ตอน จัดบ้านจัดใจ

นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ 4 กันยายน 2016

จังหวะชีวิตที่ได้หยุดพัก เว้นวรรคจากการงานที่เร่งรัด น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ได้จัดบ้าน เพราะในระหว่างที่ชีวิตหมุนวนระหว่างบ้านกับที่ทำงาน เราได้นำพาข้าวของเข้ามาสู่บ้านมากมายอย่างต่อเนื่องมาหลายปี

แต่การจัดบ้านเป็นเหมือนยาขมที่คอยผลัดวันไปเรื่อยๆ ไม่มีใครขีดเส้นตาย แต่ก็รู้ว่า สักวันหนึ่งก็ต้องทำอยู่ดี ยิ่งทำเร็วเท่าไหร่ ยิ่งเหนื่อยน้อยเท่านั้น ภายในบ้านพักเล็กๆ หรือแค่ห้องพัก เชื่อหรือไม่ว่า เราต่างมีดินแดนลี้ลับที่เราไม่ปรารถนาที่จะเผชิญหน้า อาจเป็นลิ้นชักที่มีสิ่งละอันพันละน้อย ถ้าเปิดออกดูเราอาจต้องถูกข้าวของในลิ้นชักกระชากฉุดกลับสู่เรื่องราวแต่หนหลังอย่างล้นทะลัก

“โห… จะไหวหรือนี่”

บนชั้นหนังสือ ก็ไม่รู้จะเอาไงดี หนังสือดีๆ ที่ใครต่อใครให้เรามา ลายเซ็นของนักเขียนคนโปรด สมุดบันทึกตั้งแต่สมัยเรียน ห้องใต้บันไดบรรจุสรรพสิ่งทั้งชิ้นใหญ่ชิ้นเล็กอีกกองโตที่รอการพิพากษาว่าจะอยู่กับเราต่อ หรือต่างคนต่างไปดี

“ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว” หนังสือเล่มเหมาะมือที่แปลจาก The life-changing magic of tidying up เขียนโดย คนโด มาริเอะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดบ้าน หวังจะเป็นตัวช่วยให้ความตั้งใจที่จะจัดบ้านเป็นผลเสียที นอกจากจะเป็นหนังสือให้เทคนิควิธีการในการจัดบ้านแล้ว สิ่งสำคัญยิ่งกว่า คือ การใช้ “ใจ” ในการจัดการกับข้าวของเครื่องใช้ จุดเน้นสำคัญ คือ ให้ใช้ใจสำรวจว่า ของชิ้นนั้น “ปลุกเร้าความสุขให้คุณได้ไหม”

ผู้เขียนให้เราใช้ความรู้สึกอย่างซื่อสัตย์กับข้าวของทุกชิ้น หยิบขึ้นมาแล้วมองดู เรารู้สึกอย่างไร มันคือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขหรือไม่ โดยไม่ต้องคิดถึงเหตุผล เพราะถ้าเป็นการใช้ความคิด เป็นเหตุเป็นผล ก็มักมีข้อโต้แย้งถกเถียงชั่งน้ำหนัก ประเมินใช่-ไม่ใช่ ใช้-ไม่ใช้ คิดย้อนไปถึงอดีตที่เราได้ของชิ้นนั้นมาอย่างไร คุณค่า ความหมาย รวมทั้งอนาคตเราจะได้ใช้มันหรือไม่ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องเหตุผล ที่ยิ่งคิด ก็ยิ่งไม่ได้คำตอบ และทำให้เราตัดสินใจไม่ได้ว่าจะทิ้งหรือจะเก็บ

ผู้เขียนบอกให้ใช้ความรู้สึกวัดใจไปเลยว่า ณ วันนี้ ณ เวลาแห่งปัจจุบัน ของชิ้นนั้น “ปลุกเร้าทำให้เรามีความสุขกับมันหรือไม่” ถ้าใช่ ก็เก็บไว้ แต่ถ้าไม่ ก็กำจัดออกไปซะ การใช้ความรู้สึก และถามใจตัวเองแบบปัจจุบันทันทีเช่นนี้ ทำให้ตัดสิน(ที่) “ใจ” ได้ง่ายกว่ามาก

แต่ก็มีข้าวของจำนวนไม่น้อย ที่เราเก็บไว้เพื่อหล่อเลี้ยงความทรงจำ ของที่ระลึกในงานต่างๆ ภาพถ่าย ของที่เป็นมรดกตกทอดจากคนในครอบครัว เหล่านี้เป็นเรื่องยากที่จะกำจัดออกไปก็จริง ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของจิตใจเป็นสำคัญ ขอเรียกข้าวของเหล่านี้ว่า เป็นที่อยู่ของความทรงจำเช่น ภาพถ่ายกับอดีตคนรัก จดหมายรักของแฟนเก่า ของขวัญที่พ่อแม่พี่น้องคนในครอบครัวมอบให้เราในวัยเด็ก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เราเองอาจให้คุณค่าและถือเป็นความทรงจำที่เราอยากเก็บไว้ตราบนานเท่านาน

ในหนังสือบอกเราว่า ของชิ้นนั้นได้ทำหน้าที่ของมันเรียบร้อยเสร็จสิ้นไปแล้ว เราได้ถ่ายรูปคู่กับคนรักสมความปรารถนาที่ครั้งหนึ่งเราได้มีเขาหรือเธอเคียงข้าง แต่วันนี้ไม่ใช่เช่นนั้นแล้ว ข้อความในจดหมายของแฟนเก่า ก็บอกเล่าเรื่องราวคราวนั้นแล้ว ไม่ได้ส่งผลอะไรกับชีวิตปัจจุบันของเราอีกแล้ว ข้าวของต่างๆ ที่ใครต่อใครให้เรามา เพื่อแทนความรัก ความเอาใจใส่ หรือความรู้สึกใดๆ มันก็ได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว เราได้อิ่มเอม ขอบคุณ ตื่นเต้น กับการได้รับข้าวของ และความรู้สึกเหล่านั้นไปแล้ว

เราลองถามใจตัวเอง ณ นาทีนี้ว่า พร้อมหรือยัง ที่จะกล่าวคำขอบคุณและอำลาของสิ่งนั้น และปล่อยให้มันเดินทางไปจากเรา แต่ถ้ายังไม่พร้อมยังอยากเก็บไว้ ก็จงเก็บมันไว้ถ้าการปล่อยมันไป จะทำให้เราหัวใจสลาย ก็ไม่จำเป็นต้องทำร้ายจิตใจตัวเองขนาดนั้น

“สิ่งที่เราควรเห็นคุณค่า ไม่ใช่ความทรงจำ แต่เป็นตัวตนของเราที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากประสบการณ์ในอดีตต่างหาก …พื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ในตอนนี้ ควรเป็นพื้นที่สำหรับตัวตนของเราที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่สำหรับตัวตนในอดีต”

ย่อหน้านี้ จะช่วยให้ตัดใจทิ้งบางสิ่งที่เป็นความทรงจำได้ง่ายขึ้นไหมนะ

ยังค่ะ หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้รวดเดียวจบภายในห้องพักรกๆ ของตัวเอง แม้จะมีไอเดียให้ลุกขึ้นมาคัดแยกข้าวของที่ “ไม่ปลุกเร้าความสุข” แต่ฉันก็ยังไม่กล้าขยับทำอะไรเลย นอกจากมองเห็นว่า สายชาร์จโทรศัพท์ที่ตกรุ่น ทัมพ์ไดร์ฟที่พังแล้ว กองเอกสาร หนังสือ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า กล่องใส่ขนม ข้าวของแห่งความทรงจำอีกมากมาย ที่กำลังรอให้ฉันลุกไปสำรวจด้วยใจ พูดคุยขอบคุณที่พวกมันได้ทำหน้าที่อย่างดี และกล่าวคำอำลากับชิ้นที่ต้องเดินทางออกไปจากชีวิตฉัน ฉันก็ยังประหวั่นพรั่นพรึงว่า ในนาทีที่ต้องเผชิญหน้าสบตากับเรื่องราวที่มากับข้าวของเหล่านี้

“ที่ที่เราอาศัยอยู่ในตอนนี้ ควรเป็นพื้นที่สำหรับตัวตนของเราในปัจจุบัน ไม่ใช่ตัวตนในอดีต”

สิ่งมหัศจรรย์ประการหนึ่งในการกำจัดข้าวของที่ไม่ “ปลุกเร้าความสุข” ออกไปจากชีวิต คือการได้พบเจอกับเรื่องราวใหม่ๆ หลังจากปลดปล่อยบางสิ่งที่เป็นสิ่งตกค้างในความทรงจำไปแล้ว สภาพแวดล้อมใหม่ๆ ที่โล่งโปร่ง จะนำมาซึ่งความรู้สึกที่ปลอดโปร่ง จิตใจเบาสบาย และความเป็นไปได้สำหรับเรื่องราวใหม่ๆ ในชีวิต

แท้จริงแล้ว นี่คือการปล่อยวาง ไม่ว่าของรักของหวง หรือคนรักคนห่วง สิ่งทั้งปวงเมื่อถึงวันหนึ่งเราก็ต้องพลัดพรากจากกันอยู่ดี การจัดบ้าน กำจัดข้าวของที่ไม่จำเป็นออกไป เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกตนให้พ้นจากการยึดติดถือครอง ลองดูสิคะ ง่ายๆ แค่เสื้อผ้าในตู้ ถ้าต้องทิ้งออกไปสักครึ่ง เราก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ และน่าจะดีกว่าเดิม เบาสบายกว่าเดิม อย่างน้อยภาระในการเก็บรักษาก็น้อยลง ใช้เวลาเลือกเสื้อผ้าน้อยลง

ข้าวของที่เรามีอยู่ ล้วนสะท้อนถึงสภาวะจิตใจที่ยังคิดถึงอดีต ห่วงอนาคต ปัจจุบันเราเลยต้องอยู่กับสมบัติมากมายทั้งที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น ฉันประมาณการว่า มีของที่ฉันไม่ได้ใช้ และไม่ปลุกเร้าให้ฉันมีความสุข ณ ปัจจุบัน น่าจะเกินครึ่งของของสมบัติทั้งหมดที่ฉันมีอยู่ แล้วคุณละคะกล้าหรือยัง ที่จะกลับไปเผชิญหน้ากับข้าวของของตัวเอง

นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ

ผู้เขียน: นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ

หลังจากจบการศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เข้าสู่อาชีพในสายสื่อสารมวลชนทำข่าวสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ จัดรายการวิทยุ และรายการโทรทัศน์ นอกจากสนใจประเด็นความเป็นไปของสังคมแล้ว ยังสนใจแนวทางการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมแวดล้อม ระยะหลังสนใจแนวทางการเรียนรู้พัฒนาตัวเองในมิติของชีวิตจิตใจ