ชีวิตที่รู้สึกขาดพร่อง

ปรีดา เรืองวิชาธร 15 กุมภาพันธ์ 2009

เมื่อหันกลับมามองใคร่ครวญชีวิตในแต่ละขณะที่กำลังรู้สึกอยากได้อยากเป็นหรือกำลังต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่งสักอย่าง สิ่งที่ควรจะเห็นชัดที่สุดแต่เราส่วนใหญ่ก็ล้วนมองข้ามหรือมองไม่เห็นก็คือ แรงขับอันงุ่นง่านภายในที่พุ่งทะยานจะเข้าไปไขว่คว้าจับจองยึดไว้เป็นของเรา ยิ่งแรงขับที่ว่านี้มีพลังมากเท่าใดความงุ่นง่านกระเพื่อมไหวก็มีแรงมากเท่านั้น  และเพื่อไปให้ถึงการได้รับหรือเป็นเจ้าของสิ่งนั้น ก็มักทำให้ความสามารถในการเลือกใช้วิธีการอันถูกต้องเหมาะสมเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาลดทอนลง และยังลดทอนความสามารถในการคิดค้นสร้างสรรค์วิธีการที่ดีเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาโดยไม่เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น  ดังนั้นความต้องการหรือความอยากได้อยากเป็นของแต่ละคนที่มากเกินงามจึงมักตามมาด้วยความทุกข์เจ็บปวด ความขัดแย้งรุนแรง ความโกรธเกลียด ความเสื่อมสูญทางจิตวิญญาณของมนุษย์ ความทรุดโทรมของสังคมและธรรมชาติแวดล้อม เป็นต้น

ที่ผ่านมาผมสงสัยใคร่รู้มาโดยตลอดว่า ทำไมเกือบทุกขณะของชีวิตจึงรู้สึกอยากได้หรือต้องการสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้อย่างไม่รู้จักสิ้นสุด ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ ทรัพย์สินเงินทอง ความสำเร็จ ชื่อเสียงหน้าตาทางสังคม คนรัก ยศตำแหน่ง พรรคพวกเพื่อนพ้องที่คอยช่วยเหลือรับใช้เรา อำนาจที่จะสามารถบันดาลอะไรได้ตามอำเภอใจ เสน่ห์ในตัวที่เป็นแรงดึงดูดให้คนยอมรับนับถือ รวมไปถึงความต้องการหรือความปรารถนาสากลที่มนุษย์ทุกคนต้องการ อย่างเช่น การยอมรับนับถือ ความรัก ความภาคภูมิใจ การได้รับความใส่ใจดูแลอย่างอบอุ่น ความไม่รู้สึกแปลกแยกโดดเดี่ยวหรือถูกกีดกันออกจากกลุ่มหรือสังคม ความมั่นคงภายใน และความสุขในชีวิต เป็นต้น

ผมสงสัยอย่างยิ่งว่า สิ่งเหล่านี้เมื่อแสวงหาจนได้มันมาไม่ว่ามากหรือน้อยเท่าใด แต่ก็หาได้รู้จักอิ่มเอมพอใจไม่ ที่น่าประหลาดใจมากก็คือ หลายครั้งของชีวิตยิ่งได้รับสิ่งนั้นสมใจหวังมากเท่าใด ก็ยิ่งกลับเป็นแรงกระตุ้นให้รู้สึกต้องการหรืออยากมากขึ้น สิ่งที่พอจะอธิบายความข้อนี้ได้ชัดเจนก็คือ ผมและหลายๆ คนเข้าถึงความสุขแบบเต็มอิ่มได้ยากขึ้นหรือพึงพอใจในสิ่งที่ตนมีตนเป็นได้ยากขึ้นทุกที ต้องตะเกียกตะกายพุ่งทะยานแสวงหาเพื่อเติมเต็มให้ตัวเราอย่างไม่รู้ว่าจะพอหรือสิ้นสุดลงในวันไหนของชีวิต  หากเป็นความต้องการหรืออยากได้ในเรื่องทรัพย์สินเงินทอง หรือเครื่องบำรุงบำเรอให้ชีวิตได้สุขสบาย ยังพออธิบายความรู้สึกต้องการอย่างไม่รู้จักพอได้ไม่ยาก  แต่กรณีที่เป็นความต้องการหรือความปรารถนาสากลเช่น การได้รับการยอมรับหรือความรัก เป็นต้น ทำไมยิ่งได้รับมากขึ้นเท่าใดก็กลับยิ่งต้องการมากขึ้นอย่างไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอเสียที  เพราะอะไรเราจึงต้องการเติมเต็มสิ่งเหล่านี้อยู่ไม่สร่างซา เมื่อไรถึงจะมีสิ่งเหล่านี้มากพอจนรู้สึกได้ถึงความมั่นคงภายในอย่างแท้จริงหรือจิตใจเป็นอิสระจากสิ่งอื่นคนอื่นได้เสียที

เรื่องความรู้สึกต้องการหรืออยากได้อยากเป็นอย่างไม่รู้สิ้นสุดนี้ เมื่อมองแบบพุทธก็คือ ตัณหาหรือความทะยานอยากทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งเนื้อแท้ของมันก็คือ ความไม่รู้จักอิ่ม เมื่อมีสิ่งล่อที่เป็นเหยื่อจากภายนอกเราก็จะรู้สึกอยากได้หรือต้องการขึ้นมาทันที ซึ่งอีกด้านหนึ่งเราก็ได้รับแรงกระตุ้นที่มีพลังมหาศาลจากวัฒนธรรมบริโภคนิยมของสังคมสมัยใหม่ ที่คอยปลุกเร้าให้เรารู้สึกขาดพร่องอยู่ตลอดเวลา

ในที่นี้ผมมีข้อสังเกตที่อยากชวนให้คิดใคร่ครวญต่อก็คือ ประการแรก ที่เรารู้สึกอยากหรือมีความต้องการอยู่เรื่อยๆ และมีแนวโน้มเข้มข้นรุนแรงนั้น ก็เพราะจิตใจภายในเรารู้สึกขาดพร่องหรือถูกทำให้รู้สึกขาดพร่องอย่างไม่รู้ตัว สภาวะของความรู้สึกขาดพร่องมีอาการคล้ายๆ กับจิตใจที่พร้อมจะแส่ส่ายหรือโหยหาสิ่งอื่นหรือคนอื่นจากภายนอกได้ทุกขณะ ดังนั้นสิ่งต่างๆ ที่ตอบสนองความต้องการจึงไม่สามารถทำให้เรารู้สึกเต็มอิ่มหรือรู้สึกมั่นคงภายในอย่างแท้จริง กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ การได้รับสิ่งที่ต้องการไม่ว่าจะมากเท่าใดทางเดียวอาจจะไม่ได้ช่วยให้เกิดความรู้สึกอิ่มเอมเพียงพอ

เป็นไปได้ไหมว่าเวลาเราได้รับสิ่งที่เราต้องการ หรือเวลาที่ความอยากได้รับการบำบัดก็จะเกิดความรู้สึกเป็นสุขหรือปิติพอใจขึ้นมาทันทีจะมากบ้างน้อยบ้าง หรือจะหยาบบ้างละเอียดประณีตบ้างก็ขึ้นอยู่กับสิ่งนั้นมันมีอิทธิพลหรือมีคุณค่าความหมายอย่างไรกับชีวิตจิตใจในขณะนั้น เมื่อเกิดความรู้สึกสุขหรือพึงพอใจก็มักจะเป็นปัจจัยทำให้เราเข้าไปหมายมั่นจะได้สิ่งนั้นหรือทำนองนั้นในคราวต่อไป เพราะเมื่อได้รับแล้วก็ถูกตอกย้ำให้รู้สึกสุขดังเช่นเคย เป็นเยี่ยงนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า  และก็น่าแปลกใจที่ความยึดมั่นถือมั่นในความรู้สึกสุขนี้ยังทำให้เราอยากได้ความสุขที่ยิ่งขึ้นไปอีกไม่ว่าจะเป็นความสุขที่เข้มข้นมีปริมาณมากขึ้น เป็นความสุขที่เปลี่ยนรูปร่างหน้าตาไปอย่างไม่ซ้ำซากจำเจ เป็นต้น  ดังนั้นความรู้สึกสุขหรือสุขเวทนาจึงเป็นแรงขับให้เราติดย้อมใจจนอยากหมายมั่นที่จะได้มันอีกอย่างไม่รู้สิ้นสุด และเพื่อให้ได้สุขเวทนาเราจึงแสวงหาสิ่งที่เราต้องการหรือปรารถนาอย่างไม่รู้จบสิ้นนั่นไง

ความรู้สึกต้องการหรืออยากได้อยากเป็นอย่างไม่รู้สิ้นสุด เมื่อมองแบบพุทธก็คือ ‘ตัณหา’ หรือความทะยานอยาก ซึ่งเนื้อแท้ของมันก็คือ ‘ความไม่รู้จักอิ่ม’

ประการต่อมา เป็นไปได้ไหมว่า หลายครั้งหลายคราวที่เราเสพเสวยความรู้สึกสุข เราดำรงอยู่กับมันอย่างฉาบฉวยผิวเผิน กล่าวคือ เราไม่ค่อยได้ละเลียดเข้าถึงความสุขจากการได้รับสิ่งที่ต้องการอย่างลึกซึ้ง แต่กลับเสพเสวยความสุขอย่างเร่งรีบฉาบฉวยจึงทำให้เราสัมผัสความสุขได้น้อยกว่าตามที่มันควรจะเป็น สิ่งที่เราต้องการนั้นจึงทำได้เพียงทำให้เรารู้สึกสุขแบบขาดพร่องไป ไม่ได้ทำให้รู้สึกสุขแบบอิ่มเอมใจ ในแง่นี้สังเกตได้ง่ายอย่างเช่น เวลาที่ได้สิ่งใดมาใหม่ทั้งวัตถุธรรมและนามธรรมเราจะพึงพอใจอยู่สักพักและจะรีบโจนทะยานรอคอยไขว่คว้าสิ่งใหม่ทันที ซึ่งถือเป็นความสุขที่เกิดจากการได้รับหรือได้ครอบครองมากกว่าจะเป็นความสุขที่เกิดจากการเสพเสวยหรือจากการดำรงอยู่กับมันอย่างลึกล้ำ ด้วยเหตุนี้เราจึงอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า สุขแบบแดกด่วน และเข้าถึงความสุขได้ยากเย็นยิ่งขึ้นทุกที

อีกแง่หนึ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ เรารู้จักความรู้สึกสุขรวมทั้งทุกสิ่งที่เราโหยหาต้องการเพียงผิวเผิน ไม่ได้เข้าถึงความจริงตามที่มันเป็น กล่าวให้ลึกไปกว่านี้ก็คือ เราภาวนาได้ไม่ลึกซึ้งเพียงพอจนเห็นและเข้าใจความจริงของสิ่งต่างๆ ทั้งความรู้สึกสุขและสิ่งที่ตอบสนองความต้องการว่า ทุกสิ่งล้วนดำรงอยู่ได้เพียงชั่วครู่ชั่วยามและสรรพสิ่งต่างๆ ล้วนประกอบขึ้นจากหลายเหตุหลายปัจจัยจึงไม่คงที่ผันผวนปรวนแปรไปเรื่อยๆ เราไม่สามารถถือเป็นเจ้าของอย่างเที่ยงแท้ถาวรได้ ดังนั้นมันจึงไม่สามารถทำให้เรารู้สึกเต็มอิ่มอย่างคงที่ตายตัวได้ ก็เพราะตัวมันเองก็มีความขาดพร่อง มีความบกพร่องขัดแย้งในตัวเองซึ่งตรงกับความจริงพื้นฐานที่ว่า สิ่งใดที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสังขารก็ล้วนมีความไม่เที่ยงและมีสภาวะเป็นทุกข์

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ หากเราจะทำให้ชีวิตที่รู้สึกขาดพร่องบรรเทาเบาบางลงไปได้บ้างนั้น ก็จำต้องใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งจนเห็นถึงธรรมชาติที่แท้ของความรู้สึกสุขและสิ่งที่เข้ามาบำบัดความต้องการหรือความอยาก  ดำรงอยู่กับความรู้สึกสุขอย่างลึกซึ้งปราณีตเพื่อที่จะเข้าถึงมันตามที่เป็นจริง


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน