ชีวิตผมกับคุณมีอยู่เพียงน้อยนิด

ปรีดา เรืองวิชาธร 16 มีนาคม 2007

เมื่อเร็วๆ นี้ผมไปเยี่ยมเยียนเพื่อนสนิทคนหนึ่งอายุจวนจะ ๔๐ แล้วแต่กำลังป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อนและอาจจะตายลงในไม่ช้านี้ เพื่อนคนนี้เขาเข้มแข็งมากรักษาอารมณ์และให้กำลังใจตนเองกับคนรักรอบข้างได้ดีเยี่ยม เขาเล่าให้ฟังว่าตั้งแต่เรียนจบมาเกือบ ๒๐ปี ได้ทุ่มเททำงานต่อสู้ปัญหาอุปสรรคเต็มที่จนตอนนี้ได้รับความสำเร็จทั้งในเรื่องงานและชีวิต ชีวิตกำลังลงตัวและมีความสุขพร้อมกับยังมีความฝันอีกหลายเรื่องกะว่าจะลงมือทำในปีหน้านี้ ความฝันที่ว่านี้เป็นกิจกรรมที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง แต่คงไม่ได้ทำเสียแล้ว

เขาสารภาพว่า ไม่เคยคิดเลยว่าชีวิตตนเองจะสิ้นสุดลงเร็วอย่างนี้ คิดเหมือนคนส่วนใหญ่ว่าคงจะตายอย่างน้อยก็อายุสัก ๗๐ เขาเตือนผมก่อนจะร่ำลาจากกันว่า มีความฝันอะไรที่อยากทำหรืออยากทำอะไรที่ดีงามเพื่อตนเองและคนอื่น ให้ลงมือทำทันทีอย่าผัดผ่อนอีกเลย ชีวิตไม่ยืนยาวอย่างที่คิดมากนักหรอก เพราะเราเสียเวลาเกือบทั้งหมดไปกับความเพลิดเพลินในการแสวงหาทรัพย์สินเงินทอง ความสำเร็จทางหน้าที่การงาน หรืองมงายกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง แต่กลับมีเวลาเพียงน้อยนิดเพื่อทำสิ่งดีงามและฝึกฝนจิตใจให้มองเห็นความจริงของชีวิต ดังนั้นแม้คุณจะอายุยืนถึง ๑๐๐ ปีแต่ชีวิตที่แท้จริงก็คงสั้นนัก

ผมเห็นด้วยกับคำเตือนของเพื่อนอย่างมิต้องสงสัย และยิ่งมีโอกาสพูดคุยกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายหลายคนด้วยแล้ว แทบทุกคนล้วนคิดว่าตนเองคงจะตายเมื่ออายุมากแล้ว และอยากมีเวลากับกำลังวังชามากพอที่จะทำสิ่งดีงามที่คิดไว้แต่ยังไม่ได้ลงมือทำ ดังนั้นการเตรียมตัวตายที่ดี จึงไม่ได้หมายถึงเพียงการเตรียมตัวเตรียมใจปล่อยวางทุกสิ่งลง แล้วน้อมนึกถึงคุณงามความดีทีทำมาหรือทำใจให้สงบตอนช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึงเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการทำชีวิตให้มีคุณค่าความหมาย โดยเฉพาะการเติบโตทางจิตวิญญาณในขณะที่เรายังหนุ่มยังสาวมีเรี่ยวแรงมากพอที่จะทำกิจที่พึงกระทำด้วย

