ชีวิตที่ไม่เบียดเบียน

พระวิชิต ธมฺมชิโต 28 เมษายน 2013

แม้ศรีลังกาจะมีสัดส่วนของคนที่นับถือพระพุทธศาสนาน้อยกว่าประเทศไทย คือมีอยู่ร้อยละ ๗๐ ของประชากร แต่พุทธศาสนาที่นั่นยืนยงมั่นคงมานานกว่า ๒๐๐๐ ปี ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชส่งพระมหินทรเถระพร้อมด้วยหมู่สงฆ์และสามเณรไปประกาศพระศาสนา ณ เกาะแห่งนี้

ผู้ที่เคยไปศรีลังกานอกจากจะตื่นตาตื่นใจกับร่องรอยแห่งความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในอดีตแล้ว ก็มักอดไม่ได้ที่จะชื่นชมกับวิถีชีวิตของผู้คนที่นั่น แม้ทุกวันนี้วัดวาเขาไม่ได้ใหญ่โตหรูหราเหมือนบ้านเรา แต่ชีวิตเขาผูกพันใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนาแน่นแฟ้นกว่าเรามากไม่ว่าในเมืองหรือชนบท

นอกจากภาพอันน่าศรัทธาของคนจำนวนมากสวมชุดขาวไปไหว้พระสักการะต้นโพธิ์ สาธยายบทพระพุทธมนต์ หรือฟังธรรมกันตามวัดต่างๆ แล้ว หากไปตรงกับวันอาทิตย์ก็จะเห็นเด็กๆ แต่งชุดขาวถือสมุดหนังสือไปวัด มีพ่อแม่ถือถาดดอกไม้ติดตามไปส่ง แล้วก็เรียนๆ เล่นๆ ศึกษาพระพุทธศาสนากับพระภิกษุและคุณครูอาสากันอย่างใกล้ชิด

ยิ่งถ้ามีโอกาสหลุดออกจากโปรแกรมทัวร์ ซอกแซกไปสัมผัสชีวิตของชาวบ้านที่อยู่กันตามปกติไม่ได้เตรียมรอรับนักท่องเที่ยวด้วยแล้ว เราจะยิ่งเห็นความผูกพันใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น

หลายคนเมื่อเห็นพระบิณฑบาตจะกระวีกระวาดหาของมาใส่บาตร บ้างก็ล้วงหยิบห่อข้าวถุงขนมที่เตรียมไปกินที่ทำงานออกมาใส่บาตรด้วยความเต็มใจ แม้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่านานๆ ครั้งจึงจะได้พบพระออกบิณฑบาตก็ตาม (ส่วนใหญ่ชาวบ้านที่นั่นจะนำอาหารไปถวายพระที่วัด)

ไม่รวมถึงการก้มลงกราบเท้าหลังใส่บาตรกันบนพื้นถนน การล้างเท้าเช็ดเท้าให้พระก่อนที่ท่านจะเข้าบ้าน การลงจากรถจักรยานมาเดินจูงเมื่อต้องขี่สวนหรือแซงพระ การลุกขึ้นยืนเมื่อพระเดินผ่าน รวมทั้งกิริยาอาการที่อ่อนน้อมและแสดงความพร้อมที่จะดูแลรับใช้ท่านในโอกาสต่างๆ ซึ่งภาพเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นศรัทธาที่เหนียวแน่นได้อย่างชัดเจน

มิใช่เพียงรูปแบบวิธีการที่แสดงออกต่อพระสงฆ์และเจติยสถานเท่านั้น การน้อมนำหลักธรรมมาสู่การปฏิบัติก็ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในขั้นศีลซึ่งเห็นได้ง่ายเพราะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของผู้คนและการเข้าไปเกี่ยวข้องกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

เราจะเห็นได้ตั้งแต่เรื่องอาหาร หลายคนที่คาดหวังว่าจะไปหาความสำราญกับอาหารทะเลอันโอชะในประเทศที่เป็นเกาะอย่างศรีลังกาต้องผิดหวังกันไปตามๆ กัน เพราะไม่สามารถหาร้านขายอาหารทะเลได้ง่ายนัก อาหารก็ไม่หลากหลาย ที่สำคัญรสชาติก็ไม่ค่อยถูกปากคนไทยเท่าไหร่

ความเคร่งครัดในศีลไม่คิดจะฆ่าสัตว์ทำให้คนศรีลังกากินเนื้อสัตว์น้อยกว่าคนไทยมาก ไม่เฉพาะอาหารทะเลที่หาได้ยากเท่านั้น อาหารพื้นบ้านส่วนใหญ่เป็นมังสวิรัต เน้นผัก ถั่วและกะทิ หากจะมีเนื้อสัตว์ก็เป็นปลาหรือนานๆ ครั้งก็อาจมีไก่บ้าง

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เรายังเห็นนกสวยๆ มากมายบินอยู่ทั่วไป สัตว์ป่าที่ทุกวันนี้เราต้องพาลูกหลานไปดูที่สวนสัตว์ เช่น เม่น พังพอน เก้ง กระจงช้าง ค่าง อีเห็น ฯลฯ แต่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามข้างทางหรือชายป่าที่นั่น

เรื่องที่น่าตั้งคำถามคือ ทำไมคนไทยเราจึงมีพฤติกรรมเบียดเบียนทำร้ายชีวิตสัตว์อื่นกันเป็นปกติ ทั้งๆ ที่เราก็นับถือพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเช่นเดียวกับศรีลังกา เรารับศีล ๕ กันเป็นประจำ สอนเรื่องเมตตากรุณาเป็นเรื่องหลัก ทั้งยังเชื่อเรื่องกรรมเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด และมองเห็นสัตว์ทั้งหลายว่าเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายกับเราหรืออาจเคยเป็นญาติกันมาก่อนด้วยซ้ำ

เรามักเห็นแต่ความน่ารักของเด็กๆ เมื่อเขาวิ่งไล่จับผีเสื้อจับแมลงปอ แต่ไม่เคยชี้ให้เขาเห็นว่ากำลังไปเบียดเบียนสร้างความกลัว ความตกใจ ความทุกข์ให้ผู้อื่น

ขณะเดียวกัน เมื่อเราถูกทำร้ายเบียดเบียนแม้จากมดจากแมลง ก็เห็นว่าการฆ่า กำจัดเขาไปด้วยความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดา ไม่สนับสนุนการใช้สติปัญญาขจัดปัญหา เบื่อที่จะต้องคอยระวังไม่ให้ยุงเข้าห้อง ขี้เกียจกางมุ้ง หรือไม่อยากยาทาป้องกัน ที่สำคัญคือ เราทนยอมรับการเจ็บปวดบ้างเพื่อความสุขความยืนยาวของชีวิตอื่นได้ยาก และยิ่งรับไม่ได้หากบอกว่าการสละเลือดให้ยุงเป็นการให้ทานขั้นอุปบารมีทีเดียว

เมื่อไม่ถูกฝึกให้คุ้นเคยกับการนึกถึงความทุกข์ความลำบากของผู้อื่น เราก็มีโอกาสเบียดเบียนผู้อื่นได้ง่ายขึ้น ไม่รู้สึกลำบากใจที่จะฉีดยาฆ่ามดฆ่ายุง หรือเพียงแค่ต้องการความอร่อย ความหวานของอาหารที่ปรุงจากกุ้งสดๆ ปูปลาเป็นๆ เราก็ลืมนึกถึงความตายที่กำลังหยิบยื่นให้กับสัตว์เหล่านั้น

ผลกระทบจากการไม่ไวต่อความรู้สึกที่ตนไปสร้างความทุกข์หรือเบียดเบียนผู้อื่นนั้น นอกจากทำให้เกิดความขัดแย้งขุ่นเคืองระหว่างกันอยู่บ่อยๆ แล้ว ยังส่งผลต่อสภาพของความสงบสุขของสังคมโดยรวมด้วย ทำให้เราต้องหงุดหงิดรำคาญกับการกระทำที่เห็นแก่ตัวของคนรอบข้างอยู่เสมอ โดยเฉพาะบนท้องถนนหรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆ แม้กระทั่งเมื่อไปทำบุญที่วัด

คนเหล่านั้นจำนวนมากไม่ได้เป็นคนเลวร้าย เพียงแต่เขาไม่ค่อยได้นึกถึงจิตใจหรือความรู้สึกของคนอื่น แต่ตรงกันข้ามหลายคนกลับแสดงความรู้สึกหรือวิพากษ์ได้มากมายต่อสถานการณ์หรือสิ่งที่คนรอบข้างกระทำต่อตน กล่าวอีกอย่างคือ เขารู้สึกไวต่อสิ่งที่ผู้อื่นทำกระทบตน แต่เฉยชาต่อสิ่งที่ตนเบียดเบียนผู้อื่น

เมื่อไม่คุ้นเคยกับการนึกถึงความทุกข์ร้อนของผู้อื่น เราก็มีโอกาสเบียดเบียนผู้อื่นได้ง่ายขึ้น

เรื่องหนึ่งที่พุทธศาสนาให้ความสำคัญมากคือ การเพียรเฝ้าตรวจสอบเตือนตนอยู่เสมอ เพื่อที่จะละเว้นการคิดหรือทำอะไรที่ไม่เหมาะสม และหมั่นขวนขวายทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น สิ่งใดที่ทำแล้วไปเบียดเบียนผู้คนและชีวิตอื่นไม่ว่าร่างกายหรือจิตใจ ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องละเว้น ถึงกับกำหนดไว้เป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานคือศีล

การที่เราใส่ใจต่อความรู้สึกของผู้อื่น มีความละเอียดอ่อนต่อผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นจากการพูดการกระทำของเรา เป็นการปฏิบัติธรรมที่รวมเอาทั้งเรื่องของศีล การสร้างบุญ-ให้ทาน เจริญเมตตา-กรุณา การฝึกสติการพัฒนาปัญญาเข้าไว้ในเรื่องเดียวกัน

การหันกลับมาใส่ใจความรู้สึกผู้คนรอบข้าง จะส่งผลย้อนกลับทำให้จิตใจเรามีความละเอียดอ่อนที่จะสัมผัสถึงความสุข ความทุกข์ ความสงบ และความขุ่นมัวในใจเราเองได้ง่ายขึ้นด้วย และนั่นก็เป็นหนึ่งในเครื่องบ่งชี้ถึงความก้าวหน้าในการการปฏิบัติธรรมของเรา แถมยังช่วยเผื่อแผ่ความสงบสุขความเมตตาอาทรไปยังคนรอบข้าง ครอบครัว ตลอดจนชุมชน สังคมที่เราอยู่ได้ด้วย