“ซีม่อน” คนจรใจบุญ

กฤษณา พาลีรักษ์ 25 กุมภาพันธ์ 2018

ซีม่อน เป็นชายจรจัดอายุราว 45 ปี เขาเคยอาศัยในย่านชุมชนเก่าแก่ ซึ่งต่อมากลายเป็นสลัมขนาดใหญ่ใจกลางเมืองอานัมบา ประเทศไนจีเรีย จนเมื่ออายุได้ 12 ปีเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ ซึ่งพรากพ่อแม่ของซีม่อนจากไป สลัมขนาดใหญ่ได้กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรสวยงาม และเป็นหน้าเป็นตาของชาวเมือง ต่างจากชีวิตของซีม่อน ซึ่งกลายเป็นคนจรหมอนหมิ่น ออกขอทานประทังชีวิตนับแต่นั้น

ซีม่อนเลือกนอนใต้ทางด่วนแห่งหนึ่งมาหลายปีแล้ว ที่นี่เงียบสงบและตำรวจก็ไม่ค่อยเข้มงวดกับพวกเขานัก หนำซ้ำใกล้ๆ กันยังมีบึงขนาดใหญ่พอให้เขาได้อาบน้ำเสียบ้างในช่วงที่อากาศร้อนสุดขีด ทุกๆ วันพอตื่นขึ้น เขาก็เดินไปขอทานแถวหน้าโบสถ์ขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ห่างราว 1 กิโลเมตร เขาชอบอัธยาศัยของผู้คนแถวนั้น พวกเขาใจดี ยิ่งเฉพาะสายวันอาทิตย์หลังจากที่ทุกคนกรูกันออกมาจากโบสถ์ ซีม่อนจะมีรายได้ดีเป็นพิเศษ บางคราวก็มีอาหารมาเผื่อแผ่ถึงเขาด้วย น้ำใจไมตรีของผู้บริจาคทานเหล่านั้น มันทำให้เขาหวนนึกถึงวันเวลาที่เขาได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาพ่อแม่ เขาจะรู้สึกอบอุ่นและซาบซึ้งใจเป็นพิเศษ

มีบางคราวเหมือนกันที่ซีม่อนท้อแท้ และรู้สึกสงสารตัวเอง แต่เขาไม่ได้จมกับอารมณ์แบบนั้นนานนัก และมองชีวิตเป็นของง่ายๆ คือ นอนเมื่ออยาก กินเมื่อหิว ออกไปพุดคุยกับเพื่อนที่เป็นคนจรจัดเหมือนกันบ้าง แต่สิ่งที่เขาชอบที่สุดคือ การขลุกตัวมองดูผู้คนในสวนสาธารณะ โดยเฉพาะช่วงเวลาเย็นๆ ซีม่อนชอบสีหมากสุกของพระอาทิตย์ ที่สำคัญเขาได้ใช้ช่วงเวลานี้ ทบทวนถึงคุณค่าและความหมายของการเกิดมามีชีวิต แม้จะเป็นชีวิตรุ่งริ่งของชายจรจัดคนหนึ่งก็ตาม

สิ่งที่เขาชอบที่สุดคือ การขลุกตัวมองดูผู้คนในสวนสาธารณะ โดยเฉพาะช่วงเวลาเย็นๆ ซึ่งเขาได้ใช้ช่วงเวลานี้ทบทวนถึงคุณค่าและความหมายของการเกิดมามีชีวิต

ในช่วงหน้ามรสุมปีถัดมา มีเหตุการณ์ที่ชาวเมืองประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมครั้งใหญ่ ซีม่อนได้ทราบข่าวว่าหมู่บ้านจัดสรรที่ะเคยเป็นบ้านของซีม่อน เป็นพื้นที่ประสบภัยหนัก น้ำท่วมสูงถึงระดับเอว มีคนตายหลายคนและสัตว์ทั้งตายทั้งสูญหายจำนวนมาก ไม่นับความสูญเสียต่อทรัพย์สิน ซีม่อนเองก็พลอยลำบาก เขาต้องย้ายออกจากใต้ทางด่วนซึ่งแม้น้ำท่วมไม่มาก และการโยกย้ายสำหรับคนมีแต่ตัวและข้าวของเพียงเล็กน้อยอย่างเขาไม่ใช่เรื่องหนักหนา แต่น้ำท่วมครั้งนี้คงต้องใช้เวลามากเอาการกว่าจะซ่อมบำรุงให้เมืองกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ในสถานการณ์เช่นนี้ โบสถ์ประจำที่ซีม่อนไปขอทาน ได้กลายเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว เจ้าหน้าที่ดูวุ่นวายเพราะต้องดูแลผู้คนมากหน้าหลายตา บรรยากาศโดยรวมเต็มไปด้วยความเศร้าสร้อย เมืองทั้งเมืองเต็มไปด้วยความโกลาหลพอๆ กับช่วงที่ไฟไหม้บ้านของซีม่อนในวัยเด็ก ซึ่งเหมือนเคราะห์กรรมที่นำความโศกเศร้าและทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไปมาก เขาจึงรู้สึกสงสารผู้คนที่กำลังประสบชะตากรรมคล้ายๆ กัน และนั่นเป็นสิ่งที่รบกวนจิตใจซีม่อนอยู่

หลังจากที่ด้อมๆ มองอยู่หน้าโบสถ์ เขาทำใจกล้าเดินเข้าไปตามหาบาทหลวงที่เขารู้จัก ก่อนบอกเล่าความต้องการอย่างตะกุกตะกัก เพื่อมอบเงินจำนวน 188 ดอลล่าร์ที่เขามีทั้งหมด เพื่อส่งต่อเงินเหล่านั้นไปให้กับเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยเฉพาะในพื้นที่หมู่บ้านจัดสรรอันเคยเป็นบ้านเกิดของเขา บาทหลวงแม้จะรับฟังและรับเงินแบบงงๆ แต่ไม่ลืมถามซีม่อนกลับว่า ซีม่อนเองก็ลำบาก ทำไมจึงเอาเงินทั้งหมดมาบริจาค? คราวนี้ซีม่อนตอบด้วยแววตามาดมั่น “ผมอยากช่วยเท่าที่ผมจะสามารถช่วยได้ครับ เพราะพวกผู้ประสบภัยเขาเคยอยู่ในที่ที่ดีกว่าผมก่อนเกิดน้ำท่วม แต่ตอนนี้พวกเขากำลังต้องการความช่วยเหลือ”

แม้ซีม่อนจะเดินลับตาไปแล้ว แต่บาทหลวงยังคงยิ้มอยู่อย่างซาบซึ้ง และถึงแม้เงินช่วยเหลือที่ได้รับจากซีม่อนจะไม่ได้มากมายนัก แต่มันออกมาจากหัวใจของชายจรจัดคนหนึ่ง ซีม่อนเองก็เดินออกมาจากโบสถ์ด้วยความสุขและภาคภูมิใจต่อการกระทำของตนเองมาก ในสถานการณ์ยากลำบากเช่นนี้ เขาได้พิสูจน์ให้ผู้คนเห็นว่า เขาเองแม้ไม่มีทรัพย์สินมากพอจะจุนเจือ แต่เขาก็มีคุณค่ามากพอด้วยการได้ช่วยเหลือเท่าที่ตนเองจะสามารถ

กฤษณา พาลีรักษ์

ผู้เขียน: กฤษณา พาลีรักษ์

คิดว่าการอ่านวรรณกรรมทำให้ชอบตั้งคำถามว่า เราเกิดมาทำไม และจะมีชีวิตที่ดีและมีคุณค่าได้อย่างไร เมื่อพบว่าตัวเองเป็นคนล้มเหลวทางโลกทุกอย่าง ความทุกข์ลึกๆ จึงผลักดันให้มาค้นหาความหมายและความสุขบนสายทางนักบวช