ถ้า…เกินไป ก็ไม่ดี

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 3 กุมภาพันธ์ 2008

“มากเกินไป ไม่ดี  น้อยเกินไป ก็…แย่  มันต้องพอดี พอดี”  หลายคนที่มีประสบการณ์การทำครัว ข้อสรุปข้างต้นเป็นสิ่งที่บรรดาพ่อครัว แม่ครัวประจักษ์ชัดเจนดี  เครื่องเทศ เครื่องปรุงต่างๆ ช่วยทำให้รสชาติของอาหารเลิศรส แต่หากมันน้อยไปหรือมากไป ความอร่อยของอาหารนั้นก็จะลดหายไปทันที  แม้แต่จังหวะเวลาของการใส่เครื่องปรุง ช่วงเวลาของการประกอบอาหาร ทอด หุง ต้ม ฯลฯ ต่างล้วนมีผลต่อความอร่อยของอาหารทั้งสิ้น  จังหวะ เวลา และความพอดียังเป็นเรื่องสำคัญของชีวิตในด้านอื่นๆ ด้วย  กีฬาที่เล่นเป็นทีม เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล วอลเลย์บอล ปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้ทีมสามารถคว้าชัยชนะได้ ไม่ใช่แค่การมีผู้เล่นที่มากความสามารถ แต่ต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ

ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ ความเป็นทีม  และผู้เล่นที่ยอดเยี่ยมนั้น ก็ต้องมีคุณสมบัติสำคัญคือ มีความสามารถในการทำงานเป็นทีม สามารถร่วมงานกับผู้อื่นได้  ความเป็นทีมที่จะช่วยให้ทีมสามารถคว้าชัยชนะได้ ต้องอาศัยจังหวะการเล่นที่ประสานกับเพื่อนร่วมทีม การรู้บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบต่อตนเองและของเพื่อนร่วมทีม และต่อเป้าหมาย  ดังนั้นทันทีที่จังหวะการเล่นของใครก็ตามในทีมช้าไป หรือเร็วไป ก็หมายถึงการพลาดโอกาสในการคว้าชัยชนะ  ฟุตบอลเป็นตัวอย่างที่ดีของประสบการณ์เช่นนี้

สิ่งที่น่าสนใจคือ จะเกิดอะไรขึ้น หากมีผู้ใดทำบทบาทหน้าที่ของตนเองเกินเลย หรือน้อยเกินไป เช่น กัปตันทีมที่จริงจังเข้มงวดเกินไป หรือยืดหยุ่น ปล่อยปละมากไปกับหน้าที่ของตนเอง  คนพิเศษของเราที่ชอบช่วยเหลือ มีน้ำใจกับเรามากจนเกินไป ก็กลับกลายเป็นการก้าวก่าย รุกล้ำต่ออีกฝ่าย  สิ่งที่ตามมาแน่นอน ก็คือ ความเครียด ความไม่ลงรอยขององค์ประกอบทีม ความสัมพันธ์ที่บิดเบี้ยว และความปกติสุขบางอย่างที่หายไป

คุณสมบัติที่ดีหลายประการของคนเรา เช่น ความรอบคอบ ความยืดหยุ่น ความเมตตา ความมุ่งมั่น ความกล้าหาญ ฯลฯ เป็นสิ่งที่เราทุกคนมีหน้าที่สร้างสรรค์ พัฒนาในตัวเรา  แต่หากว่าสิ่งเหล่านี้มีมากเกินไป ความรอบคอบจะกลายเป็นความหวาดระแวง ความยืดหยุ่นกลายเป็นความปล่อยปละ ความเมตตากลายเป็นการเบียดเบียนตนเอง ความมุ่งมั่นกลายเป็นความแข็งกร้าว หรือความกล้าหาญกลายเป็นความบ้าบิ่น  ในอีกทาง เมื่อคุณสมบัติเหล่านี้มีน้อยเกินไป ความรอบคอบก็กลับกลายเป็นความประมาท ความยืดหยุ่นกลายเป็นความเข้มงวด ความมุ่งมั่นกลายเป็นความเฉื่อยชา ความกล้าหาญกลายเป็นความขี้ขลาด ฯลฯ  ทันทีที่คุณสมบัติเหล่านี้มากเกินไปหรือน้อยเกินไป คุณสมบัติก็กลับกลายเป็นโทษสมบัติ  และโทษสมบัติเหล่านี้ก็ทำให้สัมพันธภาพต่อคนรอบข้างเกิดรอยร้าว เครียด และความไม่ปกติสุขก็ตามมา

ประมาณ ๒ ใน ๓ ของช่วงเวลา ๒๔ ชั่วโมง เป็นช่วงเวลาที่เรามักใช้เวลากับผู้อื่น ครอบครัว คนรอบข้าง องค์กรที่ทำงาน  เราอาจมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ร่วมกันทั้งที่บ้านและที่ทำงาน คือความเป็นทีม  ในครอบครัว ความเป็นทีมคือ การมีความมุ่งหมายที่จะเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวให้มีความสุข ได้เล่าเรียนเพื่อมีความรู้ ความสามารถ พึ่งพาตนเองได้ต่อไป  ขณะที่องค์กรที่ทำงาน ความเป็นทีมคือ การร่วมกันทำงาน ดำเนินธุรกรรมเพื่อได้ผลตอบแทนมาเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว  ในความเป็นทีมซึ่งมีทิศทางและเป้าหมาย จึงต้องการการประสานร่วมกันของสมาชิกทุกคนในทีม  คุณสมบัติต่างๆ ที่ดีของสมาชิกต่างมีส่วนเกื้อกูลความเป็นทีมมากเพียงใด โทษสมบัติของสมาชิกทุกคนในทีมก็มีส่วนบั่นทอนความเป็นทีมได้มากเพียงนั้น

ไม่ว่าความหมายของความเป็นทีมที่เราให้คุณค่าจะเป็นครอบครัว สถาบัน ที่ทำงาน ชุมชน หรือสังคม  หน้าที่ประการแรก คือการสำรวจว่าในความเป็นทีมนั้น เรามีสิ่งที่เป็นคุณสมบัติ หรือโทษสมบัติอะไรหรืออย่างไรบ้าง  ในความเป็นทีมยังเรียกร้ององค์ประกอบอื่นๆ เช่น ความไว้วางใจ การมีเป้าหมายร่วมกัน การกระทำตามพันธสัญญา และความรับผิดชอบร่วมกัน เช่น สามี ภรรยาไว้วางใจต่อความซื่อสัตย์ ความปรารถนาดีในคู่ของตน เจ้านายและลูกน้องไว้วางใจในความรับผิดชอบร่วมกัน การเคารพและปฏิบัติในกฎระเบียบ ข้อตกลงร่วมกัน

องค์ประกอบเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ดำรงอยู่และมั่นคงเพียงใด ปัจจัยชี้วัดที่สำคัญคือ ๑) สมาชิกในทีมงานมีความตระหนักรู้ เท่าทัน และจัดการกับคุณสมบัติหรือโทษสมบัติของตนได้เพียงใดและอย่างไร  ๒) ผู้นำในฐานะหางเสือ หรือคนนำทางก็ตาม เป็นองค์ประกอบสำคัญของความเป็นทีม  แต่ผู้นำในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตำแหน่ง แต่คือลักษณะคุณสมบัติที่เรียกว่า “ภาวะผู้นำ” อันเป็นความสามารถในการทำสิ่งที่ถูกต้อง ในช่วงเวลาที่ถูกต้อง และด้วยวิธีการที่ถูกต้อง  ดังนั้นสมาชิกทุกคนในทีม ไม่ว่าจะมีบทบาทใดในความเป็นทีม ก็สามารถพัฒนาและมี “ภาวะผู้นำ” ในตนเองได้

หากคุณสมบัติในตัวเรามีมากหรือน้อยเกินไป คุณสมบัติก็จะกลายเป็นโทษสมบัติ ซึ่งทำให้สัมพันธภาพต่อคนรอบข้างเกิดรอยร้าวตามมา

นิยามคุณสมบัติภาวะผู้นำข้างต้น มีคำว่า “ถูกต้อง” กำกับอยู่  แต่ความถูกต้องในที่นี้ ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องโดยสมบูรณ์  ความถูกต้องไม่ใช่ความจริงโดยสมบูรณ์ แต่เป็นความถูกต้องที่สัมพันธ์กับเงื่อนไข โอกาส สถานที่ ช่วงเวลา และบริบทรอบข้าง  ดังนั้นความถูกต้องในที่นี้จึงต้องระลึกว่าเป็นความจริงโดยสัมพัทธ์ อันหมายถึง ความจริงที่สัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆ มากมาย

กล่าวถึงประเด็นนี้ ความถูกต้องในที่นี้จึงไม่แตกต่างกับจังหวะและความพอดีในการประกอบอาหาร ในการเล่นกีฬาเป็นทีมดังที่กล่าวมาช่วงต้น  ข่าวดีและข่าวร้ายที่มาพร้อมกันในประเด็นนี้คือ เราไม่สามารถหาคำตอบสำเร็จรูปจากใครหรือที่ใดได้ นับเป็นข่าวร้ายสำหรับพวกเราทุกคน  แต่ข่าวดีก็คือ เราสามารถค้นหาคำตอบในเรื่องนี้ได้จากภายในตัวเรา เงื่อนไขประการเดียวของข่าวดีอันนี้ก็คือ การได้เรียนรู้ชีวิตเพื่อรู้จักและเข้าใจในความเป็นตัวเรา  ในที่สุดเราจึงมาถึงข้อสรุปได้ว่า การรู้จักและเข้าใจตนเองจึงเป็นภารกิจและเป็นรางวัลแห่งชีวิตในตัวมันเอง เพื่อที่ชีวิตจะได้มีคุณสมบัติที่ดีมากมายมาเป็นคุณธรรม เครื่องนำทางของชีวิต  ชีวิตจะเอื้อประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นได้ยิ่งใหญ่ เมื่อเรามีความเมตตาหรือความกล้าหาญที่แท้

ท้ายที่สุด ขอให้ทุกท่านได้พบ “ข่าวดี” ในตัวเอง


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน