แล้วก็จบแค่นั้น ผลที่จะตามมาคือความขี้เกียจ

“พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนสันโดษแบบนี้”

ในระบบความสัมพันธ์ของหลักธรรมเรื่องสันโดษ สองอย่างที่สำคัญมากคือ 1. สันโดษในอะไร และ 2. สันโดษแล้วต่อด้วยอะไร (สันโดษแล้วต้องทำอะไรต่อ)

สันโดษต่อด้วยวัตถุปัจจัยบำรุงชีวิต “ถ้าเป็นคฤหัสถ์เราก็ขยายความหมายว่า พอใจในวัตถุบำรุงบำเรอปรนเปรอความสุข มีความสุขได้ง่ายด้วยวัตถุสิ่งเสพตามมีตามได้ ไม่ต้องวุ่นวายทะเยอทะยานมักมากในสิ่งเสพเหล่านั้น”

ท่านอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อสันโดษในสิ่งเสพใช้สอยแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ได้ทิ้งไว้ลอยๆ แต่ตรัสสอนต่ออีกว่าไม่ให้สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะสันโดษเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในระบบความสัมพันธ์ของกระบวนการปฏิบัติธรรม จึงต้องมีความมุ่งหมายเพื่อจะก้าวหน้าในธรรม สันโดษเป็นปัจจัยสนับสนุนความเพียร

กล่าวโดยสรุป “พอเราสันโดษในวัตถุสิ่งเสพ เราก็สงวนเวลา แรงงาน และความคิด ไว้ได้ทั้งหมด แล้วเราก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นมาทุ่มให้กับความเพียรพยายามในการปฏิบัติหน้าที่การงาน”

ให้สันโดษในปัจจัย 4 แต่ไม่ให้สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย

จากหลักธรรมะข้อนี้ ท่านถ่ายทอดออกมาเป็นคำสอนในธรรมนิพนธ์และธรรมบรรยายเรื่องต่างๆ ตลอดถึงแนวคิดในการสร้างวัดญาณเวศกวัน ดังที่คุณลัคนา กนกพันธรางกูร กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการฝ่ายหาทุนสร้างอาคาร “ญาณเวศก์ธรรมสมุจย์” (หอสมุดประหยัดพลังงานในอาคาร 3 ชั้น) เล่าถึงกระแสพระดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดหอสมุดดังกล่าวเมื่อวันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2549 (ข่าวสารญาณเวศก์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2549)

“เมื่อทรงพระดำเนินมาหอสมุด มีรับสั่งว่า วัดร่มรื่นดี  กราบทูลว่า หลักการที่ท่านเจ้าคุณวางไว้คือ เขตพุทธาวาสให้มีการประดับตกแต่งได้ตามสมควรเพื่อเป็นพุทธบูชาและเจริญจิตตภาวนาแก่ประชาชน แต่ในเขตสังฆาวาสให้เป็นธรรมชาติที่สุด ทำอะไรให้ง่ายแก่การดูแลรักษา เพื่อพระจะได้มีเวลาเจริญไตรสิกขา และเผยแผ่พระศาสนา อย่าให้พระเป็นสุครีพที่ต้องเสียกำลังไปกับการถอนต้นรัง”  

ผมคิดว่าคติเรื่องนี้แม้แต่คฤหัสถ์ (ผู้ครองเรือน) หรือเราๆ ท่านๆ ทั่วไปก็น่าจะและควรจะนำมาปรับเข้ากับชีวิตประจำวันได้ เพราะหลักธรรมต่างๆ ไม่ได้จำกัดให้นำไปประยุกต์ใช้เฉพาะนักบวชเท่านั้น สิ่งใดที่ดีงามและง่าย ผู้ครองเรือนก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน

ตัวอย่างง่ายๆ เรื่องความพอใช้ พออยู่ของปัจจัย 4 เพื่ออำนวยความสะดวกขณะมีชีวิตอยู่ น่าจะลดภาระในการดูแลรักษาทรัพย์สมบัติ ทำให้มีชีวิตอยู่ด้วยคล่องตัว มีเวลาในการทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่นมากกว่าคอยบำรุงรักษาทรัพย์สมบัติ

เปรียบเสมือนนักเดินทางไกลที่ฉลาด พึงมีสัมภาระติดตัวน้อยที่สุด และมีเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น  มิเช่นนั้นแล้ว สัมภาระในเป้ที่แบกไว้บนหลังจะพะรุงพะรังจนเป็นเครื่องถ่วงให้ความสะดวกในการเดินทางลดถอยลง และอาจทำให้ความน่าอภิรมย์ของสองข้างทางที่ผ่านลดน้อยลงไปได้