จุดอ่อนของการเสริมสร้างศีลธรรมในปัจจุบัน

พระไพศาล วิสาโล 20 กรกฎาคม 2006

สังคมไทยในอดีต  บุคคลไม่ได้ถูกปลูกฝังให้มีศีลธรรมเพราะการเทศนาสั่งสอนหรือการอบรมเลี้ยงดูโดยตรงเท่านั้น  หากยังได้รับการกล่อมเกลาทางศีลธรรมจากการมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว ชุมชน  วัดวาอาราม  อิทธิพลจากวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม และระบบความสัมพันธ์ประเพณีเป็นสิ่งที่พุทธศาสนาให้ความสำคัญอย่างมาก  พระพุทธองค์จึงทรงจัดตั้งคณะสงฆ์และบัญญัติวินัยขึ้นมา  คณะสงฆ์ก็คือสภาพแวดล้อมที่จะช่วยกล่อมเกลาภิกษุ  ส่วนวินัยก็คือสิ่งที่มากำกับวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม และระบบความสัมพันธ์ระหว่างภิกษุในหมู่สงฆ์ เป็นไปในทางที่ดีงาม ก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่เกื้อกูลต่อความเจริญงอกงามทางธรรมนั่นเอง  กล่าวอีกนัยหนึ่ง วินัยก็คือศีลธรรมระดับโครงสร้าง ที่เป็นรากฐานของศีลธรรมระดับวัฒนธรรมนั่นเอง เป็นแต่ว่ามีขอบเขตเฉพาะในหมู่สงฆ์เท่านั้น

ปัญหาหรือจุดอ่อนประการหนึ่งของการเสริมสร้างศีลธรรมในปัจจุบัน โดยเฉพาะในแวดวงองค์กรศาสนาอยู่ตรงที่ การเน้นแต่ศีลธรรมระดับบุคคล โดยไม่เห็นความเชื่อมโยงหรือไม่เห็นความสำคัญของศีลธรรมระดับโครงสร้าง โดยเฉพาะในส่วนที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและพฤติกรรม  ดังนั้นจึงเน้นแต่การเทศนาสั่งสอนหรือปลูกฝังจิตสำนึกอย่างเดียว แต่ไม่คิดที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสถาบัน หรือระบบต่างๆ ที่แวดล้อมบุคคล  อาจจะมีการรณรงค์ให้ทำดีเป็นระยะๆ หรือคัดค้านกฎหมายบางฉบับที่ขัดศีลธรรม  แต่ไม่ได้ผลักดันเท่าที่ควรเพี่อให้มีการปรับปรุงสถาบัน หรือเปลี่ยนแปลงระบบและโครงสร้างเพื่อให้ส่งผลในทางบวกต่อศีลธรรม

วินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติแก่คณะสงฆ์ เป็นแบบอย่างของการวางระเบียบชีวิตและระบบสังคมเพื่อให้เอื้อต่อความเจริญงอกงามของธรรมในระดับบุคคล  สำหรับศีลธรรมของผู้คนในสังคมวงกว้างนั้น ก็ต้องการระบบสังคมที่เกื้อกูลเช่นเดียวกัน  ตัวอย่างที่ชัดเจนปรากฏในกูฏทันตสูตร  พระพุทธองค์ได้กล่าวถึงเมืองๆ หนึ่งซึ่งมีโจรผู้ร้ายชุกชุม  พระราชาต้องการขจัดโจรผู้ร้ายด้วยการประหัตประหาร จองจำ และเนรเทศ  แต่พราหมณ์ได้ทักท้วงว่าวิธีนี้ไม่ได้ผล เพราะถึงอย่างไรก็ปราบไม่หมด ส่วนโจรที่เหลือก็จะมาก่อปัญหาที่ร้ายแรงกว่าเดิมในภายหลัง  พราหมณ์ได้เสนอให้พระราชาพระราชทานพันธุ์พืชและอาหารแก่เกษตรกร พระราชทานเงินทุนแก่พ่อค้าวาณิช และพระราชทานอาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการ  ปรากฏว่าไม่นานบ้านเมืองก็ปราศจากผู้ร้าย ประชาราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข ไม่ต้องปิดประตูบ้าน แม้แต่เด็กก็ฟ้อนอยู่บนอกแม่อย่างมีความสุข  จะเห็นได้ว่าในกรณีนี้ พระราชาไม่ได้ใช้วิธีเทศนาสั่งสอนประชาชนให้มีศีลธรรมเลย  เป็นแต่จัดวางระบบเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ให้ทั่วถึง ซึ่งส่งผลถึงพฤติกรรมของผู้คนและในที่สุดก็แก้ปัญหาโจรผู้ร้ายได้

กรณีดังกล่าวมิได้หมายความว่าคนจะมีศีลธรรมได้ก็เพราะมีระบบเศรษฐกิจที่เกื้อกูลเท่านั้น  หากต้องการชี้ให้เห็นว่าศีลธรรมของบุคคลนั้น นอกจากคุณธรรมภายในแล้ว ยังต้องอาศัยเงื่อนไขทางสังคมหรือสภาพแวดล้อมภายนอกเป็นองค์ประกอบด้วย  พูดอีกอย่างคือ ต้องมีระบบหรือโครงสร้างที่เกื้อกูลศีลธรรมหรือส่งเสริมให้คนทำดีได้ง่ายขึ้น  ยกตัวอย่าง การนำของที่เก็บได้คืนเจ้าของ ซึ่งจัดว่าเป็นความซื่อสัตย์อย่างหนึ่ง  แม้คนไทยร้อยละ ๙๖ จะตอบว่า หากเก็บกระเป๋าเงินได้ จะเอาไปคืนเจ้าของ  แต่เมื่อมีการทดลองทำกระเป๋าสตางค์ตก ปรากฏว่ามีเพียงร้อยละ ๕๕ เท่านั้นที่เก็บได้แล้วเอาไปคืนเจ้าของ ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นมีสัดส่วนการคืนสูงมากจนเป็นที่กล่าวขานกันทั่วโลก  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

คำตอบคงไม่ใช่เป็นเพราะคนญี่ปุ่นมีความซื่อสัตย์สูงกว่าคนไทยเท่านั้น  แต่ยังเป็นเพราะประเทศญี่ปุ่นมีระบบที่อำนวยความสะดวกแก่พลเมืองดี เช่น มีศูนย์รับของหายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะบริเวณสถานีรถไฟใต้ดิน  ใครที่เก็บของหายได้ จึงไม่ต้องเหนื่อยในการตามหาเจ้าของ เพียงแต่มามอบให้แก่ศูนย์ดังกล่าวก็เบาใจได้ว่าเจ้าของมีโอกาสจะได้คืนสูง  ระบบที่สะดวกเช่นนี้ ทำให้ใครๆ ก็ไม่รังเกียจที่จะเป็นพลเมืองดี  ในขณะที่คนไทยถ้าหากอยากเป็นพลเมืองดี จะต้องเหนื่อยยากอย่างมากในการตามหาเจ้าของ เพราะไม่มีระบบรองรับ  ผลก็คือเมื่อเก็บของตกหล่นได้ จึงไม่ค่อยอยากหาเจ้าของ  ถึงตรงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้วที่จะ  “อม” หรือเก็บไว้เป็นของตนเอง

ศีลธรรมของบุคคล ต้องอาศัยเงื่อนไขทางสังคมหรือสภาพแวดล้อมภายนอกเป็นองค์ประกอบ เพื่อส่งเสริมให้คนทำดีได้ง่ายขึ้น

จุดอ่อนประการที่สองในการเสริมสร้างศีลธรรมในสังคมไทย คือ การให้ความสำคัญกับวิธีการ “สอน” หรือการพูด  แต่มองข้ามการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือการกล่อมเกลาโดยอาศัยสิ่งแวดล้อม   ทุกวันนี้ไม่ว่าพ่อแม่ ครู หรือพระจะ สอนหรือพูดอย่างไร ก็ไม่อาจยกระดับศีลธรรมของบุคคลได้  เพราะสิ่งที่เขาเรียนรู้จากพฤติกรรมของพ่อแม่ ครู หรือพระนั้น มักเป็นไปในทางตรงข้าม  การสอนเรื่องอบายมุข ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ และเศรษฐกิจพอเพียง ทุกวันนี้จึงมีผลน้อยมากต่อผู้คนไม่ว่าเยาวชนหรือผู้ใหญ่  เพราะสิ่งที่เอามาสอนผู้คนกับสิ่งที่ผู้คนประสบพบเห็นในชีวิตจริงนั้น สวนทางกัน

สิ่งหนึ่งที่เรามองข้ามไปก็คือ การเรียนรู้นั้นสำคัญกว่าการสอน  ไม่ว่าพร่ำสอนเพียงใดก็ตาม แต่หากการสอนนั้นไม่กระตุ้นหรือส่งเสริมการเรียนรู้ของอีกฝ่ายเลย การสอนนั้นก็ไร้ประโยชน์  นี้คือเหตุผลว่าทำไมการสอนส่วนใหญ่ในบ้านและในโรงเรียนจึงไม่ได้ผล  ในทางตรงข้ามผู้คนกลับเรียนรู้จากสื่อมวลชนมากมาย ทั้งๆ ที่สื่อเหล่านั้นไม่ได้สอนเลย  สื่อไม่เคยสอนว่า วัตถุนิยม ความรุนแรง และการหมกมุ่นทางเพศ เป็นเรื่องดี  แต่เนื้อหาของสื่อที่เต็มไปด้วยเรื่องราวเหล่านั้น ก็มากและน่าสนใจพอที่จะกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้และซึมซับพฤติกรรมดังกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้นการสอนศีลธรรมโดยให้เด็กท่องจำอย่างเดียว  แต่ไม่ส่งเสริมให้เด็กแลเห็นด้วยตนเองว่าศีลธรรมนั้นคืออะไร ดีอย่างไร และจำเป็นอย่างไรต่อชีวิตและสังคม  ที่สำคัญคือเด็กไม่ได้ถูกฝึกมาให้เรียนรู้ที่จะเอาใจเราไปใส่ใจเขา เพื่อเข้าใจถึงผลจากการเบียดเบียนผู้อื่น  ด้วยเหตุนี้การสอนศีลธรรมไม่ว่าในบ้านหรือในโรงเรียนประสบความล้มเหลว  ในทำนองเดียวกันการบังคับให้เด็กนั่งสมาธิ ก็กลับทำให้เด็กเกลียดการนั่งสมาธิไปเลย  ทั้งๆ ที่สมาธิเป็นสิ่งที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้จากวิธีอื่นๆ อีกมากมาย  อีกทั้งการสร้างแรงจูงใจให้เด็กมีฉันทะหรือความชอบในการนั่งสมาธิ ก็เป็นสิ่งสำคัญกว่าการบังคับหรือเอาคะแนนเข้าล่อ

การปลูกฝังและกล่อมเกลาศีลธรรมสามารถทำได้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย  แม้ไม่ต้องอาศัยการเทศนาหรือการสอนเลยก็ได้ หากสามารถคิดค้นกิจกรรมเพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง  เช่น เรียนรู้จากสภาพความเป็นจริง หรือเรียนรู้จากการปฏิบัติและประสบการณ์ตรง (เช่น การไปเป็นอาสาสมัคร ) โดยครูเป็นเพียงผู้ชี้แนะ หรือตั้งคำถามให้เด็กคิด  นอกจากนั้นกระบวนการกลุ่มก็มีประโยชน์อย่างมากในการส่งเสริมการเรียนรู้  โดยผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หรือผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน จนเห็นประโยชน์ของการร่วมมือกัน เกิดความเห็นใจกัน หรือเห็นคุณค่าของความหลากหลาย จนเกิดความใจกว้างและเคารพกันมากขึ้น  ใช่หรือไม่ว่าคุณสมบัติดังกล่าวก็เป็นศีลธรรมที่สำคัญในยุคปัจจุบัน  การศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการเพื่อเสริมสร้างศีลธรรมในบริบทต่างๆ  หรือสำหรับกลุ่มชนระดับต่างๆ เป็นสิ่งที่พึงได้รับความสำคัญให้มากกว่านี้


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา