ชัยชนะนอกสนามในศึกฟุตบอลโลก

พระไพศาล วิสาโล 18 มิถุนายน 2006

ทุกวันนี้การแข่งขันฟุตบอลโลก เป็นมากกว่ามหกรรมกีฬา มันได้ผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนจำนวนมหาศาลอย่างยากจะลืมได้  หลายคนยังจำความรู้สึกของตัวได้เมื่ออาร์เจนตินาโดยการนำของมาราดอนนายัดเยียดความพ่ายแพ้ให้อังกฤษอย่างน่ากังขาในปี ๒๕๒๙  บางคนยังระลึกได้ว่าวันที่บราซิลคว้าแชมป์สมัยที่ ๔ หลังจากรอมา ๒๔ ปีนั้น ตนเองกำลังแอบชอบใครอยู่ หรือรู้ข่าวนี้ขณะที่กำลังทำอะไรอยู่  แต่สำหรับบางคนชัยชนะของฝรั่งเศสในรอบชิงชนะเลิศปี ๒๕๔๑ หมายถึงอนาคตที่ดับวูบ เพราะแพ้พนันร่วมแสนบาท จนต้องต้องหนีหนี้และเลิกเรียนกลางคัน

ทั้งๆ ที่เกิดขึ้นในอีกมุมหนึ่งของโลก และไม่ได้ทำให้น้ำมันแพงหรือราคาหุ้นตกลงแต่อย่างใด  กระนั้นฟุตบอลโลกแต่ละครั้งกลายมาเป็นหมุดหมายหนึ่งบนเส้นทางของชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาลได้  ส่วนหนึ่งก็เพราะมันสามารถบันดาลอารมณ์ความรู้สึกทั้งดีใจและซึมเศร้าชนิดเข้มข้นอย่างยากที่จะมีเหตุการณ์ใดมาเทียบเคียงได้  และในทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีผู้คนอีกนับหมื่นนับแสนที่ร่วมรู้สึกรู้กับเรา  นั่นหมายความว่าในแต่ละอารมณ์เราได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้คนจำนวนมหาศาล ที่กลายมาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขแม้ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

แต่ใช่หรือไม่ว่าทุกอารมณ์ที่ท่วมท้นใจของผู้ชมการแข่งขันนั้น ยังหมายถึงรายได้จำนวนมหาศาลที่ไหลเข้ากระเป๋าของคนอีกกลุ่มหนึ่ง  ทุกวันนี้การแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นมหกรรมกีฬาพอๆ กับเป็นเรื่องธุรกิจ  ฟุตบอลโลกแต่ละครั้งทำรายได้มหาศาลให้แก่ผู้คนในหลายวงการ  จำเพาะฟีฟ่าซึ่งเป็นองค์กรผู้จัด ได้ผลตอบแทนเป็นจำนวนนับแสนล้านบาทจากการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิตสินค้า และสิทธิในการถ่ายทอดรายการแข่งขันแก่เครือข่ายโทรทัศน์และเคเบิลทีวี  ส่วนผู้ผลิตสินค้าก็ทำรายได้มหาศาลจากมหกรรมดังกล่าว  ผลิตภัณฑ์แทบทุกชนิดตั้งแต่น้ำอัดลมไปจนถึงมีดโกนหนวดและบัตรเครดิตที่โหนกระแสฟุตบอลโลก ส่วนใหญ่มียอดขายเพิ่มขึ้นชัดเจน  ส่วนสื่อมวลชนทุกชนิดก็มีรายได้จากการค่าโฆษณาหลั่งไหลเข้ามา  ยังมิต้องพูดถึงนักกีฬาซึ่งหากทำผลงานได้ดีก็จะมีรายได้มากขึ้นจากสโมสรต้นสังกัดและค่าโฆษณา

แต่ผลประโยชน์เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อกระแสฟุตบอลโลกถูกปลุกจนกลายเป็น “ฟีเวอร์” ขึ้นมา  ด้วยเหตุนี้จึงมีการระดมโฆษณากระตุ้นความสนใจอย่างขนานใหญ่  มีการระดมใส่ “ข้อมูล” ต่างๆ ให้แก่เราทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์  เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยสารพัดถูกขุดมา (และเติมแต่ง) เพื่อสร้างสีสันและความตื่นตาตื่นใจให้แก่มหกรรมนี้  ไม่ว่าความเก่งกาจของนักฟุตบอล เสน่ห์ของกองเชียร์ หรือความยิ่งใหญ่ของสนามฟุตบอล  และที่ขาดไม่ได้ก็คือการทายผลแข่งขันเพื่อชิงรางวัลแบบรายวันไปตลอดทั้งเดือน

เงินที่อัดฉีดเข้าไปในการปลุกกระแสฟุตบอลโลก และผลประโยชน์จำนวนมหาศาลที่จะคืนกลับมา คือเหตุผลสำคัญที่สุดก็ว่าได้ที่ทำให้ฟุตบอลโลกกลายเป็นฟีเวอร์ไปทั่วทั้งโลกได้  จริงอยู่เทคโนโลยี เช่น จำนวนโทรทัศน์ที่เพิ่มมากขึ้น เครือข่ายโทรคมนาคมที่เชื่อมโยงไปทั่วทั้งโลกโดยระบบดาวเทียม เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีคนดูฟุตบอลโลกมากขึ้น  แต่ถึงจะมีโทรทัศน์และดาวเทียม แต่ถ้าไม่มีใครควักเงินเพื่อซื้อสิทธิการถ่ายทอดหรือ “อุปถัมภ์” รายการ  จำนวนคนดูฟุตบอลก็คงน้อยกว่าทุกวันนี้มาก

มหกรรมฟุตบอลโลกจึงมิใช่การแข่งขันระหว่างนักฟุตบอลจากชาติต่างๆ เท่านั้น  แต่ยังเป็นการแข่งขันระหว่างธุรกิจทั่วโลกเพื่อแย่งชิงความสนใจและเงินจากเรา  น้อยคนจะตระหนักว่าตลอด ๙๐ นาทีของการแข่งขันในแต่ละนัด  ป้ายโฆษณาตามขอบสนามของสินค้าแต่ละตัวผ่านสายตา (และซึมซับเข้าไปในใจ) ของเรารวมแล้วไม่ต่ำกว่า ๗ นาที  (ถ้าดูทั้ง ๖๔ นัดก็รวมเป็น ๘ ชั่วโมง อย่าลืมว่านี้เป็นตัวเลขเฉพาะสินค้าตัวเดียวเท่านั้น)

แต่จะติดตามฟุตบอลโลกตลอดทั้งเดือนได้อย่างไร หากไม่รู้สึกตื่นเต้นและสนุกไปกับการแข่งขัน  ด้วยเหตุนี้ฟุตบอลโลกจึงถูกทำให้สนุกและน่าติดตาม  อาทิ การเพิ่มคะแนนผู้ชนะแต่ละนัดจาก ๒ เป็น ๓ คะแนน หรือการตั้งกฏ golden goal (ใครยิงประตูได้ก่อน ก็ชนะไปเลย)  ทั้งนี้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้เล่นบุกเข้าไปยิงประตูฝ่ายตรงข้ามแทนที่จะเอาแต่ตั้งรับ  แน่นอนการโฆษณาสรรพคุณ (ซึ่งบางครั้งก็เกินจริง) ของนักกีฬาดังๆ บางคน หรือบางทีม ก็เป็นส่วนหนึ่งของสูตรดังกล่าว

ฟุตบอลโลก (และฟุตบอลระดับรองลงมา) จึงไม่ต่างจากธุรกิจความบันเทิงอย่างหนึ่ง ซึ่งนอกจากให้ความสนุกสนานตื่นเต้น และผลิตคนดังขึ้นมาเป็นซูเปอร์สตาร์มากมาย  แต่มันยังเป็นเป็นมากกว่าความบันเทิง เพราะฟุตบอลโลกสามารถสร้างความรู้สึกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายจนถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์กันได้  ฟุตบอลโลกเป็น “กีฬารวมใจ” ก็จริง แต่บ่อยครั้งก็เป็นการรวมใจเพื่อไปดูหมิ่นหรือทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง เพียงเพราะเชียร์คนละฝ่าย  เมื่อ ๔ ปีที่แล้วแฟนบอลรัสเซียพากันถล่มร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงมอสโคว์เพราะไม่พอใจผลการแข่งขันระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่น  ถอยหลังไปอีก ๔ ปี แฟนบอลชาวอังกฤษก็ก่อความวุ่นวายตามเมืองต่างๆ ในฝรั่งเศส  แต่นั่นยังเล็กน้อยเมื่อเปรียบกับการวิวาทระหว่างแฟนบอลคอสตาริกากับเอลซัลวาดอร์ในรอบคัดเลือกจนถึงขั้นจับอาวุธทำสงครามกันในปี ๒๕๑๒

ไม่มีความบันเทิงใดที่สามารถกระตุ้นความโกรธเกลียดได้มากเท่านี้ ขณะเดียวกันก็สามารถทำให้เราซึมเศร้าหรือหดหู่ไปได้นานเป็นวันๆ  แต่ฟุตบอลโลกสามารถทำได้  จริงอยู่นัดแรกๆ หรือรอบแรก อาจไม่รู้สึกอะไรมากนัก  แต่เมื่อตามไปถึงรอบลึกๆ อารมณ์ก็จะดิ่งลึกไปด้วย จนรู้สึกเอาเป็นเอาตายกับผลการแข่งขัน  ถึงตอนนี้กีฬาไม่ใช่เรื่องของการรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย อีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของการเอาชนะคะคานกันให้ได้  ใช่หรือไม่ว่า ในขณะที่ลุ้นทีมโปรดจนนั่งไม่ติด เราก็สาปแช่งอีกฝ่ายไปด้วย  เมื่อผู้เล่นฝ่ายนั้นถูกสกัดจนล้มด้วยความเจ็บปวดหรือถูกหามออกนอกสนาม แทนที่เราจะเห็นใจหรือนึกสงสาร กลับยินดีหรือสะใจเสียด้วยซ้ำ

มาถึงขั้นนี้แล้ว ถ้าไม่กลับมาถามใจตัวเองว่า ถูกแล้วหรือที่มีจิตคิดร้ายกับเขาอย่างนั้น ก็แสดงว่ามีบางอย่างผิดพลาดขึ้นแล้วในใจเรา  ลึกลงไปความรุนแรงกำลังก่อตัวขึ้น แก่นแกนในใจเรากำลังถูกกัดกร่อน เมตตาธรรมกำลังถูกกัดเซาะ  ใช่หรือไม่ว่าคนที่เดือดร้อนและต้องผลพวงจากท่าทีดังกล่าวเป็นคนแรกคือเราต่างหาก

ฟุตบอลโลกนั้น ดูให้สนุกอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องดูให้เป็นด้วย  หาไม่แล้ว เราเองนั่นแหละจะเป็นทุกข์  แม้ไม่ถึงกับทุกข์จนไร้เรี่ยวแรงเพราะทีมโปรดแพ้ หรือทุกข์จนทำร้ายตนเองเพราะแพ้พนัน  แต่ก็อาจทุกข์เพราะอกุศลจิตครอบงำ

ความจริงแล้วถ้าดูให้เป็น ฟุตบอลโลกก็เสมือนละครโรงใหญ่ ที่สะท้อนความจริงของชีวิตได้อย่างน่าศึกษา โดยเฉพาะความไม่เที่ยงหรือความไม่แน่นอน  ทีมที่ครองถ้วยด้วยชัยชนะอันเกริกไกร (เช่น ฝรั่งเศส) กลับต้องมาพบกับความพ่ายแพ้อย่างผิดรูปใน ๔ ปีต่อมาเพราะตกรอบแรกโดยยิงไม่ได้แม้แต่ประตูเดียว  ทีมที่ยิงนำมาตลอด ๙๐ นาที อาจกลายเป็นผู้แพ้เมื่อทดเวลาไปอีกแค่ ๓ นาที  ทุกอย่างย่อมเป็นไปได้เสมอตราบใดที่กรรมการยังไม่เป่านกหวีดยุติการแข่งขันฉันใด  เราจึงไม่ควรสยบยอมต่อความพ่ายแพ้ตราบใดที่ยังมีเวลาเหลืออยู่ฉันนั้น

ตราบใดที่กรรมการยังไม่เป่านกหวีดยุติการแข่งขัน ทุกอย่างย่อมเป็นไปได้เสมอ ดังนั้นตราบใดที่ยังมีเวลาเหลืออยู่ เราก็ไม่ควรสยบยอมต่อความพ่ายแพ้

ฟุตบอลโลกจะมีประโยชน์ก็เพราะเปิดใจเราให้กว้างขึ้น ทั้งต่อผู้อื่น และต่อความเป็นจริง  อย่าปล่อยให้ฟุตบอลโลกมาปิดใจเราให้แคบลงหรือผลักให้จมดิ่งในหลุมอารมณ์  จนลืมไปว่า ฟุตบอลโลกก็เป็นแค่เหตุการณ์หนึ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตแล้วก็จะต้องผ่านเลยไป  ไม่ว่าทีมโปรดจะครองแชมป์กี่ครั้ง ชีวิตเราก็ใช่ว่าจะต่างไปจากเดิม  สิ่งที่จะทำให้ต่างไปจากเดิมหรือไม่คือใจของเราต่างหาก

ไม่ว่าผลการแข่งขันจะออกมาอย่างไร ผู้ที่ชนะอย่างแท้จริงคือธุรกิจทั้งหลายที่ตักตวงประโยชน์จากกระแสฟุตบอลโลก  แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราซึ่งเป็นผู้ชมก็อย่าเผลอปล่อยใจจนกลายเป็นผู้แพ้  ใช่หรือไม่ว่า ชัยชนะที่สำคัญที่สุดคือการชนะใจตนเอง จนความทุกข์และอกุศลธรรมทำอะไรเราไม่ได้


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา