ชวนคุยเรื่องที่ไม่มีใครอยากคุย

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 7 ตุลาคม 2012

ในฤดูพรรษาหน้าอย่างนี้ เรามาคุยเรื่องตายกันไหม?

ชวนอย่างนี้คงหาคนคุยด้วยได้ยาก

แต่ที่ชวนนี้เป็นการคุยเรื่องความตาย เพื่อจะรู้ว่าเราควรอยู่อย่างไร

อย่างที่ธรรมาจารย์ชาวทิเบตท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า คนเราอยู่อย่างไรก็ตายอย่างนั้น

และพระไพศาล วิสาโล  ก็กล่าวว่าสังคมจะเปลี่ยนโฉมหน้า ถ้าคนเราตระหนักในเรื่องความตาย–ท่านว่าถ้าคนเรารู้ระลึกอยู่แก่ใจว่าเราอาจจะจากไปตอนไหนก็ได้ ทุกครั้งทุกคนที่ได้พบเจอเราก็จะปฏิบัติต่อเขาอย่างดีที่สุด เสมือนว่านั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้เจอกัน

ในการแสดงธรรมเทศนา ท่านพุทธทาสภิกขุมักย้ำกับศาสนิกชนเสมอว่า คนเราเมื่อเกิดมาแล้ว…ก็อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และได้พบกับพระพุทธศาสนา

ในแง่ที่ว่าให้ได้รู้จักและปฏิบัติธรรมะ  กระทั่งรู้แจ้งแก่ใจว่า ไม่มีสิ่งใดที่เราจะยึดถือเอาไว้ได้ แม้แต่ตัวของเราเอง

ได้ยินพระพูดอย่างนี้ก็อาจมีคนยิ้มเยาะเย้ยหยัน  สารภาพตามตรงว่าในช่วงวัยหนุ่มที่ยังเร่าร้อนผมเองก็เคยเป็นคนหนึ่งในนั้น  กระทั่งคนใกล้ตัวบอกว่า คุณควรเขียนเรื่องท่านพุทธทาสแล้วคุณจะได้รู้จักธรรมะ  ผมจึงได้เริ่มต้นอ่านหนังสือเล่มบางๆ ที่ชื่อ สิบปีในสวนโมกข์ เป็นเล่มแรก และเรื่องต่อๆ มา  ได้เรียนรู้ข้อธรรมคำสอนที่ลึกซึ้งและหลากหลายของท่าน  รวมทั้งเรื่องการ “ตายก่อนตาย”

กระทั่งในเรื่อง การเผชิญความตายด้วยใจสงบ ก็เป็นเธอคนเดิมที่ยุยงส่งเสริมว่าผมควรเขียนเรื่องนี้ เผยแพร่ออกไปให้คนในสังคมวงกว้างได้รู้ว่า เรามีทางเลือกสำหรับการวางท่าทีต่อการอยู่และการตาย

ซึ่งหลักใหญ่ใจความของเรื่องการเผชิญความตายด้วยใจสงบ ที่เป็นส่วนงานหนึ่งของ “เครือข่ายพุทธิกา” ในการนำประเด็นนี้ออกสู่ความรับรู้ของผู้คนในสังคม เพื่อเสนอทางเลือกใหม่สำหรับการวางท่าทีต่อเรื่องความตายนั้น  มาจากหลักคำสอนและแนวคิดของธรรมาจารย์คนสำคัญของเมืองไทยสองท่านคือ ท่านพุทธทาสภิกขุ และพระไพศาล วิสาโล

ท่านพุทธทาสภิกขุมีหลักคำสอนที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ง่ายๆ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับวาระสุดท้ายของตน ว่า  “ในเวลาจวนเจียนจิตจะดับนี้ อยากกล่าวว่ามันง่ายเหมือนตกกระไดแล้วพลอยโจน  ไหนๆ ก็เมื่อร่างกายนี้มันอยู่ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว จิตหรือเจ้าของบ้านก็พลอยกระโจนตามไปเสียด้วยก็แล้วกัน”

หรือหากย้อนไปในสมัยพุทธกาล ก็มีพุทธประวัติที่เล่าถึงการ “ไปดี” ของคนในยุคนั้นว่า พระพุทธองค์ตรัสว่า “อีกไม่นานกายนี้ก็จะนอนทับแผ่นดิน ปราศจากวิญญาณ เหมือนกิ่งไม้ที่ถูกทิ้งแล้ว หาประโยชน์ไม่ได้”  พระติสสะพิจารณาตาม  เมื่อพระพุทธองค์ตรัสจบ พระติสสะก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พร้อมกับดับขันธ์ไปในเวลาเดียวกัน

ถ้าระลึกอยู่แก่ใจว่าเราอาจจะจากไปตอนไหนก็ได้ ทุกครั้งทุกคนที่ได้พบเจอ เราก็จะปฏิบัติต่อเขาอย่างดีที่สุด เสมือนว่านั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้เจอกัน

มาถึงในยุคสมัยของเราทุกวันนี้ หากแม้ไม่ได้ไปไกลถึงขั้นบรรลุธรรม แต่การได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่วาระสุดท้ายที่ดีก็ย่อมทำให้ผู้จากไปได้ไปดี  ดังตัวอย่างจากเรื่องเล่าของผู้ที่เคยร่วมอยู่ในสถานการณ์ดังนั้นกล่าวมาโดยตรง

อย่างเรื่องหนึ่งเล่าว่า  หญิงคนหนึ่งเสียใจมากที่ไม่เคยบอกสามีว่า เธอรักเขาเพียงใด มาคิดได้ก็เมื่อเขาหมดสติ ไม่ตอบสนองใดๆ แล้ว  แต่พยาบาลแนะนำให้เธอพูดทุกอย่างที่อยากพูด  เธอจึงใช้เวลาอยู่กับเขาอย่างเงียบๆ แล้วบอกเขาว่า เธอรักเขาอย่างสุดซึ้ง และมีความสุขที่ได้อยู่กับเขา  จากนั้นก็กล่าวคำอำลา  “ยากมากเลยที่ฉันจะอยู่โดยไม่มีเธอ  แต่ฉันไม่อยากเห็นเธอทุกข์ทรมานอีกต่อไป  ฉะนั้นหากเธอจะจากไปก็ไปเถิด”  ไม่นานหลังจากนั้นสามีที่ทนทุกข์ทรมานจากเครื่องมือสำหรับการพยาบาลยื้อยุดชีวิตมานาน ก็จากไปอย่างสงบ

พระไพศาล วิสาโล  ถึงบอกว่า  “การเผชิญหน้ากับความตายเป็นสิ่งจำเป็น การนึกถึงความตายมีประโยชน์ ทำให้เราไม่ประมาท  เราควรพร้อมที่จะคุยเรื่องความตาย! เหมือนเป็นสิ่งธรรมดาที่อาจเกิดในชีวิตประจำวัน”

ไม่ประมาททั้งโดยถ้อยคำหรือการกระทำ อย่างตระหนักว่าทุกการพบเจอนั้นเสมือนเป็นการพบกันครั้งสุดท้าย

“การพบกันครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายก็ได้ อาจจะไม่ได้พบกันอีก  ถ้าเราระลึกได้เช่นนี้ เราก็จะปฏิบัติต่อกันอย่างอ่อนโยน  ที่ด่ากันทะเลาะกัน แล้วคิดว่าไว้วันหลังค่อยคืนดีกัน มันอาจสายไปก็ได้  เขาอาจจากไปก่อนได้คืนดีกัน  แต่ถ้าเราตระหนักว่าเขาจะไปเมื่อไรก็ไม่รู้ เราก็จะเร่งที่จะคืนดีกัน หรือไม่อยากทะเลาะกันเลย”

ทั้งหลายนี้เป็นการคุยกันถึงความตาย-จุดสุดท้ายของชีวิต เพื่อจะหาความหมายระหว่างทางว่าเราควรอยู่อย่างไร  โดยเฉพาะในยามเจ็บ-ป่วย ซึ่งเป็นหลักหมายระหว่างทาง-หลังการเกิด ที่เราเลี่ยงไม่ได้

จะยิ่งใหญ่ยโสโอหังอย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเราเกิดมาแล้วก็ต้องเจ็บต้องตาย  กลัวก็ตายกล้าก็ตาย  รู้ก็ตายไม่รู้ก็ตาย  ทำก็ตายไม่ทำก็ตาย

แต่จะอย่างไร การได้เรียนรู้ก็ดีกว่าไม่รู้-จริงไหม?

นั่นแหละ ถึงจะไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และได้พบพระพุทธศาสนา

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