เรื่องเกียวเนื่องกับการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทนั้น พระพุทธเจ้าทรงตักเตือนไว้หลายครั้งหลายคราวอย่างในอรกานุสาสนีสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๓) ท่านได้ยกคำสั่งสอนของท่านศาสดาอรกะที่กล่าวคำอุปมาของชีวิตว่า มีความสั้นยิ่งนักเหมือนน้ำค้างบนยอดหญ้าที่จะแห้งเหือดไปอย่างรวดเร็วเวลาต้องแสงอาทิตย์ เหมือนคลื่นฟองน้ำที่แตกกระจายแล้วก็หายไปอย่างรวดเร็ว หรือเหมือนรอยไม้ที่ขีดลงบนพื้นน้ำซึ่งรอยขีดย่อมกลับเข้าหากันและหายไปอย่างรวดเร็ว เป็นต้น ทั้งที่อายุขัยของมนุษย์ยุคของท่านศาสดาอรกะนั้นยืนยาวถึง ๖๐,๐๐๐ ปี แต่ท่านก็ยังพร่ำเตือนว่าชีวิตมนุษย์นั้นสั้นนัก มีทุกข์และคับแค้นมาก พึงขวนขวายอบรมด้วยปัญญาและทำกุศลให้ถึงพร้อมเถิด ดังนั้นยิ่งอายุขัยในสมัยของเราอย่างมากก็แค่ ๑๐๐ ปี พระพุทธเจ้าจึงทรงเตือนอยู่เสมอว่าให้ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท

นอกจากนี้พระองค์ยังเตือนว่า สัตว์ทั้งหลายยากมากที่จะมีโอกาสมาเกิดเป็นมนุษย์ และเมื่อมนุษย์เราตายไปก็ยากเย็นแสนเข็ญที่จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ดังในอามกธัญญเปยยาลสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๑๙) ทรงถามเปรียบเทียบให้สาวกฟังว่า ฝุ่นที่ปลายเล็บของพระองค์กับฝุ่นบนแผ่นดินอันไหนมีมากกว่ากัน สาวกตอบว่าฝุ่นในแผ่นดินย่อมมีมากกว่า ฉันใดก็ฉันนั้นมนุษย์ที่ตายไปแล้วจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ (หรือเป็นเทวดา) ย่อมมีน้อยเหมือนฝุ่นในเล็บของพระองค์ แต่จะไปเกิดในอบายภูมิหรือทุคตินั้นมีมากมายเหมือนฝุ่นในแผ่นดิน ด้วยเหตุนี้ในช่วงชีวิตที่เราเป็นมนุษย์จึงควรใช้โอกาสอันประเสริฐนี้เพื่อฝึกฝนทำกุศลกรรมให้ถึงพร้อม รวมทั้งฝึกฝนตนให้คลายจากความยึดมั่นถือมั่นจนเหลือน้อยที่สุด เพื่อจะได้ไม่เดินเข้าสู่วังวนแห่งสังสารวัฏอีกต่อไป

การเตรียมตัวตายที่ดี ยังหมายรวมถึงการทำชีวิตให้มีคุณค่าความหมาย โดยเฉพาะการเติบโตทางจิตวิญญาณ

ดังนั้นในชีวิตประจำวันแต่ละขณะ พระพุทธเจ้าจึงทรงเตือนให้พวกเราน้อมนึกถึงความตายของเราอยู่เสมอว่า ชีวิตที่เหลืออยู่มีไม่มากแล้วควรขวนขวายทำสิ่งที่ควรทำ ฝึกฝนใจให้ไม่ติดใจเพลิดเพลินในความสุขทางเนื้อหนัง ไม่ติดยึดในร่างกายที่กำลังร่วงโรยไปเรื่อยๆ และคลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกู  ดังในมรณสติสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒) พระพุทธเจ้าตรัสถามสาวก ว่าการน้อมระลึกถึงความตายของแต่ละท่านนั้นทำอย่างไร  มีภิกษุจำนวน ๖ รูปได้ทูลตอบไล่เรียงจากรูปแรกว่า ท่านน้อมนึกว่าเราพึงมีชีวิตอยู่เพียง ๑ วันกับ ๑ คืน เท่านั้น ดังนั้นจึงขวนขวายระลึกถึงคำสอนและปฏิบัติธรรมด้วยความเพียร  ภิกษุรูปที่สองทูลตอบว่า ท่านน้อมนึกว่าเราพึงมีชีวิตอยู่เพียง ๑ วันเท่านนั้น จึงต้องขวนขวายเช่นกัน  รูปที่สามทูลตอบว่า เราพึงมีชีวิตอยู่ได้แค่ฉันอาหารมื้อเช้าเท่านั้นฯ  รูปที่สี่ทูลตอบว่า เราพึงมีชีวิตอยู่ได้แค่ฉันข้าวเพียงสี่คำเท่านั้นฯ  รูปที่ห้าทูลตอบว่า เราพึงมีชีวิตอยู่ได้แค่ฉันข้าวเพียงคำเดียวเท่านั้นฯ  และรูปที่หกทูลตอบว่า เราพึงมีชีวิตอยู่ได้แค่ขณะหายใจเข้าออกเท่านั้นฯ  เมื่อฟังสาวกตอบแล้วพระองค์ก็ทรงตรัสว่าเธอทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท พึงเจริญมรณสติไว้เพื่อความสิ้นไปแห่งกิเลสทั้งหลายเถิด

ข้อคิดจากหลายพระสูตรที่กล่าวมา หากใคร่ครวญและตระหนักไว้ในใจทุกขณะของชีวิต ย่อมทำให้เราใช้ชีวิตอย่างรู้คุณค่าความหมาย และเมื่อถึงคราวที่ความตายมาเยือนตรงหน้าก็จะไม่เสียวสะดุ้งหวาดกลัวได้ง่ายว่า เสียดายที่เรายังไม่ได้ทำสิ่งที่ควรทำก็ตายไปเสียก่อน  ดังนั้นนับจากนี้ไปเราควรสำรวจตรวจดูว่า เรามีความฝันอะไรบ้างที่ยังไม่ได้ลงมือทำ หากไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสียหายอะไรก็ควรลงมือทำได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกลับไปปรนนิบัติพ่อแม่หรือคนรัก เป็นอาสาสมัครบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม ทำงานหรือกิจกรรมที่ชอบ เขียนหนังสือ เป็นต้น

หากมีความขัดแย้งบาดหมางใจค้างคากับใครไว้ สิ่งแรกที่น่าทำก็คือ ลดความถือตัวถือตนลงเพื่อให้อภัยคนนั้น รวมถึงให้อภัยตัวเองหากรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง การระลึกอยู่ในใจว่าเรามีเวลาเหลือในโลกอีกไม่มากแล้ว เราจะเก็บความบาดหมางหรือโกรธเกลียดเพื่อสิ่งใด ปล่อยวางสิ่งค้างคาภายในเพื่อใจของเราจะโปร่งโล่งเบาสบายมิดีกว่าหรือ  มากไปกว่านี้เราอาจดั้นด้นเดินทางไกลเพื่อไปกล่าวคำขอโทษในสิ่งที่แล้วมา และเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้กล่าวคำขอโทษเช่นกัน  สำหรับคนรอบข้างที่เรารัก หากรู้สึกว่ายังไม่พูดหรือทำสิ่งใดที่ควรทำซึ่งมันได้ห่างหายไปจากความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนรัก ก็ไม่ต้องผัดผ่อนอีกต่อไปแล้ว

ที่สำคัญที่สุดวันคืนที่กำลังล่วงไปแต่ละขณะ หากเราต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งใดหรือกำลังเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ดีหรือร้ายก็ตาม ควรสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งนั้นชนิดที่ไม่เข้าไปเพิ่มความรู้สึกว่ามีตัวกูของกูแน่นหนาขึ้นเรื่อยๆ  ในทางกลับกันแต่ละเสี้ยวแต่ละขณะของการรับรู้สัมผัสนั้น ควรเป็นโอกาสให้เราได้ฝึกฝนเพื่อให้ตัวกูของกูจากคลายลงไปเรื่อยๆ จนความรู้สึกหมายมั่นอยากเอาอยากเป็นทั้งหลายทั้งปวงตายไปจากจิตใจเรา ก่อนที่เราจะตายจากโลกนี้ไปจริงๆ


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน