ทั้งหมดก็เพื่อความสงบในจิตใจ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 28 มกราคม 2006

จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เราทุกท่านเคยสังเกตหรือไม่ว่า ทุกครั้งที่มีเรื่องราวความทุกข์ ผิดหวัง เศร้า เจ็บแค้น ไม่เข้าใจ ฯลฯ ความรู้สึกเหล่านี้กัดกิน และรบกวนจิตใจ ผลักดันให้เราต้องตอบโต้เพื่อให้ความรู้สึกที่กัดกิน รบกวนจิตใจนี้จางหาย คลี่คลายให้หมดไปเพื่อให้จิตใจคืนสู่ความสงบ  ปัญหาอยู่ที่ว่าการโต้ตอบนั้นกระทำภายใต้อุปนิสัยความเคยชิน หรือกระทำภายใต้ความมีสติและรู้ตัว  และนี่คือ โอกาสสำคัญที่มนุษย์ในฐานะสัตว์โลกชนิดเดียวที่สามารถพบภาวะเช่นนี้ และเลือกการตัดสินใจ ณ จุดนี้ได้

มนุษย์สามารถตั้งคำถามกับตนเองได้ว่า “เราเกิดมาทำไม คุณค่าของชีวิตคืออะไร เราควรดำรงชีวิตอย่างไร” และนี่ทำให้มนุษย์มีความพิเศษโดดเด่น  และสิ่งนี้ก็คือ พรสวรรค์และคำสาป  พรสวรรค์ที่ทำให้มนุษย์มีศักยภาพช่วยเหลือตนเอง ผู้อื่น สังคมและธรรมชาติให้ตนเองหมดทุกข์  ท่านอาจารย์พุทธทาสได้เคยให้คำอธิบายสรุปโดยย่อในประเด็นนี้ว่า เราทุกคนต่างต้องการที่พึ่งในจิตใจ ต้องการความรอดทางสติปัญญาเพื่อไม่ต้องเป็นทุกข์

ในด้านของคำสาป ก็คือ สำนึกรู้ถึงตัวตนทำให้ความเห็นแก่ตัวถูกขับเคลื่อนเพื่อในที่สุดมันจะทำลายตนเอง สังคม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยวัฒนธรรมบริโภคนิยม  ปัญหาสิ่งแวดล้อม ยาเสพติด สงครามก่อการร้าย ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นโฉมหน้าแต่ละด้านของศักยภาพมนุษย์ที่ถูกใช้เพื่อเพื่อตอบโต้สิ่งที่มารบกวน ทำร้ายจิตใจ เช่น ความรู้สึกถึงความไม่มั่นคงปลอดภัย ความต้องการเอาชนะ ความปรารถนา ฯลฯ ด้วยวิถีทางของการเบียดเบียน

ภายใต้ชีวิตที่เราดำรงอยู่ เราดำรงอยู่ภายใต้เครือข่ายความเชื่อมโยง ความโอบอุ้ม และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของธรรมชาติ สรรพสิ่ง และผู้คนรอบข้าง เราไม่ได้โดดเดี่ยวและเราก็ไม่สามารถโดดเดี่ยวได้  กล่าวถึงที่สุด เราทุกคนที่มีชีวิตอยู่ได้เพราะการให้ของผู้อื่น การให้ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่เป็นเพียงระบบที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนโดยมีเงินตราเป็นสื่อ แต่ทั้งหมดล้วนมาจากแรงงานมนุษย์ที่อุทิศสละ และทรัพยากรธรรมชาติจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว  ท่ามกลางโลกของความสัมพันธ์เช่นนี้ เราทุกคนมีฐานปัญญาที่โอบอุ้มชีวิตให้ดำรงอยู่และดำเนินไป นั่นคือ

ฐานปัญญาแห่งการคิดนึก คือ ความสามารถในการคิดนึก ความเฉลียวฉลาดเพื่อให้ตนเองอยู่รอดปลอดภัย  ฐานปัญญาแห่งอารมณ์ความรู้สึก คือ ความสามารถที่จะสัมพันธ์รับรู้ด้วยจิตใจ อารมณ์ความรู้สึก รัก ชอบ เกลียด ชื่นชม ฯลฯ กับสิ่งต่างๆ รอบตัวที่เราสัมพันธ์และมีจิตใจเชื่อมโยง  และสุดท้ายคือ ฐานปัญญาแห่งร่างกาย คือ ความสามารถจากร่างกายที่มุ่งให้เกิดการกระทำ การโต้ตอบต่อสิ่งรอบตัวจากสัญชาตญาณ จากแรงผลักดันของการคิดนึกและอารมณ์ความรู้สึก

ฐานปัญญาทั้งสาม จึงเป็นเสมือนพรสวรรค์ที่โอบอุ้มให้ชีวิตเราอยู่รอด ปลอดภัย และมีความสุข  แต่ขณะเดียวกัน คำสาปที่แฝงฝังอยู่ คือ ภายใต้ฐานปัญญาแห่งการคิดนึกนั้นขับเคลื่อนด้วยความกลัวอันเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานที่จะตอบโต้ต่อสิ่งที่เข้ามาคุกคามทำร้าย ด้วยการหนีหรือสู้  ฐานปัญญาจากร่างกายที่ขับเคลื่อนด้วยความโกรธ ความเป็นอารมณ์พื้นฐานที่มุ่งให้เกิดการปะทะ ต่อสู้ ทำลาย  และฐานปัญญาแห่งอารมณ์ความรู้สึกที่ขับเคลื่อนด้วยการแสวงหาการยอมรับ ความเป็นพวกพ้อง ด้วยการแสดงออกซึ่งภาพลักษณ์จนเป็นความสับสนระหว่างภาพลักษณ์ที่คาดหวัง หรืออยากได้อยากเป็น กับความเป็นตัวเราที่ตัวเรายากจะยอมรับ ไม่ชอบ หรือรู้สึกว่าเราไม่เป็นที่ยอมรับมากพอจากคนรอบข้าง

ดังที่กล่าว ยามใดที่ชีวิตหรือจิตใจถูกกระทบจากสิ่งรอบตัว ไม่ว่าในทางบวกหรือทางลบ  ปฏิกิริยาที่เราสังเกตพบได้ คือ ความหวั่นไหวของจิตใจที่สูญเสียความเป็นปกติ  ปฏิกิริยาโต้ตอบซึ่งอาจเป็นลักษณะใดก็ได้ จะเกิดขึ้นทันทีตามอุปนิสัยและความเคยชิน และสิ่งที่เราตอบโต้ก็อาจเป็นสิ่งที่กระทบต่อจิตใจของอีกฝ่าย เกิดเป็นวังวน เกมการละเล่นตอบโต้ซึ่งกันและกันต่อไป  ซึ่งทั้งหมดก็ล้วนแล้วแต่เพื่อให้จิตใจคืนสู่ความเป็นปกติ ความสงบในจิตใจดังเดิม

นอกเหนือจากคำถามชีวิตที่ยากแก่การตอบ คำถามที่คอยรบกวนชีวิตข้างต้นแล้ว เราทุกคนไม่มากก็น้อยต่างก็ต้องเผชิญกับความรู้สึกโดดเดี่ยวและเปลี่ยวเหงา มันเป็นความรู้สึกถึงความปรารถนาลึกๆ ที่เราเชื่อว่า ตัวตนของเราจักสมบูรณ์หากเราสมหวังในความรัก ความใกล้ชิดจากคนพิเศษ  แต่กระนั้นประสบการณ์ชีวิตก็ชี้ถึงความเอาแน่นอนกับจิตใจไม่ได้ ซึ่งแปรเปลี่ยนตลอดเวลา ความรู้สึกสุขพึงพอใจจืดจาง และจางหายอย่างรวดเร็ว เกิดความปรารถนาใหม่ที่เข้ามาและเรียกร้องการตอบสนองใหม่ เพื่อให้จิตใจคืนสู่ความเป็นปกติและความสงบในจิตใจ ด้วยการดิ้นรนเพื่อที่จะได้มาซึ่งสิ่งที่ทำให้เราสุขสงบอีกครั้ง และก็กลับมาเข้าสู่วังวนเดิมๆ ที่ไม่สามารถหยุดได้

ดังนั้นในโลกของความสัมพันธ์ทั้งภายนอกและภายในต่างล้วนเป็นภาพสะท้อนระหว่างกัน  การดิ้นรน ไขว่คว้าสิ่งที่ปรารถนาเพื่อตอบสนองทางจิตใจ ตามความคาดหวังว่าสิ่งนั้นจะทำให้เราเข้าถึงความสบในจิตใจ ก็เป็นรูปลักษณ์เดียวกับความคาดหวังต่อสิ่งภายนอกรอบตัวที่เราปรารถนาให้เป็นจริง  แต่เมื่อสำเร็จผล ก็เกิดความคาดหวังใหม่ๆ ให้คอยวิ่งตามตลอดเวลา

เราทุกคนต่างต้องการที่พึ่งในจิตใจ ต้องการความรอดทางสติปัญญาเพื่อไม่ต้องเป็นทุกข์

หนทางใดบ้างที่จะทำให้จิตใจ ตัวเราหลุดพ้นจากวังวนเช่นนี้  ข่าวดีคือ เราสามารถที่จะตั้งคำถามเพื่อหาวิธีหลุดพ้นจากวังวนดังกล่าว ซึ่งมีแต่มนุษย์จึงทำได้  ข่าวร้ายคือ การตั้งคำถามนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเส้นทางที่ยาวไกล เส้นทางที่อาจไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายดายนักถึงเส้นทางของการประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้ชีวิตเราคืนสู่ความสงบในจิตใจที่แท้จริงและยั่งยืน

เรามีฐานปัญญาที่สามารถไขตัวเราออกจากความทุกข์นี้ได้  แต่ไขอย่างไร ใช้ฐานปัญญาในตัวเราอย่างไร เราสามารถพบคำตอบมากมาย  แต่สิ่งที่ข้อเขียนชิ้นนี้ใคร่ขอเสนอคือ คำตอบนั้นอยู่ภายในตัวเรา  การศึกษาเรียนรู้จิตใจเป็นเครื่องมือสำคัญที่ควรค่าแก่ความใส่ใจ เพื่อให้จิตใจของเราคืนสู่ความสงบ ความเป็นปกติได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน  ขอทุกท่านได้ประสบความสำเร็จในการคืนสู่ความสงบในจิตใจ


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน